BLOG มาแล้ว

โลกออนไลน์ทั้งเมืองไทยและเมืองนอกมาถึงจุดเปลี่ยน สื่อเก่าตายไป-สื่อใหม่เกิดมาแทนที่ คอนเทนต์แบบเดิมที่เคยแยกประเภทเป็นงานเขียน ทีวี วิทยุและเพลง ได้เปลี่ยนร่างกลายพันธุ์เป็น บล็อก เป็นพอดคาสต์ เสิร์ชเอ็นจิน โปรแกรมแชตเมสเซ็นเจอร์ เป็นแคมฟร็อก เป็นเคเบิลทีวีแบบอินเตอร์แอคทีฟ กูเกิลเอิร์ธ์ เรียลลิตี้ทีวี วิทยุออนไลน์ เครื่องเล่นเอ็มพีสาม สารานุกรมฉบับบออนไลน์อย่างวิกิพีเดีย และอีกสารพัดรูปแบบที่พลิกผันไป

สังคมไทยและโลกกำลังได้เห็นยุคใหม่ของ “คอนเทนต์” คำฝรั่งที่ไทยเราเอามาเรียกจนติดปาก

คอนเทนต์หมายถึงเนื้อหาสาระที่นำเสนออกไปในวงกว้าง กระจายผ่านเส้นสายข้อมูลที่โยงใยอยู่ในเน็ต วิ่งผ่านอากาศด้วยคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสื่อดิจิตอลที่เป็นตัวอักษร รูปภาพ กราฟิก ภาพเคลื่อนไหวหรือแอนิเมชั่นก็ตาม

เศษเสี้ยวของความเป็นไปที่กำลังปรากฏขึ้นในโลกออนไลน์ กำลังประกอบรวมเป็นภาพใหญ่แห่งอนาคต ความเคลื่อนไหวแต่ละก้าวตรงนี้ อาจหลุดพ้นความเข้าใจของสังคมส่วนใหญ่ ที่ถึงแม้ขณะนี้จะเริ่มเปลี่ยนตามแต่อาจยังมองไม่เห็นภาพรวมที่กำลังก่อตัว

แต่ไม่ใช่เพราะ “ไม่รู้จัก” เหมือนสื่ออินเทอร์เน็ตและเว็บเมื่อห้าหรือสิบปีก่อน แต่เพราะรู้จักและใช้งานมันจนชิน จนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปต่างหาก

ในทุกวันของแต่ละสัปดาห์ ยูสเซอร์นับล้านที่เป็นคนไทย พูดภาษาไทย และอยู่ในเมืองไทย กำลังล็อกอินเข้าอินเทอร์เน็ตทุกวัน ด้วยกลุ่มหลากหลายตั้งแต่เด็กมัธยมต้นจนถึงผู้เกษียณอายุ ทุกคนติดต่อถึงใครบางคนในเน็ต แชตคุยกัน สร้างสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ หาข้อมูลสินค้า และเริ่มทดลองจ่ายเงิน หรือใช้บริการอีคอมเมิร์ซในเน็ตกันบ้าง ถึงแม้ไม่มากเท่าสังคมอเมริกันแต่ยอดใช้จ่ายออนไลน์เมืองไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบไม่มีถอย

สื่อเก่ากำลังถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ “จำเป็น” ต้องหันมาปรากฏตัวในโลกออนไลน์ ทีวีช่องเดิมและละครเรื่องเก่ากำลังเจอเข้ากับรายการแบบใหม่ในทีวีช่องอื่นอย่างเรียลลิตี้ทีวี ที่ไปไกลถึงขนาดที่ถ่ายทอดคนนอนหลับสดๆ ลงจอก็ยังมีคนรอดู และขนาดไม่มีทีวีดูก็ยังหาเน็ตดูก็มี

ตลาดใหม่ กลุ่มใหม่และความเคลื่อนไหวใหม่ๆ พวกนี้กำลังรอการอธิบายและนิยามใหม่ คราวนี้ POSITIONING จะเกาะติดนำเสนอซีรี่ส์ท้าทาย ความเชื่อ และพฤติกรรมเดิม เจาะลึกบนความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของโลกดิจิตอล นำเอารูปแบบที่กำลังวิวัฒนาการไปสู่สิ่งใหม่มาปอกเปลือกให้เห็นเส้นทางและความเป็นไป

สังคมสมัยใหม่ที่นักการตลาดเคยคิดว่าจัดการได้อยู่หมัด กลับเปลี่ยนผันจนไม่มีใครรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทุกคนต้องเริ่มเรียนรู้กันใหม่กับสื่อผสมแบบ Mash-ups ที่ผสมสื่อหลายแบบให้เป็นการนำเสนอแบบใหม่ๆ เครื่องอัดรายการทีวีดิจิตอล โฆษณาออนไลน์ที่เจาะขายตามโพรไฟล์ยูสเซอร์และความสนใจ iPods และ iPhone เครือข่ายสังคมออนไลน์ หนังสือพิมพ์ฟรี เว็บไซต์โหลดและแชร์ภาพออนไลน์ และอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังตามมา

มีคำเรียกขานมากมายถูกสร้างขึ้นมาเพื่อพยายามอธิบายความเป็นไปอันยุ่งเหยิงที่กำลังก่อตัว คำว่า “เว็บ 2.0” บ้างล่ะ หรือ “นิวมีเดีย” หรือ โลกของ “Media Convergence” แต่บนความหลากหลายนี้ มีรูปแบบบางอย่างที่ชัดเจนและเด่นขึ้นมาจนสามารถพอระบุได้ว่าอะไรเป็นอะไร มีจุดร่วมตรงไหน ที่พอจะสรุปได้ดังนี้

สื่อดิจิตอล : พลังปฏิวัติรวมศูนย์อยู่ที่สื่อดิจิตอลเท่านั้น ชื่อเรียกไม่สำคัญ สำคัญที่ทุกสิ่งอยู่ในรูปดิจิตอล ที่แปลงรูปเปลี่ยนการนำเสนอเป็นสื่ออื่นได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา คอนเทนต์เดียวกลายร่างและกระโดดข้ามจากเว็บไปสู่มือถือ ไปที่เครื่องเล่นวิดีโอเกม ไปสู่แผ่นดีวีดี ไป จากเครื่องวินโดวส์ไปสู่แม็ค กลับจากแม็คมาวินโดวส์ วิ่งจากโนเกีย ไป iPhone โดยไม่มีอุปสรรคด้านเทคโนโลยี

ทุกคนสร้างคอนเทนต์ ได้เองและกระจายต่อไปได้ไม่รู้จบ : ไม่มีเหตุผล หรือเงื่อนไขอะไรที่จะมาห้ามไม่ให้ยูสเซอร์ผลิตคอนเทนต์เองได้ ความเห็นและคอนเทนต์ส่วนบุคคลสร้างขึ้นได้ด้วยโปรแกรมทูลมากมาย และโพสต์ขึ้นเว็บได้ทุกเวลา และนับจากวินาทีที่อัพโหลดหรือโพสต์ขึ้นเว็บ คอนเทนต์เหล่านั้นก็พร้อมเสมอที่จะสื่อสารกับคนทั่วโลกแบบไม่จำกัดสถานที่เวลา ชนชั้น หรือประเทศ

ทุกคอนเทนต์เสมอภาคกัน : หมดสมัยของการสื่อสารทางเดียว คนส่งสารอย่างคอลัมนิสต์ชื่อดัง พิธีกรรูปหล่อ ไม่ต่างอะไรจาก คนดูที่พร้อมจะผลิตรายการขึ้นมาแล้วโหลดขึ้นเน็ตให้คนดูผ่านเว็บไซต์วิดีโออย่าง youtube.com หรือไซต์วิดีโออื่นอีกนับสิบในเน็ต คนอ่านหนังสือพิมพ์สามารถโพสต์ความเห็นของตนลงท้ายข่าว สร้างบล็อกของตัวเอง คนรับสารที่มีอำนาจควบคุมคอนเทนต์ของตัวเองผ่านสื่อดิจิตอลได้เสมอ

ไม่จำกัดพรมแดน หรือภาษา: พรมแดนที่แบ่งประเทศไม่มีความหมายในโลกออนไลน์ คนที่คุณคุยด้วยที่อยู่บางนา ไม่แตกต่างอะไรกับอีกคนที่คุยจากสเปน หรือนิวยอร์ก

ผสมสร้างสื่อใหม่ไม่รู้จบ: ผสมการนำเสนอจากสองสื่อให้เป็นหนึ่งเดียว แล้วเปลี่ยนให้เป็นสื่อใหม่ สร้างการนำเสนอใหม่ เช่น เอาแผนที่มาผสมกับภาพวิดีโอ สร้างเว็บไซต์แผนที่ผับและร้านอาหารที่เล่นเพลงแจ๊ซที่มีภาพเคลื่อนไหวและเสียงจริงๆ ประกอบ

อุปกรณ์พร้อม-คอนเทนต์กำลังมา

ผู้บริโภคคอนเทนต์ดิจิตอลคือยูสเซอร์ ที่พร้อมจะรับสารและสร้างสารในด้านฮาร์ดแวร์ ความหมายชัดๆ ก็คือ มีอุปกรณ์ที่สามารถเปิดดูอ่าน หรือฟังคอนเทนต์ดิจิตอลได้ รวมทั้งสร้างคอนเทนต์ที่ส่งกลับไปสู่โลกอินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน ในแง่นี้เมืองไทยคงพร้อมยิ่งกว่าพร้อม เพราะราคาเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กร่นลงมาแตะระดับสองหมื่นต้นๆ หรือต่ำกว่าสองหมื่นก็มีแล้วในหลายรุ่น ในขณะที่เครื่องพีซีประกอบเองไม่มียี่ห้อราคาพร้อมจอมอนิเตอร์ลดเหลือหมื่นบาทหรือต่ำกว่า นั้นด้วยซ้ำ

สำหรับฮาร์ดแวร์อื่นๆ เครื่องเล่นเอ็มพี 3 เสียงแจ๋วจากเมืองจีน ราคาลงเหลือไม่ถึงพัน ในขณะเครื่องเอ็มพี 4 ที่เปิดวิดีโอได้ ราคาเหลือแค่พันต้นๆ นอกจากนี้ยังมีโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานได้หลากหลายราคาลงมาเหลือไม่กี่พัน ค่าบริการเน็ตความเร็วสูงเหลือไม่ถึงพันต่อเดือน กล้องดิจิตอลราคาไม่ถึงหมื่น กล้องวิดีโอขนาดเล็กราคาแค่หมื่นกว่าบาท เว็บแคมราคาไม่กี่ร้อยบาท ฮาร์ดดิสก์ขนาดมาตรฐานราคาไม่ถึงสองพัน ในขณะที่ราคาเมโมรี่การ์ดและทัมป์ไดร์ฟร่วงลงมาเหลือเหลือกิกะไบต์ละไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น

ราคาหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ก็ลดลงอย่างมากตามราคาตลาดโลก เมื่อมีทั้งหน่วยความจำและฮาร์ดดิสก์ความจุสูง ยูสเซอร์ทางบ้านที่มีเครื่องเล่นวิดีโอและคอมพิวเตอร์ของตัวเองบวกกับซอฟต์แวร์ตัดต่ออีกนิดหน่อยก็สามารถสร้างงานหนังง่ายๆ ที่สูสีคุณภาพของสตูดิโอหรือโปรดักชั่นเฮาส์แถวย่านทาวน์อินทาวน์ขึ้นมาได้

รวมทั้งอายุเริ่มต้นของคนที่มีอุปกรณ์พวกนี้ใช้งานก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ เช่นกัน มีรายงานของเวิลด์ ไวร์เลส ฟอรัม ระบุว่า จำนวนของเด็กอายุ 5-9 ขวบที่มีมือถือในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าไปเป็น 64 เปอร์เซ็นต์ภายในสิ้นปี 2007 นี้

ขณะเดียวกัน การใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุก็เพิ่มเช่นกัน ข้อมูลของ The observer ชี้ประเด็นที่น่าสนใจว่า 17 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นเจ้าของเครื่องเล่นวิดีโอเกมโซนี่ เพลย์สเตชั่นในสหรัฐฯ นั้น มีอายุเกินห้าสิบปี! ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น สำหรับแคมเปญการตลาดเพลย์สเตชั่นถ้าละเลยกลุ่มผู้เล่นจำนวนมากถึงหนึ่งในห้าที่เป็นวัยกลางคน เพราะคิดแค่ว่ากลุ่มเล่นเพลย์สเตชั่นมีแต่เด็กวัยรุ่น เท่านั้น

จากข้อมูลทุกอย่างทุกทางกำลังชี้ชัดว่าเรากำลังมุ่งสู่การบูมครั้งใหญ่ของคอนเทนต์ดิจิตอล เพราะทุกสื่อทุกอุปกรณ์พร้อมและกำลังกระหายรอคอนเทนต์ในรูปแบบใหม่ที่จะมาวิ่งในสื่อใหม่

คอนเทนต์กำลังก่อรูปก่อร่างด้วยการเริ่มแชร์ไว้ในแบบออนไลน์ก่อน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของข้อความตัวอักษร ภาพถ่าย และวิดีโอ มีตัวเลขระบุว่า ในตลาดที่พัฒนาไปเต็มรูปแล้วอย่างอเมริกามียอดยูสเซอร์เกือบ 50 ล้านรายที่สร้างคอนเทนต์ดิจิตอลแล้วนำไปโพสต์ไว้ในเน็ต

ยิ่งไปกว่านั้น จาการสำรวจของ Pew Research เมื่อปลายปี 2005 ที่ผ่านมา พบว่า วัยรุ่นอเมริกันมากกว่าครึ่งสร้างคอนเทนต์ในอินเทอร์เน็ต ในเมืองไทยแม้ยังไม่มีการสำรวจเรื่องนี้โดยตรง แต่คาดว่าจะอยู่ใกล้เคียงกัน ยูสเซอร์ไทยจำนวนมากเริ่มสร้างคอนเทนต์ของตัวเองในรูป ไดอารีออนไลน์ บล็อก โพสต์รูปลงเน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราก้าวกระโดด

กระแสใหม่นี้ไม่อาจละเลย จะเห็นได้จากสองค่ายหนังสือพิมพ์ต่างขั้วของเมืองไทยได้หันมารับรูปแบบบล็อกที่ยูสเซอร์ที่เคยเป็นผู้อ่านธรรมดาๆ หันมาใช้รูปแบบบล็อกที่เลื่อนขั้นยูสเซอร์ทางบ้านมาเป็นนักเขียน-คอลัมนิสต์ เรียบร้อยแล้ว

อนาคตหนังสือพิมพ์และนิตยสารต้องเร่งปรับโฉมหรือไม่ก็ตาย

สื่อสิ่งพิมพ์เคยเป็นสุดยอดของความยิ่งใหญ่ สัญลักษณ์ของการครองใจผู้อ่านกลุ่มที่มีการศึกษา และมีอำนาจในสังคมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ทั้งเมืองไทยเมืองนอกเคยบอกว่าจริง สิ่งนั้นเรื่องราวนั้นก็กลายเป็นความจริงเสมอ เพราะไม่มีการนำเสนออื่นให้เลือก

แต่สภาพเป็นไปที่เห็นในเน็ตทุกวันนี้ บอกว่าไม่จริงเสมอไป ข้อแรกทุกคนสามารถเป็นนักข่าวและคอลัมนิสต์ได้ทันทีที่ต้องการ ในขณะที่จำนวนหนังสือพิมพ์ทั้งในอเมริกาและยุโรปก็ลดลงเรื่อย ๆ

เมื่อเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ ค่ายหนังสือพิมพ์จำนวนมากลังเลใจที่จะกระโดดร่วมวงกับสื่อออนไลน์ บางรายที่เข้ามาก็สร้างรูปแบบของโมเดลเก็บเงินค่าสมาชิกที่พิสูจน์ออกมาทีหลังว่าไม่ได้ผล เพราะไม่มีใครยอมจ่าย ในเมืองไทยก็เช่นกัน ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีการยอมรับรูปแบบหนังสือพิมพ์เปิดอ่านฟรีในเน็ต และในตอนนี้หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ในเมืองไทยก็มีเว็บไซต์กันแทบทุกฉบับ ซึ่งบรรณาธิการหลายคนคิดว่าทำแค่นี้คงจะพอสำหรับสื่อดิจิตอล

แต่เวลานี้ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ของตัวเองไม่ได้เป็นคำตอบเดียวอีกต่อไปแล้ว คำถามถัดมาก็คือ หนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ของคุณจะยืนอยู่จุดไหน จะวางตัวอยู่จุดไหนในตลาดและอย่างไรต่างหาก

สภาพการณ์ที่เกิดใหม่หลังยุคบล็อก (Blog) หรือเว็บบล็อกบูมขึ้นมาทั้งในไทยและต่างแดน ก็คือ ทั้งหนังสือพิมพ์ออนไลน์และเว็บบล็อกกลายเป็นสิ่งมีชีวิตสองสปีชี่ส์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันในสภาพแวดล้อมเดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อ

เว็บบล็อกไม่ได้แข่งกับหนังสือพิมพ์อย่างเดียวอย่างที่หลายคนเคยเชื่อ แต่ยังทำหน้าที่ส่งลิงค์ให้ผู้อ่านในเน็ตรายอื่นๆ ได้คลิกเมาส์เข้าไซต์ข่าวเช่นกัน สร้างกลุ่มผู้อ่านใหม่ๆ จำนวนมากที่ไม่ได้ เข้าไซต์ข่าว หรือไม่เคยคิดจะเปิดเข้าไซต์ข่าวด้วยตนเองมาก่อน

ประเด็นง่ายๆ ตรงนี้ก็คือ หนังสือพิมพ์ที่จะอยู่รอดและเติบโตในสภาพแวดล้อมดิจิตอลได้ต้อง ได้ลิงค์จำนวนมากมาจากเว็บบล็อก (Bloggers Reference) หมายความว่า ทุกๆ วันจะต้องมีเว็บบล็อกจำนวนมากส่งลิงค์มาให้ นั่นเอง

ข่าวดีต้องมีการบอกต่อ นี่เป็นอีกวิธีของการบอกต่อในสังคมดิจิตอลนั่นเอง ทุกวันนี้ ถ้าเราสนใจข่าวไหน เราก็บอกได้หลายทาง แทนที่จะปากต่อปากอย่างเดียว เราก็สามารถส่งลิงค์ต่อทางอีเมล ส่งทางโปรแกรมเมสเซ็นเจอร์ และบอกต่อด้วยการประกาศลิงค์ข่าวนั้นลงเว็บบล็อกของตัวเอง

ในเคสของเมืองนอก ผลจากากการสำรวจพบว่า หนังสือพิมพ์อย่าง Washington Post, The Guardian และ Financial Times ถูกพวกบล็อกเกอร์ลิงค์ข่าวไปหามากกว่าไซต์หนังสือพิมพ์อื่น

ในทางกลับกัน หนังสือพิมพ์ก็ลิงค์ข่าว กลับมาที่เว็บไซต์และบล็อกมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน นอกจากจะลิงค์มาแบบประกอบข้อมูลข่าวแล้ว ยังลิงค์มาในฐานะที่เป็น “แหล่งข่าว” มากขึ้นเช่นกัน

ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจมาก เพราะอย่าลืมว่าประวัติศาสตร์เว็บบล็อกหรือเว็บไดอารี่ที่เรารู้จักกันนี้เพิ่งมาบูมกันไม่ถึงสองปีมานี้เอง ขณะเดียวกันก็อธิบายได้ว่า รูปแบบและเนื้อหาของบล็อกมีการขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ทั้งปริมาณและคุณภาพจนสื่อกระแสหลักที่เคยปฏิเสธการยอมรับต้องหันมาสนใจอย่างจริงจัง

นี่เองอาจอธิบายได้ว่า ทำไมค่ายหนังสือพิมพ์สองแห่งอย่างผู้จัดการและเนชั่น จึงตัดสินใจเปิดเว็บบล็อกของตัวเองขึ้นมาอย่างเป็นทางการ (อ่านข่าวประกอบ) เพราะหากไม่รีบตัดสินใจแบรนด์ใหม่ นักเขียนใหม่จะปรากฏขึ้นมาเร็วมาก ในขณะที่แบรนด์เก่าและสิ่งพิมพ์เก่าอาจจะเสียพื้นที่ตลาดที่เคยมีไปได้แค่ชั่วข้ามคืน

ไม่เพียงแต่ค่ายผู้จัดการและเนชั่นเท่านั้นที่เร่งปรับตัว หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ก็เร่งปรับตัวเช่นกัน เพิ่มคอนเทนต์ออนไลน์ วางโมเดลรายได้มาหาโฆษณาออนไลน์มากขึ้น เพิ่มรูปแบบและพื้นที่โฆษณาออนไลน์ใหม่ๆ ติดตามข่าวที่ตรงประเด็นความสนใจของผู้อ่านออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์อื่นๆ ตามมาเช่น เว็บไซต์อย่าง www.norsorpor.com ที่มาจากไหนก็ไม่รู้แต่สร้างปรากฏการณ์ Mashup ด้วยการดึงหัวข้อข่าวจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยต่างๆ มาสร้างลิงค์ใหม่ เชื่อมต่อกับไปยังไซต์ข่าวโดยตรงจนได้รับความนิยมเหมือนกับไซต์หนังสือพิมพ์อีกเล่มหนึ่ง เช่นเดียวกับ news.google.com ที่รวมข่าวภาษาอังกฤษเข้าไว้ จากทุกแหล่งทั่วโลก นำเสนอใหม่ในหน้าจอเดียว รวมทั้งไซต์ข่าวทางเลือก www.prachatai.com ที่เปิดประเด็นและทำข่าวแข่งกับเว็บไซต์ทั่วไป รวมทั้งล่าสุด ประกาศสร้างเว็บกึ่งบล็อกในโครงการนักข่าวพเนจรที่เปิดโอกาสให้คนอ่านทางเน็ตส่งข่าวเขียนข่าวเข้ามาได้โดยไม่ต้องไปจบนิเทศฯหรือสื่อสารมวลชนมาจากไหน

อันที่จริงการเปลี่ยนหันมายอมรับสื่อบล็อกในครั้งนี้อาจเป็นแค่ก้าวแรกบนเส้นทางเท่านั้น เหตุเพราะรูปแบบสื่อในยุคหน้าจะไม่ใช่ผู้ส่งสารกำหนดตัวผู้รับสารอีกต่อไป หากแต่ตัวผู้รับและพฤติกรรมความต้องการของผู้รับสารเองที่จะเป็นตัวกำหนดสื่อ คอนเทนต์ รูปแบบ และการนำเสนอ

ถ้าเรานิยามหนังสือพิมพ์ในมุมมองการตลาดว่าคือแบรนด์เก่า คราวนี้ก็น่าจับตาว่า แบรนด์เก่าที่ปรับตัวครั้งใหญ่ในคราวนี้จะพลิกเกมอย่างไรเพื่อรับมือกับแบรนด์ใหม่ๆ สื่อเฉพาะทางสไตล์นิวมีเดียที่ทยอยเข้ามาท้าทายอย่างไม่หยุดยั้งด้วยเป้าหมายที่จะชิงผู้อ่านออกไปทีละกลุ่ม

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดกำลังเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ค่ายสิ่งพิมพ์ทั้งหมดกำลังมองหาโมเดลรายได้ใหม่ที่หนีไปให้พ้นจากการขายสื่อและโฆษณากระดาษ!