ไมโครซอฟท์จับมืออีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค ร่วมผลิตนักพัฒนา .NET รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีของภูมิภาค

กรุงเทพฯ – ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค (E-Saan Software Park) ในการผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์และบุคลากรผู้สอนด้าน .NET ประจำภาคอีสาน ผ่านโครงการอบรมหลักสูตร Microsoft.NET และการมอบทุนอบรมให้แก่บุคลากรผู้สอนของสถาบันการศึกษา และนักพัฒนาซอฟต์แวร์จากบริษัทที่ร่วมโครงการอีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค รวมมูลค่ากลว่า 1.4 ล้านบาท

มร.แอนดรูว์ แม็คบีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์มีนโยยบายในการสนับสนุนโครงการต่างๆ ของทางภาครัฐมาโดยตลอด รวมทั้งโครงการอีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอันหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศที่มีความสามารถได้ตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ โดยเรายินดีที่จะช่วยถ่ายทอด เทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการของนักพัฒนาเหล่านี้”

ผศ.ดร.อารมย์ ตัตตะวะศษสตร์ กรรมการอำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า “การพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ได้กลายเป็นกลไกหลักอันหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการอีสานซอฟต์แวร์ปาร์คให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างอีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค และไมโครซอฟท์ในครั้งนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ปาร์ค และไมโครซอฟท์ในครั้งนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระดับภูมิภาค ซึ่งจะขยายวงออกไปในระดับประเทศ อีกทั้งเรายังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ .NET ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานในการพัฒนาเว็บเซอร์วิสและเป็น เทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจอย่างสูงจากกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในขณะนี้ เราเชื่อว่าเทคโนโลยี .NET ที่ได้รับการถ่ายทอดจากทางไมโครซอฟท์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างงานของนักพัฒนาในภูมิภาค”

“สำหรับอุตสาหกรรมการออกแบบซอฟต์แวร์ในภาคอีสานนั้นถือได้ว่าอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโตไปได้ด้วยดี ทั้งนี้เนื่องมาจากความสนใจของทางภาคเอกชนที่มาลงทุนในอีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค จึงสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ได้ว่า จะมีแหล่งงานมารองรับหลังจากจบการอบรมได้อย่างแน่นอน และจากความร่วมมือของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น อีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค ไมโครซอฟท์ และบริษัทเอกชนที่มาลงทุนในโครงการนี้ก็จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับภาคอีสานได้” ผศ.ดร.อารมย์ กล่าวเสริม

นายราเมศวร์ ศิลปพรหม กรรมการบริหาร บริษัท ซอฟต์ สแควร์ 1999 จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการอีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค กล่าวว่า “การอบรมหลักสูตร Microsoft.NET ในครั้งนี้จะตอบรับกับความต้องการของนักพัฒนาต่อเทคโนโลยี .NET ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อการใช้งานได้จริง สะดวกต่อการออกแบบให้เข้ากับธุรกิจที่มีความต้องการที่แตกต่างกันไป อีกทั้งยังช่วยสร้างบิสิเนสโซลูชั่นที่มีความคล่องตัวสูงเหมาะกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน และด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้เรามีความมั่นใจว่า ในอนาคตอันใกล้นี้บริษัทของเราจะเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่พัฒนาด้วย เทคโนโลยี .NET แหล่งใหญ่อีกแหล่งหนึ่งของประเทศไทย ที่เราได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้นั้น เราจะสามารถสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยี .NET ได้อีกถึง 500 คน”

โครงการอบรม Microsoft.NET จัดขึ้นเพื่ออบรมนักพัฒนาซอฟต์แวร์และบุคลากรผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 30 คนต่อ 1 หลักสูตร โดยจะมีทั้งสิ้น 3 หลักสูตร ระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน 2547 โดยบุคลากรที่สำเร็จจากการอบรมดังกล่าวจะสามารถเป็นวิทยาการในการอบรมหลักสูตร Microsoft.NET ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งก็จะทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ออกไปในวงกว้าง

มร.แม็คบีน กล่าวเสริมว่า “หลังจากการอบรมทั้ง 3 หลักสูตร เราจะได้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน .NET ประจำภาคอีสาน ซึ่งนักพัฒนาเหล่านี้ก็จะไปเป็นวิทยาการทำการอบรมต่อให้กับบุคลากรด้านไอทีอื่นๆ อีกต่อไป นอกจากนี้ ทางไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะขยายโครงการอบรม Microsoft.NET ออกไปยังซอฟต์แวร์ปาร์คในภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เราสามารถสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน .NET ได้ตามที่เราตั้งเป้าไว้ จากการสำรวจและประมาณการเราคาดว่า นักพัฒนา 1 คน สามารถสร้างผลผลิตได้ประมาณ 1-1.5 ล้านบาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้ ผลการสำรวจอย่างเป็นทางการของไมโครซอฟท์พบว่า ในปัจจุบันมีนักพัฒนา .NET ในประเทศรวมประมาณ 5,000 คน”

นอกจากนี้ ทางไมโครซอฟท์ยังได้ร่วมกับอีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค มอบทุนให้กับผู้สนใจในการเข้าร่วมอบรม โดยทุนดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สำหรับบุคลากรผู้สอนของสถาบันการศึกษาในภาคอีสานจำนวน 8 ทุน มูลค่าทุนละ 60,000 บาท และสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์จากบริษัทที่เข้าร่วมโครงการกับอีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค จำนวน 20 ทุน มูลค่าทุนละ 45,000 บาท

ผู้สนใจสอบถามได้ที่ โครงการอีสานซอฟต์แวร์ปาร์ค โทร. 043-202-426 ต่อ 102 โทรสาร 043-202-292