โทษนะ…ทำมัย เธอคนนั้นแอ๊บแบ๊วจัง รู้นะ…ว่ากิ๊กใหม่ของเธอ สตรอเบอร์รี่มากๆ ทำงัยดีล่ะ ถ้าเธอยังแต่งตัวแบบสลิ่มๆ เช่นนี้ วังเถอะ…กั๊กของเขาจะมาทวงคืน…
…งงล่ะซิ! แต่ถ้าคุณเข้าใจ อย่างน้อยๆ คุณก็ยังวัยสะรุ่น รู้จักภาษาอินเทรนด์ใหม่ๆ กับเขาบ้าง
…ขอโทษนะ! แม้ ใครจะว่าภาษาแบบนี้ทำให้ภาษาไทยวิบัติใดๆ ก็ตาม แต่เชื่อไหมว่า คำแสลงแบบกวนโอ๊ยเหล่านี้ ล้วนมีพลังทางการสื่อสารต่อกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ๆ ซึ่งใครอาจไม่คาดคิดว่า เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดสำคัญ ในการเจาะถึงไลฟ์สไตล์วัยรุ่น ชนิดที่เจ้าของแบรนด์ หรือสินค้า ต้องควรศึกษาและเงี่ยหูฟังกับคำเหล่านี้บ้าง
คำแสลง หรือภาษาแสลง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันวาน หากแต่เป็นภาษาที่เกิดขึ้นตลอดทุกยุคทุกสมัย และเป็นภาษาเฉพาะกลุ่มที่มีการก่อเกิดขึ้นใหม่ๆ ตลอดเวลา กระทั่งบางคำถูกนำมาใช้กันอย่างฮิตติดปาก
พลังของคำแสลง แม้จะมีนักอนุรักษ์บางกลุ่มมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาษาไทยวิบัติ แต่การเกิดคำแสลงใหม่ๆ ตลอดทุกยุคสมัย ย่อมเป็นสิ่งยืนยันว่า พลังของภาษาเหล่านี้ ปิดกั้นไม่ได้ และไหล่บ่าทะลัก ถึงขนาดที่ราชบัณฑิตยสถานต้องรวบรวมจัดทำเป็นพจนานุกรมเพื่อความรู้และเข้าใจให้กับคนทั่วไป
“คำที่เกิดขึ้นใหม่ๆ โดยเฉพาะภาษาใหม่ๆ ที่วัยรุ่นนำมาสื่อสารในแต่ละยุค เป็นพลังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง บ่งบอกว่า คนรุ่นนี้เขาสนใจอะไร อิทธิพลอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดคำใหม่ๆ เข้ามา หลายคนเรียกภาษาแสลงยุนี้ว่า เป็นภาษารถไฟฟ้า คือ เคลื่อนมาเร็ว และไปเร็ว” ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายกับนิตยสาร POSITIONING
พัฒนาการของคำแสลงน่าสนใจไม่น้อย คำแสลงยุคเก่าๆ ในอดีต มักจะอยู่ในรูปแบบของสำนวนเปรียบเปรย เช่น ช้าไปต๋อย กะดี้กะด้า เล่นจ้ำจี้ หรือไม่ก็มาจากภาษาต่างประเทศแบบตรงๆ เช่น รับจ๊อบ ดิสเครดิต โกอินเตอร์ ฯลฯ
ขณะที่คำแสลงยุคใหม่ๆ มีข้อน่าสังเกตว่า หลายคำมาจากอิทธิพลของภาษาญี่ปุ่น และเกาหลี มาประยุกต์คำแบบน่ารักๆ และหลายคำมาจากภาษาทาง MSN โดยเป็นคำเฉพาะของผู้ส่งสารกับผู้รับสาร ซึ่งมักจะหาคำใหม่ๆ มาสะท้อนถึงอารมณ์ ความรู้สึก โดยผ่านการพิมพ์เป็นข้อความ และมักดัดแปลงเป็นคำสั้นๆ มาสนทนากัน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสื่อสาร ซึ่งมีรูปคำที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เน้นคำโดดๆ สั้นๆ บางคำไม่มีความหมายแต่เป็นคำที่เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม เช่น อ่ะนะ, หงิ, เด่ะ, จิ่งดิ ฯลฯ
ที่สำคัญ ภาษาแสลงยุคใหม่ๆ มักจะมาจากกริยาการดัดเสียงเล็กๆ ของวัยรุ่น เช่น คำว่า ใช่ไหม เปลี่ยนเป็น ชิเมะ ชิป่ะ หรือ จริงเหรอ เป็น จิง-ง๋อ (ลากเสียงยาวๆ) ซึ่งมีหลายคำที่กลุ่มวัยรุ่นได้นำมาใช้จนกลายเป็นลีลาภาษานิยมของกลุ่มวัยรุ่น
พลังสื่อสารวัยโจ๋นั้นสำคัญไฉน
ใครจะว่าคำแสลงเหล่านี้สร้างความวิบัติให้ภาษาไทยอย่างใดก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาษาเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อกระบวนการคิด โดยเฉพาะการสื่อสารทางการตลาดยุคใหม่ๆ ที่เจ้าของแบรนด์และสินค้าจำเป็นศึกษาและเรียนรู้ เพื่อเป็นบันไดในการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่
ดูเหมือนว่าการตลาดยุคนี้ ถ้าสินค้าใดโหยหากลุ่มวัยรุ่น วัยโจ๋ โดยไม่มีคำกระแทกใจวัยสะออนเหล่านี้มาใช้ ในกระบวนการสื่อสารทางการตลาด ถือว่า เชย! ตกกระแสไปโดยไม่รู้ตัว และอาจถึงขั้นไม่ประสบผลทางการตลาด
“อาจไม่ใช่ประเด็นใหญ่ทางการตลาด แต่ภาษาแสลงใหม่ๆ เหล่านี้ ถือเป็น Emotion อย่างหนึ่งทางการสื่อสาร ถ้านำมาใช้ทางการตลาดก็อาจจะให้เกิดความน่าสนใจ สะท้อนถึงความทันสมัยในสินค้าและการสื่อสารไปยังกลุ่มวัยรุ่นได้ผลวิธีหนึ่ง” ผศ.ดร.สมเกียรติ เอี่ยมกาญจนาลัย อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หัวหน้าหลักสูตร MS in Marketing จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็น
ดังนั้นการใช้คำแสลงมาสื่อสารทางการตลาด ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่เจาะถึงกลุ่มเป้าหมายประเภทกลุ่มเด็กวัยรุ่น รวมทั้งเป็นวิธีทำโปรดักส์ให้เกิดความทันสมัย ไม่เชย ทันกระแส ถ้านำคำเหล่านี้มาใช้ในการสื่อสารทางการตลาด
ปัจจุบัน คำแสลงวัยรุ่น ในเชิงธุรกิจถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในแง่การทำธุรกิจการตลาดที่เน้นเป้าหมายถึงกลุ่มวัยสะออน ไม่ว่าจะเป็นเพลงวัยรุ่น หรือในการทำตลาดศูนย์การค้าสไตล์เด็กแนว, โปรดักส์บัตรเครดิตที่เน้นเจาะวัยใส ต่างเห็นความสำคัญของพลังเหล่านี้ หลายแห่งต่างเรียกกันว่า เป็น “กลยุทธ์การสื่อสาร” ที่จำเป็นต้องมีหากอยากเข้าถึงไลฟ์สไตล์เด็กวัยรุ่นจริงๆ
ลีลาภาษาเพลงแบบวัยซ่าส์
…ตอนเจอกันใน M ทำเป็นไม่ทัก อยากโดนใช่ม้า คิดถึงเธอเลยโทรโทรหา แค่ตีสองกว่า ไม่ได้ใช่ม้า แอบบจีบใครไม่ว่าจับได้อ่ะนะ …นี่คือ เนื้อหาเพลง วาซาบิ เพลงยอดฮิตของ โฟร์-มด ที่ถือเป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึง ความสำคัญของการใช้คำแสลง ภาษาวัยรุ่นมาเป็นภาษาเพลง
“การเจาะตลาดเพลงวัยรุ่น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตเพลงต้องนำเอาภาษาของคนกลุ่มนี้มาอยู่ในเนื้อเพลง เพื่อเข้าถึงผู้ฟังกลุ่มนี้” สุทธิพงษ์ วัฒนจัง กรรมการผู้จัดการ ค่ายเพลงเมโลดิก้า ในเครืออาร์เอส อธิบาย
คำว่า “เข้าถึง” อาจฟังดูง่าย แต่ในทางปฏิบัติการทำตลาดธุรกิจเพลงวัยรุ่น ค่ายเพลงในปัจจุบัน นอกจากจะสำรวจพฤติกรรมของวัยรุ่นในยุคใหม่ว่า เขานิยมทำอะไรแล้ว ภาษาการสื่อสารของเขาก็ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องศึกษา และต้องเก็บบันทึกไว้เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการแต่งเพลง
อย่างเช่น เพลงวาซาบิ จะเห็นชัดว่า แม้แต่ชื่อเพลง ที่แสดงถึงความเผ็ดร้อนแบบเครื่องปรุงรสวาซาบิของญี่ปุ่น เนื้อเพลงได้สะท้อนถึงวัยรุ่นในยุคนี้อย่างแท้จริง ทั้งพฤติกรรม การเล่น MSN พฤติกรรมการใช้มือถือ และที่สำคัญภาษาเพลงล้วนมาจากภาษาที่วัยรุ่นคุยกันจริงๆ
วาซาบิ นั้นคงไม่ใช่บทเพลงแรกและเพลงสุดท้าย หากแต่เป็นจุดหนึ่งที่บ่งชี้ว่า พจนานุกรมฉบับวัยโจ๋ มีพลังขับเคลื่อนที่น่าสนใจ และเป็นการสื่อสารทางการทำธุรกิจอย่างหนึ่งของกลุ่มวัยรุ่นยุคนี้
โอ หรือ เอ้าท์ ถามหนูซิค่ะ !
ความเป็นวัยรุ่น ไม่ได้มาแค่การแต่งตัว เสื้อผ้า หน้าผม แลเพลงเท่านั้น แต่คำพูดใหม่ๆ ที่คนเลยวัยรุ่นฟังแล้วงง แต่สำหรับองค์กรธุรกิจต่างๆ อาจเป็นเรื่องจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ เช่นเดียวกับทีมงานของเคทีซี – บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บัตรที่ได้ชื่อว่าแบ่งกลุ่มเป้าหมายได้ละเอียดยิบ และหนึ่งในกลุ่มนั้นก็คือกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียน ที่เคทีซีเข้าไปเตรียมความพร้อมเพื่อการใช้บัตรในอนาคตไว้ด้วยบัตร 24
ไม่เพียงแค่กลุ่มวัยรุ่น แต่การทำตลาดแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ส่วนสำคัญที่จะสื่อสารให้ได้ผล ภาษาที่ใช้จะต้องให้ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นบัตรคนเมืองอย่างบัตร I am กับการใช้ภาษาสื่อสารที่ไม่เปิดเผยตัวตน ภาษากอล์ฟ ดำน้ำ หรือบัตรเพื่อกิจกรรมเฉพาะด้านอื่นๆ
“ภาษาจะเป็นตัวสื่อไปถึงกลุ่มและทำให้เราเข้าใจว่าคนแต่ละกลุ่มเขาคุยอะไรกัน เพื่อหาสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับบัตร” ทีมอีอาร์ (ER-Employee Relation) ซึ่งใกล้ชิดกับกลุ่มวัยรุ่นที่สุดในเคทีซีในฐานะผู้ดูแลโครงการนักศึกษาฝึกงาน Learn&Earn@KTC ร่วมกันให้ความเห็น
แต่ถ้าเป็นกลุ่มวัยรุ่นโดยตรง ที่ผ่านมาทีมงานเคทีซีอาศัยอัพเดตจากนักศึกษาฝึกงานในโครงการ Learn&Earn ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ทำให้คนทำงานได้เห็นความเคลื่อนไหวของเด็กวัยรุ่นว่าเสพสื่อแนวไหน ฟังเพลง พูดคุยกันอย่างไร
“วันก่อนเรายังงงคำว่า “แอ๊บแบ๊ว” จากกิจกรรมที่ต้องโฟกัสในมหาวิทยาลัย ปกติเราจะคอนเซิร์นเรื่องภาษา แต่ก็จะได้ยินศัพท์แปลกๆ จากเด็กที่ฟังแล้วงง น้องเขาก็อธิบายว่าถ้าจะคุยกับวัยรุ่นต้องใช้คำแบบนี้ น้องๆ จะเป็นกลุ่มที่ช่วยอัพเดตที่ดี ทำให้เราสามารถนำไปใช้ได้จริงในการคิดกิจกรรมการตลาดกับลูกค้าได้ไม่ตกเทรนด์ นอกจากเรื่องภาษาก็ยังรวมถึงสถานที่ เสื้อผ้า แบรนด์สินค้า ที่กำลังเป็นที่นิยมอื่นๆ ด้วย”
หากโฟกัสเรื่องภาษาโดยตรง ทีมงานเคทีซียอมรับว่า แรก ๆ ยังไม่กล้าที่จะหยิบภาษาที่นิยมในหมู่วัยรุ่นมาใช้โดยตรง แต่จะเน้นใช้คำที่เป็นกลางๆ สื่อสารให้ตรง พูดอ่านเข้าใจโดยไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม แล้วสร้างความน่าสนใจจากการคิดคำ กระทั่งเริ่มมีการรวบรวมเพื่อจัดพิมพ์พจนานุกรมทำให้มั่นใจว่าภาษาเหล่านั้นใช้ได้จริง สามารถสื่อความหมายที่ตรงกันได้
“ก่อนหน้านั้นกลัวคนอ่านไม่เข้าใจ เราเลยต้องหยุด ยังไม่แตะ แต่พอมีการรวบรวมเป็นพจนานุกรมกลายเป็นเครื่องการันตีให้เราว่าสามารถใช้ได้ ซึ่งคำเหล่านี้จะมีข้อดีที่ความเด่นและน่าสนใจ”
เช่นนี้แล้วใครที่เป็นลูกค้าเคทีซี นับจากนี้ก็เตรียมตัวรับสื่อผ่านภาษามันส์ๆ เหล่านี้ได้ ตามสื่อต่างๆ ทั้งทาง What’s up จดหมายข่าวที่ส่งไปพร้อมรายการเดินบัญชีในแต่ละเดือน Hot Offer โปรโมชั่นพิเศษ ซึ่งทีมงานหมายมั่นไว้แล้วว่าจะต้องหยิบคำเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ให้กับกลุ่มลูกค้าแน่นอน
สื่อสารฉบับ“เด็กหยาม”
“ถ้าต้องดึงวัยรุ่นมาช้อป จับจ่าย ไม่เพียงลดแลกแจกแถมเท่านั้นที่ดึงดูดใจ แต่ถ้าอยากให้เป็นขาช้อปประจำร้าน ประจำห้างต้องพูดภาษาเดียวกับเขาด้วย นี่คือกลยุทธ์สำคัญที่สยามเซ็นเตอร์ แหล่งรวมเด็กวัยรุ่น และนักช้อปกำลังทำอยู่”
มยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านส่งเสริมธุรกิจ บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารสยามเซ็นเตอร์ บอกว่า กว่าจะรู้ว่าเด็กวัยรุ่นต้องการอะไร เทรนด์ไหนที่เขาชื่นชอบ และที่สำคัญเขาพูดภาษาอะไรกัน ก็ต้องผ่านกระบวนการทดสอบ และวิจัย ในรูปแบบ Focus Group เดือนละครั้ง
S’ club News เอกสารแจ้งข่าวสาร กิจกรรม แจกสมาชิกเอสคลับ ที่จำกัดเฉพาะเด็กวัยรุ่นอายุไม่เกิน 22 ปี เป็นสื่อที่สะท้อนอย่างดีสำหรับการใช้ภาษาเฉพาะของชาวเอสคลับ โดยเฉพาะการดูดวง ทำนายชะตาของวัยโจ๋ ที่นอกจากเน้นความแม่นยำในหลัก
โหราศาสตร์แล้ว แต่จุดเด่นสำคัญของคอลัมน์ทำนายดวงนี้ คือ ลีลาภาษาดูดวงฉบับวัยรุ่นโดยแท้ (อ่านตัวอย่างทำนายดูดวงประกอบ)
กระบวนการสร้างเนื้อหา คอลัมน์ทำนายดวงของ S’ club News เจ้าของคอลัมน์ ได้ให้ลูกสาว ซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่น มาปรับแต่งภาษาให้เป็นภาษาวัยรุ่น ก่อนส่งมาตีพิมพ์ ซึ่งโดยลักษณะการใช้ภาษาของ S’ club News นี้ เป็นแบบเดียวกันชนิดแนบแน่นกับภาษาอินเทอร์เน็ตที่แชตกันอยู่ในโลกออนไลน์
…จะด้วยวัฒนธรรมภาษาที่เปลี่ยนผ่านจากยุคเก่า สู่ยุคใหม่ ใดๆ ก็ตาม แต่จุดเปลี่ยนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง คือ การก่อเกิดของคำใหม่ๆ ภาษาสนทนาฉบับวัยรุ่นใหม่ๆ ที่ไหลบ่าต่อการรับรู้อย่างไม่หยุดยั้ง
ข้อสรุปทางการตลาดในการนำภาษาวัยรุ่นมาใช้
1. สื่อสารเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้ชัดเจน เหมือนเป็นแรงกระตุ้นความสนใจให้คนกลุ่มนี้
2. ทำให้แบรนด์หรือสินค้า ดูทันสมัย หากนำภาษาวัยรุ่นมาใช้ แต่โปรดอย่าลืมว่า สินค้าที่จะคำเหล่านี้มาใช้ต้องเป็นสินค้าสำหรับวัยรุ่นจริงๆ
3. ภาษาวัยรุ่นบางคำสะท้อนถึงพฤติกรรมของกลุ่มคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปใช้ในด้านครีเอทีฟทางการตลาดใหม่ๆ ได้
“แอ๊บแบ๊ว” ปฏิกิริยายอดฮิต
“แอ๊บแบ๊ว” เป็นเหมือนอาการชนิดหนึ่ง ซึ่งจะนิยมกันในกลุ่มหญิงช่วงแรกสาว ไปจนถึงกลุ่มเพศที่สาม โดยอาการแอ๊บแบ๊วสังเกตได้จาก
1. ดวงตา จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ กลมบ้องแบ๊ว น่ารัก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของแอ๊บแบ๊ว
2. ชอบทำแก้มป่อง และที่สำคัญ เวลาพูด มักจะชอบดัดเสียงเล็กๆ อู้อี้นิดๆ แล้วก็พูดไม่ค่อยชัด มีคำแปลกๆ แบบใช้ภาษาญี่ปุ่นเข้ามาปะปน เช่น จริงเหรอ เป็น จิ๊ง-ง๋ออออ, ใช่ไหม เป็น ชิเมะ หรือ ชิป่ะ, คือว่า เป็น คิบับ หรือ คิ่แบ๊บ
3. จะมีอุปกรณ์เสริมความบ้องแบ๊ว คือเครื่องสำอางเกี่ยวกับดวงตา อาทิ ที่ดัดขนตา มาสคาร่า หรือคอนแทคเลนส์
ตัวอย่างคำแสลงยอดฮิต ฉบับวัยโจ๋
คำแสลง ความหมาย
แอ๊บแบ๊ว กิริยาอาการแบบไร้เดียงสา
เด็กแวนซ์ กลุ่มเด็กที่ชอบซิ่งจักรยานยนต์ แวนซ์ มาจากเสียงบิดเครื่องจักรยานยนต์
เอ้าท์ เชย ล้าสมัยตกกระแส
อ่ะนะ เป็นอย่างงั้นเหรอ (เป็นภาษาสนทนาโต้ตอบในการเล่น MSN)
ตู้, อึบ, ทึก เด็กเรียน
แกสบี้ แก่มาก
เกิร์ป โง่
กิ๊บ เจ๋ง
แท่ม พูด
ห่าน สาวสวยมากๆ
โจ๊ะ สนุกสนาน
จิ๊บ ดีใจ หรือเวลาเจอหนุ่มหล่อ
จีว่า เวลาเห็นใครแต่งตัว หรือ แสดงออกเกินความจำเป็น
ปาดหน้าเค้ก ถูกเหยียดหยาม
สตรอเบอร์รี่ ตอแหล
สลัมบอมเบย์ ต่ำสุดๆ
เซี๊ยะ ยุยง
ชิซูกะ ตะกละ กินไม่เลือก
เหนี่ยว ต่อย ทำร้ายร่างกาย ชอบใช้ในประโยคที่ว่า “เดี๋ยวปั้ดเหนี่ยวเลย”
ไปล้างมุ้งลวด ไปไกลๆไม่ไหวแล้ว
เด่ะ จริงเหรอ
โออิชิ เกิดอาการชา ในขณะที่เจอเหตุการณ์ไม่ดี
โอ้ว! จอร์จ มันยอดมาก คำอุทาน ในอารมณ์ที่รู้สึกแปลก หรือ เจอเหตุการณ์ดีๆ
พระเจ้าช่วยกล้วยทอด คำอุทานเวลาประหลาดใจ
เพียวเค็ม คนที่งกมากๆ
ออนป้า แสดงบุคลิกเป็นป้าสู่สายตาประชาชน
หรูไฮ ดูดีมีฐานะ
เบๆ ง่ายๆ ทำได้อย่างสบายๆ
สลิ่ม สีสันเสื้อผ้าที่ตัดกันมากเช่น เขียวกับชมพู
สวยเป๋อ ผู้หญิงสวยแต่ซุ่มซ่าม
ด๋อย เชยๆ เสี่ยวๆ
กิ๊ก มากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่แฟน
กั๊ก แฟนของกิ๊ก
โอ มาจากคำว่า โอเค แปลว่า ตกลง
ชิลๆ มาจากราศัพท์ chill แสดงถึงอาการสบายๆ เรื่อยๆ
ปู๊ แฟน
ซับโบร๋, ซับแหมน หวัดดี
โปร คนที่เราแอบชอบ
ตัวอย่างการใช้ภาษาแสลง คอลัมน์ดูดวง ในเอกสาร S’ club News
วังเฮอะ พวกยืมกะตางค์ จะลืมคืน…น๊ะจะบอกให้ เดี๋ยวหาว่าไม่เตือน ถึงจะยืมของ…ก็เฮอะ…คืนยาก..ส..ส …… เดือนนี้หงุดหงิด…มู๊ดดี้ มัก..มัก.. ทำอะไรก็ร่ำไร่ซ้ำซากเบื่อเซ็ง…ชะมัดเล๊ย… บอกก่อน เที่ยวทะเลดีฝ่าจะด้ายหายเครียด เผื่อเจอกิ๊กใหม่ อ้าว…มีนะเดี๋ยวหาว่าไม่บอก รักเก่าน่ะมันเจ็บ…ไม่หยอก คิดมาก ยังงาย ก็ไม่ Work อ่ะ