ผ่ายุทธศาสตร์ “BSC”โกอินเตอร์

บนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2005 นอกจากจะได้เห็นความอลังการของชุดประจำชาติของเหล่านางงามทั้ง 81 ประเทศแล้ว ชุดว่ายน้ำจัดเป็นอาภรณ์ประดับกายชิ้นหนึ่งที่เหล่านางงามต้องสวมใส่ขึ้นโชว์สัดส่วนและขาอ่อนบนเวที

ในปีนี้ “BSC” คือยี่ห้อชุดว่ายน้ำ ที่ได้รับคัดเลือกจากกองประกวดมิสยูนิเวิร์สให้ขึ้นไปอยู่บนเรือนร่างอันเซ็กซี่ของนางงามทั้ง 81 ประเทศ

เจ้าของผลงานชุดว่ายน้ำ BSC ที่เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนสรีระนางงามบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ธีรดา อำพันวงษ์ (โชควัฒนา) ทายาทคนที่ 2 ของบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ยักษ์ใหญ่ในวงการสินค้าอุปโภคบริโภค ก่อนหน้าที่เธอจะเข้ามารับช่วงสานงานต่อจากคุณอา คือ บุญเกียรติ โชควัฒนา เข้ามานั่งบริหารงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ BSC บริษัทไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน )

ผลิตภัณฑ์ BSC (Best Selected Collection) สินค้าในหมวดเฮาส์แบรนด์ ของบริษัทไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ฯ ที่วางจุดยืนไว้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าให้เป็นแบรนด์สำหรับสินค้าแฟชั่น ดีไซน์หรู ราคาไม่แพง สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิกฤตเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2540 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายให้คนไทยหันมาใช้สินค้าที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย แทนการเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนมนำเข้าจากต่างประเทศ

สินค้าตัวแรกของ BSC ที่ออกมาเปิดตัวในปี 2540 คือ เสื้อผ้าผู้หญิง ตามมาด้วยกระเป๋า รองเท้า ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักช้อปปิ้งด้วยดี ตัดเย็บออกมาได้อย่างสวยงาม มีดีไซน์ ไม่เชยตกยุคตกสมัย ส่งผล ให้ BSC กวาดยอดขายมาได้ถล่มทลาย

เมื่อยอดขาย BSC เป็นไปตามเป้าหมาย บุณยสิทธิ์จึงตัดสินใจต่อยอดธุรกิจให้ก้าวเดินสูงต่อไปด้วยการส่งลูกสาวคนที่ 2 คือ ธีรดา อำพันวงษ์ (โชควัฒนา) มานั่งเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ BSC เป็นคนแรก ในบริษัทไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน ) เมื่อปี 2541

“ธีรดา” มีดีกรีปริญญาโทด้าน B.S Marketing จากสถาบัน FIT ( Fashion Institute of Technology Campus) จากประเทศสหรัฐอเมริกา และยังมีโอกาสติดสอยห้อยตาม เรียนรู้การทำงานจาก เพ็ญนภา ธนสารศิลป์ กรรมการ บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน ) ออกไปลุยงานตามต่างจังหวัดเพื่อพบปะกับตัวแทนจำหน่ายของบริษัท

ประสบการณ์ทำงาน และการศึกษา เป็นความลงตัวพอดีกับทิศทางของผลิตภัณฑ์ BSC ที่จะต้องเปิดสู่ตลาดแฟชั่นโลกอย่างเต็มตัว หลังจากที่ได้ชิมลางด้วยการส่งเสื้อผ้า, กระเป๋า , รองเท้า ออกไปขายประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า , ลาว , เวียดนาม แต่เป็นลักษณะผลิตตามจำนวนออเดอร์

ภารกิจแรกของธีรดาในการปลุกปั้นสินค้าแฟชั่นอย่าง “BSC” คือ การทำงานร่วมกับทีมงานและดีไซเนอร์ สไตล์ความเป็นแฟชั่น มีคอลเลกชั่นสีสันต่างๆ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค ซึ่งคอลเลกชั่นต่างๆ มาจากการที่เธอเฝ้าติดตามดูข้อมูลข่าวสาร เพื่อเกาะไปกับกระแสแฟชั่นโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี ลวดลายของผ้า เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด

เมื่อเป้าหมายสูงสุดคือ โกอินเตอร์ การเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์ สนับสนุนชุดว่ายน้ำให้กองประกวดมิสยูนิเวิร์ส บนเรือนร่างนางงามกว่า 81 ประเทศ จึงเป็นนับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างแบรนด์ BSC ไปสู่สายตาคนทั่วโลก ผ่านเวทีประกวดระดับนานาชาติแห่งนี้ เพราะหากชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ไม่เพียงแค่ชุดว่ายน้ำ แต่ยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น กระเป๋า, รองเท้า, เสื้อผ้า ที่จะเข้าไปทำตลาดต่างประเทศ

การที่ BSC ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้สนับสนุนชุดว่ายน้ำ ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ในการเป็นผู้ผลิต และจำหน่าย เสื้อผ้า, กระเป๋า, รองเท้า และชุดว่ายน้ำ ให้กับสินค้าดังๆ เช่น Arrow, Lacoste, EllE มายาวนานกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นของตัวเองอย่าง BSC

ที่สำคัญ คือ “ธีรดา” ได้ดึงดีไซเนอร์ชาวอิตาลี Fraco Curini มาเป็นผู้ออกแบบรองเท้าให้กับ BSC ภายใต้คอลเลกชั่น “ BSC By GG Curini

นโยบายในการ “โกอินเตอร์” ที่สำคัญอีกข้อก็คือ การเซ็นสัญญาก่อตั้งโรงเรียนสอนแฟชั่นในเมืองไทยภายใต้ความร่วมมือกับสถาบัน “บุนกะ” โรงเรียนสอนเกี่ยวกับการดีไซน์แฟชั่นจากประเทศญี่ปุ่น เป้าหมายสำคัญ คือ ปั้น “ดีไซเนอร์” ของตนเอง ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญของการเตรียมพร้อมสำหรับการบุกตลาดต่างประเทศ

สถาบันบุนกะ จัดเป็นโรงเรียนสอนแฟชั่นที่มีชื่อเสียงติดอันดับหนึ่งในเอเชีย การันตีความดังด้วยการเปิดสอนอยู่ที่ฮ่องกง , สิงค์โปร์ มาก่อนหน้านี้หลายปี การที่มาเปิดสอนในเมืองไทยเป็นเจตนารมณ์ของบุณยสิทธิ์ที่ต้องการสร้างดีไซเนอร์ใหม่ๆ ให้เข้ามามีส่วนผลักดันสินค้า BSC ให้โกอินเตอร์ได้อย่างสวยงามทั้งในส่วนที่เป็นเสื้อผ้า, รองเท้า , กระเป๋า

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย BSC จะกลายเป็นสินค้าแฟชั่น ที่เข้าไปแขวนราวเคียงคู่กับรองเท้าสุดฮิต แบรนด์ดังของโลกได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ท้าทายสำหรับธีรดา ที่จะต้องหาคำตอบต่อไป

ธีรดา อำพันวงษ์ แม่ทัพนำ BSC สู่เวทีโลก

“ธีรดา อำพันวงษ์” เป็นลูกสาวคนรองของบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ที่ถูกวางตัวให้มาดูแลผลิตภัณฑ์ BSC

หลังจากคว้าปริญญาโทด้าน B.S Marketing จากสถาบัน FIT ( Fashion Institute of Technology Campus) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ธีรดามีโอกาสติดสอยห้อยตามเพื่อเรียนรู้งานจากเพ็ญนภา ธนสารศิลป์ กรรมการ บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน ) ออกไปลุยงานตามต่างจังหวัดเพื่อพบปะกับตัวแทนจำหน่ายของบริษัท เธอทำงานอยู่ที่นี่ 3 ปีครึ่ง จากนั้นจึงไปศึกษาปริญญาโทต่อที่ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนมารับตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ BSC

ธีรดามีพี่และน้องอีก 3 คน พี่ชายของเธอ ธรรมรักษ์ โชควัฒนา ปัจจุบันรับผิดชอบดูแลระบบ Call Center และระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในบริษัทไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ฯ

ธนินธรณ์ โชควัฒนา น้องสาว ที่ตอนนี้กำลังฝึกงานอยู่กับเพ็ญนภา ธนสารศิลป์ และ น้องชายคนเล็ก ธิติภูมิ โชควัฒนา ปัจุบันกำลังศึกษาต่อด้านคอมพิวเตอร์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

บุคลิกส่วนตัวของธีรดา ชอบการทำงานเงียบๆ จนกระทั่งชุดว่ายน้ำ BSC ได้รับเลือกจากกองประกวดมิสยูนิเวิร์ส ทำให้เธอต้องปรากฏตัวต่อสื่อมวลชน ไปพร้อมๆ กับการสร้างแบรนด์ของ BSC ให้เป็นที่รู้จัก

พลิกปูมสถาบัน “บุนกะ”จากญี่ปุ่นถึงไทย

Bunka Fashion College สถาบันออกแบบแฟชั่นชื่อดังของญี่ปุ่น ในเรื่องของการสรรค์สร้างดีไซเนอร์ระดับโลกมากว่า 80 ปี เคยมีผลงานการออกแบบให้กับแบรนด์ดังอย่าง Kenzo Takada, Yohji Yamamoto, Hiroko Koshimo

ในไทย สถาบันบุนกะเปิดโรงเรียนสอนแฟชั่น ในชื่อ “Bunka Fashion Academy“ บริเวณ ชั้น 16 อาคารยูไนเต็ดเซ็นเตอร์ มูลค่าการลงทุน 50 ล้านบาท โดยสหพัฒน์ออกค่าใช้จ่ายเรื่องของสถานที่ ส่วนสถาบันบุนกะป้อนเรื่องของหลักสูตร

อาจารย์ที่สอน จะใช้วิธีส่งไปเรียนรู้ที่สถาบันบุนกะ ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นบินกลับมาสอนจำนวน 4 คน

หลักสูตรที่เปิดสอนในสถาบันนี้จะแบ่งเป็น short course ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ และ full course ใช้เวลา 1 ปี โดย Sunao Onuma ประธาน Bunka Fashion College ประจำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะผลิตดีไซเนอร์ อย่างต่ำไม่เกิน 40 คนต่อรุ่น

รายละเอียดหลักสูตรระยะสั้น ( short course ) แบ่งเป็น 3 หลักสูตร คือ 1.การสร้างแพตเทิรน์เบื้องต้น เช่น การตัดเย็บกระโปรง เสื้อ กางเกง ค่าเรียน 6,000 บาท สำหรับผู้สนใจเรียนรู้พื้นฐานแฟชั่น, 2. การสร้างแพตเทิร์นประยุกต์ เรียนรู้เทคนิคการสร้าง pattern design ค่าเรียน 4,200 บาท และ 3. หลักสูตรเสริมสร้างความรู้แฟชั่น เรียนรู้ศิลปะการตกแต่ง และประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกาย ค่าเรียน 2,400 บาท

หลักสูตร full course ใช้ระยะเวลาการศึกษา 1 ปี เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้า, การสร้างแพตเทิร์น, การออกแบบเสื้อผ้า, การเลือกใช้วัสดุ, การเรียนธุรกิจเกี่ยวกับแฟชั่น, ระบบอุตสาหกรรม

การบริหารจัดการโรงงาน ค่าเรียน 120,000 บาท รวมค่าอุปกรณ์ เช่น ไม้วัด, ไม้ฉาบ, ลูกกลิ้ง, กระดาษแบบ ขณะที่สถาบัน Bunka ในประเทศญี่ปุ่นเก็บค่าเรียน 100,000 เยน ไม่รวมค่าอุปกรณ์