หวั่น ‘จีน’ ตามรอย ‘ญี่ปุ่น’ ตกกับดักฟองสบู่ หลังหนี้พุ่ง-ตลาดอสังหาฯ แรงฉุดไม่อยู่

ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 20 พ.ย.1991 แสดงให้เห็นสภาพการซื้อขายของดีลเลอร์ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเวลานั้น ทั้งนี้จากสภาพที่ประเทศจีนเวลานี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูง ขณะที่ภาระหนี้สินหนักหน่วงขึ้นทุกที นักธุรกิจใหญ่พร้อมควักกระเป๋าไม่อั้นเพื่อซื้องานศิลปะ ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลและนำไปเปรียบเทียบกับสภาพของญี่ปุ่นช่วงก่อนทศวรรษ 1990

หลายฝ่ายเริ่มกังวลกันว่า จีนอาจเผชิญกับดักเดียวกันกับญี่ปุ่นเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เนื่องจากขณะนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์แดนมังกรกำลังร้อนแรงสุดขีด หนี้สินเบ่งบานขยายตัว นักธุรกิจใหญ่พร้อมควักกระเป๋าไม่อั้นเพื่อซื้องานศิลปะ แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในแดนปลาดิบก่อนที่ฟองสบู่จะแตกกระเจิงเมื่อต้นทศวรรษ 1990 ไม่มีผิด 

ความเหมือนเหล่านี้ไม่ได้หลุดรอดสายตาปักกิ่ง สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศึกษาหาวิธีหลีกเลี่ยงหลุมพรางแบบที่ญี่ปุ่นเคยพลาดมาก่อน ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือส่งสัญญาณเตือนเรื่องสถานการณ์หนี้สิน

ความกังวลเรื่องหนี้สินถูกตอกย้ำด้วยคำเตือนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ออกมาเมื่อวันอังคาร (15 ส.ค.) ว่า เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกแห่งนี้กำลังอยู่บนเส้นทางอันตราย และเรียกร้องให้ปักกิ่งใช้แนวทางที่ยั่งยืนขึ้นและเร่งปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

ฤดูร้อนที่ผ่านมา จีนถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดี้ส์” ลดเรตติ้งโดยอ้างอิงปัญหาหนี้สินที่เบ่งบาน สร้างความเดือดดาลอย่างยิ่งต่อปักกิ่ง

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่กระตุ้นให้ยอดหนี้พุ่ง เป็นปัจจัยส่งให้เศรษฐกิจจีนเติบโตร้อนแรงมาหลายปี นับจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อทศวรรษที่แล้วที่ทำลายการเติบโตในตลาดตะวันตกซึ่งผู้ส่งออกจีนต้องพึ่งพิงเพื่อการขยายตัว

ย้อนกลับไปที่ญี่ปุ่น อดีตเสือเศรษฐกิจดั้งเดิมของเอเชีย อัตราเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปีระหว่างปี 1955-1973 ส่งให้แดนปลาดิบก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในยุคนั้น

กระทั่งปี 2010 ญี่ปุ่นถูกจีนซิวตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกไปครอง หลังจากเศรษฐกิจเติบโตรุดหน้าและไม่เคยลิ้มรสภาวะถดถอยแม้แต่ครั้งเดียวในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ญี่ปุ่นวันนี้ประสบปัญหาหนี้สาธารณะเบ่งบาน อันเป็นมรดกตกทอดมาจากนโยบายการเงินและการคลังที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นการเติบโต

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะมากกว่า 200% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่หนี้จีนอยู่ที่ราว 260% ของจีดีพี เพิ่มจาก 140% ก่อนวิกฤตการเงินโลกปี 2008

ในช่วงทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ

การแห่ซื้อที่ดินทำให้ราคาที่ดินแพงขึ้นเป็น 4 เท่าตัวระหว่างช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1980 และดัชนีนิกเกอิในตลาดโตเกียวขึ้นไปเกือบแตะระดับ 40,000 ในปี 1989 หรือสองเท่าของระดับปัจจุบัน

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมาถึงจุดจบเมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) หันมาใช้นโยบายคุมเข้มกะทันหัน ส่งผลให้ราคาหุ้นและที่ดินดิ่งฮวบ ธุรกิจหยุดลงทุน ผู้บริโภคหยุดใช้จ่าย และหนี้เสียกองเป็นภูเขา นำไปสู่ช่วงเวลาที่อัตราเติบโตลดต่ำหรือหยุดนิ่งที่ถูกเรียกขานว่า “ทศวรรษที่สูญหาย” (lost decades) 

จีนยังคงมีการลงทุนขยายตัวอย่างมากมายในด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ระดับหนี้สินสูงขึ้นมาก จนหลายๆ ฝ่ายรู้สึกวิตกกังวล และมีบางคนนำมาเปรียบเทียบกับสภาพของญี่ปุ่นช่วงก่อนทศวรรษ 1990

สำหรับจีน แม้ราคาหุ้นยังสูงพอๆ กับเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ราคาที่อยู่อาศัยกำลังพุ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น

ทั้งจีนและญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักของชาวโลกจากการประกาศซื้อกิจการต่างชาติอย่างมโหฬาร เช่น ยอดการลงทุนนอกประเทศของจีนปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 170,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 44% จากปี 2015

ก่อนหน้านั้น 1 ปี อันปัง อินชัวรันซ์ ของจีน เข้าซื้อโรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรียในนิวยอร์กด้วยวงเงินเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นักธุรกิจใหญ่ หลิว อี้เชียน ซื้อภาพเขียน “นู กูเช่” ของโมดิเกลียนี ในราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 170.4 ล้านดอลลาร์ในปี 2015

พฤติกรรมเหล่านี้คลับคล้ายกับเมื่อครั้งโซนี่ของญี่ปุ่นฮุบกิจการโคลัมเบีย พิกเจอร์สของอเมริกาด้วยราคา 3,400 ล้านดอลลาร์ในปี 1989 และมิตซูบิชิ เอสเตทควักกระเป๋าเกือบ 850 ล้านดอลลาร์ซื้อหุ้นที่มีสิทธิ์ควบคุมผู้ดำเนินการอาคารร็อคกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของนิวยอร์ก

ปี 1990 เรียวเออิ ไซโตะ นักธุรกิจวงการกระดาษของญี่ปุ่น ซื้อภาพเขียน “พอร์เทรต ออฟ ดร.กาแช” ของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ราคา 82.5 ล้านดอลลาร์ และภาพ “บัล ดู มูแลง เดอ ลา กาแลตต์” ของปิแยร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ ราคา 78.1 ล้านดอลลาร์

โคคิชิโร มิโอะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอบอกว่า ที่น่ากลัวก็คือคนจีนตอนนี้กำลังคิดว่า จีนเป็นประเทศพิเศษและจะปลอดภัย ซึ่งเหมือนกันไม่มีผิดกับความรู้สึกของคนญี่ปุ่นระหว่างยุคฟองสบู่

อย่างไรก็ตาม จีนยังไม่ใช่กระจกสะท้อนภาพญี่ปุ่นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

เศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของจีนอยู่ภายใต้การควบคุมเข้มงวดของรัฐบาล และได้รับการปกป้องจากปัจจัยภายนอกเข้มแข็งกว่าญี่ปุ่น

ปักกิ่งยังเริ่มการกวาดล้าง “แรดสีเทา” หรือกลุ่มกิจการเอกชนขนาดใหญ่ที่น่ากลัวว่ากำลังสะสมหนี้ในระดับที่อันตรายผ่านการซื้ออย่างบ้าระห่ำ ซึ่งกำลังคุกคามเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

กระนั้น เหอ เจ้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาการเงินและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เชื่อว่า สถานการณ์ปัจจุบันในจีนถือว่า ดีกว่าญี่ปุ่นสมัยฟองสบู่ เช่น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาล

บทเรียนจากญี่ปุ่นสอนให้รู้ว่า เจ้าหน้าที่ควรลงมืออย่างรวดเร็วในการใช้กฎระเบียบการธนาคารที่เข้มงวดขึ้น เพื่อสกัดไม่ให้เจ้าหนี้ปล่อยกู้เกินตัว รวมทั้งจัดการการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างดียิ่งขึ้น

ทว่า อิวาน เซลิชต์เชฟ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิงาตะในญี่ปุ่น ชี้ว่า ทางการจีนสามารถควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารและการระดมทุนสำหรับธุรกรรมเก็งกำไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการบางคนแย้งว่า เศรษฐกิจจีนยังไม่ก้าวหน้าเทียบเท่าญี่ปุ่นตอนที่ฟองสบู่แตก เท่ากับว่า ยังมีช่องทางเติบโตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อีกมาก

มิโอะจากเอ็นแอลไอปิดท้ายว่า แม้จีนกำลังมุ่งหน้าสู่ปัญหาแบบที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญ แต่คำเตือนจากเพื่อนบ้านหรือแม้กระทั่งความกังวลภายในประเทศอาจไม่มีความหมายนัก จนกว่าจีนจะรู้ซึ้งถึงปัญหาเท่านั้น


ที่มา : manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9600000083960