พฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในปี 49 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยถูกรุมเร้าจากปัจจัยลบต่างๆที่มีมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ทำให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามสินเชื่อบัตรเครดิตที่จัดเป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคใช้ในชีวิตประจำวันยังคงขยายได้ต่อเนื่อง ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวมีส่วนในอันที่จะมีผลต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหันมาพึ่งพาบัตรเครดิตมากขึ้นเพียงใด เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นต้น ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำแบบสอบถาม ภายใต้หัวข้อ ศึกษาพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ในระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2549 จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 562 ชุด โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกเจาะจงเฉพาะผู้ที่ใช้บัตรเครดิตจับจ่ายสินค้าและบริการ โดยกระจายไปตามห้างสรรพสินค้าและตามสถานที่ทำงานทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร

ประเด็นสำคัญจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า

1. ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

ทั้งนี้เมื่อถามถึงปัจจัยลบต่างๆที่มีต่อการตัดสินใจในการใช้จ่ายบัตรเครดิตในขณะนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างได้ให้ความสำคัญแต่ละปัจจัยในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยอันดับแรกที่ผู้ใช้บัตรเครดิตได้ให้ความสำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ (25.80%) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ยังทำให้ผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตส่วนใหญ่มีการวางแผนก่อนการใช้บัตรเครดิต (คิดเป็น 65 %) ซึ่งจะเห็นได้จากประเภทของสินค้าที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดสินค้าที่มีความจำเป็นน้อยในชีวิตประจำวัน ซึ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสินค้าเครื่องแต่งกาย ค่าใช้จ่าย ด้านท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายด้านบันเทิงและสันทนาการ เป็นต้น ปัจจัยลบที่มีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มตัวอย่างรองลงมา คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น (23.33%) ทั้งนี้การปรับตัวของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 50% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าและบริการ ทำให้ราคาสินค้าในหลายประเภทมีการปรับตัวสูงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ในอันดับถัดๆไป ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ ที่ส่งผลให้อำนาจในการซื้อของผู้บริโภคลดลง อันเนื่องมาจากสินค้ามีราคาแพงขึ้น อีกทั้งปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีการปรับตัวมาอยู่ในระดับสูง และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้

2. สิทธิประโยชน์จากบัตรอิทธิพลต่อการเลือกใช้บัตรเครดิต

จากการสำรวจพบว่าผู้ถือบัตรเครดิตมีจำนวนการถือบัตรเครดิตตั้งแต่ 1-8 ใบ ทั้งนี้เมื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยพบว่า จำนวนบัตรเครดิตเฉลี่ยที่ถือต่อคนอยู่ที่ประมาณ 3 ใบ ซึ่งสาเหตุของการทำบัตรเครดิตหลายใบนั้น พบว่า เป็นการมุ่งหวังที่จะใช้สิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิต เช่น การได้รับส่วนลดในการซื้อสินค้าหรือบริการ และการสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัล ซึ่งคิดเป็น 33.7% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการถือบัตรเครดิตหลายใบดังกล่าวของกลุ่มตัวอย่างสะท้อนถึงความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดที่เข้มข้นของผู้ออกบัตรที่ได้ใช้ของรางวัลและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบัตรเครดิตมาจูงใจให้มีผู้สมัครเข้ามาถือบัตรของตน นอกจากนี้สาเหตุรองลงมาของการสมัครบัตรเครดิตหลายบัตร คือ สมัครเผื่อไว้ยามฉุกเฉิน (คิดเป็น 26.3%)

นอกจากสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตและการเผื่อไว้ยามฉุกเฉินแล้ว ยังพบว่า ผู้ที่ถือบัตรเครดิตหลายใบส่วนหนึ่ง (14.6%) ถือบัตรเพื่อต้องการนำไปหมุนเงิน เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น โดยในจำนวนของผู้ที่ทำบัตรเครดิตเพื่อหมุนเงินนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 15,000-25,000 บาท ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจจะส่งผลกระทบถึงความสามารถในการผ่อนชำระบัตรเครดิตและระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินได้

นอกจากนี้การที่ผู้ถือบัตรเครดิตหลายใบนั้น ไม่จำเป็นว่าผู้ถือบัตรเครดิตจะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้นทุกใบ โดยผู้ใช้บัตรส่วนใหญ่จะมีการใช้จ่ายผ่านบัตรหลัก 1 ใบ (คิดเป็น 47.6%) และใช้จ่ายผ่านบัตรหลัก 2 ใบ (คิดเป็น 36.7%) ในขณะที่บัตรเครดิตที่ถูกเลือกใช้เป็นประจำนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากความหลากหลายของของรางวัลและคะแนนสะสมไม่สูงมากนักที่จะแลกของรางวัล (คิดเป็น30.1%) ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด รองลงมา คือ การให้สิทธิประโยชน์มากกว่าบัตรอื่น (คิดเป็น 29.7%) และมีจำนวนร้านที่รับบัตรเครดิตนั้นมีมากกว่าบัตรอื่น (คิดเป็น 15.0%) นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่ใช้บัตรเครดิตในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวผู้ถือบัตรเครดิตส่วนหนึ่งเปลี่ยนมาชำระสินค้าด้วยบัตรเครดิตแทนการชำระด้วยเงินสด (คิดเป็น 25.6%) เนื่องจากจะได้รับส่วนลดพิเศษและของรางวัลที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตได้ทำไว้กับทางร้านค้าและสถานบริการต่างๆ โดยเฉพาะจากการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้ประกอบการบัตรเครดิตในการร่วมกันทำการตลาดกับพันธมิตรในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆจากบัตรเครดิตมากขึ้น

3. การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นผลจากการที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

จากการสอบถามถึงปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่อเดือน (ทุกใบที่มีรวมกัน) โดยส่วนใหญ่แล้วมีจำนวนการใช้โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 39.9% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด รองลงมา คือ จำนวนการใช้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 10,001-15,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 20.1% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ทั้งนี้ทัศนคติของผู้ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตส่วนหนึ่ง เห็นว่าบัตรเครดิตมีความสะดวกสบายสามารถพกพาแทนเงินสดและยังให้สิทธิประโยชน์ต่างๆด้วย

นอกจากนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ผู้ถือบัตรเครดิตมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น คิดเป็น 59.1% ในขณะนี้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง คิดเป็น 22.4% และมีการใช้จ่ายเท่าเดิม คิดเป็น 17.6% โดยสาเหตุที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้ามีราคาแพงขึ้น (คิดเป็น 40%) และมีร้านค้าและสถานที่บริการที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น (คิดเป็น 25%) ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วผู้ถือบัตรเครดิตส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นระหว่าง 5-10% ซึ่งการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้น น่าจะเป็นผลสะท้อนจากการที่สินค้าอุปโภคและบริโภคและราคาน้ำมันที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประเภทของสินค้าที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านสินค้าอุปโภคและบริโภค ค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมัน และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ตามลำดับ

4. ผู้ถือบัตรเครดิตส่วนใหญ่ไม่นิยมเบิกเงินสดล่วงหน้า

แม้ว่าบัตรเครดิตจะสามารถใช้เบิกเงินสดล่วงหน้าได้แต่จากการสำรวจพบว่า ผู้ถือบัตรเครดิตส่วนใหญ่ถึง 69.1% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ไม่เคยใช้บริการดังกล่าว ทั้งนี้การเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตนั้นยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากผู้ใช้บัตรเครดิตส่วนใหญ่นั้นคิดว่าไม่มีความจำเป็นในการเบิกเงินสดล่วงหน้ามาใช้ (คิดเป็น 55.3%) ไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียม (คิดเป็น 23.9%) และไม่อยากเสียดอกเบี้ย (คิดเป็น 20.5%)

สำหรับผู้ที่ใช้บริการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตมีอยู่ 30.9% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ซึ่งสาเหตุของการเบิกเงินสดล่วงหน้า โดยส่วนใหญ่มาจากมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย ค่าเรียน เป็นต้น (คิดเป็น 52.5%) นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ใช้บัตรเครดิตเบิกเงินสดล่วงหน้าเพื่อนำไปชำระบัตรอื่น (คิดเป็น 10%) ถึงแม้ว่าจะมีเพียงแค่ 10% ของกลุ่มตัวอย่าง แต่พฤติกรรมนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการมีบัตรเครดิตหลายใบ เนื่องจากพฤติกรรมหมุนเงินของผู้ถือบัตรอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบสินเชื่อจะไม่ปรากฏในทันที ตราบใดที่ยังสามารถหมุนเงินเพื่อมาชำระขั้นต่ำของยอดคงค้างได้ แต่จะเริ่มเห็นเมื่อปัญหามีความรุนแรงแล้ว นั่นหมายถึง เมื่อผู้ถือบัตรไม่สามารถหมุนเงินต่อไปได้ความเสี่ยงต่อระบบสินเชื่อก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

5. ผู้ใช้บัตรเครดิตส่วนใหญ่มีการชำระยอดค้างบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน

โดยส่วนใหญ่ผู้ถือบัตรเครดิตจะมีการชำระยอดค้างบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน ซึ่งคิดเป็น 50.5% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการใช้บัตรของผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานของการใช้บัตรเครดิตเพื่อชำระสินค้าแทนเงินสดมากกว่าการค้างชำระต่อสถาบันการเงิน ซึ่งนับได้ว่าความเสี่ยงของปัญหาคุณภาพสินเชื่อบัตรเครดิตจึงน่าที่จะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ รองลงมา คือ ชำระขั้นต่ำ 10% แต่ไม่เกิน 50% ของยอดค้างชำระ (คิดเป็น 17.7%) และชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดค้างชำระ (คิดเป็น 13.3%)

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจถึงพฤติกรรมการชำระบัตรเครดิตเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พบว่า 30.13% ของกลุ่มตัวอย่าง มีการเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระยอดคงค้างบัตรเครดิต จากที่เคยชำระแบบเต็มจำนวนของยอดคงค้างบัตรเครดิตมาเป็นแบ่งชำระเป็นรายเดือน ทั้งนี้สาเหตุหลักของการที่ไม่ชำระยอดคงค้างบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวนนั้น เพราะว่า ผู้ถือบัตรเครดิตมีความจำเป็นในการใช้จ่ายอย่างอื่น (คิดเป็น 34.1%) รองลงมา คือ ผู้ถือบัตรเครดิตไม่อยากจ่ายเงินก้อน (คิดเป็น28.3%) และยอมรับอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ได้ (คิดเป็น 18%) ซึ่งพฤติกรรมการชำระบัตรที่หันมาแบ่งจ่ายเป็นรายเดือนมากขึ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้และอีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความคุ้นเคยในการใช้บัตรเครดิตมากขึ้นของลูกค้า

6. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

จากการที่มีกระแสข่าวว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต อันเนื่องมาจากปัจจัยเรื่องต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร และต้นทุนการตลาดของบัตรเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และในขณะเดียวกันการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตยังจะเป็นการช่วยชดเชยกับความเสี่ยงธนาคารที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจถึง การปรับตัวของผู้ใช้บัตรเครดิตหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 49.5% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มองว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทั้งนี้การปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในขณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของผู้ประกอบการได้ เนื่องจากในขณะนี้ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อปัจจัยลบต่างๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเครดิต อีกทั้งผลสำรวจยังพบว่า ผู้ที่ถือบัตรเครดิตหลายบัตรมีความคิดที่จะปิดบัตรเครดิตที่มีอยู่จำนวนมากให้เหลือเท่าที่จำเป็นหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต (คิดเป็น 19.7%) ทั้งนี้ผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรมีความกังวลว่าหากมีการใช้บัตรเครดิตหลายบัตรอาจเกิดปัญหาในการผ่อนชำระยอดคงค้างบัตรเครดิตได้ในภายหลัง

สรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบัตรเครดิตจะยังคงมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นต่อไป ทั้งนี้แนวโน้มการทำการตลาดในขณะนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการยังคงเน้นการส่งเสริมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจส่งผลทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย ทั้งนี้กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการจะมีการใช้ในการแข่งขันมากที่สุดในขณะนี้ คือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตให้ตรงกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและเป็นค่าใช้จ่ายที่ทุกคนต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น โดยเน้นการออกแคมเปญที่แตกต่างกันไปเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างกลุ่มกันให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงผู้บริโภค และตอบสนองพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) คงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำกลยุทธ์การ Cross Sell เพื่อเป็นการเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการลูกค้าในกลุ่มต่างๆ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเงินที่อำนวยความสะดวกได้อย่างครบวงจร เป็นต้น

นอกจากนี้ การบริหารความเสี่ยงธุรกิจบัตรเครดิตก็จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในส่วนของการติดตามพฤติกรรมการผิดนัดชำระยอดคงค้างบัตรเครดิต ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาระดับคุณภาพของระบบสินเชื่อบัตรเครดิตของผู้ประกอบการ ก่อนที่สินเชื่อบัตรเครดิตจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้