ถือว่าเป็นอะไรที่เข็มขัดสั้น หรือ คาดไม่ถึง เลยทีเดียว สำหรับดีล Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของ SCBX ที่ไม่ได้ถูกซื้อโดยบริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกัน แต่กลับได้กลุ่มผู้ลงทุนที่นำโดย ยิบอินซอย (YIP IN TSOI) มาซื้อไปในมูลค่า 2,000 ล้านบาท โดย Positioning จะพาไปรู้จักกับกลุ่มยิบอินซอย บริษัทไทยอายุเกือบร้อยปี ว่าเป็นใคร เคยทำอะไรมาบ้าง
ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีในไทย ที่เริ่มจากธุรกิจเหมืองแร่
แค่บริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟู้ดเดลิเวอรี่มาซื้อ Robinhood ก็ถือว่าน่าสนใจแล้ว แต่เมื่อมารู้จักกับ บริษัท ยิบอินซอย ยิ่งน่าสนใจกว่า โดยเฉพาะในแง่ของ การปรับตัวตามยุคสมัย จนปัจจุบันยิบอินซอยเป็นบริษัทไทยที่มีอายุแตะ ร้อยปี เข้าไปแล้ว
โดยจุดเริ่มต้นของบริษัท ต้องย้อนไปไกลถึงพ.ศ. 2469 ถือกำเนิดจากธุรกิจ เหมืองแร่ ที่กำลังเติบโต ทำให้ ยิบ (Yip) อินซอย (In Tsoi) ชายชาวจีนที่มีโอกาสเดินทางมาไทย ได้เห็นโอกาสในธุรกิจนี้ จึงได้เริ่มทำธุรกิจเหมืองแร่ พร้อมก่อตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลยิบอินซอยแอนด์โกขึ้นมาที่หาดใหญ่
หลังจากที่กิจการไปได้ดีจึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ยิบอินซอย จำกัด (Yip In Tsoi & Company Limited) ในปี พ.ศ.2473 ด้วยทุนจดทะเบียน 150,000 บาท และได้ขยับขยายจากสำนักงานที่เป็นห้องแถว 2 คูหาที่ชุมทางหาดใหญ่ ไปอยู่ที่บางรัก กรุงเทพฯ ในปีพ.ศ. 2481 และยังคงเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่จนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าบริษัทจะเริ่มจากธุรกิจเหมืองแร่ แต่บริษัทก็ปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลง ทำให้บริษัทได้ขยับขยายไปสู่ ธุรกิจนำเข้าผลิตภัณฑ์ระดับโลก อาทิ การนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม นำเข้ารถแทรกเตอร์ รถบรรทุก เครื่องจักรทอกระสอบ เครื่องปรับอากาศ สินค้าอุปโภคบริโภค โดยยิบอินซอยถือเป็นผู้บุกเบิกการค้าปุ๋ยเคมีเป็นรายแรกของไทย โดยนำเข้าปุ๋ยเคมีคุณภาพสูงจากประเทศเยอรมนี เข้ามาจำหน่าย ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราใบไม้” เมื่อ พ.ศ.2489
หรือแม้แต่ใน ธุรกิจด้านการเงิน ยิบอินซอยก็ทำ โดยก่อตั้ง บริษัท ยิบอินซอยลงทุนและค้าหลักทรัพย์ จำกัด (YIT Invesment & Securities Ltd.- YISCO) บริษัท ยิบอินซอย เงินทุน (Yipintsoi Finance Limited. – YIPFIN) ทำธุรกิจด้านการเงินและหลักทรัพย์ โดยภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เงินทุนเอกธนกิจ จำกัด
เริ่มเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีในเจนสอง
จนมาปีพ.ศ.2497 ที่ยิบอินซอยก็เริ่มเข้าสู่ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี จากการเป็นตัวแทนจำหน่าย Burroughs Adding Machine เครื่องบวกเลขแบบจักรกลที่ถือเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานระดับสูง จนมาปีพ.ศ. 2506 ทายาทเจนสองอย่าง ธวัช ยิบอินซอย ก็ได้ต่อยอดให้เครื่องคอมพิวเตอร์เบอร์โร่วส์ สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้ และได้ขยายธุรกิจเข้าสู่งานจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมในอีก 10 ปีต่อมา โดยมี เทียนชัย ลายเลิศ ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินธุรกิจนี้
จนมาถึงพ.ศ. 2540 ยุคที่ระบบเมนเฟรมกำลังถูกแทนที่ด้วย Open system ทำให้ผู้บริหารเจนสามอย่าง นางมรกต ยิบอินซอย และ นายสุภัค ลายเลิศ ก็ได้มุ่งสู่ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร โดยได้การนำเทคโนโลยีใหม่ประสิทธิภาพสูง เช่น เนทแอป (NetApp) และผลิตภัณฑ์ของ SUN microsystem เข้ามาสร้างตลาดกลุ่มใหม่ ๆ ทำให้ยิบอินซอย ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาสู่ประเทศไทย เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และโซลูชั่นดิจิทัลสำหรับธุรกิจ
ปัจจุบัน บริษัทยิบอินซอย จำกัด อยู่ภายใต้ 3 ตระกูลใหญ่ ได้แก่ ตระกูลยิบอินซอย ตระกูลลายเลิศ และ ตระกูลจูตระกูล มีพนักงาน 1,900 คน มีบริษัทในเครือมีทั้งสิ้น 9 แห่ง ครอบคลุม 4 ธุรกิจ 1.ไอทีดิจิทัลโซลูชัน 2.เทคโนโลยีขั้นสูง 3.การค้าและการผลิต และ 4.ธุรกิจประกันและมีศูนย์บริการกว่า 32 แห่งทั่วประเทศไทยและในเขตประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน Clean Energy & Smart Agri-Tech Solutions และ Nano Bio Technology อีกด้วย อาทิ จากเดิมที่มีอยู่ 3 บริษัท คือ บริษัท โมรีน่า โซลูชั่นส์ จำกัด (Morena) สตาร์ทอัพด้าน BIOTECHNOLOGY, บริษัท อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด สตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยี AI ตรวจสอบพันธุ์ข้าว และ บริษัท โซลารินน์ จำกัด สตาร์ทอัพ ด้านพลังงานสะอาด (EASYRICE) ที่กำลังจะเริ่มผลิต จักรยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์
จับตาก้าวต่อไปหลังได้ Robinhood
ล่าสุด ยิบอินซอยก็ได้นำทีมเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood โดยมูลค่าการซื้อขายคิดเป็นมูลค่ารวมสูงสุด 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วยมูลค่าเบื้องต้นชำระทันที 400 ล้านบาท และส่วนเพิ่มตามผลประกอบการสูงสุดไม่เกิน 1,600 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มผู้ลงทุนที่เหลือประกอบด้วยกลุ่ม Brooker Group ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน, กลุ่ม SCT Rental Car ที่ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์สำหรับใช้งานส่วนบุคคลและเชิงพาณิชย์ รวมถึงบริษัทย่อยของ Loxley คือ LOXBIT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการไอทีโซลูชั่นของประเทศไทย
ต้องยอมรับว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ก็ไม่ได้ง่าย เพราะตลอด 10 ปีมีผู้เล่นที่ม้วนเสื่อกลับบ้านก็ไม่น้อย ดังนั้น จากนี้คงต้องจับตาว่า ยิบอินซอยที่ได้ Robinhood จะนำไปต่อยอดกับธุรกิจในเครืออย่างไร เพราะยิบอินซอยมีความพร้อมทั้งด้านไอทีโซลูชั่น ประกัน หรือแม้แต่ธุรกิจมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ก็คงต้องติดตามดูกัน ยาว ๆ ต่อไป