แผนด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ “มาสด้า” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2022 ระบุถึงการเพิ่มเป้าหมายยอดขายรถอีวีขึ้นเป็น 25-40% ของยอดขายรถยนต์รวมทั้งโลกภายในปี 2030 จากเดิมที่ตั้งสัดส่วนไว้เพียง 25% โดยจะเพิ่มยอดขายได้ มาสด้าจะมีการเพิ่มงบการลงทุนการผลิตรถอีวี
การเพิ่มการลงทุนครั้งนี้ของมาสด้า ถือเป็นการประกาศที่ตามมาหลังคู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่นด้วยกันอย่าง “โตโยต้า” และ “ฮอนด้า” ประกาศเป้าด้านรถอีวีไปก่อนแล้วในปีนี้ โดยบริษัทรถญี่ปุ่นทั้งหมดในที่สุดต้องทำแผนเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า หลังจากถูกบีบโดยนักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
“เราจะเร่งโปรโมตการเปิดตัวรถอีวีอย่างเต็มตัว และพิจารณาการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ เราคาดว่าสัดส่วนยอดขายรถอีวีของเราทั่วโลกจะขึ้นไปอยู่ระหว่าง 25% ถึง 40% จากยอดขายรวม ภายในปี 2030” ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ประกาศในแถลงการณ์ของมาสด้า
ถือเป็นการคาดการณ์ที่สอดคล้องกับเทรนด์โดยรวมในอุตสาหกรรมรถยนต์ ก่อนหน้านี้ Deloitte บริษัทที่ปรึกษา ได้คาดการณ์ไว้ว่ายอดขายรถอีวีทั้งโลกจะขึ้นมามีสัดส่วนราว 32% ของยอดขายรถทั้งหมดภายในปี 2030 หรือเท่ากับมีการขายรถยนต์ไฟฟ้า 31.1 ล้านคันในปี 2030 พุ่งขึ้นจากที่เคยขายได้ 2.5 ล้านคันเมื่อปี 2020
สำหรับแผนของ “มาสด้า” จะแบ่งการลุยวงการอีวีเป็น 3 เฟส โดยมาสด้าจะเริ่มแนะนำรถอีวีเข้าสู่ตลาดภายใน ‘ช่วงครึ่งหลังของเฟส 2’ ซึ่งหมายถึงช่วงระหว่างปี 2025-2027 และวางแผนว่าบริษัทจะเข้าสู่ยุคแห่งรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัวครบสมบูรณ์ได้ภายในปี 2028-2030
อากิระ โคงะ กรรมการบริหารอาวุโสของมาสด้า ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei ว่า บริษัทจะลงทุนรวม 10,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.8 แสนล้านบาท) ร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อทำการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ โคงะขอสงวนรายละเอียดการลงทุนว่าจะลงทุนอะไรเมื่อไหร่ แต่บอกว่าการลงทุนจะขึ้นอยู่กับว่ารถอีวีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นรวดเร็วแค่ไหน
ด้าน อากิระ มารุโมโตะ ซีอีโอของมาสด้า กล่าวว่าบริษัทจะเริ่มแนะนำระบบไฮบริดแบบใหม่ก่อน และจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์
มาสด้ายังแจ้งด้วยว่าบริษัทได้ทำข้อตกลงกับพาร์ทเนอร์ 7 ราย หนึ่งในนั้นคือบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น “Rohm” เพื่อร่วมกันพัฒนาและผลิตรถอีวี
นอกจากนี้ มาสด้ายังมีสัญญากับ Envision AESC ผู้ผลิตแบตเตอรี่ เพื่อให้ส่งซัพพลายแบตเตอรี่ให้ในระหว่างปี 2025-2027
“หลังจากนั้น เราจะพัฒนากลยุทธ์ในการจัดหาซัพพลายแบตเตอรี่ไปทีละขั้น” โคงะกล่าว
เมื่อปี 2019 มาสด้าเคยเปิดตัว MX-30 รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกมาแล้ว และมีการจำหน่ายในญี่ปุ่นและยุโรป ส่วนในไทยก็เพิ่งนำ MX-30 เข้ามาโชว์ตัวเมื่อต้นปีนี้ แต่จะไม่มีการขายในไทย เพราะแผนบริษัทต้องการนำรถไฮบริดเข้ามาทำตลาดไทยก่อน ยังไม่นำรถ full-electric แบบนี้เข้ามา
เป้าหมายยอดขายโดยรวมของมาสด้า ต้องการจะไปให้ถึงเป้า 4.5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.15 ล้านล้านบาท) ภายในรอบปีบัญชีที่จะปิดเดือนมีนาคม 2026 ซึ่งหมายถึงการเติบโตถึง 45% จากยอดขายรอบปีบัญชีมีนาคม 2022
]]>ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น เริ่มจาก โตโยต้า (Toyota) ได้ระงับสายการผลิตในรัสเซีย ส่วนหนึ่งมาจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกภายหลังการรุกรานยูเครน ทำให้กระทบต่อการขนส่งและตัดซัพพลายเชน โดยโตโยต้าระบุเพิ่มเติมว่า บริษัทยังได้ระงับการส่งออกรถยนต์ไปยังรัสเซียอย่าง ไม่มีกำหนด เช่นเดียวกันกับ ฮอนด้า (Honda) และ มาสด้า (Mazda)
โตโยต้า ถือเป็นแบรนด์ชั้นนำของญี่ปุ่นในรัสเซีย โดยสามารถผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 80,000 คันที่โรงงานในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยมีพนักงานรวมกว่า 2,000 คน
ในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์จากฝั่งยุโรป ก็มี Volvo ถือเป็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์แรกที่ออกมาประกาศระงับการส่งออกไปยังรัสเซีย ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และตามมาด้วย General Motors (GM), Mercedes-Benz, Ford และ BMW ก็หยุดการผลิตและส่งออกรถยนต์ไปยังรัสเซีย
สำหรับ Mercedes-Benz ไม่ใช่แค่ระงับการผลิตและส่งออก แต่ยังเตรียมขายหุ้น 15% ของบริษัท Kamaz ผู้ผลิตรถบรรทุกสัญชาติรัสเซียให้เร็วที่สุดอีกด้วย
เรียกได้ว่าตอนนี้แทบทุกอุตสาหกรรมกำลังคว่ำบาตรรัสเซีย อย่างฝั่งของโลจิสติกส์ก็มี MSC สายการเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ Maersk ระงับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไปและกลับจากประเทศรัสเซีย โดย Maersk ระบุว่า “การขนส่งอาหารและเวชภัณฑ์ไปยังรัสเซียมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายหรือเน่าเสียเนื่องจากความล่าช้าที่สำคัญที่ท่าเรือและศุลกากร”
ส่วน Amazon.com ก็ได้เปิดเผยว่าบริษัทกำลังใช้ความสามารถด้านโลจิสติกส์เพื่อจัดหาสิ่งของให้กับผู้ที่ต้องการและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนยูเครน นอกจากนี้ Japan Airline และ ANA Holdings ซึ่งปกติใช้น่านฟ้ารัสเซียสำหรับเที่ยวบินยุโรปก็ได้ออกมายกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดไปและกลับจากยุโรป
ในส่วนของธุรกิจพลังงาน ก็มีบริษัทพลังงานสหรัฐฯ Exxon Mobil บริษัทพลังงานของอังกฤษ BP และ Shell ต่างก็ถอนการลงทุนในรัสเซีย
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่าง ๆ อาทิ Spotify ก็ได้ปิดสำนักงานในรัสเซียอย่างไม่มีกำหนด ส่วน Netflix ได้เบรกออริจินอลคอนเทนต์ 4 เรื่องที่ถ่ายทำในรัสเซีย ส่วนบริษัทด้านความบันเทิงยักษ์ใหญ่อย่าง Disney และ Warner Bros. ได้ประกาศระงับการฉายภาพยนตร์ทุกเรื่องในรัสเซีย
บริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ อาทิ H&M บริษัทสินค้าแฟชั่นสัญชาติสวีเดน ได้หยุดการขายในรัสเซียชั่วคราว ส่วน Apple ก็หยุดการขาย iPhone และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในรัสเซียด้วย
Reuter / Japantoday / variety
]]>มาสด้ามีแผนที่จะหยุดดำเนินงานในช่วงกลางวัน เป็นเวลา 13 วัน และหยุดทำงานกะกลางคืนเป็นเวลา 8 วัน ตั้งแต่วันเสาร์ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน ที่โรงงานสองแห่งในฮิโรชิมา และยามากุชิ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น
ในปี 2019 ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้สามารถผลิตได้ 1.01 ล้านคัน จากโรงงานภายในประเทศ ซึ่งในจำนวนนั้นถูกส่งออกไปมากกว่า 80% ของผู้ผลิต แต่ในปัจจุบันตัวแทนจำหน่ายจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาและตลาดต่างประเทศอื่นๆ ถูกปิดเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
มาสด้าบอกอีกว่า จะหยุดการผลิตที่โรงงานในเม็กซิโกเป็นเวลา 10 วัน นับตั้งแต่วันพุธ รวมถึงหยุดการผลิตในประเทศไทย 10 วัน นับตั้งแต่วันจันทร์หน้า
“มาสด้าได้ตัดสินใจปรับลดการผลิตที่โรงงานผลิตของเราทั่วโลก โดยคำนึงถึงความยากลำบากในการจัดหาชิ้นส่วน การลดยอดขายในตลาดต่างประเทศ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตลาดในอนาคต”
การระบาดของไวรัส COVID-19 มีผลต่อการผลิตรถยนต์ทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลหลายแห่งสั่งให้คนงานตามโรงงานพักอยู่บ้าน แถมซัพพลายเชนของชิ้นส่วนยานยนต์ก็กระทบด้วย
ความเคลื่อนไหวของมาสด้า เกิดขึ้นหลังการประกาศของ โตโยต้า มอเตอร์ เมื่อวันจันทร์ ที่ระบุว่า จะหยุดสายการผลิต ที่โรงงานห้าแห่งในญี่ปุ่นชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจภูมิภาค ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างมาก
เมื่อวันจันทร์ ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า ซูซูกิ และนิสสันพากันระบุว่า พวกเขาได้หยุดดำเนินการที่โรงงานของพวกเขาในอินเดีย เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส
]]>นิกเกอิเอเชียนรีวิว รายงานว่ามาสด้า มอเตอร์ จะย้ายฐานการประกอบรถยนต์ CX-3 สำหรับป้อนตลาดออสเตรเลีย จากไทยกลับไปยังโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองโฮฟุ จังหวัดยามากูชิ อย่างเร็วที่สุดคือในเดือนธันวาคม ขณะที่ CX-3 เป็นหนึ่งในรถยนต์รุ่นที่มียอดส่งออกจากไทยสูงลำดับต้นๆ ของมาสด้า
รายงานของนิกเกอิ ระบุว่า โรงงานของมาสด้าในไทย มีกำลังผลิตรายปีที่ 135,000 คัน ในนั้นเป็น CX-3 จำเป็น 25,000 คัน และในนั้น 14,000 คัน ส่งออกไปยังออสเตรเลีย
เงินบาทของไทยเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในหมู่ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลของไทย โดยในปีนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่า 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ออสเตรเลียและแข็งค่า 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
การตัดสินใจของมาสด้า เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ในวงกว้างที่เหล่าบริษัทต่างๆต้องรีบปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องตนเองจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ในนั้นรวมถึงกรณีที่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ปรับลดพนักงานกว่า 300 อัตราในไทยเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และกำลังผลิตของพวกเขาในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี
จากคำสั่งซื้อที่ลดลง นิปปอนสตีล สตีล ต้องประกาศปิดโรงงานในไทยเป็นการชั่วคราวเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา โดยอ้างถึงความต้องการใช้วัตถุดิบจากลูกค้าลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่พวกเขาใช้โรงงานในไทย ผลิตแผ่นเหล็กความแข็งแรงสูง ป้อนแก่ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นทั้งหลาย ในนั้นรวมถึงมาสด้า
ไทยคือศูนย์กลางปฏิบัติการต่างๆ ของบรรดาค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งครอบงำตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน โดยทั้งโตโยต้า มอเตอร์, ฮอนด้า มอเตอร์, นิสสัน มอเตอร์, มาสด้า, อีซูซู มอเตอร์ส ต่างมีโรงงานในไทย ซึ่งโดยรวมแล้วในปี 2018 ค่ายรถยนต์ทั้งหลายได้ผลิตรถยนต์รวมกัน 2.16 ล้านคันในไทย และราวครึ่งหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก
อย่างไรก็ตาม ด้วยบรรดานายธนาคารคาดหมายว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นไปอีก จึงมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเหล่าผู้ผลิตอื่นๆ อาจเดินตามรอยมาสด้า ในการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทย
อัตราแลกเปลี่ยนทำให้กำไรจากการดำเนินงานของมาสด้า ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน หายไปราว 37,500 ล้านเยน (ราว 10,000 ล้านบาท) และประเด็นค่าเงินนี้ยังทำให้กำไรจากการดำเนินงานของโตโยต้าหายไปราว 90,000 ล้านเยน (เกือบ 25,000 ล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนฮอนด้ากำไรหายไปประมาณ 50,000 ล้านเยน (เกือบ 14,000 ล้านบาท) ขณะที่มิตซูบิชิซึ่งมีฐานการส่งออกขนาดใหญ่ในไทย ก็มีผลกำไรลดลง 22,200 ล้านเยน (ราว 6,100 ล้านบาท) ในช่วง 6 เดือนหลังสุด
“เราย้ายการผลิตรถยนต์ของเรา 80%ในไทยไปยังต่างแดน แต่จะ (จำเป็น) พยายามขายในท้องถิ่น” โคจิ อิเคยะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินบอกกับนิกเกอิเอเชียนรีวิว
ด้านอีซูซุ ซึ่งผลิตรถกระบะในไทย และส่งออกรถเหล่านั้นไปยังส่วนอื่นๆ ของโลก ก็ได้รับความเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเช่นกัน “เราส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในไทยไปยังประเทศอื่นๆราว 120 แห่งทั่วโลก ผลกำไรจากการทำธุรกิจลดลงอย่างมากเนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์” มาซาโนริ คาตายามะ ประธานอิซูซูกล่าว
]]>กลายเป็นกระแส วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วออนไลน์ ถึงกรณีที่มีการส่งต่อภาพหมายศาล คดีหมายเลขดำที่ พ๖๐๑๗/๒๕๖๐ ระบุเป็นคดีแพ่งระหว่าง บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายประชุม เหรียญดียิ่ง กับพวกรวม 2 คน เป็นจำเลย โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ headlightmag.com ระบุด้วยว่า Mazda ฟ้องร้องค่าเสียหาย กับคนใช้ CX-5 ที่ไปประท้วงปัญหา ในงาน Motor Expo ขณะที่นายประชุมได้เข้าไปโพสต์หมายศาลดังกล่าวในกลุ่มเฟซบุ๊ก Thai Mazda CX-5 Help Club ระบุว่า
“ช่วงนี้ ผมของดตอบปัญหาทางเทคนิคนะครับ เพื่อเตรียมตัวขึ้นศาล 19/3/2561 09:00น. ที่มาสด้าฟ้องผม 95 ล้านบาท สัพเพ สัตรา อเวราฯ (ต้องละทิ้งชั่คราว) ใครใคร่พัง…ไฟกองใหญ่จะลุกโชน ทำคุณบูชาโทษ“
กรณีดังกล่าวส่งผลให้โลกโซเชียลได้ออกมาให้ความเห็นถึงกรณีดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง หลายคนมองว่า หากมาสด้าฟ้องร้องจริง น่าจะได้รับผลกระทบกับชื่อเสียงของแบรนด์ ถึงขั้นที่อาจไม่มีใครกล้าซื้อรถมาสด้าเลยก็ได้ เพราะมองว่า ลูกค้าถูกแบรนด์รังแก
แต่ในอีกด้านหนึ่ง มองว่า ต้องดูด้วยว่า รถมีปัญหาจริงอย่างที่ลูกค้าที่ถูกฟ้องกล่าวอ้างหรือไม่ เพราะบางทีก็มีว่า ผู้บริโภคจงใจใส่ร้ายแบรนด์ หรือ อาจถูกกลั่นแกล้งจากแบรนด์คู่แข่งก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวแล้ว
1. กรณีการฟ้องร้องของมาสด้า ต่อลูกค้าเป็นความจริง ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อให้ลูกค้ายุติการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าท่านอื่นๆ โดยลูกค้าที่ถูกฟ้องร้องเป็นแกนนำ 2 คน ในการดำเนินการเรียกร้องต่อบริษัทฯ ซึ่งทางแกนนำได้ยื่นข้อเรียกร้องที่ไม่สามารถเป็นไปได้ คือ ให้มาสด้ารับประกันเป็นเวลา 10 ปี หรือระยะทาง 500,000 กิโลเมตร
2.ทางมาสด้า ได้เจรจาหลายครั้งและแก้ปัญหาเกี่ยวกับรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมยื่นข้อเสนอรับประกันเป็นเวลา 6 ปี หรือระยะทาง 180,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสิ่งที่มาสด้าให้กับลูกค้าได้มากที่สุด แต่ลูกค้ายังไม่ยอมรับ
3.ส่วนประเด็นเรื่องจำนวนเงินในค่าเสียหายที่เรียกร้องนั้น เป็นการประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสียโอกาสในการขายรถ แต่อย่างไรก็ตาม ทางมาสด้ายืนยันว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะเรียกเงินจากลูกค้า เป็นเพียงเงื่อนไขตามกฎหมายของไทยที่ต้องมีมูลหนี้ในการฟ้องร้องดำเนินคดี
สำหรับเหตุดังกล่าว เกิดจากกรณีที่ลูกค้ามาสด้า ซีเอ็กซ์-5 และมาสด้า 2 รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล รวมตัวกันร้องเรียน ที่งาน Motor Expo 2017 ที่เมืองทองธานี จากเหตุรถยนต์มีปัญหาน้ำดันและน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาปะปนกับน้ำมันเครื่องทำให้รถได้รับความเสียหาย ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ.
]]>การเป็นพันธมิตรในครั้งนี้โตโยต้าจะเข้าซื้อหุ้นของมาสด้าราวร้อยละ 5 มูลค่า 450 ล้านดอลลาร์ ส่วนมาสด้าจะเข้าซื้อหุ้นของโตโยต้าร้อยละ 0.25 เพื่อมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากโตโยต้ากับมาสด้ายังไม่ได้นำยานยนต์ไฟฟ้าออกจำหน่าย ดังนั้นจึงต้องการไล่ตามให้ทันการแข่งขันในโลกผ่านการร่วมมือกันนี้
ทั้ง 2 บริษัทได้เป็นหุ้นส่วนกันมาตั้งแต่ปี 2558 ในหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่คาดว่าความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้น เพราะยุโรป, สหรัฐฯ และจีนเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการปล่อยไอเสียจากยานยนต์
การร่วมมือของ 2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถยนต์ได้รับการตอบรับอย่างดีจากรัฐบาลญี่ปุ่น นายเคอิชิ อิชิอิ รัฐมนตรีกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคมและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ยินดีต่อแผนของโตโยต้าและมาสด้าในการเป็นพันธมิตรด้านเงินทุนระหว่างกัน โดยระบุว่า ความเป็นพันธมิตรนี้จะส่งเสริมการยกระดับความปลอดภัยและเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติของบรรดาผู้ผลิตจากญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่บริษัทโตโยต้าระบุว่า การทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กพิเศษที่นั่งเดียวจะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคมนี้และมีระยะเวลาทดสอบนาน 2 ปี
โตโยต้าจะทดสอบรถยนต์นี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทย โดยจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่นั่งเดียว 30 คันให้เจ้าหน้าที่และนักศึกษาใช้เพื่อการเดินทางภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย
การทดสอบในประเทศไทยนี้ โตโยต้าวางแผนศึกษาความท้าทายที่อาจเผชิญเมื่อมีการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานโดยทั่วไปในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยทางโตโยต้าประเมินว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับการเดินทางระยะสั้นสามารถช่วยลดการจราจรติดขัด และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่ประสบภาวะการจราจรติดขัดรุนแรง เช่น ไทย
ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นต่างเร่งปรับตัวด้านเทคโนโลยีครั้งสำคัญ โดยคิดหามาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนเองได้เพื่อตอบสนองต่อสังคมผู้สูงอายุที่จะขาดแคลนแรงงาน.
ที่มา : manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9600000080063
]]>บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์มาสด้าอย่างเป็นทางการในประเทศไทย แจ้งเชิญลูกค้ารถยนต์มาสด้ากลับเข้ารับบริการ เพื่อตรวจสอบและเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในชุดถุงลมนิรภัยของทากาตะ ซึ่งเป็นมาตรการเชิงป้องกันและเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยสูงสุดให้กับลูกค้า โดยมีรถยนต์ที่เข้าข่ายจำนวน 102,296 คัน ที่ต้องเข้ารับการบริการตรวจสอบและเปลี่ยนชุดชิ้นส่วนภายในถุงลมนิรภัยได้ที่ศูนย์บริการมาสด้าทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 30 นาที
มาสด้าตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของลูกค้า จึงได้มีการแจ้งเรียนเชิญลูกค้ารถยนต์มาสด้าที่อยู่ในข่ายที่จะต้องมีการตรวจสอบและเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในของถุงลมนิรภัยที่ผลิตจากทากาตะ จากกรณีปัญหาของชุดสร้างแรงดันก๊าซในชุดถุงลมด้านฝั่งคนขับและฝั่งผู้โดยสาร ที่อาจสร้างแรงดันสูงกว่าปกติในกรณีที่ชุดถุงลมทำงานในบางกรณี ซึ่งอาจส่งผลทำให้ชุดถุงลมแตกออกและอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร
บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังลูกค้ามาสด้าให้ทราบว่า รถยนต์มาสด้าของท่านมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและเปลี่ยนถุงลมนิรภัย เพื่อยืนยันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ว่าตรงตามมาตรฐานที่มาสด้ากำหนดไว้ทั่วโลก และเพื่อความสะดวกสบายของลูกค้าเป็นหลักสำคัญ ดังนั้น บริษัทฯ จึงขอเชิญลูกค้านำรถยนต์เข้ารับบริการโปรแกรมบริการพิเศษนี้ ณ ศูนย์บริการมาสด้าที่ท่านสะดวก
รายการแจ้งเรียกรถยนต์มาสด้าเพื่อเข้ารับการตรวจสอบในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย
1. รถสปอร์ต มาสด้า RX-8 ปีที่ผลิต 2004-2007 จำนวน 20 คัน ตรวจสอบฝั่งคนขับและผู้โดยสาร
2. รถยนต์นั่ง มาสด้า6 ปีที่ผลิต 2007 จำนวน 4 คัน ตรวจสอบฝั่งคนขับและผู้โดยสาร
3. รถยนต์อเนกประสงค์ CX-9 ปีที่ผลิต 2007-2012 จำนวน 126 คัน ตรวจสอบฝั่งผู้โดยสาร
4. รถปิกอัพมาสด้า บีที-50 ปีที่ผลิต 2006-2011 จำนวน 710 คัน ตรวจสอบฝั่งคนขับและผู้โดยสาร
5. รถยนต์นั่ง มาสด้า2 ปีที่ผลิต 2009-2014 จำนวน 101,436 คัน ตรวจสอบฝั่งผู้โดยสาร
สำหรับลูกค้าที่เป็นเจ้าของรถยนต์มาสด้าในแต่รุ่น ในระหว่างปีที่ผลิตดังกล่าว และเข้าข่ายการเรียกกลับเข้ามาตรวจสอบ แต่ยังไม่ได้รับจดหมายแจ้งจากทางมาสด้า อันเนื่องมาจากได้มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ หรือมีการเปลี่ยนผู้ครอบครอง หรือหากในกรณีที่ลูกค้าสงสัยว่ารถยนต์ของท่านอยู่ในข่ายที่ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนในถุงลมนิรภัยหรือไม่ สามารถนำหมายเลขตัวถังเข้าตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้หลากหลายช่องทาง ดังต่อไปนี้ เข้าไปยังเว็บไซต์มาสด้า www.mazda.co.th/vincheck หรือโทรศัพท์ตรวจสอบที่ศูนย์บริการมาสด้าทั่วประเทศ หรือโทรตรวจสอบที่ Mazda Speedline หมายเลขโทรศัพท์ เบอร์โทรศัพท์ 02-664-4888 (กรุงเทพฯ) หรือ ต่างจังหวัดโทรฟรี 1-800-226-408 (โทรศัพท์พื้นฐาน)
บริษัทฯ ต้องขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นกับลูกค้าทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ และขอชี้แจงว่าการเรียกรถมาสด้ากลับเข้ารับการบริการในครั้งนี้ เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อคุณภาพของรถยนต์มาสด้า และเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยสูงสุดให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มาสด้ายึดมั่นมาโดยตลอด นอกจากสร้างยนต์ที่เปี่ยมด้วยสมรรถนะความแรง ประหยัดน้ำมัน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยสูงสุด
ณ ปัจจุบัน ทางมาสด้าไม่พบรายงานปัญหาเกี่ยวกับถุงลมนิรภัย อย่างไรก็ตาม มาสด้าตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกค้าสูงสุด จึงได้มีการเชิญลูกค้ากลับเข้ามาทำการตรวจสอบเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยใหม่ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้รถ มาสด้าแนะนำให้ลูกค้าทำการนัดหมายเพื่อเข้ารับการตรวจสอบเปลี่ยนถุงลมนิรภัยลูกใหม่ได้ที่ศูนย์บริการมาสด้าทุกแห่งทั่วประเทศได้ทันที
ที่มา : http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9600000023039
]]>