เปิดบันทึกเรื่องเล่า ‘สัญญาณจากฟ้า VR 009’

เรื่องเล่าจาก VR 019 ‘มนัส ทรงแสง’ อดีตรองอธิบดีกรมไปรณีย์โทรเลข และอดีตรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ถึง VR 009 พระราชอัจฉริยภาพทางด้านการสื่อสารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการใช้งานวิทยุสมัครเล่น

นายมนัส ทรงแสง อดีตรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ผู้ใช้รหัสนักวิทยุสมัครเล่น VR019 เล่าให้ฟังถึงพระราชอัจฉริยภาพทางด้านการสื่อสารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตรว่า พระองค์ท่าน ถือเป็นที่สุดแล้วในประเทศไทย และไม่มีใครเทียบเคียงได้ และเชื่อว่าพระองค์ท่านไม่ได้ไปไหน และยังอยู่ในหัวใจนักวิทยุสมัครเล่นกว่า 2-3 แสนคนทั่วประเทศ

พร้อมกับกล่าวถึงเหตุการณ์ประทับใจตลอดช่วงเวลาที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาท ทั้งในส่วนของการที่พระองค์ท่านให้ความสนใจในการใช้งานคลื่นถวามถี่วิทยุของทั้งส่วนราชการ และเอกชน รวมถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติหรือเกิดเหตุขัดข้องในการใช้งานก็จะมีการพระราชทานคำแนะนำให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเชิงเทคนิค

1_vr

สำหรับเหตุการณ์แรกที่ประทับใจคือ เมื่อตอนที่ศูนย์วิทยุสายลมได้เครื่องรับ-ส่งสัญญาณวิทยุ FT-726R มาใช้งานจาก VR241 หรือ สนั่น นภาศักดิ์ นักวิทยุสมัครเล่น ที่ซื้อเข้ามาในประเทศไทย 3 เครื่อง โดยเครื่องแรกได้ทูลเกล้าถวายพระองค์ท่าน เครื่องที่สองได้ส่งมอบให้แก่ศูนย์วิทยุสายลม และเครื่องที่สามแก่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า แต่สุดท้ายก็กลับมาอยู่ที่ศูนย์สายลม จากเหตุผลที่ว่ามีปุ่มเยอะเกินไปไม่เหมาะกับการใช้ในศูนย์ราชการ

‘เมื่อติดตั้งเครื่องวิทยุเรียบร้อย แต่เจ้าหน้าที่ใช้ไม่ถูกก็มีการรายงานของสมาชิกว่ามีการส่งสัญญาณแปลกๆ โดยพระองค์ท่านได้ติดต่อเข้ามา และทรงแนะนำ เนื่องจากเครื่องรุ่นนี้มีปุ่มเยอะมาก พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอธิบายทีละปุ่มว่าควรปรับตั้งค่าปุ่มไหน ไปที่ทิศกี่นาฬิกาด้วยภาษาธรรมดาเป็นเวลาเกือบชั่วโมงจนเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องได้ พร้อมกับทรงแนะนำและทดสอบด้วยพระองค์เองว่าส่งสัญญาณได้แล้วหรือยังมีค่าความเบี่ยงเบนของสัญญาณหรือไม่’

นอกจากนี้ พระองค์ยังตรัสอีกว่า เครื่องของสายลม และเครื่องของ VR 009 เป็นเครื่องพี่เครื่องน้องกัน พร้อมกับทรงแนะนำในการใช้งาน พูดถึงเรื่องคลื่นรบกวน การป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า รวมถึงลูกเล่นต่างๆในเครื่องนี้ ซึ่งพระองค์สามารถตอบได้หมด ที่สำคัญคือในเวลาที่ติดต่อสื่อสาร เมื่อต้องการพูดแทรกเข้ามานักวิทยุสมัครเล่นจะใช้คำว่า ‘เบรค’ แต่พระองค์ท่านใช้คำว่า ‘ขออนุญาต’

2_vr
เครื่องรับ-ส่งสัญญาณวิทยุ FT-726R

ส่วนอีกเหตุการณ์ที่สำคัญคือเมื่อปี 2528 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 ซึ่งขณะนั้นตนเป็นหัวหน้าศูนย์สายลม เป็นหัวหน้าฝ่ายช่างทำหน้าที่วางระบบสื่อสารรายงานผลการแข่งขันกีฬาที่แข่งขันกัน 2 แห่ง คือกรุงเทพฯ และชลบุรี ที่การสื่อสารต้องใช้วิทยุวอล์กกี้ทอล์กกี้บนคลื่นความถี่ VHF ที่มีปัญหาในช่วงแรกเนื่องจากส่งสัญญาณไม่ถึง เมื่อต้องติดตั้งอุปกรณ์ทวนสัญญาณที่เขาฉลาก ก็พบปัญหาสัญญาณรบกวน

‘จังหวะนั้นได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ท่านติดต่อเข้ามาถึง VR 019 พร้อมกับรับสั่งว่า พระองค์ท่านรับฟังและติดตามอยู่ ทรงถามถึงความถี่ภาคส่ง ความถี่ภาครับ วิธีการติดตั้งเสาอากาศเป็นอย่างไร ความสูงระดับไหน แล้วทรงแนะนำการติดตั้งเสาสัญญาณ การติดตั้งตัวกรองคลื่น ใช้เวลาประมาณ45นาที จนใช้การได้’

โดยขณะที่ทดลองทรงให้ปรับมาใช้ความถี่ย่านUHFของพระองค์ท่านเพื่อติดต่อกัน หลังจากนั้นทุกวันช่วงบ่ายจะทรงติดต่อเข้ามาทุกวัน โดยติดต่อสมาชิกในพื้นที่เพื่อถามถึงเครื่องทวนสัญญาณ ผลการแข่งขันเรือใบเป็นอย่างไร จะทรงขอทราบผลรายงานสัญญาณจากศูนย์สายลมตลอด ถ้ามีสิ่งผิดปกติจะแจ้งเข้ามา แล้วสอนวิธีการแก้ไขให้ปรับปรุงอุปกรณ์

ส่วนเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคือ ‘สัญญาณจากฟ้า VR 009’ ที่เป็นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจริงจากเหตุวาตภัยที่ อำเภอ สวนผึ้ง จังหวัด ราชบุรี มีนักวิทยุสมัครเล่นรวมกลุ่มกันออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน และติดต่อเข้ามายังศูนย์สายลมเพื่อเตรียมการ ขณะนั้นพระองค์ท่านติดต่อเข้ามาเพื่อแนะนำวิธีที่ถูกต้องในการออกไปช่วยเหลือประชาชน

‘สิ่งสำคัญคือการไม่เข้าไปเป็นภาระของคนในพื้นที่ พร้อมเตรียมระบบเครื่องมือสื่อสารที่มีความพร้อม ด้วยการนำวิทยุในรถยนต์ไปติดตั้งในตัวเมือง โดยให้หาพื้นที่สูงติดกับเสาสัญญาณ เพื่อให้นักวิทยุที่เข้าไปในพื้นที่สามารถติดต่อออกมาได้ และยังละเอียดถึงขั้นต้องเตรียมเรื่องแบตเตอรีสำรอง ต้องมีฉนวนหุ้มแบตเตอรีป้องกันไม่ให้โดนโลหะ หรือเศษสตางค์ทำให้ช็อตและไม่มีพลังงานใช้’

นอกจากนี้ ก็จะมีเรื่องพระราชอารมณ์ขันของในหลวง เมื่อตอนหนึ่งพระองค์ท่านถามเข้ามาในข่ายสายของศูนย์สายลมที่เป็นเครือข่ายราชการว่า พระองค์ท่านสามารถใช้ข่าย ‘VR 009’ ในการติดต่อสื่อสารนั้นถูกต้องหรือไม่ ทางศูนย์สายลมซึ่งได้เตรียมการไว้ให้ท่านแล้วก็ได้ถวายให้พระองค์ท่านใช้ข่าย ‘สายลม 09’ ในการติดต่อผ่านข่ายราชการแทน

‘พระองค์ท่านทรงมีระเบียบวินัย มีการใช้ วิทยุอย่างคล่องแคล่ว ในการติดต่อสื่อสาร ถ้าเป็นเครือข่ายวิทยุก็จะใช้ VR009 แต่ถ้าติดต่อสื่อสารผ่านข่ายราชการก็จะเปลี่ยนไปใช้ สายลม 09 แทน นอกจากนี้ คณะกรรมการสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยุอาสาสมัคร ยังได้มีการเข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง และสัญญาณเรียกขาน HS 1A’

สุดท้าย พระองค์ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณกับวงการวิทยุสื่อสารอย่างมากมายมหาศาล เนื่องจากในยุคแรกการขออนุญาตใช้วิทยุสื่อสารทำได้ยากมากต้องขอนุญาตสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งไม่เห็นด้วยจะให้ใช้ จึงมีใช้เฉพาะทหารอเมริกัน พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขนำความกราบบังคมทูล ขอพระราชวินิจฉัย และมีพระราชวินิจฉัยให้ใช้วิทยุสื่อสารเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ โดยให้มีการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องแอบใช้กัน

‘พระองค์ท่านรับสั่งว่า ก็ดีสิ เขาได้ภูมิใจ จากนั้นจึงมีการตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัครขึ้น แล้วทูลเกล้าฯ ถวายควอไซท์ VR 009 เมื่อถวายแล้วท่านรับและใช้ตอนแรก ๆ ใช้เฉพาะข้อความสั้น จำได้ว่าในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา พล.ต.ต.สุชาติ ได้ให้สมาชิกมาถวายพระพรในคลื่นความถี่ พอถวายพระพรเสร็จแล้ว พล.ต.ต.สุชาติ ได้สรุปว่ามีผู้มาถวายพระพรกี่คน หลังจากนั้น VR 009 ได้เรียกเข้ามาว่า ขอบใจ VR 001 (พล.ต.ต.สุชาติ) ที่ได้มาอวยพรวันเกิดให้ VR 009 ในวันนี้’

ทั้งนี้ ช่วงที่พระองค์ติดต่อเข้ามาบ่อยๆ คือราวปี 2528 ที่พระราชทานความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งเสาอากาศ พระราชทานความรู้ นักวิทยุสมัครเล่นทุกคนในประเทศไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และจะทำความดีเพื่อสังคม ในงานพระบรมศพเราจะไปให้บริการอำนวยความสะดวกกับประชาชนด้วย โดยเฉพาะหลังวันที่ 28 ต.ค.ประชาชนคงมามากนักวิทยุสมัครเล่นจะไปทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000105403