ในยามที่กระแส “K-pop” หรือ Hallyu พัดรุนแรงทั่วโลกราว “คลื่นสึนามิกระแทกฝั่ง” นอกจากรายได้มหาศาลจากการส่งออกหนังและละคร และรายได้จากการขายสินค้าเกาหลีซึ่งได้รับอานิสงส์จาก Korean Wave ครั้งนี้ การท่องเที่ยวยังเป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญที่ไหลกลับเข้าสู่ประเทศเกาหลี โดยเฉพาะในเมืองที่เป็น Location ถ่ายทำหนังหรือละครที่สร้างความประทับใจให้กับคนดูได้อย่างล้นหลาม
ขณะที่ Autumn in My Heart หรือ “รักนี้ชั่วนิรันดร์” สูบเงินก้อนโตจากนักท่องเที่ยวจีน ไต้หวัน และฮ่องกงที่หลั่งไหลเข้าไปเที่ยวในประเทศเกาหลี โดยเฉพาะที่ Gangwon-do หรือจังหวัด Gangwon สถานที่ถ่ายทำฉากรักซึ้งๆ ของพระเอกนางเอก จากนั้นไม่นาน Winter Sonata ชื่อไทยซึ้งๆ ตามเนื้อเรื่องได้ว่า “เพลงรักในสายลมหนาว” ก็เป็นอีกเรื่องที่นำรายได้ขนาดมโหฬารจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะสาวๆ ชาวญี่ปุ่นที่คลั่ง แบ ยอง-จุน พระเอกของเรื่องนี้เอามากๆ มาสู่จังหวัด Gangwon
พันธุ์เมธ ณ ระนอง ผู้จัดการองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกระแส Autumn in My Heart ซึ่งเข้ามาประเทศไทย 3-4 ปีก่อนว่า “หนังเรื่องนี้ดังเพราะตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อบีบน้ำตาคนทั่วเอเชีย และกระแสที่แรงจากความซึ้งก็ทำให้การท่องเที่ยวแบบ Drama Tour หรือตามรอยความประทับใจจากละครบูมขึ้นมาเลย”
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวในจังหวัด Gangwon สถานที่ถ่ายทำละครเรื่องนี้ ซึ่งบูมขึ้นมาอย่างมาก จากสถิติขององค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดเมื่อปี 2542 มีประมาณ 42.4 ล้านคน หลังจาก Autumn in My Heart ออกอากาศที่เกาหลีในปี 2543 เพียงไม่นาน ละครเรื่องนี้ก็ทยอยออนแอร์ในจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม และไทยในเวลาไล่เลี่ยกัน ยอดนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดเพิ่มขึ้นกว่า 15% ในปีนั้น
ไม่ใช่ความบังเอิญโชคดีของจังหวัด Gangwon ที่เรื่องราวของละครถูกเลือกไปถ่ายทำที่จังหวัดนี้ แต่เป็นความพยายามของหลายองค์กรในจังหวัด Gangwon โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดนี้ที่มีนโยบายเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวของจังหวัด ด้วยการใช้สื่อต่างๆ เผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดให้ออกไปสู่ชาวเอเชียและชาวโลก
“ระบบผู้ว่าฯ ของเกาหลีจะมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นแต่ละจังหวัดจะต้องแข่งขันกันเอง ทีนี้ผู้ว่าฯ ของจังหวัด Gangwon ก็เกิดความคิดว่าจะทำยังไง เมื่อทรัพยากรที่เด่นที่สุดของจังหวัดคือแหล่งท่องเที่ยว ก็ต้องทำให้แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดปรากฏสู่สายตาคนเกาหลีและชาวโลกผ่านสื่ออะไรก็ได้ โดยมองว่าสื่อการตลาดที่ดีที่สุดน่าจะเป็น TV Drama” พันธุ์เมธเล่าถึงสิ่งที่เขาได้รับรู้มา
Hwajinpo Beach ในเมือง Goseong ซึ่งเป็นชายหาดที่นางเอกขี่คอสิ้นใจอยู่บนแผ่นหลังของพระเอก กลายเป็นฉากที่นักท่องเที่ยวที่เป็นคู่รักพากันมาเลียนแบบ หรือทุ่งหญ้ากว้างสีเขียวที่ Samyang ในเมือง Daegwallyeong สถานที่ฮันนี่มูนระหว่างพระเอกนางเอกก็เป็นอีกแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวต้องแวะมาชม และสวนสาธารณะชื่อ Phoenix Park ในเมือง Pyeongchang ซึ่งนางเอกและพระรองซึ่งนำแสดงโดยวอน-บินได้มาทำงานร่วมกัน ก็มีรีสอร์ตเพิ่มขึ้นมากมายเพื่อมารองรับนักท่องเที่ยว
ขณะที่ Autumn in My Heart ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในหน้าร้อนของจังหวัดนี้ กลยุทธ์นี้ยังถูกนำมาใช้อีกครั้งเพื่อโปรโมตแหล่งเล่นสกีในหน้าหนาว และนี่ก็เป็นที่มาของ Winter Sonata หรือทั่วโลกรู้จักในนาม Winter Love Song ทั้งนี้ หลังจากออกอากาศเฉพาะในเกาหลีเมื่อปี 2545 ยอดนักท่องเที่ยวของจังหวัดนี้ก็เพิ่มขึ้นมากว่า 20% และจนปีนี้ที่ละครแพร่ภาพไปทั่วโลก นักท่องเที่ยวของจังหวัดนี้ไม่เคยต่ำกว่า 60 ล้านคน และกว่าครึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มาตามรอยละคร
ทุกวันนี้ ไม่เพียงแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นฉากในละคร ผู้ว่าฯ ยังกระพือใช้ความคลั่งไคล้ในตัวพระเอกนางเอกเป็นแม่เหล็กตัวใหม่ เช่น “Love Song Statue” รูปปั้นทองเหลืองของแบ ยอง-จุน และ ชอย จี-ฮู พระเอกนางเอกของเรื่องยืนกอดกันอยู่บนเกาะ Namiseom ที่ทั้งคู่ตกหลุมรักกันและประกาศให้ 31 ธ.ค. เป็นวันจัดเทศกาล Lover’s Day with Winter Love Song ดึงดูดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้อย่างล้นหลาม อีกทั้งรอยประทับมือของพระเอกนางเอกก็ยังทำให้สาวใหญ่ชาวญี่ปุ่นและชาวจีนต้องมาเข้าแถวรอประกบมือไม่ขาดสาย
กล่าวได้ว่าละครทั้ง 2 เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างตั้งใจที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวให้เหมาะสมตามฤดูกาลของจังหวัด Gangwon ทั้งนี้ การท่องเที่ยวตามรอยละคร 2 เรื่อง ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นคู่รัก จนองค์กรการท่องเที่ยวของจังหวัดต้องจัดโปรแกรมเที่ยวแบบ Romantic Tour ขึ้นมารองรับเป็นพิเศษ
กระแสตามรอย Winter Sonata ยังไม่ทันซา ในปี 2548 ก็เป็นอีกครั้งที่จังหวัด Gangwon โปรโมตตัวเองด้วยการเป็นฉากถ่ายทำหนังรักโรแมนติกเรื่อง April Snow ที่มีพระเอกดังอย่าง แบ ยอง-จุน และนางเอกดาวรุ่ง ซอง เย-จิน ซึ่งกระแสความแรงของหนังที่พัดอยู่ในหลายประเทศแถบเอเชีย ก็ทำให้คนดูหนังต้องควักเงินอีกครั้งเพื่อมาท่องเที่ยวตามรอย “ชู้รัก” ในภาพยนตร์
“ยิ่งกระแสของหนังหรือละครดัง คนก็ยิ่งตามไปดู อย่างโรงแรมเล็กๆ เหมือนโรงแรมจิ้งหรีดบ้านเราที่เป็นฉากของชู้รักในหนังเรื่อง April Snow ก็ยังเป็นจุดท่องเที่ยวที่ขายได้ ห้องที่พระเอกพักกับนางเอกก็ราคาสูงขึ้นและกลายเป็นห้องที่เต็มตลอด” พันธุ์เมธกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
จาก Winter Love Song ละครอีกเรื่องที่สร้างกระแสจนทำให้ฉากถ่ายทำต้องถูกบรรจุอยู่ในโปรแกรมเที่ยวแบบ Drama Tour นั่นก็คือ Full House ซึ่งเป็นการโปรโมตเมือง Incheon จังหวัด Gyeonggi และเกาะ Jeju ให้ขึ้นแท่นมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ในฤดูร้อนของเกาหลี “ฉากบ้านหลังนั้นอยู่บนเกาะแต่นักท่องเที่ยวก็ยอมข้ามน้ำข้ามทะเล เสียค่าเข้าชมเพื่อไปถ่ายรูปโต๊ะกินข้าวที่พระเอกนางเอกชอบทะเลาะกัน”
ล่าสุด ละครพีเรียดเรื่อง “แดจังกึม” ที่กำลังดัง ก็ทำให้ Daejanggeum Theme Park ที่สถานี MBC ผู้สร้างละครแดจังกึม ลงทุนเนรมิตขึ้นมาเป็นฉากฟอร์มยักษ์ก็กลายเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่หลงใหลเสน่ห์ละครแดจังกึมเข้าสู่ประเทศเกาหลี และยอมควักเงินจ่ายค่าผ่านประตูให้กับ MBC อีกทั้งยังทำให้เกาะ Jeju ที่นางเอกไปใช้ชีวิตช่วงที่เป็นนักโทษกลายเป็นจุดที่แฟนพันธุ์แท้แดจังกึมทุกคนต้องแวะไป
“เมื่อปี 2547 ก็มีคนไทยราว 1.1 แสนคนที่ไปเที่ยวเกาหลีถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปีที่ตั้ง อสท. เกาหลีในเมืองไทย เพิ่มขึ้นถึงกว่า 30% ส่วนปี 2548 แม้ว่าทั่วโลกจะมีสถานการณ์ไม่ค่อยดี แต่กระแสแดจังกึมก็น่าจะทำให้คนไทยแห่ไปดูที่ถ่ายทำ จำนวนก็น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอีกอย่างน้อย 2-3%” พันธุ์เมธคาดการณ์พร้อมคำอธิบาย “กระแสเกาหลีที่มายังมีส่วนทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ Incentive เพิ่มขึ้น เพราะหลายบริษัทตัดสินใจง่ายขึ้นเมื่อเราเอาข้อมูลประเทศเกาหลีไปให้เขา ซึ่งกลุ่มนี้เขาเดินทางทีนึงเป็นสิบเป็นร้อย ยอดก็เลยเพิ่มสูงมาก”
สุดท้าย พันธุ์เมธยืนยันหลายครั้งว่า “ที่อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีไปได้ไกลเป็นเพราะภาคเอกชนและชุมชนที่เข้มแข็ง ส่วนการยอดนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นก็ถือเป็นอานิสงส์ที่ภาครัฐได้เกาะ “ชายผ้าเหลือง” ภาคเอกชน อย่าง อสท. เกาหลี เราก็แค่เข้ามาสนับสนุนและช่วยสร้างกระแสให้หนังหรือละครเรื่องนั้นไปได้ไกลขึ้น”
Did you know?
ประเทศเกาหลีมีทั้งสิ้น 9 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจะมีเว็บไซต์โปรโมตการท่องเที่ยวของตัวเอง ขณะที่หลายเมืองในบางจังหวัดยังมีเว็บไซต์โปรโมตการท่องเที่ยวของเมืองตัวเอง
1. Gyeonggi-do จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ และเป็นที่ตั้งกรุงโซล รวมถึงเป็นแหล่งรวมสตูดิโอซึ่งเป็นฉากถ่ายทำหนังและละครหลายเรื่อง เช่น แดจังกึม Scandal และ Stair to Heaven เป็นต้น โดยเว็บไซต์ประจำจังหวัดคือ http://english.gg.go.kr และเว็บท่องเที่ยวของจังหวัดก็คือ www.kto.or.th/english/main.jsp
2. Gangwon-do จังหวัดที่เป็นสถานที่ถ่ายทำละคร Autumn in My Heart และ Winter Sonata รวมถึงหนังเรื่อง April Snow เว็บไซต์ของจังหวัดคือ http://en.gangwon.to โดยภายในเว็บนี้ยังมีลิงก์ไปยังเว็บของเมืองต่างๆ ในจังหวัด
3. Chungcheongbuk-do เว็บไซต์จังหวัด http://foreign.cb21.net/english/main.jsp และเว็บไซต์แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด คือ www.cbtour.net/ecb_web/ecb_tour/ew_main
4. Chungcheongnam-do เป็นสถานที่ถ่ายทำละครเรื่อง Damo เว็บไซต์ของจังหวัดคือ www.chungnam.net/content/universal/english/index.jsp
5. Gyeongsangbuk-do เว็บไซต์จังหวัดคือ www.gb.go.kr/English/main/main.jsp โดยภายในยังมีลิงก์ไปยังเมืองต่างๆ ส่วนเว็บท่องเที่ยวของจังหวัดคือ www.gbtour.net/e_index.html
6. Jeollabuk-do เว็บไซต์จังหวัดคือ www.provin.jeonbuk.kr/english/ โดยภายในยังมีลิงก์ไปยังเมืองต่างๆ
7. Gyeongsangnam-do เป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญอย่าง Busan หรือที่คนไทยรู้จักในนาม “ปูซาน” ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์แนวสารคดีเรื่อง “Busan City Tour” ทั้งนี้ เว็บไซต์ประจำจังหวัดคือ http://eng.gsnd.net/ โดยภายในมีลิงก์ไปยังเมืองต่างๆ
8. Jeollanam-do หรือ Jeonnam-do เป็นจังหวัดที่ถูกใช้เป็นฉากถ่ายทำละครเรื่อง Emperor of the Sea และหนังเรื่อง Chihwaseon โดยเว็บไซต์จังหวัดคือ http://english.jeonnam.go.kr/ โดยภายในยังลิงก์ไปยังเมืองต่างๆ
9. Jeju-do เป็นจังหวัดที่เป็นเกาะ ถูกใช้เป็นฉากถ่ายทำละครแดจังกึมตอนที่นางเอกต้องไปเป็นนักโทษที่เกาะ Jeju และเป็นฉากละครรักโรแมนติกเรื่อง All-In เกาะนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “Island of World Peace” เว็บไซต์ของจังหวัดคือ www.jeju.go.kr/jeju_f/english/index_new.php หรือ http://english.jejusi.go.kr/ ภายในมีลิงก์ไปยังเมืองอื่น ส่วนเว็บไซต์โปรโมตการท่องเที่ยวของเกาะคือ http://jejueco.com/eng.htm นอกจานี้ยังมีเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประจำเกาะคือ http://jejutimes.net/