เรื่องถนัดของนานมีบุ๊คส์

เป็นทีของเด็กและเยาวชนไทยบ้าง หลังจากปล่อยให้หนุ่มสาวๆ ได้อินกันสุดๆ กับเทรนด์แฟชั่นเกาหลีที่กำลัง ”ทะลัก” เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยฝีมือการอิมพอร์ต และ ”ตั้งชื่อ” หมวดหนังสือใหม่ของ ”นานมีบุ๊คส์” ในชื่อ “การ์ตูนความรู้” ที่ตรียมเข็นออกมาไม่ต่ำกว่า 30 เล่ม ย้ำจุดยืนตลาดหนังสือเยาวชนและการศึกษามาตลอดระยะเวลา 15 ปี

ด้วย “นิสัยรักการอ่านของคนไทย” ที่ยังไม่มาก การนำเสนอ ”ความรู้”ในรูปแบบใหม่อย่าง ”การ์ตูนเกาหลีสไตล์CG” จึงสามารถเรียกความสนใจจากเด็กและเยาวชนได้เกินคาด ทำรายได้สูงสุดในบรรดาหมวดหนังสือของนานมีบุ๊คส์ ณ ตอนนี้

ตามมาติดๆ ด้วยกลุ่มหนังสือ ”ความรู้วิทยาศาสตร์ ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด” ด้วยรูปแบบการนำเสนอใหม่ๆ เช่น ภาพหน้าปกของหนังสือที่ว่าด้วยลิ้น จะมี ”ลิ้นเสมือนจริง” ให้ผู้อ่านได้สัมผัส เพื่อดึงให้เยาวชนหันมา ”สนใจ” การอ่าน ก่อนที่จะให้ความรู้ ซึ่งนับเป็นมวยถนัดของนานมี

สุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด เล่าว่า “จนถึงปัจจุบัน นานมีฯ ได้ผลิตหนังสือไปกว่า 1,575 เรื่อง เราถนัดทำหนังสือระยะยาวที่ลงทุนครั้งเดียวขายได้นาน ไม่ถนัดทำหนังสือ Intrend แต่เดิมเน้นกลุ่มอายุ 9-15 ปี แต่จากนี้จะขยายเป็นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่”

จุดเปลี่ยนสำคัญอันทำให้นานมีบุ๊คส์โตแบบก้าวกระโดด คือการตัดสินใจซื้อลิขสิทธ์ Harry Potter เมื่อปี 2543 ความสำเร็จแบบเกินคาดหมาย ทำให้ครึ่งปีหลังนี้ สุวดีตั้งงบฯ ซื้อลิขสิทธิ์มากขึ้น โดยเตรียมงบฯ ไว้ 60 ล้านบาท

“อย่าง Harry ขายดี ก็ไม่คิดจะซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมทำนองเดียวกับ Harry อีก เพราะเจ้าอื่นๆ ย่อมสั่งเข้านวนิยายประเภทนี้ตามเข้ามามาก เราหันมาเน้นกลุ่มใหม่ๆ เช่น ล่าสุดเจาะกลุ่มเด็กผู้ชาย ด้วยวรรณกรรมเยาวชนแนวสืบสวนสอบสวนชื่อ Darren Shan ซึ่งขายดีที่สุดในจีน” สุวดีเผยทิศทางธุรกิจ

นานมีบุ๊คส์จะอาศัยประเภทสำนักพิมพ์ทั้ง 7 แห่งที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2549 เป็นตัวตั้งในการทำตลาดเชิงรุก เพื่อตอบสนองการอ่านที่หลากหลาย และเพิ่มความถี่ในการจัดกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น จากปกติเปิดตัวหนังสือไตรมาสละ 1 ครั้ง ขยับเป็นเฉลี่ย ”เดือนละ 1 งาน”

สำหรับเล่มที่ต่อคิวไป คือ “Septimus ปาฏิหาริย์หมายเลข 7” แม้จะยังไม่สร้างตำนานทุบสถิติเทียบเท่ากับ Harry Potter ที่ขายได้ 200,000 เล่มต่อตอน แต่ก็สามารถออกตัวได้ดีที่ยอด 30,000 เล่มสำหรับภาคแรก

นโยบายหลักหลังเข้าสู่ปีที่ 16 ของนานมีบุ๊คส์ ยังคงเป็นการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาแปล คิดเป็นสัดส่วน 80% ทว่าปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนนักเขียนไทยให้มากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 20% เป็น 30%เพื่อสร้างสมดุลและมุมมองแบบไทยให้แก่งานสิ่งพิมพ์

ปัจจุบัน Segment ที่ตลาดหนังสือไทยยังขาดแคลนอยู่มาก คือ “หนังสือที่ให้ข้อมูลเชิงลึก” สุวดีให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า “ถ้าเทียบกับประเทศที่ใช้ภาษาของตัวเองในเอเชีย เราแพ้แม้แต่เวียดนาม… เราด้อยว่าทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพการอ่าน”
Did u know Harry Potter เล่ม 1-6 ทั่วโลกขายได้ 325 ล้านเล่ม ญี่ปุ่นขายได้ 10 ล้านเล่ม ไต้หวันขายได้ 6 ล้านเล่ม ไทยขายได้ 1 ล้านกว่าเล่ม