“ไรมอน แลนด์” ภายใต้ยุค “กรณ์ ณรงค์เดช” ขอเป็น Top of Mind อสังหาฯ “ซูเปอร์ลักชัวรี”

กรณ์ ณรงค์เดช ไรมอน แลนด์
ตระกูล “ณรงค์เดช” เข้ามาเทกโอเวอร์ “ไรมอน แลนด์” และตั้ง “กรณ์ ณรงค์เดช” ขึ้นมานั่งตำแหน่งซีอีโอตั้งแต่ปี 2564 รากฐานเดิมของไรมอน แลนด์นั้นแข็งแกร่งอยู่แล้วในกลุ่มอสังหาฯ “ซูเปอร์ลักชัวรี” แต่ก็ยังมีจุดที่ขันน็อตเพิ่มได้อีก นั่นคือการอุดช่องว่างรายได้ระหว่างปีด้วยโครงการ “แนวราบ” กับการเสริมพลังด้วย Branded Residence หวังขึ้นเป็นบริษัท Top of Mind ในกลุ่มบ้าน-คอนโดฯ สุดหรู

บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2530 และเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคอนโดฯ ซูเปอร์ลักชัวรี ห้องละ 10 ล้านบาทขึ้นไป มีโครงการไฮไลต์ที่ฝากชื่อไว้ในเมืองไทย เช่น “เดอะ ริเวอร์” เมกะโปรเจ็กต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ “185 ราชดำริ” โครงการฟรีโฮลด์แห่งแรกบน ถ.ราชดำริ

ระหว่างเส้นทางการทำธุรกิจ ไรมอน แลนด์ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือบ่อยครั้ง จนล่าสุดเป็นกลุ่มตระกูลณรงค์เดชที่เข้ามาเป็นเจ้าของผ่าน บริษัท เคพีเอ็นแลนด์ จำกัด ปัจจุบันถือหุ้นสูงสุด 23.97% จากนั้นมีการแต่งตั้ง “กรณ์ ณรงค์เดช” ขึ้นมานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ RML ตั้งแต่มกราคม 2564

ผ่านมาปีกว่า กรณ์ได้เข้ามาชำแหละจุดแข็งจุดอ่อนของไรมอน แลนด์ ปรับพื้นฐานกันใหม่ให้พร้อมไปสู่อนาคต

กรณ์ ณรงค์เดช ไรมอน แลนด์
“กรณ์ ณรงค์เดช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML

โจทย์ใหญ่ที่กรณ์มองเห็นในการปรับไรมอน แลนด์มี 2 ปัญหาสำคัญ คือ หนึ่ง บริษัทมีช่องว่างการรับรู้รายได้ แต่ละปีทำรายได้และกำไรไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากพอร์ตมีเฉพาะคอนโดฯ ไฮไรส์ซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปี และ สอง ชื่อของไรมอน แลนด์ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งที่บริษัทอยู่ในตลาดอสังหาฯ ระดับซูเปอร์ลักชัวรีมานาน แต่ลูกค้ากลับรู้จักเป็นรายโครงการ

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่บริษัทได้ปรับพื้นฐานเตรียมตัวแก้โจทย์ดังกล่าวแล้ว โดยมีการตัดขายธุรกิจที่เป็น non-core business นั่นคือธุรกิจร้านอาหารออกไปทั้งหมด และสต็อกพร้อมอยู่ที่เคยมีมูลค่าถึง 1,892 ล้านบาทเมื่อเดือนธันวาคม 2563 บริษัทได้ไล่ทำการตลาดออนไลน์จนสามารถขายสต็อกพร้อมอยู่ออกไปจนเหลือเพียง 71 ล้านบาท ณ ขณะนี้

 

6 กลยุทธ์ยุคใหม่ “ไรมอน แลนด์”

กรณ์กล่าวถึงพื้นฐานของ RML ที่เน้น อสังหาฯ ซูเปอร์ลักชัวรี มองว่ายังมีศักยภาพในตลาด เพราะกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individual: HNWI) ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยมาก และลูกค้ากลุ่มนี้ยังคงมองหาการลงทุนในอสังหาฯ อยู่

จากผลสำรวจของ CBRE พบว่าการกระจายการลงทุนของกลุ่ม HNWI ในช่วงไตรมาส 1/2562 (ก่อนโควิด-19) จะแบ่งมาลงทุนอสังหาฯ 16% ขณะที่ช่วงไตรมาส 1/2564 (หลังเกิดโควิด-19) ลงทุนในอสังหาฯ 15% ของพอร์ต

เห็นได้ว่าตัวเลขเปลี่ยนไม่มาก ไรมอน แลนด์จึงยังมุ่งเน้นการพัฒนาอสังหาฯ ระดับซูเปอร์ลักชัวรีต่อเนื่อง แต่ต้องมีการปรับกลยุทธ์บริษัท ดังนี้

1.เพิ่มพอร์ตโครงการแนวราบ

เนื่องจากโครงการแนวราบจะใช้เวลาก่อสร้าง 12-18 เดือน สั้นกว่าการก่อสร้างคอนโดฯ ไฮไรส์ ทำให้สามารถใช้อุดช่องว่างรายได้ที่หายไปช่วงที่คอนโดฯ ยังไม่แล้วเสร็จได้ ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าคาดว่าโครงการแนวราบจะมีสัดส่วน 20-30% ของพอร์ต

โครงการที่บริษัทสนใจเป็นไปได้ทั้งวิลล่า บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม ทั้งในกรุงเทพฯ และภูเก็ต โดยเป็นอสังหาฯ มูลค่า 50 ล้านบาทต่อหลังขึ้นไปเป็นหลัก

กรณ์ ณรงค์เดช ไรมอน แลนด์
Rosewood Residences Kamala Phuket
2.พัฒนาเป็น Branded Residence

อนาคตพอร์ตของไรมอน แลนด์ 70-80% จะเป็นโครงการ Branded Residence จับมือกับเชนโรงแรมระดับโลก เนื่องจาก Branded Residence พิสูจน์ในตลาดมาแล้วว่าราคาเติบโตได้ดีกว่าโครงการปกติ 10-15%

อีกเหตุผลคือการใช้แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักระดับโลก ลูกค้าจะมั่นใจกับมาตรฐานของโครงการและสามารถคาดเดาการออกแบบดีไซน์ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้การตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น อีกทั้งบริษัทจะได้ฐานลูกค้าของโรงแรมเหล่านั้นในการขาย เป็นปัจจัยบวกกับบริษัทที่มีพอร์ตลูกค้าไทย 61% และลูกค้าต่างชาติถึง 39%

3.จอยต์เวนเจอร์กับเจ้าของที่ดิน

โมเดลธุรกิจที่กรณ์จะนำเสนอ ต้องการจอยต์เวนเจอร์กับเจ้าของที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ เพื่อให้บริษัทมี ‘asset light’ ไม่ต้องจัดซื้อที่ดินเข้ามาในยุคที่ราคาที่ดินสูงมาก

ประเด็นนี้บริษัทจะต้องสร้างแบรนด์ของตัวบริษัท (Corporate Brand) ให้แข็งแรงกว่าเดิม เพื่อให้พาร์ทเนอร์เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน

4.ขยายฐานลูกค้าสู่ “คนรุ่นใหม่”

ในอดีตฐานลูกค้าของไรมอน แลนด์จะเป็นวัยผู้ใหญ่ 45 ปีขึ้นไปที่ทำงานสะสมสินทรัพย์จนประสบความสำเร็จ แต่ปัจจุบันกรณ์มองว่าคนรุ่นใหม่เริ่มประสบความสำเร็จไวขึ้น ใช้เวลาเพียง 4-5 ปีในการสร้างตัว ทำให้บริษัทปรับการตลาดมาเจาะคนรุ่นใหม่มากกว่าเดิมเพื่อช่วยให้ฐานตลาดใหญ่ขึ้น

5.ลงทุนธุรกิจใหม่ เช่น ดาต้า เซ็นเตอร์

หาโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่แต่ยังอยู่ในสายงานอสังหาฯ โดยที่มีศักยภาพและบริษัทจะเริ่มลงทุนคือ ดาต้า เซ็นเตอร์ แต่สร้างความต่างจากในตลาดด้วยการจับมือใช้เทคโนโลยีของบริษัท Nautilus Data Technologies ซึ่งมีระบบหล่อเย็นด้วย “น้ำ” แทนระบบปกติที่ใช้พัดลมหรือแอร์ ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง 20% และทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

ขณะนี้อยู่ระหว่างเลือกทำเลลงทุน คาดว่าจะอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 เริ่มรับรู้รายได้ปี 2567

6.รายได้ประจำจากตึกออฟฟิศ

บริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารสำนักงาน One City Centre เพลินจิต เป็นอาคารบนเนื้อที่ 6 ไร่ ความสูง 61 ชั้น พื้นที่เช่า 61,000 ตร.ม. สำนักงานเกรด A แห่งแรกของประเทศที่ได้มาตรฐาน Fitwell จากสหรัฐอเมริกา มีกำหนดการแล้วเสร็จปี 2566 ขณะนี้เซ็นดีลพื้นที่เช่าได้แล้ว 5,000 ตร.ม. ค่าเช่าเฉลี่ย 1,300 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน

อาคารสำนักงาน One City Centre

ประเดิม Branded Residence แห่งแรกที่ภูเก็ต

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2565 กรณ์ระบุว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่ม 3 โครงการ ได้แก่ Rosewood Residences Kamala Phuket มูลค่าโครงการ 7,800 ล้านบาท, คอนโดฯ Branded Residence บนถนนสุขุมวิท มูลค่าโครงการ 5,500 ล้านบาท และ โครงการแนวราบในกรุงเทพฯ ที่ยังไม่สรุปมูลค่าโครงการอีกแห่งหนึ่ง

Rosewood Residences Kamala Phuket เป็นแห่งแรกของบริษัทที่เริ่มใช้แบรนด์เชนโรงแรม โครงการนี้จะมีวิลล่าเพียง 14 หลัง ราคาต่อหลังจะเริ่มที่หลักหลายร้อยล้านบาท จนไปถึงหลังใหญ่สุดราคาเฉียดพันล้าน เปิดตัวภายในต้นไตรมาส 3/65

ส่วนคอนโดฯ ที่สุขุมวิทนั้นจะออกแบบให้ตอบสนองดีมานด์จริงในตลาด บริษัทพบว่า ลูกค้า HNWI นั้นต้องการห้องชุดขนาดใหญ่ 200 ตร.ม. ฟังก์ชัน 3-4 ห้องนอนเป็นหลัก โปรดักส์ประเภทนี้ในตลาดแทบไม่มีเหลือขาย ขณะที่ห้องชุดขนาดเล็กจะขายยากมากกับลูกค้าเศรษฐีเหล่านี้ เพราะทุกคนต้องการพื้นที่ที่เพียงพอ ดังนั้น คอนโดฯ ภายใต้ยุคใหม่ของ RML จะมียูนิตน้อยแต่ห้องใหญ่ขึ้น

The Estelle Phrom Phong

ด้านโครงการในมือที่กำลังก่อสร้าง ได้แก่ The Estelle Phrom Phong ทำยอดขายแล้ว 60% พร้อมโอนไตรมาส 3/65 และโครงการ Tait Sathorn 12 ทำยอดขาย 80% พร้อมโอนปี 2566

ปีนี้ไรมอน แลนด์วางเป้ายอดขาย 7,200 ล้านบาท และเป้ารายได้ 2,200 ล้านบาท ซึ่งกรณ์กล่าวว่า ปีนี้อาจจะยังไม่ใช่ปีที่ ‘เทิร์นอะราวด์’ ของบริษัท หลังจากผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมา 2 ปี

“ภายใน 5 ปีเราต้องการให้บริษัทเป็น Top of Mind เมื่อลูกค้านึกถึงอสังหาฯ ซูเปอร์ลักชัวรีในไทย ที่ผ่านมาคนรู้จักโครงการของเรา แต่ไม่รู้ว่าเราเป็นคนสร้าง เราต้องการจะสร้างแบรนด์ของบริษัทให้ดีขึ้น” กรณ์กล่าวทิ้งท้าย