TGMA จับมือกรมการค้าตปท.ปกป้องสิทธิผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทย

นายวัลลภ วิตนากร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยในงานสัมมนาการปกป้องสิทธิผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยซึ่ง
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยจัดขึ้น ด้วยความร่วมมือของกรมการค้าต่างประเทศว่า การจัดงานสัมมนาการปกป้องสิทธิผู้ส่งออก
เครื่องนุ่งห่มไทยเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญเพื่อทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการส่งออกในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ได้เข้าใจถึงภาวะการแข่งขันและมาตรการสำคัญทางการค้าโลก รวมถึงแนวทางเพื่อการปกป้องสิทธิผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทย ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือการผลักดันให้เกิดการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพราะผลจากข้อตกลงสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม( Agreement on textiles and clothing : ACT)ภายใต้ความตกลงขององค์การการค้าโลก(WTO) ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เครื่องนุ่งห่มของประเทศไทยไปประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นไปโดยเสรี แต่ภายใต้โอกาสที่มีเพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลให้สหรัฐและยุโรปใช้มาตรการปกป้องการนำเข้า(Safeguard) เมื่อไม่แน่ใจว่าสินค้านั้นมีแหล่งผลิตในประเทศไทยจริง วิธีการปกป้องสิทธิจึงเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกน้อยที่สุด หรือไม่มีผลกระทบเลย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศชาตินำมาซึ่งอัตราการเติบโตด้านการส่งออกตามที่คาดการณ์และรายได้เข้าประเทศตามแผนที่วางไว้ โดยการป้องปกสิทธินี้ทางสมาคมยังได้รับความร่วมมือจากกรมศุลกากรในการสนับสนุนข้อมูลเมื่อเกิดปัญหาด้วย

นายวัลลภกล่าวถึงการนำมาตรการปกป้องการนำเข้า(Safeguard)มาใช้ว่า เป็นสิทธิที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปทำได้ตลอดเวลา และขณะนี้สถานการณ์การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของบางประเทศยังถูกประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปควบคุมการนำเข้าหรืออาจใช้มาตรการปกป้องการนำเข้า(Safeguard) จึงมีโอกาสและความเป็นไปได้สูงที่จะมีการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า(Circumvention)สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทยในการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งอาจจะทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวของประเทศไทยได้โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่ส่งไปประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปอันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มรวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศไทยโดยส่วนรวมการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มจึงเกิดขึ้น โดยเน้นความสมัครใจของผู้ประกอบการเอง ภายใต้เงื่อนไขนี้ผู้ประกอบการที่ส่งจะส่งสินค้าไปประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปจะได้รับประโยชน์มากมาย ร่วมถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐด้วย

“สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับการปกป้องสิทธิสามารถดำเนินการขึ้น
ทะเบียนได้โดยตรง โดยติดต่อที่กรมการค้าต่างประเทศ ทางกรมการค้าต่างประเทศจะให้คำแนะนำในเรื่องของการกรอกแบบพร้อม
เพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเอกสารสำคัญ 9 ข้อ แนบพร้อมใบคำขอ โดยเอกสารสำคัญดังกล่าวประกอบ
ด้วย สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่รับรองไว้ก่อนหน้าวันยื่นขอไม่เกิน 3 เดือน พร้อมสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล สำเนางบการเงินที่ได้รับการรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตย้อนหลัง 1 ปี สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หลักฐาน

การประกอบกิจการโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่ม เฉพาะผู้ที่มีโรงงานผลิตของตนเอง ข้อมูลการส่งออกรายเดือนย้อนหลัง 1 ปี เอกสารที่ธนาคารรับรองการทำธุรกรรมกับธนาคาร โดยรับรองตามแบบให้ข้อมูลการประกอบธุรกิจเอกสารแสดงกระบวนการผลิตเครื่องนุ่งห่มโดยเริ่มตั้งแต่การนำวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตไปจนถึงขั้นตอนการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป ทั้งนี้เฉพาะผู้ประกอบการที่มีโรงงาน
ผลิตของตนเอง ภาพถ่าย สถานที่ตั้งสำนักงาน และ/หรือโรงงานผลิต รวมทั้งสายการผลิตทุกแผนก และแผนที่แสดงสถานที่ตั้งโรงงานผลิตและ/หรือสถานที่ตั้งสำนักงาน ” นายวัลลภ กล่าวและว่า กรณีผู้ยื่นคำขอเป็นสมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สามารถยื่นคำขอที่สมาคมได้โดยตรงเพื่อให้ตรวจสอบและรับรองสถานะการประกอบการพร้อมให้ความเห็นประกอบการขึ้นทะเบียน โดยให้สมาคมจัดส่งคำขอและเอกสารแนบดังกล่าวให้กรมการค้าต่างประเทศ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สมาคมได้รับคำขอ สำหรับกรณีผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม ให้ยื่นคำขอที่สำนักป้องกันการแอบอ้างสิทธิ กรมการค้าต่างประเทศ

นายวัลลภกล่าวถึงการดำเนินการต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วว่า ผู้ประกอบการยังต้องมีหน้าที่จัดทำรายงานการส่งออกของแต่ละเดือน และจัดส่งให้สำนักป้องกันการแอบอ้างสิทธิ กรมการค้าต่างประเทศ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและประกาศตนในฐานะผู้ดำเนินการอย่างถูกต้อง กรณีผู้ขึ้นทะเบียนที่ไม่ได้จัดทำรายงานการส่งออกและจัดส่งให้กรมการค้าต่างประเทศภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นจำนวน 3 ครั้ง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร กรมการค้าต่างประเทศจะพิจารณาถอนชื่อออกจากทะเบียน

สำหรับมาตรการในการรักษาประโยชน์ของผู้ประกอบการส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการค้าต่างประเทศนั้น นายวัลลภกล่าวว่า สมาคมร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศทำการสนับสนุนให้เกิดการรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการในหลายประการ อาทิเช่น การนำรายชื่อผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ (Website) ของกรมการค้าต่างประเทศที่ http://www.dft.moc.go.th เพื่อให้ผู้ที่ต้องการจะประกอบธุรกิจด้วย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เสมือนเป็นการให้การรับรองผู้ประกอบการรายนั้นๆ โดยตรง

นอกจากนี้กรณีที่เกิดปัญหาประเทศสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรปขอตรวจสอบ หรือพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้า และผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้ร้องขอให้กรมการค้าต่างประเทศร่วมให้ข้อมูล กรมการค้าต่างประเทศจะนำข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนและจากรายงานการส่งออกไปใช้ประกอบการชี้แจงเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ขึ้นทะเบียนไว้ต่อไป สำหรับผู้สนใจสอบถามรายละเอียดโดยตรง..ที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ณ อาคารปัญจธานีทาว์เวอร์ ชั้น 31 ถ.นนทรี แขวงช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ 10120 โทร.
0-2681-2222 โทรสาร 0-2681-0231-2 E-mail: tgma@thaigarment.org ทุกวันในเวลาทำการ