ธนบัตรที่ระลึก ”ในหลวง”

การตั้งหน้าตั้งตารอช่วงโอกาสสำคัญ ด้วยการตื่นเช้าเข้าแถวยาวสุดลูกหูลูกตา เพื่อให้ได้แลกซื้อธนบัตรที่ระลึก ยังเป็นปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพสกนิกรชาวไทยเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างหาที่สุดมิได้

หน้าที่ของการจัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเป็นความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ภายใต้การปฏิบัติงานของโรงพิมพ์ธนบัตร ซึ่งเริ่มตั้งแต่มีหน่วยงานคอยตรวจสอบข้อมูลวันสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการออกแบบธนบัตรที่ระลึกแต่ละครั้งยังต้องสำรวจข้อมูล เก็บข้อมูลทั้งเรื่องราว และภาพ นำมาวิเคราะห์ให้ได้ถึง Theme เพื่อนำไปออกแบบในธนบัตรที่ระลึกชุดนั้นๆ

ส่วนผู้ออกแบบนั้นคือทีมนักออกแบบผู้เชี่ยวชาญของแบงก์ชาติ ด้วยประสบการณ์มานานหลายสิบปี ที่นอกจากหลักการออกแบบที่ต้องให้ได้ความหมายในวโรกาสที่สำคัญนั้นแล้ว ยังต้องคำนึงความสวยงาม และที่สำคัญต้องคำนึงถึงการป้องกันการปลอมแปลงธนบัตรอีกด้วย

แต่ละขั้นตอนที่ผ่านมานั้นต้องผ่านการพิจารณาในรูปแบบของคณะทำงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ ไปจนถึงคณะกรรมการชุดใหญ่ของแบงก์ชาติ จากนั้นแบงก์ชาติจะทูลเกล้าฯ ผ่านราชเลขาธิการสำนักพระราชวังเพื่อทรงทอดพระเนตรทุกครั้งก่อนที่จัดพิมพ์

ข้อมูลจากแบงก์ชาติระบุถึงการจัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับวโรกาสสำคัญในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2530 เป็น ”บัตรธนาคาร” ที่ออกในนามแบงก์ชาติ ชนิดราคา 60 บาท ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ตามที่รัฐบาลขณะนั้นมีนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมถวายความจงรักภักดีในวโรกาสสำคัญนี้

จากนั้นในปี 2539 แบงก์ชาติได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ด้วยธนบัตรชนิดราคา 50 บาท และชนิด 500 บาท 2 รุ่น ที่แตกต่างกันด้วยสีของธนบัตร ตราสัญลักษณ์ และเลขรหัสของธนบัตร

จากนั้นในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 แบงก์ชาติได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 1,000 บาท ปีต่อมาจัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกวันราชาภิเษกสมรสครบ 50 ปี มี 2 ชนิดราคา คือ 50 บาท และที่ฮือฮาอย่างยิ่งคือชนิดราคา 500,000 บาท

ล่าสุดที่เพิ่งจัดพิมพ์เป็นธนบัตรที่ระลึกในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และต้นปีหน้าแบงก์ชาติเตรียมจัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึก ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ที่จะมีความพิเศษ และลักษณะ และความสวยงามที่แตกต่างจากเดิมอย่างยิ่ง

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับธนบัตรที่ระลึก ”ในหลวง”

ธนบัตรชนิดราคา 60 บาท
เนื่องในโอกาส พระชนมายุ 60 พรรษา
วันนำออกใช้5 ธ.ค. 2530
จำนวนจำหน่าย 10 ล้านฉบับ
ราคาจำหน่าย100 บาท

ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท
เนื่องในโอกาส ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
วันนำออกใช้ 3 ธ.ค. 2539
จำนวนจำหน่าย 100 ล้านฉบับ
ราคาจำหน่าย 50 บาท

ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท (สีม่วง) “ รุ่นเลข 9 นำหน้า “
เนื่องในโอกาส ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
วันนำออกใช้ 3 เม.ย. 2539
จำนวนจำหน่าย รวม 2 รุ่น 10 ล้านฉบับ
ราคาจำหน่าย1,100 บาท

ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท (สีเหลือง) มีเลข 9 นำหน้าและ 9 ปิดท้าย
เนื่องในโอกาส ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
วันนำออกใช้ 10 ม.ค. 2539
จำนวนจำหน่าย 10 ล้านฉบับ
ราคาจำหน่าย 1,300 บาท

ธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท
เนื่องในโอกาส เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
วันนำออกใช้ 1 พ.ย. 2542
จำนวนจำหน่าย 10 ล้านฉบับ
ราคาจำหน่าย 1,000 บาท

ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท
เนื่องในโอกาส วันราชาภิเษกสมรสครบ 50 ปี
วันนำออกใช้ 8พ.ค.2543
จำนวนจำหน่าย 1 แสนฉบับ
ราคาจำหน่าย 50 บาท

ธนบัตรชนิดราคา 500,000 บาท
เนื่องในโอกาส วันราชาภิเษกสมรสครบ 50 ปี
วันนำออกใช้ 1,998 ฉบับ
จำนวนจำหน่าย 8พ.ค.2543
ราคาจำหน่าย 5 แสนบาท

ธนบัตรชนิดราคา 60 บาท
เนื่องในโอกาส ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
วันนำออกใช้ 9 มิ.ย. 2549
จำนวนจำหน่าย ล็อตแรก 10 ล้านฉบับ ล็อตที่ 2 อีก 2 แสนฉบับ
ราคาจำหน่าย 100 บาท