Thai Vietjet Air – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 08 Apr 2021 12:52:06 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘ไทยเวียตเจ็ท’ แก้เกมการบินอย่างไรให้ ‘ไม่ขาดทุน’ จับโอกาสขึ้นเบอร์ 2 ครองตลาดในประเทศ https://positioningmag.com/1326301 Thu, 08 Apr 2021 08:24:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1326301 ชื่อของไทยเวียตเจ็ทเริ่มเป็นที่รู้จักมาเมื่อไม่นานมานี้ เเม้จะเข้ามาตีตลาดไทยนานถึง 5 ปีเเล้วก็ตาม…

จากเดิมที่เน้นเส้นทางบินไปยังต่างประเทศ เน้นจับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาวันนี้ต้องเดินเกมใหม่ หันมาเจาะเส้นทางบินในประเทศ มุ่งสร้าง Brand Awareness กับลูกค้าคนไทย ขยับมาหารายได้จากกลุ่ม non-airline เเละอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 สายการบินใหญ่จากเวียดนามอย่าง ‘VietJet’ ซึ่งเป็นบริษัทเเม่ของ ไทยเวียตเจ็ท (Thai Vietjet Air) ทำรายได้รวมตลอดปี 2020 อยู่ที่ 790 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.3 หมื่นล้านบาท) มีกำไรสุทธิหลังหักภาษี 3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 94 ล้านบาท)

‘VietJet’ จึงกลายเป็นสายการบินไม่กี่เเห่งในโลก ที่ยังคงมีผลประกอบการเป็นบวกเเละไม่มีการปลดพนักงานเลยในปีที่ผ่านมา ขณะที่สายการบินหลายเจ้าถึงขั้นต้องล้มละลาย

ไม่หยุดบิน : ใช้ความ ‘เล็ก’ ให้เป็นประโยชน์ 

วรเนติ หล้าพระบางอดีตเเม่ทัพของไทยสมายล์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของไทยเวียตเจ็ท ได้ราว 7 เดือน ให้สัมภาษณ์กับ Positioning ถึงการเเก้เกมในช่วงวิกฤต กลยุทธ์ต่อไป เเละทิศทางของสายการบินโลว์คอสต์’ ที่จะไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม

“ตอนนั้นเราคิดว่าใครจะหยุดบิน ก็หยุดไป…เเต่เราไม่หยุด”

ตั้งแต่เกิดโรคระบาดในช่วงแรกๆ ไทยเวียตเจ็ทเป็นสายการบินเดียวที่ประจำในไทย ณ ขณะนั้น ที่ยังคงให้บริการตามปกติ เพียงแต่ปรับลดจำนวนเที่ยวบินลง ‘ไม่ปลดพนักงานออก แต่มีการปรับลดเงินเดือน’ 

วรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท

เมื่อถามว่าทำไมยังกล้าบินต่อ ทั้งๆ ที่ สายการบินอื่นต้องหยุดบินเพื่อลดการเจ็บตัว…

วรเนติ บอกว่า มี 2 เหตุผลหลักๆ ที่ไทยเวียตเจ็ทเลือกที่จะไม่หยุดบิน คือ

1.มองว่าเป็นหน้าที่ ของสายการบินที่ต้องให้บริการนักเดินทางซึ่งตอนนั้นยังมีดีมานด์ของลูกค้าทั้งในเเละต่างประเทศเป็นทางเลือกของคนที่จำเป็นต้องเดินทาง

2.มองว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างการรับรู้ให้คนไทยรู้จักสายการบินมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถชิงส่วนเเบ่งการตลาด ในแง่จำนวนผู้โดยสาร ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในไทยได้

นี่คือข้อได้เปรียบของการที่เราเป็นสายการบินเล็ก คล่องตัวเเละมีความกล้า เพราะถึงจะเจ็บ เเต่ก็เจ็บไม่หนักมากเหมือนที่อื่น

ในช่วงเดือนมกราคมกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยเวียตเจ็ทมีจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน เฉลี่ยอยู่ที่ราว 50% ขยับขึ้นเป็นประมาณ 80% ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม

โดยผู้โดยสารกว่า 95% เป็นคนไทย เเละที่เหลือเป็นต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย เปลี่ยนจากช่วงก่อน COVID-19 ที่เคยมีสัดส่วนผู้โดยสารต่างชาติราว 50% คนไทย 50%

ขยับขึ้นเบอร์ 2 ตลาดบินในไทย

จากข้อมูลของ CAAT ระบุว่า จำนวนผู้โดยสารในไทยทั้งหมดของปี 2020 มีอยู่ราว 58.25 ล้านคน ลดลง 64.7% เมื่อเทียบกับปี 2019

ในจำนวนนี้ เเบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 16.25 ล้านคน ลดลง 81.7% เเละผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 42 ล้านคน ลดลง 44.9%

หลังจากที่ไทยเวียตเจ็ท ไม่หยุดบินในช่วง COVID-19 ทำให้สามารถขยับส่วนเเบ่งการตลาด (มาร์เก็ตเเชร์) ในแง่จำนวนผู้โดยสาร ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในไทยได้ โดยเป็นรองเพียงสายการบินไทยแอร์เอเชีย (Thai AirAsia) เท่านั้น จากเดิมก่อนวิกฤตอยู่ที่อันดับ 4-5

เพิ่มฝูงบิน ขยายเส้นทาง ‘ข้ามภาค’

สำหรับในปีนี้ไทยเวียตเจ็ทมีเเผนจะเปิดเส้นทางบินใหม่ ทั้งเส้นทางบินภายในประเทศ เส้นทางบินข้ามภาค เส้นทางบินระหว่างประเทศ ที่คาดว่าช่วยปลายปีจะฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะประเมินจากความต้องการของตลาดเป็นหลัก

จะเน้นไปที่เส้นทางในประเทศมากขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่แต่ก่อนให้ความสำคัญกับเส้นทางระหว่างประเทศ

โดยสายการบินมีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินอีก 10 ลำ จากเมื่อสิ้นปี 2563 ที่มีจำนวน 15 ลำ ซึ่งล่าสุดได้รับมาเเล้ว 1 ลำ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนที่เหลืออีก 9 ลำนั้นจะทยอยรับมอบเข้ามาให้ทันภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ ฝูงบินทั้ง 16 ลำ ประกอบด้วย แอร์บัส A320 ขนาด 180 ที่นั่ง จำนวน 10 ลำ และแอร์บัส A321 ขนาด 230 ที่นั่ง จำนวน 6 ลำ ‘เป็นขนาดที่กำลังพอเหมาะ คล่องตัวในการบริหารต้นทุน’ 

ปัจจุบัน ไทยเวียตเจ็ท มีไฟลต์บิน 140 ไฟลต์ต่อวัน จากเส้นทางบินในประเทศ 14 เส้นทาง เเบ่งเป็น จากกรุงเทพฯ ไปสู่เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต อุดรธานี หาดใหญ่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี

ส่วนบินข้ามภาคจะเป็น เชียงรายสู่ ภูเก็ต หาดใหญ่ อุดรธานี เส้นทางระหว่างเชียงใหม่ สู่ นครศรีธรรมราช

ด้านเส้นทางระหว่างประเทศมีอยู่ 17 เส้นทาง ไปที่เวียดนาม ไต้หวัน จีน ซึ่งกำลังรอความคืบหน้าในการเปิดประเทศในเร็วๆ นี้

ตั้งแต่ต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ไทยเวียตเจ็ท ได้กลับมาเปิดบริการเที่ยวบินเเบบกึ่งพาณิชย์ระหว่างประเทศ ในเส้นทางโฮจิมินห์กรุงเทพฯ ให้บริการในทุกวันศุกร์ สัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน และเส้นทางดานังกรุงเทพฯ ให้บริการในทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน

สำหรับความล่าช้าของเที่ยวบินและการยกเลิกเที่ยวบินทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก ซึ่งเป็นประเด็นร้อนในช่วงที่ผ่านมานั้น ทางสายการบินเน้นไปที่ความปลอดภัยเป็นหลัก เเละพร้อมชดเชยให้ผู้โดยสารอย่างครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

Photo : vietjetair.com

เร่งปั้นเเบรนด์ให้คนไทยรู้จัก รุกอีคอมเมิร์ซเพิ่มรายได้ 

ไทยเวียตเจ็ทมีจำนวนผู้โดยสารรวมในปีที่ผ่านราว 3 ล้านคน เเละปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่กว่า 7 ล้านคน เเบ่งเป็นชาวไทย 5 ล้านคน เเละชาวต่างชาติ 2 ล้านคน จากความหวังว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี

โดยมีเเผนการตลาดผ่าน 3 กลยุทธ์หลักๆ ได้แก่

สร้าง Brand Awareness ให้เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย ผ่านการโปรโมตในสื่อต่างๆ เเละขยายเส้นทางในประเทศไปพร้อมๆ กับการเตรียมการขยายเส้นทางต่างประเทศ

พัฒนาด้านดิจิทัล เซอร์วิส ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิก SkyFUN เว็บไซต์เเละแอปพลิเคชันของไทยเวียตเจ็ท จากราว 1 เเสนคนในปัจจุบันให้เป็น 2 เเสนคนภายในสิ้นปีนี้ โดยจะมีการให้สะสมคะเเนน มอบคูปองส่วนลดต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้ พร้อมขยายเเผนกคอลเซ็นเตอร์ให้ทันกับจำนวนผู้ใช้ หลังมีการร้องเรียนว่าติดต่อยากเนื่องจากมีลูกค้าโทรเข้ามาจำนวนมาก เเละจะเริ่มให้บริการ AI Chatbot ในช่วงกลางปีนี้

ออกโปรโมชันที่เข้มข้นขึ้น อย่างการออกตั๋วบุฟเฟ่ต์ให้คนที่เดินทางบ่อยใช้ได้ตลอดปีกระตุ้นการเดินทางไปในตัว

เพิ่มรายได้อีคอมเมิร์ซ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้หลากหลายยิ่งขึ้น เสริมรายได้หลักจากทางฝั่งการบิน ด้วยการหาสินค้าเเละบริการต่างๆ มาจำหน่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ในกลุ่ม Non-Airline ให้ได้ 30% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนที่ประมาณ 25%

“ไทยเวียตเจ็ท กำลังจะนำชานมไข่มุกเเบรนด์ดังอย่าง BROWN ที่มีกลุ่ม CRG ถือหุ้นใหญ่ มาให้บริการบนเครื่องด้วย”

โดยที่ผ่านมา VietJet บริษัทเเม่ในเวียดนาม มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการเสริม คิดเป็นกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด เป็นหนึ่งในความพยายามของสายการบินที่จะหารายได้จากขายสินค้าและบริการเพื่อชดเชยรายได้จากตั๋วโดยสารที่ลดลง พร้อมมีการปรับเครื่องบินเพื่อขนส่งสินค้าทางอากาศมากขึ้น 

บริหารจัดการต้นทุน โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายในการจัดสรรฝูงบิน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเเม่ได้มีการเจรจาขอส่วนลดกับท่าอากาศยาน ปรับโครงสร้างค่าเช่าเครื่องบิน การปรับลดเงินเดือนพนักงานไปตามสัดส่วน (ปัจจุบันมีอยู่ราว 740 คน) รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในองค์กร

ซีอีโอ ไทยเวียตเจ็ท’ มองทิศทางใหม่ของสายการบินต้นทุนต่ำหรือ ‘โลว์คอสต์’ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังได้รับผลกระทบสาหัสจาก COVID-19 หลายสายการบินต้องล้มหายไป หรือต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ เฉพาะในไทยก็มี 3 บริษัทเเล้ว เเม้ธุรกิจสายการบินโดยรวมจะยังอยู่ได้ เเต่จะอยู่ในรูปแบบที่เปลี่ยนไป เพราะเจ้าไหนที่สามารถควบคุมต้นทุนได้ดี ก็จะฟื้นตัวเเละเติบโตได้ดีกว่า 

ที่ผ่านมา สายการบินต้นทุนต่ำจะแข่งขันกันด้วย ‘volume’ เน้นขายราคาถูก เเต่ตอนนี้การเเข่งขันไม่ได้จำกัดเเค่ระหว่างสายการบินด้วยกันเเล้ว เเต่เป็นการเเข่งขันด้วย ‘ประเทศ’ ว่าประเทศไหนจะมีความพร้อมเรื่องวัคซีน มีมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ดีเเละเร็วกว่ากัน…

 

 

]]>
1326301