โชห่วย…ก็สวยได้

การแสวงหา “ดีไซน์” ที่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาอันสั่งสมมานานของ “โชห่วยไทย” น่าจะเป็นทางออกของร้านโชห่วยไทยได้อีกวิธีหนึ่ง เป็นการแก้จุดด้อยในเรื่องของรูปแบบร้านที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

ในฐานะผู้ค้าส่ง แม็คโคร ที่มีโชห่วยเป็นฐานลูกค้าสำคัญ มองเห็นช่องว่างและโอกาสเหล่านี้ จึงสานต่อโครงการ “มิตรแท้โชห่วย” ด้วยการประกวดออกแบบ “ร้านโชห่วยไทย ปี 2550” โดยร่วมมือกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งโครงการนี้นับเป็นการผูกมิตร ยืนอยู่บนฝั่งเดียวกับโชห่วย ท่ามกลางกระแสต้านค้าปลีกต่างชาติที่รุนแรง

จากโจทย์ที่กำหนดให้สร้างสรรค์ไอเดียด้วยงบไม่เกิน 300,000 บาท “ทีมถูกใจ” ใช้งบเพียง 201,700 บาท ต่อพื้นที่โชห่วย 4×4.5 เมตร แม้ดีไซน์ของ “ทีมถูกใจ” จะสวยน้อยกว่าทีมอื่นๆ แต่ทว่าเบื้องหลังของดีไซน์ที่สอดรับกับฟังก์ชันทำให้ชนะใจคณะกรรมการได้ คว้ารางวัล 50,000 บาทมาครอง ได้เป็นผลสำเร็จ

ทั้งนี้ร้านจากแนวคิดของทีมถูกใจ จะถูกนำไปใช้เป็นร้านต้นแบบสำหรับโชห่วยที่เป็นสมาชิกของแม็คโครต่อไป โดยขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสมาชิกแต่ละรายเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันแม็คโครมีสมาชิกทั้งหมด 1.8 ล้านร้าย คิดเป็นร้านโชห่วยประมาณ 350,000 ราย

เบื้องหลังไอเดียแห่งความสำเร็จ

ทีมถูกใจ นำโดย ปิ่นกมล วิเลขะวิไล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เจ้าของงานออกแบบ ใช้เวลาศึกษาข้อมูลตามร้านโชห่วยเมื่อครั้งไปเที่ยวแถวประจวบคีรีขันธ์ และตามร้านโชห่วยแถวท่าช้าง ท่าพระจันทร์

เธอบอกว่า ปัญหาและข้อคิดที่ได้มีหลายจุดที่เหมือนกัน โดยพบว่าลักษณะที่เป็นจุดด้อย คือ ร้านไม่เป็นระเบียบ ข้าวของกระจัดกระจายไม่เป็นหมวดหมู่ วางสินค้าอุปโภครวมกับสินค้าบริโภค สินค้าเต็มไปด้วยฝุ่น อีกทั้งลูกค้าไม่สามารถเลือกของเองได้ ดีไซน์ไม่ดึงดูด ไม่น่าสนใจเหมือนร้านสะดวกซื้อ แถมยังแปะป้ายโฆษณาเลอะเทอะ ไม่เป็นที่เป็นทาง

ขณะที่จุดเด่น คือ ลักษณะของความสัมพันธ์ของลูกค้ากับเจ้าของร้านที่มีมากกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป และสินค้าที่ขายได้ดีและรวดเร็วคือ น้ำ ขนม เป็นต้น

“ดีไซน์ไม่มีอะไรมาก แต่เน้นฟังก์ชันเป็นหลัก”

แนวคิดฟื้นโชห่วย

“Lifestyle” คือแนวคิดที่ทีมถูกใจใช้ในการออกแบบโชห่วยรูปแบบใหม่ เป็น Lifestyle ที่ Back to origin ต้นกำเนิดของโชห่วยโบราณ ที่คำนึงพฤติกรรมของลูกค้าเป็นสำคัญ

ราวแขวนของ ถูกนำมาใช้ ติดตั้งตรงบริเวณหน้าร้าน แขวนสินค้าที่ขายดี ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อได้สะดวกและเห็นได้เด่นชัด

การดื่มเก๊กฮวยหน้าร้าน การนั่งพูดคุยกันเอง หรือแม้แต่กับเจ้าของร้านตามประสาคนคุ้นเคย ถูกนำมาแนวทางในการจัดวางแปลน โดยมีโต๊ะและเก้าอี้ขนาดเล็กบริเวณหน้าร้านสำหรับการดื่มน้ำ (สินค้าขายดี) และพูดคุย

ตู้แช่เย็น ถูกจัดวางอยู่บริเวณด้านหน้าเพื่อสะดวกต่อการเลือกซื้อสินค้าเองของลูกค้า

ด้วยเหตุที่ร้านโชห่วยจะเป็นร้าน Open Air ฝุ่นเจ้าปัญหาที่ทำให้ร้านโชห่วยไม่น่าใช้บริการ ถูกแก้ไขโดยการเพิ่มส่วนเก็บของในบริเวณหลังชั้นวางของที่มีอยู่แล้ว โดยมีการเพิ่มบานปิดเปิดเพื่อกันฝุ่นต่างๆ ทั้งยังเป็นจุดที่ติดป้ายโฆษณาต่างๆ ได้อย่างไม่รกหูรกตาอีกด้วย ขณะที่ของกิน ของใช้ถูกจัดเป็นหมวดหมู่บนชั้นวางซึ่งตั้งประชิดผนังทั้ง 2 ด้าน

บานเอี๊ยม ช่วยทำให้ร้านโชห่วยดูสวยงามและคงสไตล์แบบโบราณได้อย่างน่าชื่นชม แม้จะเป็นบานเอี๊ยมหลอกๆ แต่ก็ช่วยบังตาจากประตูเหล็กได้ดี อีกทั้งยังดีไซน์ให้เป็นพื้นที่สำหรับวางหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ใช้สอยจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

ภายในร้านใช้ชั้นวางอเนกประสงค์ทั้งหมด เนื่องจากราคาถูก มีคุณภาพ และทำสีสันได้ตามต้องการ โดยมีราคา 2,000-10,000 บาทต่อชั้น ชั้นวางเพิ่มล้อเลื่อนเพื่อจัดเก็บเข้าด้านข้างและเพิ่มที่ใช้สอยสำหรับจอดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มพื้นที่ในการเข้าเลือกซื้อของลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้สึกสะดวกและไม่อึดอัด

วัสดุที่นำมาใช้ในการตกแต่ง ใช้ลายไม้สีน้ำตาล ดูอบอุ่น และเหมาะกับการเป็นทั้งร้านและที่อยู่อาศัย เพราะเกือบทั้งหมดของโชห่วยเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของร้านด้วย

หากเจ้าของโชห่วยได้ไอเดียที่เพิ่มมูลค่าและสอดรับกับพฤติกรรมลูกค้าแล้ว ก็สามารถนำไปปรับใช้กับร้านเดิมที่มีอยู่แล้วของตนเองได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องตกแต่งใหม่ทั้งหมด นับเป็นทางเลือกที่ผ่านการวิเคราะห์จากนักศึกษาผู้คลุกคลีและตีโจทย์อย่างเข้มข้นทั้งยังได้รับการการันตีจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้วว่า ดีไซน์ของโชว์ห่วยแบบนี้แม้จะไม่หวือหวา แต่สามารถเป็นความหวังอันเรืองรองของโชห่วยไทยได้