“ญี่ปุ่น” เปิดสถิติปี 2023 ส่งออก “โชยุ” กว่า หมื่นล้านเยน ส่งไป “สหรัฐอเมริกา” มากสุด
หากใครเป็นสายกินอาจจะรู้ว่า “วาโชกุ” คืออาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ที่มีการใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลอย่างชำนาญ และได้รับการยอมรับจาก UNESCO ในปี 2013 ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอีกด้วย
อานิสงส์เทรนด์อาหารแบบวาโชกุได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ “ซีอิ๋ว” หรือ “โชยุ” (Shoyu) (ซอสถั่วเหลือง) ของญี่ปุ่นมีอัตราการส่งออกที่เติบโตขึ้นเช่นกัน โดยข้อมูลของศุลกากรโตเกียว รายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม มีตัวเลขการส่งออกโชยุเกิน 6.85 พันล้านเยน เนื่องจากความนิยมของวาโชกุยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระแสการจดทะเบียนฯยูเนสโก
นอกจากนั้นข้อมูลศุลกากรโตเกียวยังเผยว่า ในปี 2023 การส่งออกโชยุเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านเยน นับเป็นครั้งแรกที่มีการส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์เทียบเท่ากับในปี 1988 ซึ่งสมาคมโชยุญี่ปุ่นได้ระบุเพิ่มเติมว่า จํานวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกโชยุเพิ่มขึ้นเช่นกัน
สหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดส่งออกโชยุอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น โดยมูลค่าส่งออกในปี 2023 คิดเป็น 17.9% ของการส่งออกโชยุทั้งหมด ตามด้วยส่งออกไปจีน 8.2% และเกาหลีใต้ 7.0%
ผู้ผลิตโชยุรายใหญ่ของญี่ปุ่น อย่าง Kikkoman Corp. กล่าวว่า โชยุส่วนใหญ่ทํามาจากถั่วเหลือง ข้าวสาลี และเกลือ และใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมในสมัยเอโดะ (1603-1867) ที่มีความซับซ้อน ทำให้โชยุมีหลากหลายประเภทขึ้น โดยหลักๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด คือ โชยุอุสุคุจิ โชยุชนิดอ่อน , โชยุทามาริ (เข้มข้นกว่าโคอิคุจิ) ,โชยุชิโระ (ชนิดอ่อน มีรสหวานที่สุด) , โชยุไซชิโคมิ ที่เป็นการหมักซ้ำกันสองครั้ง และ โชยุโคอิคุจิ ที่มีความเข้มข้น เป็นชนิดที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายที่สุด โดยคิดเป็น 84.9% ของการส่งออกโชยุทั้งหมดในปี 2022 และ 2023
ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกโชยุของญี่ปุ่นมีมากถึง 26,542 กิโลลิตรใน 7 เดือนแรกของปี 2024 แซงหน้าอัตราการส่งออกสูงสุดในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2022 และปริมาณการส่งออกในปี 2023 อยู่ที่ 41,114 กิโลลิตร
ที่มา : Japan Today