Private Equity – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 06 May 2024 08:56:37 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ตลาดหุ้นผันผวนหนัก ลงทุน ‘สินทรัพย์นอกตลาด’ มาแรง ให้ผลตอบแทนดี https://positioningmag.com/1472088 Sun, 05 May 2024 08:01:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472088 KBank Private Banking ชู ‘สินทรัพย์นอกตลาด’ โดยชี้ถึงจุดเด่นไม่ว่าจะเป็น ไม่ต้องรับความผันผวนของตลาดหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง แต่ยังได้รับผลตอบแทนที่ดี

ตรีพล ภูมิวสนะ Senior Managing Director, Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงในช่วงที่ผ่านมาได้มีการออกกองทุนสินทรัพย์นอกตลาด มากถึง 10 กอง โดยลงทุนทั้งในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) 6 กองทุน กองอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด 2 กองทุน รวมถึงหนี้นอกตลาด (Private Credit) 1 กองทุน

ผู้บริหารของ KBank Private Banking ได้กล่าวว่า ภาพรวมตลาดการลงทุนทั่วโลกในปี 2024 ยังคงผันผวน จากความไม่แน่นอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก การเลือกตั้งในหลายประเทศ เช่น รัสเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ต่างๆ ไปจนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิมต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้

ตรีพลชี้ยังกล่าวถึงสภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเหล่านี้สามารถผ่านช่วงเวลาแย่ๆ มาได้ เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาดทั่วโลก ซึ่งตั้งกองทุนในปี 2019 นั้นให้ผลตอบแทนเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ 58.67%

เขายังได้กล่าวถึงข้อดีของการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ไม่ว่าจะเป็น

  • สินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้น
  • Private Assets ช่วยกระจายความเสี่ยง และยังทำให้เข้าถึงการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเขาได้ยกตัวอย่างกองทุนที่มีหุ้นของ SpaceX นั้นมีผลตอบแทนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาดีพอสมควร
  • ทำให้หลายบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันบทบาทของสินทรัพย์นอกตลาดคือการเพิ่มเสถียรภาพให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้า เนื่องจากไม่มีราคาซื้อขายทุกวันเหมือนกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่หลายกิจการเองยังดำเนินต่อไปทุกวัน ตรีพลยังชี้ถึงหลายบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้นถือเป็นโอกาสลงทุนในบริษัทที่อาจพลิกโฉมธุรกิจได้ หรือเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต

แนวทางการจัดพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาด – ข้อมูลจาก KBank Private Banking

ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ KBank Private Banking วางแผนนำเสนอกองทุนที่ลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดให้กับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเสนอกลยุทธ์ในการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด เพื่อที่จะลดข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite ที่จะจัดแบ่งส่วนหลักและส่วนเสริมเพื่อกระจายความเสี่ยง

โดยสัดส่วนหลักของพอร์ตการลงทุนหรือ Core จะคิดเป็น 60-80% ของพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาดจะเป็นกองทุนสินทรัพย์นอกตลาดกึ่งสภาพคล่อง ที่ลงทุนเพิ่มได้ทุกเดือน ขายหน่วยลงทุนได้เป็นรายไตรมาส ขณะที่สัดส่วนเสริมหรือ Satellite คิดเป็น 20-40% ของพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาด จะเป็นกองทุนหุ้นนอกตลาดตามธีมต่างๆ เช่น หุ้นนอกตลาดทั่วโลก หุ้นนอกตลาดจีน หุ้นนอกตลาดไทย หุ้นเทคนอกตลาด หุ้นอสังหาฯ นอกตลาดทั่วโลก หุ้นอสังหานอกตลาดไทย รวมถึงหนี้นอกตลาด เป็นต้น

การจัดพอร์ตในลักษณะดังกล่าว ตรีพลกล่าวว่าจะช่วยลดความผันผวนผ่านการลงทุนระยะยาว ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากการจับจังหวะลงทุนตามธีมและเมกะเทรนด์ที่กำลังเติบโตขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีบริการออกแบบพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดสำหรับลูกค้าแต่ละคนโดยเฉพาะอีกด้วย

ในการนำสินทรัพย์นอกตลาดมาให้บริการลูกค้า ทาง KBank Private Banking ได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายราย ไม่ว่าจะเป็น EQT ซึ่งเชี่ยวชาญการลงทุนบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์จากประเทศสวีเดน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถระดมทุนการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะที่ Apollo ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านการจัดการสินทรัพย์ทางเลือกที่มียอดการปล่อยสินเชื่อนอกตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก และยังมีแผนที่จะร่วมมือกับ Goldman Sachs เพื่อร่วมสร้าง Ecosystem การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดอีกด้วย

ตรีพลยังได้กล่าวถึงว่าในอดีตนักลงทุนชาวไทยไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดมากนัก ซึ่งถือว่าแตกต่างกับในปัจจุบัน

ปัจจุบันผู้บริหารของ KBank Private Banking ได้กล่าวว่าลูกค้าสัดส่วน 10% ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ซึ่งลูกค้าหลายรายมีประสบการณ์เคยลงทุนสินทรัพย์แนวนี้มาแล้ว และเขาตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีจะมีลูกค้าลงทุนเพิ่มมากขึ้นเป็นสัดส่วน 20% ของลูกค้าทั้งหมด

]]>
1472088
ทำความรู้จักกับ 9Basil กองทุนของ ‘ชวิณ เจียรวนนท์’ https://positioningmag.com/1471348 Mon, 29 Apr 2024 10:52:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1471348 Positioning จะพาไปทำความรู้จักกับ 9Basil ธุรกิจลงทุนในบริษัทนอกตลาดหุ้น หรือ Private Equity ซึ่งเป็นอีกธุรกิจสำคัญของ ‘ชวิณ เจียรวนนท์’ ซึ่งกำลังเป็นข่าวกับดาราชื่อดัง ‘เบลล่า’ ราณี แคมเปน อยู่ในขณะนี้

ชวิณ เจียรวนนท์ (วิล) เป็นหลานของ วัลลภ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งปู่ของ ชวิณ นั้นเป็นลูกพี่ลูกน้อง ธนินท์ เจียรวนนท์

ในส่วนของการศึกษานั้น ชวิณ จบการศึกษาจาก University of North Carolina at Chapel Hill ใน 2 สาขาวิชาหลัก นั่นคือ ด้านเศรษฐศาสตร์ และการบริหารธุรกิจ

เขาได้ก่อตั้ง 2W Group ซึ่งเป็นสำนักงานครอบครัว (Family Office) และได้ลงทุนในหลายกิจการ ไม่ว่าจะเป็น MC Payment ซึ่งเป็นบริการรับจ่ายเงินในประเทศอินโดนีเซีย หรือแม้แต่เคยลงทุนใน Aura ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริหารความมั่งคั่งซึ่งมีสำนักงานทั้งในสิงคโปร์และออสเตรเลียมาแล้วในปี 2016 ก่อนที่จะขายหุ้นในกิจการดังกล่าวออกมาในช่วงปี 2021

ขณะเดียวกันเขาเองยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งของ Blueprint Forest ซึ่งถือเป็น Family Office อีกแห่งเพื่อที่จะบริหารเงินลงทุนให้กับตระกูลมหาเศรษฐีในทวีปเอเชียด้วย

ชวิณ เจียรวนนท์ (คนกลาง) ในช่วงที่เป็นกรรมการ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) / ภาพจากบริษัท

9Basil ธุรกิจสำคัญของ ‘ชวิณ’

ชวิณ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งของ 9Basil ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ หรือหลายคนอาจคุ้นในชื่อของ Private Equity ในช่วงปี 2018 และธุรกิจดังกล่าวยังสร้างชื่อเสียงให้กับเขาในปัจจุบัน

สำหรับพอร์ตการลงทุนของ 9Basil ที่สำคัญๆ เช่น เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ‘เงินติดล้อ’ ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ ซึ่งตัวเขาเองเคยเป็นกรรมการของบริษัทในช่วงปี 2019 จนถึงปี 2022 มาแล้ว ซึ่งการลงทุนในเงินติดล้อนั้นบริษัทได้จับมือกับ CVC Capital Partners ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Private Equity รายใหญ่ของโลก

ปัจจุบัน 9Basil ถือหุ้นในเงินติดล้อ สัดส่วน 3.49% คิดเป็นมูลค่าล่าสุด (29 เมษายน) ราวๆ 2,000 ล้านบาท

9Basil ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ‘อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป’ ซึ่งประกอบธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้นบริษัทมีการยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว

ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมท่ีผ่านมา 9Basil เองยังเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนของ Sourcefit ซึ่งเป็นธุรกิจรับมอบหมายและดูแลงานบางส่วนภายในองค์กร (BPO) ในประเทศฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันในช่วงปี 2020 นั้นบริษัทเองยังมีการลงทุนในกิจการที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินด้วย

นอกจาก 9Basil เองแล้ว ชวิณ ยังมีกองทุนอื่นที่ดูแลไม่ว่าจะเป็น Lossless Capital และ Open Forest อีกด้วย

Private Equity ทำไมถึงได้รับความนิยมในไทย

การลงทุนในบริษัทที่เน้นลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ นั้นได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา สาเหตุหลักคือต้นทุนการเงินที่ถูก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เองนั้นถือว่าต่ำ

จุดเด่นของ Private Equity คือสามารถที่จะหาผลตอบแทนที่สูงมากกว่าในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยที่ไม่ต้องรับความผันผวนจากราคาในตลาดหุ้นในช่วงการลงทุนในกิจการดังกล่าว แต่จะมีการหามูลค่าทางบัญชีว่ากิจการในช่วงลงทุนมีมูลค่าเท่าใด

Private Equity เองมีการกู้ยืมเงิน หรือนำเงินลงทุนจากนักลงทุนไปซื้อกิจการต่างๆ ที่มองว่ามีศักยภาพ สามารถสร้างกำไรในอนาคตได้ ซึ่ง Private Equity มักจะมีการเข้ามาฟื้นฟูกิจการหรือทำให้กิจการมีประสิทธิภาพหรือกำไรที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

สำหรับการทำกำไรของ Private Equity เช่น การขายกิจการต่อให้นักลงทุนที่สนใจ หรือแม้แต่การนำกิจการที่ตัวเองเป็นเจ้าของ (หรือถือหุ้นอยู่) นำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้มีกำไรอย่างมหาศาล อย่างไรก็ดีธุรกิจดังกล่าวมีความเสี่ยงในเรื่องการบริหารกิจการอาจไม่เป็นไปตามแผน หรือแม้แต่สภาวะธุรกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้การลงทุนเกิดความเสียหายได้

ขณะที่ในประเทศไทย Private Equity ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เหล่าตระกูลมหาเศรษฐีของไทยหลายตระกูลเองได้ประกาศตั้งกองทุน ไม่ว่าจะเป็น ภูมิ จิราธิวัฒน์ ที่มีการประกาศตั้ง ซีจี แคปปิตอล เป็นต้น ซึ่งธุรกิจดังกล่าวถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนของเหล่าตระกูลมหาเศรษฐีของไทยอีกทางหนึ่ง

]]>
1471348