The Essential – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 14 Oct 2020 16:09:03 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Branding for Different Business Situations : สร้างแบรนด์อย่างไรในสถานการณ์ของธุรกิจที่แตกต่าง https://positioningmag.com/1294598 Sun, 30 Aug 2020 14:13:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294598

สามารถรับฟัง PODCAST ได้ที่ :  SPOTIFY, SOUNDCLOUD, APPLE PODCAST, YOUTUBE

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย แบรนด์ที่ผ่านช่วงเริ่มต้นไปได้แล้ว การยืนระยะให้ได้เป็นสิ่งที่ยากลำบาก การปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานใหม่ของธุรกิจที่มีชีวิตมายาวนานเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและท้าทาย ร่วมแบ่งปันมุมมองการสร้างแบรนด์ในสถานการณ์ของธุรกิจที่แตกต่าง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของผู้ประกอบการ SMEs และธุรกิจไทย

เพื่อให้เห็นคุณลักษณะทางธุรกิจและภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่แตกต่างกัน เราอาจแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม

  • กลุ่มแรก คือ ธุรกิจที่กำลังเริ่มต้น
  • กลุ่มที่สอง คือ ธุรกิจที่ผ่านช่วงเริ่มต้นไปแล้วและอยู่ในการแข่งขัน (อายุธุรกิจระหว่าง 3-6 ปี)
  • กลุ่มที่สาม ธุรกิจที่ยืนระยะมาได้ยาวนาน (มากกว่า 10 ปีขึ้นไป)

การยืนระยะมาได้ยาวนานของกลุ่มที่ 3 บ่งบอกได้ว่าธุรกิจสามารถสร้างการจดจำและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ ธุรกิจในกลุ่มที่ 2 ที่ผ่านช่วงเริ่มต้นมาได้ย่อมแสดงออกถึงคุณค่าของสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน หรือการมีความสามารถสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ ในขณะที่ธุรกิจกลุ่มที่ 1 ที่กำลังเริ่มต้นต้องต่อสู้และฝ่าฟันกับการพัฒนาธุรกิจในแทบทุกด้าน นี่คือความแตกต่างและดูเหมือนว่าธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นอาจจะเสียเปรียบกลุ่มอื่นๆ ในทุกกรณี

แต่สิ่งที่ทั้ง 3 กลุ่มต้องเผชิญไม่ต่างกันก็คือ กระบวนการของสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ Next Normal ที่พฤติกรรมของผู้ซื้อกำลังเปลี่ยนไปสู่มาตรฐานใหม่ (รายละเอียดในตอนที่ 2) การบรรจบกันของการถ่ายเทความรู้และข้อมูลผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต การพัฒนาเครื่องมือจากเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้กระบวนการทางสังคมเปลี่ยนไป การพัฒนาธุรกิจจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง รวมถึงต้องพัฒนาการสร้างตัวตนและภาพลักษณ์ที่เหมาะสม ให้ตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต (รายละเอียดในตอนที่ 3)

สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ความแตกต่างที่เคยเป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจที่ยืนระยะมานานกว่า กลายเป็นต้องเริ่มต้นเรียนรู้กับสิ่งแวดล้อมใหม่ ต้องเริ่มต้นพัฒนาธุรกิจในสถานการณ์ใหม่แบบเดียวกัน ความได้เปรียบกันนั้นจึงแทบเหลืออีกไม่มากนัก

ถ้ามองในภาพระดับกลางเพื่อให้ได้รายละเอียดที่ชัดขึ้น กลุ่มที่ 3 นั้นได้เปรียบแน่ๆ ในเรื่อง “ประสบการณ์และความเข้าใจในธุรกิจ” ด้วยระยะเวลาการดำเนินกิจการที่ยาวนานกว่ากลุ่มอื่นๆ ในด้าน “การจดจำและภาพลักษณ์ของธุรกิจ” กลุ่มที่ 3 อาจได้เปรียบบ้างหรืออาจเทียบเท่ากับกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ต้องสร้างหรือปรับภาพลักษณ์และตัวตนให้สอดคล้องกับคุณค่าใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับผู้บริโภค

ด้าน “โครงสร้างและการบริหารองค์กร” กลุ่มที่ 3 อาจได้เปรียบกรณีที่มีโครงสร้างที่ดี เอื้อให้สามารถปรับตัวได้ง่ายซึ่งมีไม่มาก ส่วนใหญ่การปรับโครงสร้างและการบริหารเป็นไปอย่างยุ่งยากเชื่องช้าในธุรกิจที่อยู่มานาน ในขณะที่ในกลุ่มที่ 1 และ 2 โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs เสียเปรียบมากกว่าเพราะส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

ทำให้การบริหารธุรกิจยังไม่มีประสิทธิภาพที่เหมาะสม และกลุ่มที่ 3 มักเสียเปรียบแน่ๆ ในอีกหลายด้านเหล่านี้ เช่น “การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ”, “ต้นทุนการบริหารและการดำเนินงาน” และ “การพัฒนาสินค้าหรือบริการที่เป็นนวัตกรรม” ซึ่งทั้ง 3 ด้านนี้เชื่อมโยงกับโครงสร้างและการบริหารองค์กร รวมถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเองของงานทั้ง 3 ด้านนี้

การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ส่วนธุรกิจในกลุ่มที่ 1 และ 2 กลับได้เปรียบเพราะการที่ยังไม่มีโครงสร้างองค์กรและการบริหารที่ชัดเจนนัก ทำให้คล่องตัวกว่าสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย ยิ่งหากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมที่เหมาะสมก็จะสร้างความได้เปรียบได้อย่างรวดเร็ว

ขายได้ ขายไม่ได้ ทำไมนะ

ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นและธุรกิจที่ผ่านช่วงเริ่มต้นมาไม่นาน โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ในช่วงเริ่มต้นนั้นส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะ “ขายได้” ประกอบกับการที่มีเงินทุนน้อย จึงเน้นที่การสร้างรายได้การผลิต และการขายเป็นหลักมากกว่าการให้ความสำคัญกับแผนและการพัฒนาธุรกิจอย่างรอบด้าน

ทำให้เมื่อผ่านระยะเริ่มต้นที่ขายได้ไปแล้ว ยอดขายจะตกลงอย่างรวดเร็วและเริ่ม “ขายไม่ได้” โดยที่หลายรายปรับตัวไม่ทันทำให้ต้องเลิกกิจการติดลบและสร้างปัญหาต่อเนื่องไปสู่เรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก นี่จึงเป็นจุดอ่อนที่ SMEs จำเป็นต้องเรียนรู้ และเราจะแบ่งปันมุมมองเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาธุรกิจใน 2 ด้านที่สำคัญ คือ วงจรอายุของสินค้ายุคใหม่ (New Product Life Cycle) และวงจรการเติบโตของธุรกิจ (S-Curve)

ที่เรียกว่า “วงจรอายุของสินค้ายุคใหม่” เพราะที่จริงมีคำอธิบายเรื่องนี้อยู่แล้ว คือ Product Life Cycle ซึ่งสามารถหาอ่านได้ทั่วไป แต่ไม่ค่อยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเท่าไรนัก (ความเห็นส่วนตัว) อาจมีลักษณะคล้ายกับ Hype Cycle ของ Gartner ที่อธิบายเรื่องการเติบโตของนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านการโฆษณาซึ่งก็ไม่ตรงกันเสียทีเดียว

วงจรอายุของสินค้ายุคใหม่ที่เราพูดถึงมี 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 “การเติบโตที่ชัดเจนต่อเนื่อง” เมื่อสินค้าหรือบริการใหม่ออกสู่ตลาดภายใต้การสื่อสารที่เหมาะสมและคุณภาพที่ได้มาตรฐาน จะเกิดปรากฏการณ์การขายได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนถึง 1 ปีแรก ระยะเวลาขึ้นอยู่กับประเภทและรูปแบบของสินค้าหรือบริการ

หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือ “การถดถอยอย่างรวดเร็ว” ยอดขายจะลดลงมา 25-50% ในระยะเวลาอันสั้นประมาณ 3-6 เดือน และเข้าสู่ช่วงที่ 3 “การยืนระยะอยู่ได้อีกช่วงหนึ่ง” คือการขายได้เท่ากับจุดที่ลดลงมาแล้วและต่อเนื่องในปริมาณเดียวกันนี้ประมาณ 1-3 ปี จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงสุดท้าย คือช่วงที่ 4 “การลดลงจนจางหายไป” ยอดขายจะค่อยๆลดลงต่อเนื่องและ “ขายไม่ได้” เลยในที่สุด รวมช่วงเวลาทั้งหมดของวงจรอายุสินค้ายุคใหม่จะอยู่ที่ 3-6 ปีโดยประมาณ

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

การขายได้ดีต่อเนื่องในช่วงแรกเป็นเพราะพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการลองของใหม่ ภายใต้การตลาดแบบทุนนิยมที่ต้องสร้างและปล่อยสินค้าใหม่ที่ดีกว่าเดิมออกมาปีละ 2-4 ครั้ง สังเกตได้จากสินค้าแทบทุกประเภทรอบตัวเรา ยอดขายที่ลดลงอย่างรวดเร็วก็เป็นเพราะสาเหตุเดียวกันที่มีสินค้าอื่นที่ใหม่กว่า สินค้าที่ออกมาแล้วลองใช้แล้วไม่ใหม่อีกต่อไป

การยืนระยะได้จะยาวนานเท่าไรขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้า ซึ่งถ้าดีก็จะมีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังสนับสนุนต่อเนื่อง และอาจยังหลงเหลือผู้ซื้อใหม่ที่ยังไม่เคยลองสินค้า และสุดท้ายถ้าไม่มีการพัฒนาสินค้าเลยผู้ซื้อก็จะค่อยๆ ลดลงและจางหายไป

ภาพลวงตา และการหลอกตัวเอง

วงจรอายุของสินค้ายุคใหม่บอกอะไรกับผู้ประกอบการ ข้อแรกคือ ต้องพัฒนาคุณค่าของสินค้าหรือบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อยืดเวลาในช่วงที่ 3 ให้ได้นานที่สุด เพราะช่วงที่ 1, 2 และ 4 นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อที่ 2 คือ ระวังภาพลวงตาและอย่าหลอกตัวเอง เมื่อเข้าสู่ช่วงที่ 3 ที่ยอดขายคงที่ในจุดที่ถดถอยลงมาแล้ว ผู้ประกอบการหลายรายยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายให้โตเท่ากับหรือมากกว่าช่วงที่ 1 ได้ และพยายามผลักดันยอดขายทุกวิธียกเว้นการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตรงความต้องการผู้ซื้อ ยอดขายอาจจะโตขึ้นได้แต่ก็จะเป็นตัว W ไม่แน่นอนและนี่จะเป็นความพยายามที่สูญเปล่า กว่าจะรู้ตัวก็ทำให้เสียทั้งเวลา เงินทุน และกำลังใจในการพัฒนากิจการซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อตัวผู้ประกอบการเองและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

ด้านที่ 2 ของการพัฒนาธุรกิจที่ SMEs ควรให้สำคัญก็คือ วงจรการเติบโตของธุรกิจ เรียกกันว่า S-Curve ที่ได้ยินกันบ่อยๆ เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับการทำแผนธุรกิจและความเป็นไปได้ด้านการลงทุน หรือที่เรียกว่า Business Plan และ Business Feasibility

สาระสำคัญของ S-Curve คือระยะการเติบโต 4 ช่วง ช่วงแรก คือ “การลงทุน”  ธุรกิจจะเติบโตทีละน้อย ผลประกอบการดีที่สุดคือเท่าทุนแต่ส่วนใหญ่จะติดลบ เป็นการลงทุนด้านการพัฒนาธุรกิจและสินค้าหรือบริการและพนักงาน ต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ช่วงนี้อาจกินเวลา 1-3 ปี แล้วจะเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือ “การเติบโตต่อเนื่องแบบเท่าทวีคุณ” การเติบโตนี้เป็นผลมาจากการลงทุนและพัฒนาที่เหมาะสมในช่วงแรก ซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 3-6 ปี หลังจากนั้นจะเข้าสู่ ช่วงที่ 3 “การคงตัว” การเติบโตจะลดลงจนคงที่และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ มีระยะเวลาประมาณ 2-4 ปี จนเข้าสู่ช่วงที่ 4 ช่วงสุดท้ายคือ “การลดลงอย่างต่อเนื่องแบบเท่าทวีคูณ” ทั้งหมด 4 ช่วงอาจกินเวลาประมาณ 6-10 ปี

ใช้เหตุผล หรือความรู้สึก

S-Curve บอกอะไรกับผู้ประกอบการ บอกให้เจ้าของธุรกิจอดทน หนักแน่นและมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแม้ผลประกอบการจะไม่ดีนักในช่วงแรก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเติบโตแบบทวีคูณในช่วงที่ 2 ในช่วงนี้ผู้ประกอบการจะสามารถเตรียมแผนการขั้นตอนต่างๆ เพื่อขยายความสามารถในการผลิต การบริหารจัดการหรือการขยายหน่วยธุรกิจไว้ได้ล่วงหน้า

เมื่อเข้าสู่ช่วงที่ 3 ที่การเติบโตเริ่มลดลงและก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่ 4 ที่การเติบโตจะเปลี่ยนเป็นความถดถอย ผู้ประกอบการก็สามารถวางแผนในการลงทุนเพื่อพัฒนาวงจรรอบใหม่ของธุรกิจในครั้งต่อไป ที่เรียกกันว่า New S-Curve ได้อย่างสอดคล้องกับช่วงเวลาที่เหมาะสม หรืออาจเตรียมแนวทางอื่นๆ ไว้เป็นทางเลือกได้อีกหลายด้าน ที่เรียกว่า Exit Plan เช่น การส่งต่อธุรกิจให้คนรุ่นใหม่บริหารแทน การขายกิจการในรูปแบบ M&A หรือนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนสร้างโอกาสเติบโตให้ธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับ SMEs ในกลุ่มธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นและกลุ่มที่ผ่านจุดเริ่มต้นมาได้ไม่นาน การทำความเข้าใจในเรื่องวงจรอายุของสินค้ายุคใหม่ (New Product Life Cycle) และวงจรการเติบโตของธุรกิจ (S-Curve) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นจุดที่ผู้ประกอบการเสียเปรียบธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจที่ยืนระยะมาได้ยาวนาน หากสามารถนำสาระสำคัญของทั้งสองด้านนี้ไปใช้เป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ก็จะยิ่งสร้างโอกาสในการเติบโตและความสำเร็จของธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ส่งผลต่อการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรม ทำให้สามารถสร้างตัวตนและภาพลักษณ์ได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถสื่อสารถึงผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับการช่วงเวลาของการนำเสนอสินค้า และการเติบโตต่างๆ ทางธุรกิจ

เมื่อแบรนด์ใหญ่ที่เคยช้า เริ่มปรับตัวได้

ส่วนธุรกิจที่ผ่านระยะเวลามายาวนาน แม้จะได้เปรียบด้านภาพลักษณ์ที่เป็นที่จดจำได้แล้วของผู้บริโภค แต่ก็ยังต้องพัฒนาสินค้า หรือบริการรวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันไม่ต่างจากธุรกิจกลุ่มอื่นๆ แบรนด์ใหญ่บางแบรนด์ทำได้ดีในการสร้างสีสันของสินค้าเพื่อต่อสู้กับแบรนด์ท้องถิ่น

เช่น Gucci แบรนด์แฟชั่นอิตาลีที่ออกแบบและขายหมวกสาน Wide brim hat หน้าตาเหมือนหมวกสานที่เกษตรกรทั่วไปในบ้านเราใช้กันแต่ราคาต่างกันลิบลับ หรือ Nike รุ่น Solarsoft Thong 2 ที่ดูคล้ายรองเท้าแตะหนีบพื้นสีขาวฟ้าที่เราคุ้นเคยต่างกันที่มีโลโก้ Swoosh ที่พื้นรองเท้าและราคาที่สูงกว่ากันลิ่ว

และแบรนด์อื่นๆ อีกมากที่สะท้อนให้เห็นว่าพยายามปรับตัวทั้งด้านการพัฒนาสินค้าและการสร้างภาพลักษณ์ต่อสู้กับแบรนด์ท้องถิ่นที่เริ่มเติบโตและครองส่วนแบ่งการตลาดสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การสร้างภาพลักษณ์ใหม่นั้นแทบไม่จำเป็นต้องลบภาพลักษณ์เดิมออกเลย (มีไม่กี่กรณีเท่านั้นที่แบรนด์จำเป็นต้องลบภาพลักษณ์เก่าออกไป) เช่น แบรนด์หรือธุรกิจที่เติบโตและอยู่ต่อเนื่องมามากกว่า 40 ปี ปัจจุบันลูกค้าของแบรนด์ก็น่าจะมีอายุประมาณ 50-70 ปี วันนี้ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ยังคงซื้อสินค้าของแบรนด์นี้อยู่ด้วยภาพลักษณ์ที่พวกเขาชื่นชอบ

แบรนด์เองก็สามารถสร้างภาพลักษณ์ใหม่เพิ่มเติมสำหรับลูกค้าอายุ 25-35 ปีได้เพื่อขยายโอกาสในการขายได้ โดยไม่จำเป็นต้องลบภาพลักษณ์เดิม นี่จึงเป็นความเข้าใจผิดของนักการตลาดบางคนที่เมื่อต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ก็จะพยายามลบภาพลักษณ์เสมอ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่ควรทำ เพราะเท่ากับเป็นทิ้งทรัพสินย์ด้านภาพลักษณ์ที่สร้างมาด้วยเงินทุนแผนงานและกระบวนการที่ยาวนานซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย และยังเป็นการตัดโอกาสการสร้างรายได้ของตัวเองจากลูกค้าที่ศรัทธาในภาพลักษณ์เดิมออกไปอีกด้วย

ทั้งหมดเป็นความเหมือนและความต่าง ความได้เปรียบและเสียเปรียบที่มีไม่มากนักของธุรกิจทั้ง 3 กลุ่ม กับพฤติกรรมของผู้ซื้อที่เปลี่ยนไป และการต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาทั้งธุรกิจและการสร้างแบรนด์ รวมถึงการสื่อสารตัวตนและภาพลักษณ์ที่แตกต่างของทุกธุรกิจเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่ Next Normal ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ตอนหน้า ตอนที่ 5 เราจะแบ่งปันมุมมองกันในเรื่อง “การสร้างวิธีการสื่อสารแบรนด์” หรือ “Brand Communication” ในโลกที่พฤติกรรมผู้ซื้อได้ปรับเปลี่ยนไปสู่มาตรฐานใหม่แล้ว แบรนด์ต้องสื่อสารอย่างไร เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าถึง “คุณค่า” ของสินค้า และ “ตัวตนที่แตกต่าง” ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ

ข้อมูลประกอบ

1. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/894995

  1. https://women.mthai.com/fashion/trend-fashion/332713.html?utm_source=line&utm_medium=feed&utm_campaign=women
  2. https://www.gartner.com/en/research/methodologies/gartner-hype-cycle
  3. https://unicorn-insights.com/product-life-cycle/
  4. https://mgronline.com/live/detail/9590000064649
]]>
1294598
New Normal, Next Normal : Branding ทางรอดที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจ https://positioningmag.com/1288473 Sun, 19 Jul 2020 14:11:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1288473
สามารถรับฟัง Podcast ได้ที่ : YouTube, Spotify, Apple Podcast
New Normal คืออะไรสำหรับธุรกิจ แบรนด์ต้องเตรียมตัวอย่างไรกับ New Normal ที่จะเกิดขึ้น แบ่งปันมุมมองของการสร้างแบรนด์ในยุคที่ทั้ง Digital และ COVID-19 Disrupt ธุรกิจและการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคและสังคมที่เปลี่ยนไป มุมมองเล็กๆ ที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้แบรนด์ข้ามผ่านไปสู่ Next Normal ได้อย่างปลอดภัย

หลายคนพูดกันถึง New Normal และ Next Normal ที่จะเกิดขึ้นหลังสถานการณ์ COVID-19 ว่าจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสังคมไปในแบบที่เราต้องปรับตัวตามให้ทัน มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบกันในหลากหลายแง่มุมและระดับความซับซ้อน ในด้านของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจ

นอกจากจะต้องปรับตัวเพื่อพลิกฟื้นด้านเงินทุนหมุนเวียน การปรับแผนธุรกิจ การแก้ปัญหาด้านพนักงานต่างๆ แผนเชิงรุกในการสร้างแบรนด์ และการสื่อสารการตลาดเพื่อสร้างรายได้ และความมั่นคงให้กับธุรกิจทั้งในระยะสั้นและยาวก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไป และเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับเรื่อง New Normal และ Next Normal โดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะพูดถึงและแบ่งปันมุมมองกันในเนื้อหาของบทความนี้

ผลที่จะเกิดขึ้นจาก New Normal สรุปใจความสำคัญ (จากหลายสำนักและนักวิเคราะห์ต่างๆ) ได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาและใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลที่จะมากและหลากหลายขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือหลักของสังคมและวิถีชีวิต ซึ่งถ้ามองในมุมวิวัฒนาการของสังคมผ่านการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีดิจิทัลตลอดระยะเวลามากกว่า 40 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ก็ดูจะเป็นความปกติธรรมดา ไม่ได้เป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่สร้างความแตกต่างไปจากแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว นั่นจึงหมายความว่าสถานการณ์ COVID-19 เป็นเพียงแค่ตัวเร่งปฏิกิริยา และย่นย่อเวลาให้อนาคตเกิดเร็วขึ้นนั่นเอง

แล้วอะไรคือ Next Normal ที่กำลังจะเกิดขึ้นถัดไป (ที่จะเกิดเร็วขึ้น) ถ้าเราถอยมามองภาพใหญ่ที่อธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นเนื้อหาจากหนังสือ The Third Wave ที่ Alvin Toffler นักเขียนชาวอเมริกัน วิเคราะห์และคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 1980 (คนละเล่มกับ The Third Wave ของ Steve Case ที่อธิบายพัฒนาการของยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งที่จริงก็ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนของ Toffler ด้วยเช่นกัน) นั่นก็คือ

“สังคมจะขับเคลื่อนไปด้วยผลของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Information Technology ที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันไร้พรมแดน (Globalization) เกิดโครงข่ายข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าถึงง่ายสะดวกเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนไปของกระบวนการทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวิถีชีวิตผู้คน”

ซึ่ง Toffler อธิบายไว้ในหลายแง่มุม ละเอียดถี่ถ้วนอย่างน่าประหลาดใจ หลายสิ่งได้เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ไม่ว่าจะเป็น Social Networks, AI, Cryptocurrency, Blockchain, Robotic, IOT ซึ่งตรงและใกล้เคียงมากกับการคาดการณ์ของเขา เท่ากับว่าวันนี้สังคมโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคคลื่นลูกที่สามอย่างเต็มตัวแล้ว และน่าจะอยู่ในระดับที่ 3 จาก 10 ระดับของคลื่นลูกที่สาม (ผู้เขียนกำหนดเองเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น) ก่อนจะก้าวผ่านไปสู่ The Fourth Wave หรือคลื่นลูกที่สี่ต่อไป

(Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images)

คาดกันว่าคลื่นลูกที่ 4 จะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับนาโน และไบโอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิวัฒนาการของสังคมอย่างมหาศาล ไปได้ไกลเท่ากับจินตนาการที่เราเห็นในภาพยนตร์ไซไฟต่างๆ และเริ่มมีสัญญาณของการพัฒนาบางด้านเกิดขึ้นจริงบ้างแล้วในปัจจุบัน เช่น การค้นพบวิธีการปรับแต่งจีโนมในดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เพื่อปรับกระบวนการทำงาน และโครงสร้างร่างกายให้เป็นไปตามต้องการ ที่เรียกว่า CRISPRE Technology

หลังจากนั้นจะเข้าสู่คลื่นลูกที่ห้า The Fifth Wave ซึ่งเป็นลูกสุดท้าย สังคมจะขับเคลื่อนไปด้วย “ภูมิปัญญา” เพราะผ่านการพัฒนาด้านวัตถุ (Physical) และกลไกต่างๆ ของร่างกายมาทั้งหมดแล้ว ซึ่งหมายถึงการสามารถพัฒนาระดับภูมิปัญญาของผู้คนให้เหมาะสม รูปแบบของกระบวนการทางสังคมจึงดำเนินไปด้วยภูมิปัญญาของผู้คนที่มีความเข้าใจในมิติต่างๆ ที่ใกล้เคียงกัน

สรุปแล้ว Next Normal ก็คือวิวัฒนาการของสังคมที่ก้าวกระโดดจากระดับ 3 ข้ามผ่าน 4 (COVID-19 ช่วยเร่ง) ไปสู่ระดับที่ 5 (จาก 10 ระดับของคลื่นลูกที่สาม) นั่นคือ การใช้เครื่องมือดิจิทัลกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในคนหมู่มาก การสื่อสารและเชื่อมโยงกันของสังคมใช้ช่องทางออนไลน์เป็นสื่อหลัก ธุรกิจต่างๆ จะพัฒนาระบบและช่องทางออนไลน์เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวันของลูกค้าอย่างแพร่หลาย (Auto Subscriptions Daily Product) สิ่งเหล่านี้เริ่มปรากฏให้เห็นคุ้นชินตามากขึ้นแล้วในปัจจุบัน ขอไม่ยกตัวอย่างประกอบนะครับ

และอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เกิดปรากฏการณ์การให้ความสำคัญกับวัตถุดิบ, กระบวนการผลิตและธุรกิจในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น (Local Brand, Localization) ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลของคลื่นลูกที่สาม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์แบรนด์ใหญ่ๆ เริ่มทยอยปิดโรงงานที่เป็นฐานการผลิตในต่างประเทศลง คงเหลือในกลุ่มที่มีฐานลูกค้าที่ชัดเจนและแข็งแรงเท่านั้น

เพราะเทรนด์การเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไม่ภักดีต่อแบรนด์ใหญ่อีกต่อไป แบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีของรถยนต์และการผลิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในหลายภูมิภาคและในภาพรวมของเศรษฐกิจโลก

หรือในอุตสาหกรรมค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Tesco Lotus ที่ขายกิจการในประเทศต่างๆ ออกไปทั้งหมดทั้งในอเมริกา ตุรกี จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ล่าสุดในไทย และมาเลเซีย คงเหลือไว้แต่ในอังกฤษที่เป็นบ้านเกิดและบางประเทศในยุโรปเท่านั้น นั่นเป็นเพราะพฤติกรรม “การซื้อ” ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และ Tesco Lotus เองก็ต้องการให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ตนเองสามารถบริหารจัดการได้เต็มที่ และเข้มแข็งอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

ในภาพที่เล็กลงมาและต่อเนื่องกัน แบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในหลายกลุ่มสินค้า แบรนด์ท้องถิ่นเหล่านี้เติบโตก้าวกระโดดและต่อเนื่องทุกปี (Local Brand โต 3.9% ขณะที่ Inter Brand โตเพียง 2.6%) ในตลาดเอเชีย รวมทั้งไทยสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ของแบรนด์ท้องถิ่นมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับ Inter Brand (ข้อมูล Kantar Worldpanel)

ถ้ามองจากมุมผู้ประกอบการ จะเห็นชัดเจนว่าแบรนด์ท้องถิ่นนั้นเล็กกว่า คล่องตัวกว่า เข้าใจผู้บริโภคในตลาดของตนมากกว่า ทำให้ขับเคลื่อนได้ดีและเร็วกว่า อีกทั้งอิทธิพลของคลื่นลูกที่สาม ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นพัฒนาตนเองได้ดีด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สะดวกและกว้างขวางมากขึ้น ทั้งเทคโนโลยีการผลิต ความคิดสร้างสรรค์ การดึงคุณค่าของวัสดุ หรือวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

รวมทั้งการมีเครื่องมือการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ที่เปิดตลาดเสรีให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในทางที่ส่งเสริมกัน ด้านของผู้บริโภคก็มีแบรนด์ทางเลือกที่เกิดขึ้นมากมาย และช่องทางออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของสินค้า การรีวิว เปรียบเทียบ ประเมินได้รอบด้านเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตนมากที่สุด ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อสินค้าจากแบรนด์ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นด้วย

(Photo by Kevin Frayer/Getty Images)

ภาพของ New Normal และ Next Normal เป็นภาพเดียวกัน ภายใต้อิทธิพลของคลื่นลูกที่สาม การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้จังหวะการพัฒนากระโดดก้าวข้ามไปสู่ระดับที่สูงขึ้นเร็วขึ้น สาระสำคัญที่เกิดขึ้นกับธุรกิจและการตลาด (เกิดขึ้นหลายด้าน เราเน้นประเด็นด้านธุรกิจเป็นหลัก) ก็คือ ผู้คนและสังคมจะเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เกิดปรากฏการณ์การให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นจึงหมายถึง วันนี้พฤติกรรมของผู้คนและสังคมได้ปรับเปลี่ยนไปแล้ว ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ แบรนด์ท้องถิ่น หรือแบรนด์เกิดใหม่ต้องปรับตัวตามให้ทันเพื่อให้สามารถไปต่อกับ Next Normal ที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ได้ การพัฒนาแบรนด์เพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้คน และสังคมที่เปลี่ยนไปจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการยืนอยู่ได้ในตลาดหรือเป็นทางรอดของธุรกิจในวันนี้

ตอนที่ 2 เราจะพูดถึงรายละเอียดพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ที่แบรนด์จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจ เพื่อเป็นทางรอดของธุรกิจ ติดตามตอนต่อไปครับ

]]>
1288473