เวียดนาม : คู่แข่ง…ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย

ความเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ผู้ผลิตต้องเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเนื่องจากราคาจำหน่ายได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ผู้ผลิตต่างก็เล็งหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุดตามนโยบาย global sourcing ทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินลงทุนในการผลิตไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเอง ในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายชนิด ไม่ว่าจะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ซึ่งอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จัดว่าเป็นอุตสาหกรรมเรือธงที่นำรายได้จากการส่งออกเป็นสัดส่วนสูง และเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยให้การส่งเสริมเพื่อขยายการผลิตและรองรับการลงทุนจากต่างประเทศมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ การแข่งขันของประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศผู้ผลิตที่สำคัญอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน นั้นได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เวียดนาม เป็นประเทศที่ได้รับการจับตามองว่าจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน หลังจากในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก การขยายฐานผลิตที่สำคัญของบริษัทผู้ผลิตสินค้าชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น โซนี่ แคนนอน มิตซูชิตะ เข้าไปในเวียดนามและล่าสุดการลงทุนของอินเทลเพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปคอมพิวเตอร์มูลค่ากว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐในเวียดนามยิ่งทำให้เวียดนามได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

เวียดนาม : ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม
ความร้อนแรงของเวียดนามเริ่มขึ้นเมื่อเวียดนามเปิดประเทศ เวียดนามเริ่มเปิดประเทศในปี 1992 ด้วยการฟื้นความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกานั้น มีภาวะการค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก การเปิดประเทศทำให้เวียดนามกลายเป็นแหล่งที่บริษัทข้ามชาติจำนวนมากให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม ความไม่พร้อมทางด้านระบบสาธารณูปโภค ปัญหาคอร์รัปชั่น และระบบกฎหมาย ที่ยังไม่สามารถรองรับความซับซ้อนของธุรกรรมข้ามชาติได้ ทำให้บรรดานักลงทุนต้องทบทวนการลงทุนในเวียดนาม อย่างไรก็ตามในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ปรับปรุงประเทศในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบโครงสร้าง และกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน จนทำให้สามารถขยายเงินลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI (Foreign Direct Investment) สูงขึ้นเป็น 5,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2005 ขยายตัวขึ้นประมาณร้อยละ 178 จากปี 2004 ที่ผ่านมา

สัดส่วนการลงทุนโดยจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5-6 ของการลงทุนรวมจากต่างประเทศทั้งหมด หรือประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2005 เพิ่มขึ้นจาก 120 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2004 หรือเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 4 เท่าตัว แม้ว่าจะเป็นเม็ดเงินลงทุนไม่มากนักแต่ก็มีอัตราการเติบโตที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ไทย มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2005 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,150 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงประมาณร้อยละ 5.2 จากปี 2004

เวียนดนาม : เป้าหมายส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ 7,000 ล้านเหรียญในปี 2010
สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันแม้ว่าจะยังมีสัดส่วนการส่งออกไม่สูงเท่ากับสินค้าชนิดอื่นๆ แต่ก็เป็นสินค้าที่รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุนและผลักดันให้เป็นสินค้าหลักในการส่งเสริมการลงทุนและส่งออก การลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามเริ่มคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการขยายการลงทุนของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น Sony Corporation, Matsushita Electric, JVC และ Toshiba ร่วมลงทุนกับรัฐวิสาหกิจของเวียดนามในช่วงปี 1995 ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศเวียดนามเอง ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์ นอกจากนี้ในช่วงปี 2000 ยังมีบริษัทจากเกาหลีใต้ เช่น Samsung และ LG บริษัท TCL ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้รายใหญ่จากจีน ได้ขยายการลงทุนผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลกด้วย ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่จะเน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและทดแทนการนำเข้าแต่ก็ต้องมาพบกับอุปสรรคในการลงทุนเนื่องจากติดกฎเกณฑ์ข้อบังคับสัดส่วนของวัตถุดิบในประเทศที่จะต้องใช้ในกระบวนการผลิต ภาษีนำเข้าที่อยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการส่งออก และทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง นอกจากนี้ในปี 2001 รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้วัตถุดิบในประเทศและภาษีนำเข้าขึ้นใหม่ซึ่งเพื่อกระตุ้นและคุ้มครองอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศ ยิ่งทำให้เพิ่มความตึงเครียดให้กับการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น
ในเวียดนาม การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือ White Goods เช่น ตู้เย็น และ เครื่องซักผ้า ผลิตโดยผู้ผลิตจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เช่น Sanyo, Toshiba, LG และ Samsung มีเพียง ผู้ผลิตไม่กี่รายเท่านั้นที่สามารถผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศจำนวนมากและผลิตขนาดเพื่อการส่งออกได้ ส่วนผู้ผลิตรายอื่นๆ ถูกจำกัดโดยขนาดของตลาดที่ค่อนข้างเล็กและความไม่พร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ทำให้การผลิตยังต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตรายใหญ่จากต่างประเทศรายใดที่ผลิตเครื่องปรับอากาศ ไมโครเวฟ เครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว เครื่องทำน้ำร้อน และเตาแก็ส ในเวียดนาม
นอกจากนี้ยังไม่มีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อจำหน่ายในประเทศนอกจากการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจากเอกชนและภาครัฐเท่านั้น แม้ว่าในช่วงปี 2001 บริษัท Cannon ได้ลงทุนในเวียดนามประมาณ 110 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อตั้งโรงงานผลิตพรินเตอร์ ในขณะที่ บริษัท Fujitsu ลงทุนกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และจ้างแรงงานกว่า 3,200 คน ในการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ที่ผ่านมา Intel Corp. ได้ตกลงที่จะทุ่มเงินลงทุน 605 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะสร้างงานกว่า 1,200 ตำแหน่งในขั้นต้น แม้ว่ากระแสการลงทุนผลิตชิ้นคอมพิวเตอร์จะมีการลงทุนในจีนค่อนข้างมากแต่การที่ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ได้กระจายความเสี่ยงของการลงทุนแทนที่จะมีการกระจุกตัวของการลงทุนภายในจีนเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ยังมีปัญหาความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์กับจีน ทำให้เวียดนามได้รับการคาดหมายว่าอาจจะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียนที่มีต้นทุนทางด้านแรงงานในระดับต่ำและเป็นที่น่าสนใจในระดับเดียวกับจีน

การลงทุนจากต่างประเทศเพื่อการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลทำให้เวียดนามสามารถขยายการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ จากเดิมที่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศเท่านั้น มูลค่าของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 782 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2000 เป็น 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2005 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าตัว นอกจากนี้เวียดนามยังตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010 หากเวียดนามทำได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของเวียดนาม โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 11.8 รองลงมาจากสิ่งทอและรองเท้า

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นมาก แต่เวียดนามก็ยังเป็นประเทศขาดดุลการค้าในกลุ่มสินค้านี้อยู่ด้วย หรือมีมูลค่านำเข้ามากกว่าส่งออก โดยมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นมากตามความต้องการใช้งานในประเทศ โดยเฉพาะในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ มูลค่านำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามในปี 2005 มีมูลค่าประมาณ 1,695 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.25 จากปี 2004 ที่ผ่านมา ขาดดุลการค้าประมาณ 253 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยบวก : ส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรม
การที่จะทำให้เวียนดนามก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งผลิตและส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญในระดับภูมิภาคนั้นเป็นผลต่อเนื่องมาจากการย้ายฐานการลงทุนของบริษัทข้ามชาติหรือผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกเข้าไปในเวียดนามมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เวียดนามได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย รองจาก จีน อินเดีย และ ไทย เนื่องจากนักลงทุนต่างเล็งเห็นปัจจัยบวกที่เวียดนามกำลังดำเนินอยู่เมื่อเทียบกับประเทศแหล่งลงทุนอื่นๆ ดังนี้
1. การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงที่ประเทศอื่นๆ จะต้องเผชิญกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤตการณ์ทางการเงินไปทั่วมุกภูมิภาคแต่เวียดนามยังสามารถขยายอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2005 นั้นเวียดนามมีอัตราการขยายตัวสูงของ GDP สูงถึงร้อยละ 8.4 และคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.6-8.0 ในปี 2549 แม้ว่าชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตราเติบโตร้อยละ 8.4 ในปี 2548 แต่ก็นับว่าเป็นอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน
2. จำนวนประชากรในวัยแรงงานจำนวนมากและมีอัตราค่าจ้างไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เช่น ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่เป็นฐานการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญในอาเซียนปัจจุบัน ทำให้เวียดนามมีความได้เปรียบ ทั้งนี้ปัจจุบันเวียดนามมีประชากรประมาณ 84 ล้านคน และมีประชากรในวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) ประมาณ 53 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 63 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ทางการเวียดนามส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นปัจจัยเสริมในการติดต่อธุรกิจการค้ากับต่างชาติให้คล่องตัวยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน เวียดนามดึงดูดการลงทุนด้วยค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำทั้งในแรงงานระดับด้อยฝีมือ (Unskilled Labor) และ ค่าจ้างแรงงานที่ฝีมือ (Skilled Labor) ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการแรงงานที่มีคุณภาพค่อนข้างดี
3. ตลาดในประเทศขนาดใหญ่และมีโอกาสที่จะเติบโตได้ดี ทั้งนี้จำนวนประชากรที่ค่อนข้างมาก ในขณะที่อัตราการครอบครองสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ เวียดนามมีสัดส่วนการถือครองโทรทัศน์เพียงร้อยละ 40 ต่อครัวเรือนทั้งประเทศเท่านั้น อัตราครอบครองคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 1 ของจำนวนประชากร และอัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ร้อยละ 3.4 ของจำนวนประชากรเท่านั้น ทำให้มีศักยภาพที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
4. การรวมกลุ่มทางการค้า และการร่วมเป็นสมาชิก WTO เวียดนามกำลังจะตกลงเปิดเสรีการค้าแบบทวิภาคีกับสหรัฐ ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างเล็งเห็นประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้านี้เพื่อการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เวียดนามและสหรัฐมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่พิเศษกว่าประเทศอื่นๆ ที่ทำให้สหรัฐต้องพิจารณาเวียดนามในฐานะคู่ค้าที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆ นอกจากนี้เวียดนามยังเตรียมจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ภายในสิ้นปีนี้ จะช่วยให้บทบาทของเวียดนามในเวทีโลกโดดเด่นขึ้นเป็นผลดีต่อการค้าและโอกาสทางการลงทุนที่จะได้รับการยอมรับจากตลาดโลกเพิ่มขึ้น
5. การมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และราคาที่ดินอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะการมีแหล่งน้ำมันดิบธรรมชาติจำนวนมาก นอกจากนี้การที่เวียดนามประกาศสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศ ยิ่งทำให้ต้นทุนทางด้านพลังงานของเวียดนามต่ำในสายตาของนักลงทุน ในท่ามกลางสถานการณ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นไปด้วยการมองหาแหล่งลงทุนที่มีต้นทุนต่ำยิ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่อยู่ในความสนใจเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ราคาที่ดินในเวียดนามยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบประเทศอื่น เช่น ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย
6. การปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้า การลงทุนและการให้สิทธิประโยชน์ทางการค้า โดยเฉพาะการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรในเขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone : EPZ) การลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคทางการค้า เช่น ขั้นตอนศุลกากร, การขอคืนภาษี และการให้สิทธิประโยชน์งดเว้นภาษีเงินได้กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
ปัจจัยลบ : กระทบการขยายตัวของอุตสาหกรรม
แม้ว่าเวียดนามจะเป็นแหล่งลงทุนที่ได้รับความสนใจในอันดับต้นๆ และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่สำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แล้ว เวียดนามยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ในหลายประเด็นดังนี้
– ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม แม้เวียดนามจะมีการจัดทำแผนปฎิรูปการผลิตและอุตสาหกรรม แต่ยังไม่มีแผนที่เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเฉพาะสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยผลักดันและเป็นแนวทางให้กับนักลงทุนได้ทราบถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้ในประเทศ นอกจากนี้เวียดนามยังไม่มีหน่วยงานกลางหรือที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ในการเชื่อมต่อเทคโนโลยี ประสานงานระหว่างกัน
– ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางด้านการขนส่งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบไฟฟ้า ที่สำคัญต่อการผลิตสินค้า เวียดนามยังขาดความพร้อมในด้านโลจิสติกส์ ทั้งทางด้านทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างการผลิตและการส่งออก นอกจากนี้การขาดแคลนโรงผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้อนให้กับโรงงานยังอยู่ในระดับคุณภาพที่ไม่ดีนัก ส่งผลกระทบต่อภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่หรือ International Firm นั้น สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองในหน่วยงานได้แต่ก็มีต้นทุนที่สูงกว่าการลงทุนสาธาณะของรัฐบาลกลาง
– ด้านบุคลากร แม้เวียดนามจะมีประชากรในวัยแรงงานจำนวนมากและมีการศึกษาค่อนข้างดี แต่ยังขาดความชำนาญในด้านการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากยังมีการผลิตจำนวนไม่มากและยังไม่สามารถผลิตแรงงานทักษะป้อนได้ทันกับความต้องการและการขยายตัวของอุตสาหกรรม
– ด้านอุตสาหกรรมสนับสนุนภายในประเทศ เวียดนามยังขาดอุตสาหกรรมสนับสนุนต่อเนื่องในประเทศ ทั้งนี้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่งจะเริ่มเข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม ทำให้การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศยังไม่สามารถพัฒนาได้ทัน

สรุปและข้อคิดเห็น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ความร้อนแรงของการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามนั้นเป็นสิ่งที่ไทยเองไม่สามารถมองข้ามได้ แม้ว่าในปัจจุบันไทยจะมีจำนวนเงินลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้สูงกว่าเวียดนามถึง 5 เท่า มีเม็ดเงินในด้านการส่งออกสูงกว่า 20-30 เท่า มีประสบการณ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยาวนานกว่า มีศักยภาพที่ดีกว่าในปัจจุบัน แต่สำหรับการผลิตสินค้าในประเทศไทยนั้นกลับมีแนวโน้มของต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนทางด้านพลังงานที่สูงในขณะที่ไทยเองมีแหล่งพลังงานที่ไม่เพียงพอต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเพื่อมาบริโภค ทำให้ต้นทุนทางด้านพลังงานขึ้นกับราคาตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ปัญหาพื้นฐานของอุตสาหกรรมที่ยังดำเนินไปต่อเนื่องทั้งในเรื่องของอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ความพร้อมของบุคลากรทักษะสูง ที่จะทำให้ไทยหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับการผลิตสินค้าที่มี value added ในระดับต่ำ สิ่งเหล่านี้ทำให้ไทยต้องระมัดระวังว่าเวียดนามอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนี้การที่บริษัทชั้นนำของโลกอย่างอินเทล เข้าไปเปิดฐานการลงทุนในเวียดนามนั้น แม้ว่าจะยังมีมูลค่าน้อย แต่ก็เป็นที่ได้รับความสนใจไม่น้อยจากนักลงทุนทั่วโลก นอกจากนี้การที่เวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่สมาชิกภาพขององค์การการค้าโลก และกำลังเร่งปรับปรุงตัวเองให้ทันสมัยด้วยงบประมาณกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาระบบการขนส่ง และสนามบิน นั่นหมายความว่า เวียดนามกำลังจะกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างน่าจับตามอง