50 ปี โฆษณาไทย ทำไมต้อง “Human Wired”

อ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และประธานการจัดงานประชุมสัมมนา บอกถึงภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทุกคนยังคงใช้งบการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง มีการพิตช์งานมากมาย ถือเป็นสัญญาณที่ดีของภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2560 นี้

แต่สำหรับ 50 ปีที่ผ่านมาของงานโฆษณาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ชีวิตคนไทย และเศรษฐกิจไทย มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบแนวทางการโฆษณามาหลายยุคหลายสมัย

ยุค Information-Based เป็นยุคเริ่มแรกที่เน้นการพูดตรงเกี่ยวกับตัวสินค้าและบริการตรงๆ เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคมากที่สุด

ยุค Art Direction หรือยุคทองของวงการโฆษณาไทย ที่มีการเข้ามาของบริษัทโฆษณาข้ามชาติ การผลิตโฆษณาที่ให้คุณค่ากับคุณภาพชิ้นงาน และความเป็นศิลปะในชิ้นงาน

ยุค Brand Idea เป็นยุคฟองสบู่แตก อุตสาหกรรมโฆษณาได้ผลกระทบสูง การแข่งขันมากขึ้นจึงต้องเน้นการผลิตงานที่โดดเด่นและตอบโจทย์ทางการตลาด งานโฆษณาในช่วงนี้จะสะท้อนให้เห็นทัศนคติเบื้องลึกหรือ insight ของผู้บริโภค หลายเรื่องราวเป็นเรื่องที่ไม่เคยถูกหยิบยกมาพูด ก็ถูกมานำเสนอเป็นเรื่องราวที่โดดเด่นน่าสนใจจนทำให้โฆษณาไทยไปโลดแล่นบนเวทีโลกมากมาย

Digitizing ยุคที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในการบริโภคสื่อ เข้าถึงข้อมูลสินค้าและบริการ ทำให้การคิดให้ไอเดียโฆษณา การทำคอนเทนต์และวิธีการเข้าถึงผู้บริโภคของแบรนด์ ต้องถูกปรับเปลี่ยนไป เแบรนด์หันมานำเสนอเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ และหยิบยกประเด็นที่ใกล้ตัวผู้คนออกมาสื่อสารในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สร้างการจดจำและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของสังคมมากขึ้น คนโฆษณาก็ต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้มีความรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยน

ล่าสุดทางสมาคมได้จัดงานสัมมนาหัวข้อ Human Wired ขึ้น ณ สยามภาวลัยเธียเตอร์ สยามพารากอน ในวันที่ 24 ก.พ.นี้

จึงเป็นที่มาของ หัวข้อ “Human Wired” ที่จะจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 50 ปีของสมาคมโฆษณา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยนำสปีกเกอร์จาก 5 แพลตฟอร์มออนไลน์มาให้ความรู้ ได้แก่ กูเกิล ยูทูบ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นสื่อมิติใหม่ที่เปิดโอกาสให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง และหลากหลายมากขึ้น ข้อมูลที่ถูกเก็บโดยสื่อดิจิตอลและแพลตฟอร์มต่างๆ กำลังถูกพัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็น data intelligence ที่จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนอย่างมากในอนาคตอันใกล้

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของอีเวนต์รวมยังคงระมัดระวัง และยังรอดูความชัดเจนหลังพ้นช่วงไว้อาลัย 100 วัน กับการดำเนินงานตามความเหมาะสมนั้นจะเป็นแบบใด ถือเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจอีเวนต์ต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการลดความเป็นอีเวนต์บันเทิงลง หรือปรับรูปแบบการจัดอีเวนต์ รวมถึงวางกลยุทธ์บุกต่างประเทศแทน รวมไปถึงเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ใหม่ โดยมองว่าอีเวนต์บันเทิงกลุ่มนักดนตรีนักร้อง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสุด

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่าปัจจุบันเป็นยุคที่เข้าสู่เรื่องของดิจิตอลออนไลน์อย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องของการสื่อสารในมุมมองของการตลาด การสื่อสารเชิงพฤติกรรมของคน แม้แต่ในส่วนของงานอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์หรืองานอีเวนต์ ที่จะนำเสนอในแบบผสมผสานงานด้านออนกราวนด์สู่ออนไลน์ หรือสลับปรับใช้ให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ถือเป็นการปรับตัวรับกับสถานการณ์อีกทางหนึ่ง