“Brexit โดดเดี่ยวงานดีไซน์”

เรื่องโดย : ดร.กุลเดช สินธวณรงค์

หลังจากที่ประเทศอังกฤษตัดสินใจลงประชามติออกจาก EU (European Community) หลังจากอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาสี่สิบกว่าปีต่อไปนี้อะไรๆก็คงไม่เหมือนเดิมครับ

อังกฤษเป็นประเทศที่มีนโยบายส่งออกทางวัฒนธรรมมาตลอดหลายร้อยปีและทำกันอย่างเป็นรูปเป็นร่างมีแผนแม่บททางการตลาดระดับประเทศและภูมิภาคไปทั่วยุโรปมานานแล้ว

ตัวอย่างที่เห็นชัด ก็ตั้งแต่สมัยยุค 90’s ที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ สร้างแคมเปญการตลาดที่ตั้งระดับประเทศที่เรียกว่า ‘Cool Britannia’ ซึ่งเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมงานดีไซน์ที่แตกต่างนำเสนอออกมาเป็นการสื่อสารการตลาดที่ทรงพลังอยู่หลายปี

หนึ่งในผลงานที่ออกมาจากการสนับสนุนตลาดสร้างสรรค์ครั้งนั้นก็คือ Spice Girls วงเกิร์ลกรุ๊ปรุ่นแรกๆ ที่เรารู้จักกันดี หรืออุตสาหกรรมหนังของอังกฤษที่ทุกวันนี้ส่งออกนักแสดงอังกฤษไปยังฮอลลีวูดกันว่าเล่น และในยุคต่อมาของ กอร์ดอน บราวน์ ที่สร้างอังกฤษให้เป็น Global Creative Partnership สร้างพันธมิตรกับยุโรปและทั่วโลกแบบลดกำแพงภาษีและให้ทุนการตั้งธุรกิจออกแบบกับดีไซเนอร์จากอังกฤษ

1_brexit

หรือแม้แต่ท่าน เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่กำลังจะพ้นแหน่งด้วยการลาออก ท่านยังสนับสนุนอุตสาหกรรมการออกแบบและงานดีไซน์ด้วยการลดภาษีให้สถาปนิกอิสระ และคนในวงการออกแบบอิสระ (Freelance) ลงถึง 70% โดยเฉพาะการส่งออกงานออกแบบทั้งรูปแบบของสินค้าและบริการไปยังยุโรป เรียกว่าเชียร์กันเต็มที่ให้อังกฤษเป็นตักศิลาในฐานะผู้สร้างหรือผู้ออกแบบให้เป็นศูนย์กลางของวงการการออกแบบระดับโลกอย่างไรก็ยังอยากให้เป็นแบบนั้น

2_brexit

สถาปนิกระดับโลกผู้ล่วงลับอย่าง ZahaHadid ย้ายตัวเองมาอยู่อังกฤษและได้รับการฟูมฟักที่ดีในบรรยากาศการเรียนรู้ที่รัฐบาลและสังคมเกื้อหนุน และที่สุดแล้วไม่ได้ย้ายไปไหนเลย สร้างให้บริษัทออกแบบของเธอกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะทางความรู้และงานออกแบบระดับโลก ส่งออกบริษัทของเธอไปเปิดสาขาและสร้างผลงานไว้ทุมมุมโลก ส่วนหนึ่งการด้วยนโยบายการตลาดระดับประเทศแบบนี้แหละครับ

ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในวงการดีไซน์ในอังกฤษหลังจากนี้ล่ะ? เมื่อ 98% ของคนในวงการดีไซน์ของอังกฤษโหวตว่าไม่อยากออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจริงๆ แล้วเรื่องนี้คาดเดาไม่ยากเลยครับ

ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าอังกฤษเป็นประเทศที่แข็งแกร่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเรื่องกฏหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาการที่ยังอยู่ในสหภาพยุโรปแปลว่ายังมีสิทธิมีเสียงในการร่วมป้องกันตัวเองในเรื่องลิขสิทธิ์ร่วมกัน

เมื่อแยกออกมาก็คือ ต่อไปต้องป้องกันสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของดีไซเนอร์กันเอาเอง ค่าใช้จ่ายของบริษัทออกแบบและสถาปนิกจะพุ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย (ทุกวันนี้ก็แทบแย่อยู่แล้ว) ที่น่าเป็นห่วงคืองานออกแบบเป็นเรื่องของงานความคิดสร้างสรรค์ซึ่งในยุคปัจจุบันความคิดและไอเดียดีๆมันควบคุมกันไม่ได้ด้วยโลกที่ไร้พรมแดนกฏหมายไม่เข้มแข็งเมื่อไหร่อะไรๆ ก็แย่

3_brexit

บริษัทออกแบบเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดังอย่าง Tom Dixon ที่คนไทยรู้จักกันดียังออกมายอมรับว่าทุกวันนี้ออกแบบในอังกฤษแต่ผลิตในยุโรปเมื่อมีกำแพงภาษีและกฏเกณฑ์ต่างๆ เข้ามาต่อไปอะไรๆ มันก็แพงขึ้น

ทีนี้ถ้าเรามองย้อนกลับมาทางฝั่งยุโรป แม้แต่รถแบรนด์เยอรมันยี่ห้อดังอย่าง มินิ ก็ออกแบบโดยนักออกแบบชาวอังกฤษ ออกแบบในประเทศอังกฤษ แต่สร้างในโปแลนด์ แล้วพอแยกออกมา คราวนี้ก็วุ่นวายท่วมหัวไปด้วยกฏเกณฑ์และงานเอกสารล่ะครับ (ทุกวันนี้ไม่มีดีไซเนอร์คนไหนชอบงานจุกจิกประเภทนี้)

ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ creative industry สิ่งที่อังกฤษส่งออกไปยังยุโรปมากที่สุดคือความสามารถ หรือ talent ของดีไซเนอร์ครับ สถาปนิกดีไซเนอร์ของอังกฤษออกแบบเองโครงการต่างๆ เอง สินค้าต่างๆ เอง เสียภาษีเองในเครือประเทศสหราชอาณาจักรแค่ 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 70% ส่งออกไปยุโรป และต่อเนื่องไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เมื่อการเคลื่อนย้ายดีไซเนอร์เก่งๆ ไปทำงานยังที่ต่างๆ มีอุปสรรคใหม่เรื่องภาษีและโครงสร้างทางการเงินแน่นอนผลกระทบคือราคาที่สูงขึ้นอัตลักษณ์ทางการตลาดคุณค่าของแบรนด์อาจจะไม่ได้ลดลงแต่ค่าใช่จ่ายในการสื่อสารทางการตลาดที่ต้องเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำให้สินค้างานดีไซน์ของอังกฤษยังคงมีความเป็นอังกฤษจะสูงขึ้นมากเพราะที่สุดแล้วก็เราๆ ท่านๆ ผู้บริโภคจะเป็นผู้จ่ายนะครับ

มองมุมนึง งานดีไซน์ ก็ไม่ต่างจากธุรกิจทั่วไปในโลกปัจจุบัน ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการผสมผสานที่ดีทางความคิด อยากจะเล่าให้ฟังว่าดีไซเนอร์ระดับเซียน แบรนด์ดีไซน์ระดับมาสเตอร์ที่อยู่ในอังกฤษมาจากมหาวิทยาลัย หรือได้รับการบ่มเพาะทักษะความรู้และประสบการณ์ทำงานมาจากหลายๆ ประเทศในยุโรปทั้งนั้น การที่อังกฤษตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปครั้งนี้ไม่ได้แค่โดดเดี่ยวตัวเอง แต่เป็นการโดดเดี่ยวดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่มีศักายภาพในการสร้างแบรนด์ของอังกฤษอีกด้วย เพราะต่อไปทำอะไรก็ยาก ทั้งกฏเกณฑ์ครั้งหนึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันและช่วยเหลือ วันหนึ่งกลับกลายเป็นกีดกันและไม่สนับสนุน

คิดไปคิดมาก็นึกถึงเรื่องวิชาชีพอิสระใน AEC (Asian Economic Community) เรื่องแบบนี้คล้ายๆ กับสิ่งที่กำลังเกิดแถวบ้านเรานะครับ สถาปนิก ดีไซเนอร์ไทยเก่งมากใครๆ ก็รู้ เก่งแบบที่เรียกว่าเปรียบเทียบกันได้หมัดต่อหมัดกับดีไซเนอร์อังกฤษที่ครั้งหนึ่ง (เคย) เข้มแข็ง ด้วยความใจกว้างในสังคมของสหภาพยุโรป โชคไม่ดีที่ 40 ปีผ่านไปเขาย้อนกลับมาใหม่ที่จุดๆ เดิม

ตอนนี้ของเรามัวแต่กลัวคนเข้า (มาแย่งงาน) แถมมานั่งเฝ้าคนออก (ไปทำงาน) กฏเกณฑ์ต่างๆ เยอะเหลือเกิน ไม่แน่นะครับเราอาจจะรับรู้บทเรียนแสบๆ คันๆ จากวงการดีไซน์ของอังกฤษที่เขาเข้าแล้วพัฒนาแล้วออกแล้วก่อนที่เราจะเห็นการตลาดงานดีไซน์ของเราเติบโตแบบจริงจังก็เป็นได้ (ทุกวันนี้สถาปนิก ดีไซเนอร์ไทยเก่งๆ หาได้แถวๆสิงคโปร์ครับ เรียกว่าครึ่งหนึ่งของ talent ของเรา ที่มหาวิทยาลัยของเราผลิตเอง พบได้ทั่วไปในบริษัทต่างชาติ)

pic_profile

Profile
กุลเดช สินธวณรงค์
ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด

ด้วยประสบการณ์ทำงานในการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทดีไซน์มากว่า 15 ปี ซึ่งเป็นการผสมผสานการพัฒนาด้านความรู้ของบริษัท และเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ประสบการณ์ด้านความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาดและองค์ความรู้เพื่อทำให้บริษัทเติบโตและก้าวไปข้างหน้า การเป็นวิศวกร, นักออกแบบ, ครีเอทีฟ และเจ้าของกิจการ จากการสั่งสมการทำงานที่มีความแตกต่างกันทั้งในสายอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง