ธุรกิจไทย – ฮ่องกง ปี 2551 … จับตาการลงทุนและการท่องเที่ยว

ที่ผ่านมา ฮ่องกงถือเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าในปี 2549 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของฮ่องกงจะอยู่ในอันดับที่ 38 ของโลก แต่รายได้ต่อหัวของประชากรฮ่องกงก็สูงถึง 38,127 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ในช่วงปี 2547-2549 จีดีพีของฮ่องกงมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.5, 7.1 และ 6.8 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าแนวโน้มการขยายตัวในระยะหลายปีที่ผ่านมา ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2550 จีดีพีของฮ่องกงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 6.1 เฉพาะในไตรมาส 2 จีดีพีของฮ่องกงขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.6 อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 3 ปี 2550 จีดีพีของฮ่องกงขยายตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 6.2 เนื่องจากการลงทุนมีการขยายตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.0 จากเดิมที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.0 ในไตรมาสก่อนหน้า คาดว่าในปี 2550 จีดีพีของฮ่องกงจะสามารถรักษาระดับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 6.1

ปัจจุบันเศรษฐกิจของฮ่องกงยังต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอยู่ค่อนข้างมาก ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงถึงร้อยละ 340 ของจีดีพี สินค้านำเข้าและส่งออกของฮ่องกงไม่น้อยกว่าร้อย 30 เป็นสินค้าที่ค้าระหว่างจีนและประเทศที่สาม โดยอาศัยฮ่องกงเป็นช่องทางผ่านด่านสินค้า ดังนั้นเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะยังขยายตัวต่อเนื่องในปี 2551 จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยเกื้อหนุนการส่งออกจากไทยไปฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 คาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะยังเผชิญกับความเสี่ยงนานัปการจากปัจจัยภายนอก อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฮ่องกง ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพของสหรัฐฯ ปัญหาความผันผวนของตลาดหุ้นและการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐ รวมถึงการที่รัฐบาลจีนมีการดำเนินนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศลดการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกง ทำให้คาดว่าจีดีพีของฮ่องกงในปี 2551 อาจขยายตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.0 จาก 6.1 ในปี 2550 นี้ ปัจจัยด้านลบเหล่านี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไปฮ่องกงในปี 2551 และการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงอีกด้วย

อัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญฮ่องกง

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เงินเหรียญสหรัฐมีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ทำให้ในช่วงเดือน ม.ค. 2549 – พ.ย. 2550 เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐถึงร้อยละ 14.5 ในทางกลับกัน เงินเหรียญฮ่องกงกลับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐร้อยละ 0.4 เนื่องจากทางการฮ่องกงได้ดำเนินนโยบายการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญฮ่องกงกับเงินเหรียญสหรัฐเพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการค้าระหว่างประเทศ และในเดือน พ.ย. 2550 อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินเหรียญฮ่องกงอยู่ที่ 7.79 เหรียญฮ่องกง / เหรียญสหรัฐ เห็นได้ว่าในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนการส่งออกของไทยในรูปของเงินเหรียญสหรัฐได้เพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมากในขณะที่ต้นทุนการส่งออกของฮ่องกงในรูปของเงินเหรียญสหรัฐยังอยู่ในภาวะทรงตัว ซึ่งส่งผลให้ฮ่องกงได้เปรียบไทยในด้านของต้นทุนการส่งออกไปยังประเทศที่สาม

อย่างไรก็ตามทางการฮ่องกงก็ได้ตระหนักถึงปัญหาจากการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญฮ่องกงกับเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจำพวกน้ำมันดิบและอาหาร ในส่วนของอาหาร ปัจจุบัน 1/3 ของอาหารที่ฮ่องกงบริโภคเป็นสินค้าที่นำเข้าจากจีน การอ่อนค่าลงของเงินเหรียญฮ่องกงสวนทางกับแข็งค่าของเงินหยวนจีนได้เพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของฮ่องกง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าทางการฮ่องกงอาจพิจารณาผ่อนปรนระบบการตรึงอัตราแลกเปลี่ยน โดยเปิดให้เงินเหรียญฮ่องกงมีการเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้นจากเดิมที่เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 7.75-7.85 เหรียญฮ่องกงต่อเหรียญสหรัฐฯ ส่วนในระยะยาว ยังมีความเป็นไปได้ว่าทางการฮ่องกงอาจหันมาใช้ระบบตะกร้าเงินที่อิงกับเงินสกุลอื่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสกุลเงินหยวนของจีน นอกจากนี้ทางการฮ่องกงยังอาจพิจารณาทางเลือกอื่นเช่นการปล่อยลอยตัวค่าเงินแบบมีการจัดการหรือ Managed Float ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้ออันเนื่องมาต้นทุนนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ประเด็นการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญฮ่องกงจะเป็นประเด็นสำคัญที่ยังคงต้องติดตามต่อไป

การผงาดขึ้นของเศรษฐกิจจีนและความท้าทายต่อฮ่องกง

หลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงสามารถเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ฮ่องกงก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากจีนซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ในอดีตจวบจนปัจจุบันฮ่องกงเป็นเมืองท่าทางธุรกิจที่สำคัญของโลก และเป็นประตูทางการค้าที่เชื่อมต่อระหว่างจีนกับต่างประเทศ เช่นมีการนำเข้าสินค้าที่ผลิตไปจีนเพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สาม หรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อส่งต่อไปยังจีนผ่านฮ่องกง เป็นต้น อย่างไรก็ตามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก รัฐบาลจีนได้มีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น โดยจีนเองก็ได้มีการพัฒนาเมืองท่าหลายๆแห่ง อาทิ เซี่ยงไฮ้ ต้าเหลียน กวางเจา ฯลฯ เมืองท่าเหล่านี้นับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น กอปรกับกฎระเบียบทางการค้าที่เอื้ออำนวยต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างจีนกับประเทศที่สามโดยตรง ทำให้ฮ่องกงในฐานะเมืองที่เคยเป็นจุดผ่านของสินค้าระหว่างจีนกับประเทศที่สามเริ่มลดความสำคัญลงไป นอกจากนี้ ฮ่องกงในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากจีนเช่นกัน อาทิ มหานครเซี่ยงไฮ้ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของจีน และกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก

รัฐบาลฮ่องกงก็ได้เล็งเห็นถึงการแข่งขันจากจีน และได้เร่งวางกลยุทธ์ให้ฮ่องกงสามารถแข่งขันกับจีนได้มากขึ้น โดยเน้นเพิ่มบทบาทของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของจีนตอนใต้ รวมถึงการเป็นผู้ให้บริการและที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการจีนและผู้ประกอบการชาติอื่นที่ต้องการขยายตลาดเข้าสู่ประเทศจีน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้วางแผนยกระดับฮ่องกงให้เป็นผู้ให้บริการและที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก โดยอาศัยความได้เปรียบของระบบการค้าการลงทุน รวมถึงตัวบทกฎหมายทางการค้าและธุรกิจที่มีความโปร่งใสมากกว่าจีน

แม้ว่าฮ่องกงยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากจีนที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีการค้าโลก แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าฮ่องกงจะยังมีบทบาทสำคัญในฐานะประตูการค้า(Gateway) ระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เนื่องจากฮ่องกงก็มีความได้เปรียบในด้านของระบบตลาดเสรีที่มีการพัฒนามาก่อนจีน รวมถึงระบบการเงินที่มีเสถียรภาพและเป็นสากล อีกทั้งยังมีตัวบทกฎหมายทางธุรกิจที่มีความโปร่งใส เป็นต้น จะทำให้ฮ่องกงมีความได้เปรียบเมืองคู่แข่งที่สำคัญ อาทิ เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เสิ่นเจิ้น ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน จีนได้เปิดช่องให้ฮ่องกงมีสิทธิพิเศษทางการค้ากับจีนในด้านต่างๆ โดยการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างฮ่องกง-จีน หรือ Mainland and Hong Kong Closer Economic Partnership Arrangement (CEPA) ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจในอุตสาหกรรมทั้งภาคการค้าและการบริการของฮ่องกง ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจการจัดแสดงสินค้า ธุรกิจธนาคาร การซื้อขายหลักทรัพย์ การท่องเที่ยว ฯลฯ

อนึ่งตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป ฮ่องกงจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการที่จีนได้ขยายการเปิดเสรีภาคสินค้าและบริการภายใต้ข้อตกลงของ CEPA โดยเฉพาะในส่วนของภาคบริการ จีนจะเปิดเสรีภาคบริการให้แก่ฮ่องกงมากขึ้นนอกเหนือจากการให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจขนส่งทางบกและทางอากาศ อาทิธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการวิจัยตลาดและการบริหารจัดการ ธุรกิจทำความสะอาดอาคาร ธุรกิจถ่ายภาพ ธุรกิจการพิมพ์การแปล รวมถึงธุรกิจจัดการสิ่งแวดล้อมและการกีฬา การเปิดเสรีดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ฮ่องกงในฐานะที่มีความเชี่ยวชาญในภาคบริการ และยังช่วยให้ฮ่องกงสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากธุรกิจต่างชาติที่ต้องการเข้าถึงตลาดของจีนอีกด้วย

การค้าระหว่างไทย – ฮ่องกง ปี 2550

แม้ว่าในปี 2550 เงินบาทของไทยจะมีการแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญฮ่องกง แต่การส่งออกของไทยไปฮ่องกงยังคงสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงซึ่งนำโดยการบริโภคภายในประเทศ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี สินค้าที่ไทยสามารถส่งออกไปฮ่องกงคิดเป็นมูลค่ารวม 7,038.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.6 สินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมโดยคิดเป็นร้อยละ 90.8 ในขณะที่สินค้าเกษตรกรรมคิดเป็นร้อยละ 5.2 เท่านั้น สินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญที่มีการส่งออกได้แก่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องประดับอัญมณี ด้วยมูลค่าการส่งออก 2,815.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 713.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.3 และ 121.5

ด้านการนำเข้า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 ไทยนำเข้าจากฮ่องกงคิดเป็นมูลค่ารวม 1,209.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.7 กลุ่มสินค้าที่ไทยนำเข้าจากฮ่องกงมากที่สุดได้แก่สินค้ากึ่งวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ด้วยมูลค่าการนำเข้า 682.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 21.2 สินค้านำเข้าที่สำคัญในกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ด้วยมูลค่าการนำเข้า 215.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.4

สำหรับแนวโน้มการนำเข้าและส่งออกในปี 2551 ระหว่างไทย – ฮ่องกง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกของไทยไปฮ่องกงอาจชะลอตัวลง จากการคาดการณ์ว่าจีดีพีของฮ่องกงจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนการนำเข้าจากฮ่องกงอาจขยายตัวได้เล็กน้อย เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยจะกระเตื้องขึ้นในปี 2551 หลังมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2550

การลงทุนจากฮ่องกง – โอกาสที่น่าจับตามอง

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจากฮ่องกงได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยค่อนข้างมาก ในปี 2549 โครงการที่มีแหล่งเงินทุนจากฮ่องกงที่ได้รับการอนุมัติจาก BOI มีมูลค่าโครงการรวม 10,031 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 5 รองจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และไต้หวัน นอกจากนี้ในช่วงเดือน ม.ค. – ต.ค. 2550 ไทยก็ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนจากฮ่องกงให้มาลงทุนในไทยได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเงินบาทจะมีการแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญฮ่องกงก็ตาม โดยในช่วงดังกล่าวโครงการลงทุนจากฮ่องกงที่ได้รับการอนุมัติจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 15 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 10,103 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.4 ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับการอนุมัติจำนวนไม่น้อยเป็นโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่นการผลิตสิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี รวมถึงการตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินธุรกิจ ฯลฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการลงทุนจากฮ่องกงในปี 2551 จะยังคงขยายตัวได้ตามภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงและจีน โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ อุตสาหกรรมภาคบริการและภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง – ตลาดที่มีศักยภาพสูง

การท่องเที่ยวก็เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่ไทยจะได้รับประโยชน์เช่นกันจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกง ที่ผ่านมาไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ชาวฮ่องกงนิยมเดินทางมาท่องเที่ยว เฉพาะในปี 2548 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยสูงถึง 438,519 คน จากประชากรทั้งหมด 6.9 ล้านคน และทำให้มีรายได้เข้าประเทศสูงถึง 9.1 พันล้านบาท และในปี 2549 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงที่เดินทางมาไทยในปี 2549 เพิ่มเป็น 463,339 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.66 อย่างไรก็ตามจากตัวเลขเบื้องต้นคาดว่าในปี 2550 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงที่เดินทางมาประเทศไทยอาจจะลดลงจากปีก่อน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในไทยสูงขึ้น ในขณะเดียวกันปัญหาทางการเมืองภายในประเทศก็ทำให้ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยลดน้อยลง

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจากฮ่องกงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง จากสถิติในปี 2548 พบว่านักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายต่อคนต่อวันสูงที่สุดเป็นอันดับที่สามรองจากนักท่องเที่ยวชาวคูเวตและออสเตรีย โดยมีการใช้จ่ายสูงถึง 4,522.24 บาทต่อวัน อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงใช้เวลาในไทยเฉลี่ยเพียง 4.60 วัน / คนเท่านั้น ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวจากประเทศเอเชียตะวันออกอื่นๆ ที่ 5.81 วัน / คน หากไทยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงให้มาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นและนานขึ้น ก็จะสามารถเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น

สรุป

แม้ว่าในปี 2550 เงินบาทของไทยจะมีการแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญฮ่องกง แต่การส่งออกของไทยไปฮ่องกงยังคงสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงซึ่งนำโดยการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรคาดว่าในปี 2551 การส่งออกของไทยไปฮ่องกงอาจชะลอตัวลง จากการคาดการณ์ว่าจีดีพีของฮ่องกงอาจขยายตัวลดลงจากร้อยละ 6.1 ในปี 2550 เหลือเพียงร้อยละ 5.0 ในปี 2551 นี้ อย่างไรก็ตามธุรกิจการค้าระหว่างไทย-ฮ่องกงยังมีโอกาสขยายตัวได้ในด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศควรให้ความสำคัญกับโอกาสทางธุรกิจระหว่างไทย-ฮ่องกงอย่างเร่งด่วน

ในด้านการลงทุน ในปี 2551 ฮ่องกงยังเป็นเศรษฐกิจที่ไทยควรให้ความสำคัญ ถึงแม้ว่าจีดีพีของฮ่องกงจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่ก็ยังเป็นอัตราการขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการขยายตัวในระยะยาว ส่วนไทยเองก็อาจได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงทั้งในแง่ของการลงทุนที่มีการขยายตัวอย่างอย่างต่อเนื่องในปี 2551 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าภาครัฐควรวางนโยบายที่ชัดเจนในการดึงดูดการลงทุนจากฮ่องกง โดยให้ความสำคัญต่อโครงการในภาคบริการให้มากขึ้น และเร่งประชาสัมพันธ์โอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงอุตสาหกรรมภาคการบริการและโลจิสติกส์ซึ่งเป็นธุรกิจที่ฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เพื่อก่อให้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ส่วนในด้านการท่องเที่ยว แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศจะลดลงในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2550 แต่คาดว่าเสถียรภาพทางการเมืองหลังมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2550 จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงเพิ่มมากขึ้นในปี 2551 อนึ่งนักท่องเที่ยวจากฮ่องกงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง จากสถิติในปี 2548 พบว่านักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายต่อคนต่อวันสูง แม้ว่าช่วงระยะเวลาที่นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงพำนักอยู่ในประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกอื่นๆ แต่หากไทยสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นและนานขึ้น ก็จะสามารถเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้เอง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าภาครัฐควรวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ และเร่งจัดกิจกรรมและนิทรรศการการท่องเที่ยวเพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศให้ชาวฮ่องกงได้รู้จัก รวมถึงการเร่งศึกษาและพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยนัก เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงใช้เวลาในประเทศไทยให้ยาวนานยิ่งขึ้น อันจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆได้มากยิ่งขึ้น

อนึ่ง การวางแผนกระตุ้นการลงทุนและการท่องเที่ยวจากฮ่องกงควรจะเปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและปฏิบัติให้เกิดเป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป ควรตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนดังกล่าวสำหรับระยะยาว เพื่อเกื้อหนุนให้การค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทย – ฮ่องกงสามารถขยายตัวอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต