จับตา ‘คลัสเตอร์โรงงาน’ หากคุมไม่อยู่ โควิดลุกลาม-ยืดเยื้อ ฉุด ‘ส่งออก’ เสียหาย 1.9 แสนล้าน

โจทย์ใหญ่ ‘คลัสเตอร์โรงงานหากคุมไม่อยู่ โควิดลุกลามยืดเยื้อ เสี่ยงกระทบภาคส่งออกตัวหลักฟื้นเศรษฐกิจไทยต้องสะดุด เสียหายถึง 1.9 แสนล้านบาท ฉุดการเติบโตต่ำกว่า 7%  ชะลอดีมานด์ตลาดอาเซียน เเนะรัฐเร่งทำ Bubble and Sealed ฉีดวัคซีนให้แรงงานภาคการผลิตโดยเร็ว 

ข้อมูลล่าสุดจาก Thai Stop Covid โดยกรมอนามัย ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 มีโรงงานผลิตที่ต้องเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อโควิดแล้วมากถึง 1,607 โรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 67% ซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก มีทั้งโรงงานผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศและป้อนตลาดต่างประเทศ 

คลัสเตอร์โรงงาน จึงเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ นอกเหนือไปจากแคมป์ก่อสร้าง

โรงงานส่วนใหญ่ที่พบปัญหาการติดเชื้อจะอยู่ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยางพาราและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

โดยประเทศไทยมีโรงงานใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้มากถึง 11,637 แห่ง มีแรงงาน 1.96 ล้านคน และมีมูลค่าตลาดต่อปีเท่ากับ 8.87 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนส่งออกกว่า 57% และจากการที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก เมื่อมีผู้ติดเชื้อจึงมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้มาตรการปิดโรงงานหยุดกระบวนการผลิตชั่วคราวได้ 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า หากมีการปิดคลัสเตอร์โรงงาน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อควบคุมการระบาด จะก่อให้เกิดการสูญเสียมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของมูลค่าตลาด 

สำหรับอุปทานสินค้าป้อนตลาดจากโรงงานในอุตสาหกรรมอาหารยานยนต์ ยางพาราและพลาสติก จะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานเร็วที่สุด เพราะมีสินค้าคงคลังน้อยกว่าช่วงปกติ

ดังนั้น หากไม่สามารถควบคุมการระบาดคลัสเตอร์โรงงานได้ ภาครัฐต้องมีการล็อกดาวน์โรงงานเพิ่มขึ้น หรือขยายระยะเวลาปิดโรงงานออกไป คาดว่าจะทำให้ปัญหา Supply Disruption ชัดเจนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการฟื้นเศรษฐกิจครั้งนี้ 

นอกจากสินค้าส่งออกทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเเล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจอาเซียนได้รับผลกระทบจากการเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อโควิดใหม่เพิ่มสูงขึ้นมากขึ้น โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

การส่งออกใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกไปตลาดอาเซียน ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท

เเนะทำ ‘Bubble and Sealed’ ในโรงงาน เร่งฉีดวัคซีน สกัดความเสียหาย 

เมื่อพิจารณาประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐฯ จีน และยุโรป ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกไปตลาดคู่ค้าหลักในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึง 23.4% และมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง

เหล่านี้ จะช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวลงของตลาดอาเซียนที่ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 11.2% ส่งผลให้การส่งออกรวม 5 กลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ประกอบกับ หากสามารถเร่งหยุดยั้งการระบาดของคลัสเตอร์โรงงานได้เร็ว จะหนุนให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยทั้งปี 2564 ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ 9.4% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน

เเต่หากไม่สามารถควบคุมคลัสเตอร์โรงงานได้ ทำให้กระบวนการผลิตหยุดไปอีก 2 สัปดาห์ จะเกิดความเสียหาย 1.9 แสนล้านบาท เป็นปัจจัยฉุดการส่งออกทั้งปีโตได้เพียง 6.8%

ttb analytics เเนะว่า เพื่อลดการระบาดและลุกลามของคลัสเตอร์โรงงาน รัฐต้องมีกระบวนการเร่งตรวจหาและคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากโรงงาน เเละการทำ Bubble and Sealed เพื่อควบคุมดูแลรักษาผู้ติดเชื้อในโรงงานไม่ให้แพร่กระจายออกไป

ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานภาคการผลิตที่มีจำนวนมาก ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือดำเนินการ เพื่อให้ภาคการผลิตและส่งออกของไทยยังรักษาอัตราการเติบโตได้ต่อเนื่อง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว