E85 – ขุมทรัพย์ใหม่กลุ่มทุนเจ้าสัว-การเมือง

ต้นปีที่ผ่านมา น้ำมัน E20 เข้ามาปลุกเร้าตลาดรถยนต์ที่ตกต่ำซบเซาจากพิษน้ำมันแพงและเศรษฐกิจฝืดเคือง ดันยอดขายรถช่วง 3 เดือนแรกให้เติบโตได้ถึง 39% แต่ฝุ่นควันความคึกคักไม่ทันจาง กระทรวงพลังงานภายใต้การกุมบังเหียนโดยรัฐบาล “สมัคร” กลับประกาศเร่งผลักดัน E85 ให้เป็น “เครื่องมือแก้วิกฤตพลังงาน” ของชาติ และจะเห็นปั๊มน้ำมัน E85 ภายในปีนี้แน่นอน

ที่ต้อง “ด่วน” ขนาดนี้ เพราะถูกกระแสสังคมกดดันเรื่องน้ำมันแพง และคนส่วนใหญ่ยังคงต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์เพราะไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย ดังนั้นทางออก “พลังงานทางเลือก” แทนการใช้น้ำมันที่คนไทย “รับได้” ขณะนี้ ก็มีแต่ก๊าซ NGV/LPG น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลเท่านั้น ทำให้ E85 เป็นตลาดใหม่ที่มี “ศักยภาพสูง” ต้องเร่งปั้นเป็นรูปเป็นร่างและปูทางสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ที่มีผลประโยชน์ซับซ้อนในอนาคต

เครือข่ายธุรกิจใหม่มหึมา : ช้าง – สิงห์ – มิตรผล – เทมาเส็ก – ทักษิณ

E85 ไม่เพียงจะช่วยสร้าง “ภาพสวยงาม” ให้รัฐบาลดูมีผลงานและลดกระแสน้ำมันแพง การผลักดัน E85 ยังเต็มไปด้วยผลประโยชน์แอบแฝงชนิดที่ว่า “ยิ่งคุ้ย ยิ่งเจอ”

เพราะ E20 หรือ E85 ก็คือ “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” ที่นำเอทานอลมาผสมน้ำมันเบนซิน ยิ่งตัวเลขสูงยิ่งหมายถึงสัดส่วนเอทานอลเพิ่มขึ้น ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเอทานอลคืออ้อยและมันสำปะหลัง ก็จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ดูเผินๆ ชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลังที่เป็นฟันเฟืองของการผลิตจะถึงคิว “ลืมตาอ้าปาก” กับเขาบ้าง เมื่อสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยแผน 3 ปี เพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล 1.5 เท่า เป็น 1,000 ล้านลิตรต่อปี เพื่อสนองนโยบาย E85 ของรัฐบาล ที่สร้างฝันสู่ “ขุมทรัพย์” มหึมาแห่งอนาคต …ทว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกอยู่กับเจ้าของโรงงานผลิตเอทานอล

ปัจจุบันมี 11 โรงงานที่ผลิตเอทานอลได้จริงวันละ 1.575 ล้านลิตร แต่ก็กำลังผุดขึ้นอีกหลายโรง จากที่ สิริวุทธ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยเปิดเผยว่า “รัฐบาลอนุมัติแล้วทั้งหมดมี 49 แห่ง คาดว่าสร้างผลผลิตรวมได้ 12.385 ล้านลิตร/วัน” พบว่าหลายโรงงานถือหุ้นโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่และพัวพันกับธุรกิจการเมือง เช่น “เพโทรกรีน” (Petrogreen) ของกลุ่มน้ำตาลมิตรผล กิจการในตระกูลว่องกุศลกิจ มีถึง 2 โรงงาน หรือจะเป็น ”ไทยแอลกอฮอล์” ที่ไทยเบฟเวอเรจของเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของ “เบียร์ช้าง” ถือหุ้น 100% เป็นต้น

ขณะที่โรงงานในกลุ่มมิตรผลมีส่วนแบ่งตลาดเอทานอลมากที่สุดขณะนี้ (ประมาณ 30% หรือ 4 แสนลิตร/วัน) โรงงานน้องใหม่มาแรง “บุญอเนก” กำลังจะมาเขย่าบัลลังก์ เพราะได้รับอนุมัติกำลังการผลิตมากกว่าเท่าตัว หรือ 1 ล้าน 5 หมื่นลิตรต่อวัน ซึ่งก็ถือหุ้นโดยกลุ่มทุนสุดซับซ้อน เช่น “ศิริรัช โรจนพฤกษ์” คนสนิทของหม่อมอุ๋ยถือหุ้นสูงสุด (26.9%) รองลงมาเป็น “คอม-ลิงค์” (20%) บริษัทที่เคยวางระบบเคเบิลใยแก้วให้องค์การโทรศัพท์ ถือหุ้นโดยสันติบุรีบริษัทในเครือภิรมย์ภักดี เจ้าของ “เบียร์สิงห์” รวม 17.5% แล้วยังมี “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือมี ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ อดีตผู้บริหารองค์การโทรศัพท์ คนสนิทของไพบูลย์ ลิมปพยอม ที่กลายเป็นผู้บริหารใน “ชิน คอร์ป” หลังเกษียณอีกด้วย

บางบริษัทก็ลึกลับซ่อนปม เช่น “ไบโอเอทานอล” จ.อุดรธานี มีข่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 ว่าร่วมทุนกับ ”ซิโนโก พาวเวอร์” บริษัทด้านพลังงานในเครือ “เทมาเส็ก” (Temasek) กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์ที่อดีตนายกฯ “ทักษิณ” สนิทสนมเป็นพิเศษจนตกลงขายหุ้น “ชินคอร์ป” ให้ น่าแปลกอย่างยิ่งเมื่อสืบค้นกลับมีชื่อ “ไบโอแกสพาวเวอร์” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 60% ที่มีชื่อกรรมการเพียง 2 คน ไม่มีรายละเอียดรายชื่อผู้ถือหุ้นใดๆ ในฐานข้อมูลออนไลน์ของกระทรวงพาณิชย์ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในแผนภูมิการถือหุ้น)

บริษัทนายทุนเหล่านี้เองที่จะได้รับอภิสิทธิ์ในการป้อนวัตถุดิบให้กับ ปตท. และบางจากในอนาคต ยกตัวอย่างเช่นในปี 2549 เมื่อ ปตท. ผลิต “พีทีที แก๊สโซฮอล์ 95 พลัส” สร้างความคึกคักให้เจ้าของโรงงานอ้อย น้ำตาลและมันสำปะหลัง น้อยใหญ่ยื่นขอลงทุนผลิตเอทานอลกับรัฐ แต่สุดท้าย ปตท. ก็ลงนามร่วมมือกับ “กลุ่มน้ำตาลมิตรผล” และ ”ไทยแอลกอฮอล์” ให้ร่วมจัดหาโมลาสเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล 99.5% บริสุทธิ์ รวม 40 ล้านลิตรให้แก่ ปตท.

แต่กรณี E85 เค้กชิ้นนี้ก้อนใหญ่มหึมากว่าหลายเท่า …จำนวน “ตัวหาร” ที่เป็นโรงงานเอทานอลของนายทุนยักษ์ใหญ่ย่อมเพิ่มจำนวนขึ้นตามไปด้วย

ตลาดไม่มา การลงทุนไม่เกิด

หลังจากน้ำมันผสมเอทานอลรุ่นแรกๆ ถูกโจมตีอย่างหนักว่ากัดกร่อนเครื่องยนต์แถมรัฐไม่ยอมเลิกขายเบนซิน 95 ตามที่รับปาก ทำให้หลายโรงงานเลิกผลิตเอทานอลเพราะไม่มีตลาดรองรับ รวมทั้งบริษัทไทยแอลกอฮอล์ ก็ประกาศหยุดการผลิตอ้างว่าขาดแคลนวัตถุดิบ แม้รัฐจะให้ความหวังอีกครั้งด้วยโครงการ E20

การส่งเสริมใช้น้ำมันผสมเอทานอลจึงเป็นปัจจัย “บีบ” ให้ ปตท. ประกาศเลิกขายเบนซิน 95 แน่ๆ สิ้นปีนี้ รวมไปถึงเบนซิน 91 ในปีหน้า ส่วนรัฐก็เร่งคลอดมาตรการส่งเสริมราคาวัตถุดิบและลดภาษีเอาใจนักลงทุน ทั้งๆ ที่จะทำให้สูญเสียรายได้เข้าคลังที่กรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า “การปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ E85 อัตรา 25 – 35% จะทำให้รายได้ของกรมฯ ลดลง 6,000 ล้านบาท”

ผู้บริโภคที่เพิ่งถอยรถรองรับน้ำมัน E20 ออกจากอู่ไปหมาดๆ ด้วยราคาถูกลงจากการลดภาษีสรรพสามิต 5% และน้ำมัน E20 มีราคาถูกกว่าเบนซิน 95 เปิดเผยว่ารู้สึกเหมือนถูก “ตบหน้า” และ “ถูกหลอก” ให้ซื้อรถยนต์ เพราะรัฐบาลไม่เคยมีทีท่าประกาศใช้ E85 ชนิดไล่บี้ E20 ขนาดนี้
“แล้ว ปตท. ไม่ยิ่งงงใหญ่เหรอ เราจัดหัวจ่ายให้แทบไม่ถูก” แหล่งข่าวระดับสูงของ ปตท. รายหนึ่งบอก“POSITIONING” ทำนองว่าเซอร์ไพรส์เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ปตท. ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ และกลุ่มผู้บริหารจากบริษัทในเครือ ร่วมเดินทางไปดูงานการใช้เอทานอล 100% ในรถยนต์ ณ บราซิล พร้อมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ธุรกิจ “พลังงานทดแทน” ทั้งเอทานอล และไบโอดีเซลเป็นเป้าหมายหนึ่งของ ปตท. ในการสร้างรายได้ในอนาคต แล้วยังได้กำไรอีกทอดจากการถือหุ้น บ.บางจาก 29.75% ที่ร่วมหัวจมท้ายเคลื่อนไหวเรื่อง “น้ำมันเบนซินผสมเอทานอล” ขณะนี้ โดยน้ำมันตระกูล E จัดว่าเจาะตลาดกลางและบน เพราะใช้กับรถยนต์นั่งเท่านั้น เป็นตลาดศักยภาพสูงที่ ปตท. ต้องการมาช้านาน…แต่ผลประโยชน์นี้กว่า ปตท. จะได้ก็ต้อง “จ่ายล่วงหน้า” ด้วยการช่วยรัฐ “นำร่อง”

พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จะรีบเปิดตู้จ่ายน้ำมัน E85 ให้ได้ภายใน 3-5 เดือนข้างหน้า ทั้งในสถานีบริการของ ปตท. และบางจากประมาณ 30-50 แห่ง ตามด้วยมาตรการลดภาษีอีกมากมายเพื่อจูงใจผู้ผลิตรถยนต์และผู้ป้อนวัตถุดิบเอทานอล

อย่างไรก็ดี รัฐย่อมรู้แจ้งว่ากว่าผู้ประกอบการรถยนต์ส่วนใหญ่จะมีความพร้อมผลิตรถยนต์รองรับ E85 ก็อีก 2 ปีข้างหน้า (2553) เพราะน้ำมันผสมเอทานอล ยิ่งมีสัดส่วนเอทานอลมากยิ่งกัดกร่อน ต้องใช้วัสดุพิเศษ ขนาดที่ว่าตลาด E20 เพิ่งทำมาครึ่งปีก็ยังไม่ “เกิด” เต็มตัว มีปริมาณผู้ใช้รถ E20 จริงไม่มากนัก ปัจจุบันอยู่ที่ 5 – 6 หมื่นกว่าคัน

ทั้งนี้ แหล่งข่าว ปตท. รายเดิมยอมรับว่า “เราไม่มีทางเลือก ถูกบีบทุกทางให้จัดตั้ง E20 ขณะที่หัวจ่ายก็ไม่พอ แต่จริงๆ แล้ว E20 ก็ไม่ยากเท่าตอนดัน E10 เพราะตลาดมีความชัดเจนแล้วว่ารถแบบไหนใช้ E20 ได้”

E85 ก็เช่นกัน ปตท. และบางจากต้องเป็นแนวร่วม “สร้างตลาดให้เกิด” อีกครั้ง โดยจัดหัวจ่าย E85 ในปั๊มของตัวเองภายในเดือนสิงหาคมศกนี้ ให้สาธารณชนเห็นว่า “โครงการ E85 เกิดแน่” แถมเร็วขึ้นกว่าที่คิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ค่ายรถยนต์ผลิตรถออกมารองรับ ให้ขับเคลื่อนตลาดไปพร้อมๆ กัน

จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าของชาวบ้านตาดำๆ ผู้ต้องอุดหนุนสินค้าตามนโยบาย “พลังงานทางเลือก” ของรัฐบาลอย่างไม่มีทางเลือกมากนัก หนำซ้ำถูกรีดเค้นภาษีทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่นายทุนผู้ร่ำรวยกลับได้รับการยกเว้นภาษีมากมาย อีกทั้งสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ร่วมกับ ปตท. อย่างแน่นแฟ้น ภายใต้การ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” สร้าง “มูลค่าเพิ่ม” และ “ผลกำไร” มากขึ้นเรื่อยๆ

เบนซิน 95/เบนซิน 91
ราคาต่อลิตร (ก.ค. 51) 42.89 บาท/41.79 บาท
การเผาผลาญเชื้อเพลิง
การสนับสนุนของภาครัฐ ยกเลิกหัวจ่าย ณ ปั๊มปตท. และบางจาก ภายในสิ้นปีนี้
ยอดขาย (ลิตร/วัน) เบนซิน 95: 800,000 ลิตร/วัน (ลดลง 70% จากปีที่แล้ว) / เบนซิน 91: 9,400,000 ลิตร/วัน (ลดลง 22.7% จากปีก่อน)
จำนวนสถานี สถานีน้ำมันทั่วไป

E20
ราคาต่อลิตร (ก.ค. 51) 36.85 บาท (ถูกกว่าประมาณ 6 บาท/ลิตร)
การเผาผลาญเชื้อเพลิง สิ้นเปลืองมากกว่าเบนซิน 10 %
การสนับสนุนของภาครัฐ ลดภาษีสรรพสามิต 5% ทำให้รถที่ใช้ E20 ถูกลงกว่ารถปกติ 30 – 100,000 บาท
ยอดขาย (ลิตร/วัน) ยอดจำหน่ายที่ปั๊มบางจาก 100 ลิตร/วัน ขณะที่ ปตท. ขายได้ 10,000 ลิตรต่อวัน
จำนวนสถานี ปั๊มจำหน่ายอี 20 ที่บางจากมี 20 แห่ง ขณะที่ปตท. มี 70 สถานี

E85
ราคาต่อลิตร (ก.ค. 51) ถูกกว่าเบนซิน 95 ประมาณ 10 บาท/ลิตร
การเผาผลาญเชื้อเพลิง สิ้นเปลืองมากกว่าเบนซิน 25%
การสนับสนุนของภาครัฐ ลดภาษีสรรพสามิตให้รถยนต์ E 85 ถูกลง 25 – 35 % มติครม. 3 มิ.ย. 2551 ยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ E85 ที่ผลิตในไทยไม่ได้ 3 ปี และลดภาษีน้ำมันจาก 3.685 บาท/ลิตร เป็น 2.5795 บาท/ลิตร
ยอดขาย (ลิตร/วัน)
จำนวนสถานี เปิด “หัวจ่ายนำร่อง” ที่สถานีปตท. และบางจาก อย่างน้อย 30 แห่ง ในปีนี้

ที่มา : ปตท., กระทรวงพลังงาน

เครือข่ายผลประโยชน์ของไบโอดีเซล
“พลังงานชีวภาพ” อย่างไบโอดีเซล ก็เป็นแนวโน้มแห่งอนาคตที่กลุ่ม ปตท. ปูทางไว้แล้วอย่างแน่นหนา โดย “ไทยโอลีโอเคมี” (TOL) บริษัทลูกของ ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เมื่อมีนาคม 2549ในการสกัดเมทิลเอสเทอร์ที่ได้จากน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (น้ำมันตระกูล B) ผลิต B5 ออกสู่ท้องตลาด และจะก้าวสู่การผลิต B 10 ภายในปี 2555

แม้ขณะนี้น้ำมัน B5 ยังไม่ฮิตติดตลาด แต่ก็มียอดขายเฉลี่ย 9.5 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นถึง 644% เทียบกับปีก่อน (1.2 ล้านลิตร/วัน) แนวโน้มอนาคตนี้ทำให้ ปตท. รีบสร้างเครือข่ายธุรกิจแห่งอนาคต “จับมือ” เจ้าของอาณาจักรการเกษตรรายใหญ่อย่างกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ของเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ ให้ป้อนวัตถุดิบปาล์มไว้แล้ว

การถือหุ้นของกลุ่มทุนในโรงงานเอทานอล (ข้อมูล ณ 1 มิ.ย. 50)
บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ (เจริญ สิริวัฒนภักดี)
– บมจ. ไทยแอลกอฮอล์ (ไทยเบฟถือหุ้น 100%)
– บจ. ไทยโมลาส (ไทยเบฟถือหุ้น 99.7%)
บมจ. มิตรผล (ตระกูลว่องกุศลกิจ)
– บจ. เพโทรกรีน (บจ. เอ็มพี เอ็นเนอร์ยีถือหุ้น 60.8363%)
– บจ. เอ็มพี เอ็นเนอร์ยี (น้ำตาลมิตรผลถือหุ้น 100%)
บจ. ไบโอเอทานอล (กลุ่มเทมาเส็ก)
– บจ. ไบโอแกส พาวเวอร์ ถือหุ้น 60%
บจ. บุญอเนก
– ศิริธัช โรจนพฤกษ์ ถือหุ้น 26.9647%
– บมจ. คอม-ลิงค์ ถือหุ้น 20%
– กลุ่มสันติบุรี 17.5%
— สันติ ภิรมย์ภักดี 74.9988%
— เบียร์สิงห์ 25%
– ศิริธัช โรจนพฤกษ์ 9.3125%
– ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล 8.3375%
ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ถือหุ้น 13.33%
สันติ ภิรมย์ภักดี ถือหุ้น 6.67%

ความคิดเห็นของประชาชนในการแก้วิกฤตพลังงาน (ที่มา : เอแบคโพลล์ 2549)
– รณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด 71.5%
– ใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ ลม ความร้อน 58.5%
– ใช้เทคโนโลยีเพื่อแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ 42.8%
– ใช้เทคโนโลยีพลังงานชีวภาพ 39.1%
– ใช้เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ 17.1%