TTA – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 20 Jun 2022 04:59:39 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “มหากิจศิริ” ผนึกพันธมิตรญี่ปุ่นขึ้นคอนโดฯ “125 สาทร” วางเป้าดึงลูกค้าต่างชาติ 20-30% https://positioningmag.com/1388720 Tue, 14 Jun 2022 08:47:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388720 ตระกูล “มหากิจศิริ” จับมือพันธมิตรญี่ปุ่น KRD และ TCC ขึ้นโครงการคอนโดฯ ลักชัวรี “125 สาทร” จับตลาดคนทำงานออฟฟิศและ Expat ต่างชาติ หวังยอดขาย 3,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ด้านข้อพิพาทกับลูกบ้าน “THE MET” ยืนยัน EIA ผ่านการรับรองแล้ว แม้มีการร้องเรียนต่อเนื่องที่ศาลปกครองกลาง

“อุษณา มหากิจศิริ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดเผยความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาโครงการ “125 สาทร” คอนโดมิเนียมหรูมูลค่าโครงการกว่า 8,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 3 ไร่ ริมถนนสาทร ติดกับสถานทูตสิงคโปร์ ระยะ 500 เมตรจากสถานี BTS ช่องนนทรี

โดยโครงการเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ (KRD) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือธุรกิจพลังงานรายใหญ่ของญี่ปุ่น และ บริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น จำกัด (TCC) บริษัทด้านการก่อสร้างและอสังหาฯ จากญี่ปุ่นเช่นกัน การร่วมทุนครั้งนี้ TTA ถือหุ้น 60% บริษัท KRD ถือหุ้น 30% และ TCC ถือหุ้น 10%

(จากซ้าย) อุษณา มหากิจศิริ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA และ โทชิฮิโระ อิเคะอุจิ ผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (KRD)

125 สาทร เป็นคอนโดฯ ระดับลักชัวรีบนที่ดินหน้ากว้าง 97 เมตร ออกแบบแบ่งเป็น 2 อาคาร จำนวนห้องชุดรวม 755 ยูนิต ห้องชุดพื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 28.5 ตร.ม. ราคาเฉลี่ย 250,000 บาทต่อตร.ม. เริ่ม 5.9 ล้านบาทต่อยูนิต

อุษณากล่าวว่า ย่านสาทรถือเป็นย่านที่มีดีมานด์สูงแต่มีซัพพลายไม่มาก เนื่องจากเป็นแหล่งออฟฟิศ มีคนทำงานประจำในพื้นที่ทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 260,000 คน และในอนาคตจะมีเมกะโปรเจ็กต์ในย่านใกล้เคียงเกิดขึ้น เช่น วันแบงค็อก (หัวมุมแยกวิทยุ พระราม 4-สาทร), ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (หัวมุมแยกพระราม 4-สีลม) ซึ่งจะทำให้ความเจริญยิ่งมากขึ้น และมีความต้องการที่พักอาศัยสูงขึ้น

125 สาทร
ภาพตัวอย่างสระว่ายน้ำความยาว 50 เมตร

ขณะที่ราคาของ 125 สาทร บริษัทเชื่อว่าเป็นราคาแข่งขันได้ในคอนโดฯ ระดับเดียวกัน เนื่องจากราคาเริ่มต้นไม่ถึง 6 ล้านบาท ซึ่งหาได้ยากแล้วในย่านนี้

Positioning สำรวจคอนโดฯ ใกล้เคียงที่ยังอยู่ระหว่างขาย เช่น ศุภาลัย ไอคอน สาทร ราคาเริ่มที่ 9 ล้านบาท (ห้องชุดขนาด 42 ตร.ม.) เทตต์ 12 สาทร ราคาเริ่มที่ 9 ล้านบาท (ห้องชุดขนาด 40 ตร.ม.) อนิล สาทร 12 ราคาจะเริ่มที่ 11 ล้านบาท (ห้องชุดขนาด 45 ตร.ม.) เดอะ รีเซิร์ฟ สาทร ราคาเริ่ม 12.9 ล้านบาท (ห้องชุดขนาด 50 ตร.ม.) เห็นได้ว่าการเลือกพัฒนาห้องชุดเริ่มต้นขนาดเล็ก ทำให้คนทำงานออฟฟิศมีโอกาสเอื้อมถึงคอนโดฯ ย่านสาทรได้มากขึ้น

 

เน้น Expat ญี่ปุ่น-ยุโรป

ภัทร์กร วงศ์สวรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กล่าวต่อว่า พื้นที่สำนักงาน 1 ใน 4 ของกรุงเทพฯ อยู่ในย่านสาทร-สีลม ทำให้บริษัทตั้งใจดึงดูดเรียลดีมานด์กลุ่มคนทำงานออฟฟิศ

125 สาทร
ห้องตัวอย่างห้องชุดแบบ 2 ห้องนอน

สำหรับกำลังซื้อต่างชาติจะเน้น Expat ที่เป็นเรียลดีมานด์มากกว่านักลงทุนจากต่างประเทศ คาดหวังว่าจะได้ยอดขายจากต่างชาติราว 20-30% โดยการมีพันธมิตรเป็นบริษัทญี่ปุ่นจะช่วยผลักดันตลาดได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มยุโรป ทั้งจากออฟฟิศและสถานทูตที่รายล้อมสาทร

โครงการ 125 สาทรจะเริ่มเปิดขายอย่างเป็นทางการ 18-19 มิถุนายนนี้ ภัทร์กรกล่าวว่า บริษัทคาดหวังเป้ายอดขาย 3,000 ล้านบาทภายในสิ้นปี และจะเริ่มการก่อสร้างปลายปี 2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2569

 

ข้อพิพาทกับ THE MET ยังอยู่ในศาลปกครอง

โครงการ 125 สาทรนั้นยังมีประเด็นที่ต้องจับตา เนื่องจากที่ดินโครงการตั้งอยู่ด้านหน้าคอนโดมิเนียม THE MET คอนโดฯ สูง 66 ชั้น ที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2552 พัฒนาโดย Hotel Properties Limited Group กลุ่มทุนสิงคโปร์ แต่เดิมที่ดินด้านหน้าคอนโดฯ มีแผนจะก่อสร้างเป็นโรงแรมและคาดว่าจะพัฒนาให้เป็นตึกเตี้ยที่ไม่บังวิวคอนโดฯ แต่สุดท้ายเจ้าของที่ดินไม่ไปต่อ และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือมาสู่กลุ่มมหากิจศิริ

125 สาทร THE MET
125 สาทรจะขึ้นด้านหน้าตึก THE MET ทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้น

แม้บริษัทจะออกแบบให้ 125 สาทรแยกออกเป็น 2 อาคาร เพื่อให้มีช่องวิว แดด สายลมผ่านตรงกลางได้ แต่ลูกบ้าน THE MET ยังมีความกังวลใจ ทำให้มีการคัดค้านตั้งแต่ในชั้นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่สุดท้าย EIA ก็ผ่านการรับรองแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2564

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเจ้าของร่วมโครงการ THE MET ได้รวมตัวแต่งตั้งทนายเพื่อยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก. กทม.) รวมถึงหน่วยงานรัฐหลายแห่ง โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ตรวจสอบความโปร่งใสในการอนุมัติ EIA

ข้อแย้งของฝั่ง THE MET มองว่า รายงาน EIA ฉบับนี้มีการสำรวจความเห็นชุมชน 400 คนโดยรอบ และมีผู้ตอบแบบสอบถาม 60% ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ 125 สาทร แต่รายงานกลับได้รับอนุมัติ ทำให้ยื่นฟ้องกับศาลปกครองกลางเพื่อขอตรวจสอบความโปร่งใส ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องแล้ว (อ้างอิงที่มา: โพสต์ทูเดย์)

ด้านภัทร์กรตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงประเด็นนี้ว่า บริษัทได้ดำเนินการทำรายงาน EIA ตามขั้นตอน และพยายามออกแบบโครงการให้มีผลกระทบลูกบ้าน THE MET ให้น้อยที่สุด เชื่อมั่นว่าจะสามารถก่อสร้างได้ตามปกติเพราะโครงการทำตามกฎหมาย มีการเว้นระยะห่างระหว่างอาคาร มีทางเข้า-ออกที่เป็นกรรมสิทธิ์

]]>
1388720
TTA ธุรกิจของตระกูล “มหากิจศิริ” ขาดทุน 459 ล้านในไตรมาสแรก กระทบหนักจาก COVID-19 https://positioningmag.com/1278726 Tue, 19 May 2020 15:55:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1278726 บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2563 จำนวน 3,295.8 ล้านบาท ซึ่งลดลง 21% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขาดทุนสุทธิจำนวน 459.2 ล้านบาท ผลมาจากธุรกิจที่อ่อนตัวตามฤดูกาล รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือมีรายได้คิดเป็น 38% กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง 21% กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร 22% และกลุ่มการลงทุนอื่น 19%

TTA ยังมีผลขาดทุนจากการลงทุน จำนวน 195 ล้านบาท และมีผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของอนุพันธ์ในไตรมาส 1/2563 จำนวน 140.8 ล้านบาท ซึ่งถูกบันทึกตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) ปัจจัยหลักมาจากอนุพันธ์ประเภทสัญญาแลกเปลี่ยนราคาน้ำมัน (Bunker Swap) เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ณ สิ้นไตรมาส

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 TTA มีสินทรัพย์รวม จำนวน 35,020.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% หรือ 1,547.9 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562 สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สิทธิการใช้ ซึ่งถูกบันทึกตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 และผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินจากการดำเนินงานในต่างประเทศของสินทรัพย์ที่เป็นบวก

TTA มีเงินสดภายใต้การบริหารอยู่ในระดับสูงที่ 6,565 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net IBD/E) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.09 เท่า

เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า

“กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือยังคงรักษาตำแหน่งที่ดีในอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) สูงกว่าอัตราตลาดสุทธิถึง 25% ด้านกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรยังคงสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง มีมูลค่าสัญญาให้บริการรอส่งมอบ (order book) ที่ยืนยันแล้ว ถึงปัจจุบันไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่วนพิซซ่า ฮัท ยังคงทำกำไรได้ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม”

แนวโน้มในอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือนั้น มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์การค้าสินค้าเทกองจะกลับมา ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 และในปี 2564 โดยเบื้องต้นคาดว่าอาจจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตขึ้นประมาณ 5% ในปีหน้า เทียบกับอัตราการเติบโตของกองเรือที่ 2% อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมในอนาคตยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

ด้านอุตสาหกรรมบริการนอกชายฝั่ง Rystad Energy ประมาณการภาพรวมอุตสาหกรรมการขุดเจาะและสำรวจ (drilling and exploration) ว่าจะลดลงร้อยละ 15 ในปี 2563 และคาดว่าการปรับลดงบประมาณในการสำรวจภาคสนาม (field development) จะส่งผลกระทบแก่ผู้ให้บริการภาคสนาม (field service provider) ต่อไป

กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ

ดัชนีบอลติค (BDI) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 592 จุด ในไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งเป็นผลกระทบตามฤดูกาลของธุรกิจและการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยรายได้ค่าระวางเรือของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรืออยู่ที่ 1,261.5 ล้านบาท ลดลง 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงและจำนวนวันให้บริการของเรือที่เช่ามาเสริมกองเรือ (chartered-in-vessel) ลดลง

อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือยังคงรักษาค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ (OPEX) อยู่ในระดับต่ำที่ 3,856 เหรียญสหรัฐต่อวัน อัตราการใช้ประโยชน์เรือที่กลุ่มธุรกิจฯ เป็นเจ้าของยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 100% อีกทั้งมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) อยู่ที่ 7,817 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิ (net Supramax TC rate) ที่ 6,229 เหรียญสหรัฐต่อวัน อยู่ 25% ในไตรมาสที่ 1/2563 ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือมีกำไรขั้นต้น จำนวน 197.7 ล้านบาท และ EBITDA จำนวน 11.5 ล้านบาท

ดังนั้น กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือรายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ก่อนกำไร (ขาดทุน) ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของอนุพันธ์ จำนวน 16.9 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2563

ณ สิ้นไตรมาส กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือเป็นเจ้าของเรือซุปราแมกซ์ จำนวน 21 ลำ มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,285 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 12.96 ปี และไม่มีการซื้อหรือขายเรือในไตรมาสที่ 1/2563

กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และถูกซื้อขายอย่างผันผวนในกรอบ 22-69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่ 1/2563 มาตรการล็อกดาวน์ของหลายๆ ประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง สำหรับไตรมาสที่ 1/2563 รายได้ของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งอยู่ที่ 693.8 ล้านบาท ซึ่งลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันลดลง

อัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการที่เรือลำหนึ่งได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อรอเริ่มงาน (standby rate) ของโครงการหนึ่งซึ่งถูกเลื่อนออกไปตามกำหนดการใหม่ของลูกค้ารายหนึ่ง และการที่เรือที่เช่ามาเพื่อทำงานแทนเรือที่ถูกนำไปเข้าอู่แห้งในอีกโครงการหนึ่งได้รับค่าจ้างต่อวันต่ำกว่าสัญญาปกติ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาจ้างกรณีการเช่าเรือมาทำงานแทน

ขณะที่อัตราการใช้ประโยชน์เรือ (performing vessel utilization rate) เพิ่มขึ้นจาก 60% ในไตรมาสที่ 1/2562 เป็น 85% ในไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนวันทำงานของเรือที่เพิ่มขึ้น ส่วนขาดทุนขั้นต้นอยู่ที่ 112.6 ล้านบาท ส่งผลให้ EBITDA เป็นลบอยู่ที่ 202.7 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งรายงานผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 184.1 โดยมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบ ณ สิ้นไตรมาส ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 193 ล้านเหรียญสหรัฐ

กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร

รายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรในไตรมาสที่ 1/2563 อยู่ที่ 696.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากปริมาณขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในระหว่างที่ธุรกิจอ่อนตัวตามฤดูกาลในไตรมาสที่ 1/2563 ได้เกิดภาวะความแห้งแล้งและค่าความเค็มของน้ำเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ของจังหวัดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม ความต้องการภายในประเทศจึงลดลง แต่ถูกเกินดุลด้วยปริมาณการส่งออกปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการมุ่งเน้นการส่งเสริมการตลาด และเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง

จึงส่งผลให้ปริมาณขายปุ๋ยทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น 60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 54.8 พันตัน ขณะเดียวกัน กำไรขั้นต้น (spread) อยู่ที่ 140.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน EBITDA เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากศูนย์เป็น 34.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยสรุป ในไตรมาสที่ 1/2563 กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรรายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 15.1 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 191% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

กลุ่มการลงทุนอื่น

  • ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม:

1) พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ 70% ซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 พิซซ่า ฮัท มีสาขาทั้งหมด 150 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดที่เปิดใหม่เป็นสาขาที่เปิดตามหัวเมืองใหญ่

2) ทาโก้ เบลล์ (Taco Bell) เป็นแฟรนไชส์อาหารกึ่งเม็กซิกันสไตล์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ 70% ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ทาโก้ เบลล์ มีสาขาทั้งหมด 6 สาขา ทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดที่เปิดใหม่เป็นสาขาที่เปิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

  • ธุรกิจบริหารทรัพยากรน้ำ:

บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (“AIM”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ 80.5% เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ 66.7%

]]>
1278726