SCB เปิด ‘PayZave’ ทลายกำแพงเครดิตเทอม ช่วยรายย่อยหมุน “กระแสเงินสด” ฝ่าวิกฤต

SCB และ ดิจิทัล เวนเจอร์ส เปิดแพลตฟอร์มใหม่ ‘PayZave’ ตัวเชื่อมระหว่างซัพพลายเออร์กับบายเยอร์ต่อรอง “ส่วนลด” แลกกับการทลายเครดิตเทอม ให้ซัพพลายเออร์ “รายย่อย” ได้รับชำระทันที เป็น “กระแสเงินสด” เสริมสภาพคล่อง ลดการกู้นอกระบบ แก้ปัญหาเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ยาก

“ธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ “อรพงศ์ เทียนเงิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (DV) ร่วมเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ “PayZave” หวังแก้ปัญหารายย่อยขาดสภาพคล่อง

ธนวัฒน์อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก่อนว่า ปกติแล้วรายใหญ่ซึ่งเป็น “บายเยอร์” มักจะมี “ซัพพลายเออร์” รายย่อยหลายรายที่เป็นคู่ค้ากัน ซึ่งการซื้อขายนั้นรายย่อยมักจะต้องรอเครดิตเทอมหลังวางบิลประมาณ 45-60 วัน แต่ในภาวะวิกฤตนี้ หลายรายมีรายได้ลดลง การรอเครดิตเทอมทำให้กระแสเงินสดขาดสภาพคล่อง จนบางรายต้องปิดกิจการไปแล้ว

(Photo : Shutterstock)

แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายซอฟต์โลนเพื่อแบ่งเบาภาระ แต่รายย่อยจำนวนมากเข้าถึงสินเชื่อธนาคารยากอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต โดยอรพงศ์แจกแจงให้เห็นภาพว่า แหล่งเงินทุนของรายย่อยกรณีสามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ ดอกเบี้ยยังสูงถึง 10-20% หรือถ้าใช้แหล่งเงินกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยอาจสูงถึง 30-60%

“ธนาคารจริงๆ แล้วไม่ได้รู้จักผู้ประกอบการดี เพราะธนาคารดูเฉพาะบัญชีการเงินเป็นหลัก ทำให้มองว่า SMEs ไม่แข็งแรง” อรพงศ์กล่าว “แต่คนที่รู้จักซัพพลายเออร์รายย่อยดีที่สุดก็คือบายเยอร์ต่างหาก”

 

บายเยอร์ได้ลด ซัพพลายเออร์ได้เติมสภาพคล่อง

เมื่อเป็นเช่นนี้ SCB และ DV จึงหาโซลูชันที่จะช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยออกแบบเป็นแพลตฟอร์ม PayZave ให้บายเยอร์ตั้งเรื่อง “ขอส่วนลด” แลกกับการ “ชำระเงินให้ทันที” ซัพพลายเออร์จะได้เงินเลย ไม่ต้องรอครบกำหนดชำระ

“ยกตัวอย่างเช่น ผมเป็นโรงพิมพ์แห่งหนึ่งที่ต้องจัดซื้อกระดาษเข้ามา หลังซัพพลายเออร์วางบิล ผมสามารถกดขอส่วนลด 5% จากบิลนั้น แลกกับการชำระเงินให้ซัพพลายเออร์ทันที หากซัพพลายเออร์กดยอมรับดีล ซัพพลายเออร์จะได้เงินเลย ไม่ต้องรออีก 30 วันหรือเวลาตามเครดิตเทอม” อรพงศ์กล่าว โดยเป็นระบบ ‘วิน-วิน’ บายเยอร์ได้ลดต้นทุน และซัพพลายเออร์ได้กระแสเงินสดไปหมุนเวียน

อรพงศ์ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้รายย่อยอยู่ในภาวะลำบาก ขณะที่รายใหญ่หรือฝั่งบายเยอร์ที่จริงแล้วมีสภาพคล่องเหลือ สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ และเชื่อว่าหลายๆ รายต้องการช่วยให้ซัพพลายเชนอยู่ได้ คนในอุตสาหกรรมไม่ล้มไปตามๆ กัน

ทั้งนี้ ถ้าหากบายเยอร์ไม่ใช้กระแสเงินสดของตัวเอง ต้องการจะเปิดวงเงินสินเชื่อ OD เพื่อจ่ายให้ซัพพลายเออร์ผ่าน Payzave ก็สามารถทำได้ โดย SCB จะให้วงเงิน OD ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ

 

ตั้งเป้า 80,000 รายเข้าระบบในสิ้นปี

ธนวัฒน์กล่าวว่า หลังเปิดตัว 1 เดือน ปัจจุบัน PayZave มีผู้ใช้งานฝั่งบายเยอร์แล้ว 50 ราย และฝั่งซัพพลายเออร์ 5,000 ราย มุ่งเป้าสิ้นปีนี้จะมีซัพพลายเออร์เข้าระบบ 80,000 ราย โดยเน้นหนักการเชิญบายเยอร์รายใหญ่ เพราะจะทำให้มีซัพพลายเออร์ตามเข้ามาอัตโนมัติ ส่วนวงเงิน OD ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เพราะเฟสแรกเน้นบายเยอร์ที่มีกระแสเงินสดของตัวเองมากกว่า

ด้านผู้ใช้จริง 2 รายให้ความเห็นว่าการใช้งาน PayZave ว่าช่วยซัพพลายเออร์ได้มาก “สุภาพ จรัลพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัด ซึ่งเป็นต้นธารไอเดียการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ด้วย เปิดเผยว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างของเขามีซัพพลายเออร์รายย่อยหลักพันราย ขณะนี้เข้ามาใช้ PayZave กันแล้วประมาณ 100 ราย

(จากซ้ายบน วนตามเข็มนาฬิกา) “ธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), “อรพงศ์ เทียนเงิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (DV), “วาริช ภูสนาคม” กรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด และ “สุภาพ จรัลพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัด

สุภาพมองว่าการให้ส่วนลดเพื่อรับชำระเงินทันที ทำให้ SMEs อยู่รอดกันได้ เพราะวิกฤตนี้สภาพคล่องสำคัญที่สุด ส่วนรายใหญ่ได้ประโยชน์อย่างไร อาจมองได้หลายมุม บางบริษัทเพียงต้องการช่วยคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรืออาจจะมองว่าช่วยลดต้นทุนให้ตนเองด้วยก็ได้

ด้าน “วาริช ภูสนาคม” กรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด กล่าวว่าบริษัทมีซัพพลายเออร์ประมาณ 1,000 ราย และมีรายย่อยจำนวนมาก บางบริษัทเป็นหน้าใหม่แล้วต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจทันที ทำให้ Payzave ช่วยได้ในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อธนาคาร

อรพงศ์ระบุว่า แพลตฟอร์มจะให้ใช้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายไปจนถึง 31 ธ.ค. 2564 เพื่อช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤต ส่วนหลังจากนั้น DV จะมีการเก็บค่าธรรมเนียม แต่จะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับดาต้าและสถานการณ์ในช่วงนั้นอีกครั้งหนึ่ง