สตาร์บัคส์ รุกตลาดขายซีดี

ซีแอตเติล ผู้บุกเบิกในฐานะแฟรนไชส์กาแฟรสดีใกล้บ้านแห่งแรก มีสาขาไปทั่วอเมริกา และทั่วโลก ตอนนี้สตาร์บัคส์หันมาสนใจขยายธุรกิจเพลง โดยเริ่มทำซีดีออกจำหน่ายในนามสังกัดของตัวเองด้วย หลังจากที่ซื้อค่าย hearmusic มาในปี 1999 และเริ่มต้นในการขายเพลงรวมฮิต ซึ่งคัดเลือกมาตีตราสตาร์บัคส์ ซีเลคชั่น และต่อมาขายอัลบั้มใหม่ของศิลปินบางราย โดยรับเป็นตัวแทนจำหน่ายจากต้นสังกัด

ที่ผ่านมาศิลปินที่สตาร์บัคส์นำมาขายนั้น ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ว่าเป็นศิลปินมีคุณภาพ เช่นเดียวกับการเปิดเพลงภายในร้านของสตาร์บัคส์ ซึ่งมีการเลือกสรรเพลงป๊อป และเพลงแจ๊ซ ที่ไม่ใช่เพลงดังในท้องตลาด หรือเพลงที่เปิดมากจนเบื่อตามวิทยุ แต่เป็นเพลงจากศิลปินค่ายเล็ก หรือศิลปินคุณภาพที่ไม่ได้รับกระแสความนิยม

สตาร์บัคส์ยังเปิดบริการใหม่ Self-Service Station หรือตู้บริการอัดเพลงตามใจชอบ โดยเริ่มวางเครื่องไว้ที่สาขาในอเมริกา 45 แห่ง รองรับความต้องการของคนที่ชอบบางเพลง ไม่อยากซื้อทั้งอัลบั้ม และแก้ปัญหาการซื้อเพลงแบบนี้ทางออนไลน์ ที่อาจไม่สามารถอัดเพลงได้เต็มคุณภาพเสียง

ส่วนด้านผลิตภัณฑ์กาแฟ ล่าสุดได้เพิ่มการจำหน่ายกาแฟที่ตั้งชื่อว่า Elephant Kinjia เนื่องจากปลูกในพื้นที่ป่าสงวนที่มีช้างป่ามากมาย an east เขตใกล้ภูเขาไฟ ทางตอนเหนือของประเทศแทนซาเนีย โดยคำว่า Kinjia แปลว่า ทางเดิน ถ้าแปลเป็นไทยจึงเป็น “ทางช้างผ่าน” มีรสชาติอร่อยจากแร่ธาตุในดินภูเขาไฟ และน้ำฝนที่ชุ่มชื่นในป่า

ขณะที่อีกด้านถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเบียดเบียนธุรกิจของร้านกาแฟในท้องถิ่นต่างๆ และนำวัฒนธรรมใหม่เข้าไปแทรกวิถีชีวิตท้องถิ่น แต่สตาร์บัคส์รับความชอบแต่ผู้เดียวที่กระตุ้นให้หลายๆ พื้นที่มีการเปิดร้านกาแฟดี หรือ Gourmet Coffee เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ท้องถิ่นนั้นอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับรสชาติกาแฟเลย และยังเป็นองค์กรธุรกิจที่ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีการมอบรางวัลประจำให้ผู้ปลูกกาแฟที่ดูแลสิ่งแวดล้อม

ที่ประเทศอเมริกา กาแฟสตาร์บัคส์มีราคาต่อแก้วอยู่ในระดับกลาง คือประมาณ 2 ดอลลาร์ ซึ่งไม่แพง แต่เมื่อผันตามค่าเงินต่างๆ แล้ว ในบางท้องที่ถือว่าราคาสูงมาก เช่น ประเทศไทยมีราคาขายกาแฟสตาร์บัคส์ถูกที่สุดในโลก แต่ราคายังสูงเกือบ 2 เท่า ถ้าเทียบกับร้านกาแฟสดของคนไทย

ปัจจุบันสตาร์บัคส์มี 5,945 ร้านในอเมริกา และ 2,392 ร้านทั่วโลก แต่มีแผนจะเปิดเพิ่มเป็นสองเท่า โดยมีการเพิ่มร้านแบบ drive-throughs และ Starbucks kiosk ตามศูนย์การค้า รับกับความต้องการซื้อด่วนของลูกค้าด้วย นอกจากนั้นยังเพิ่มการขายอาหาร และเพิ่มสูตรกาแฟใหม่ๆ