บทความโดย : ดร.กุลเดช สินธวณรงค์
เผลอแป๊ปเดียวเราก็เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีอีกแล้วนะครับ บางท่านคงรู้สึกเหมือนกับว่ายังไม่ทันทำอะไรเลยก็จะหมดไปอีกปีแล้ว วันนี้ผมจึงอยากเขียนเรื่องอะไรเบาๆ เตือนใจตัวเองและผู้อ่านว่าปีหน้าโซเชียลแพลตฟอร์มที่ปัจจุบันพัฒนาตัวเองจะกลายเป็นกลไกที่สำคัญในเรื่องของการค้าขายนั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อมจะมีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแวดวงของบ้านเราครับ
เริ่มจาก “เฟซบุ๊ก” ที่มีอัตรา conversion rate สูงสุดในการเทิร์นทราฟฟิกทุกรูปแบบจากแพลตฟอร์มตัวเองเข้าสู่การค้าขายยังคงมาแรงเหมือนเดิม เหตุผลหนึ่งคือการที่โซเชียลแพลตฟอร์มนี้รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ สามารถขยายฐานผู้ใช้งานและเพิ่ม engagement ให้มีวงกว้างขึ้นในกลุ่มผู้มีอายุ 50-64 ปี ได้ถึง 72% ตอนนี้ใช้เฟซบุ๊กหรือโซเชียลแพลตฟอร์มอื่นแล้ว เมื่อเทียบกับ 88% ของกลุ่มอายุ 18-29 ปี ถือเป็นตัวเลขที่หายใจรดต้นคือกันทีเดียว
อย่าลืมนะครับ โซเชียลคอมเมิร์ซ ไม่ได้หมายความว่าต้องเกิด transaction บนแพลตฟอร์มอย่างเดียว แต่เป็นตัวแปรที่สร้าง conversion จริงในการตัดสินใจซื้อที่นำพาไปสู่แพลตฟอร์มของเจ้าของสินค้าอื่นก็ได้ 80-85% ของคนที่ตัดสินใจซื้อของบอกว่าโซเชียลคอมเมิร์สมีผลต่อการสร้างสิ่งเร้าทั้งแบบเหตุผลและอารมณ์ให้ซื้อพอๆ กัน
จะสังเกตว่าฟีเจอร์ของเฟซบุ๊กแนว F-Commerce ที่สร้างให้ยูสเซอร์มีหน้าร้านของตัวเองซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2011 นั้น ถึงแม้จะไม่ค่อยได้ผลมากนัก แต่ก็ถือว่าทั้งเฟสบุ๊กแพลตฟอร์มกระตุ้นการขายด้วยฟีเจอร์อื่นได้ดี เช่น เฟซบุ๊กไลฟ์ โชว์สินค้าที่จะซื้อจะขายในทุกสถานที่กันสดๆ ซื้อขายหรือประมูลกันสดๆ เดี๋ยวนั้นเลย และสามารถโอนเงินแลกเปลี่ยนหลักฐานการซื้อขายทางช่องทางอื่นกันได้ทันที เรียกว่าคนไทยประยุกต์เก่งที่สุดเหนือขอบเขตกฎหมายและสรรพพากรที่จะตามทันจริงๆ (ฮา)
มองกันในแง่อื่นบ้าง เหตุผลหลักที่น่าจะทำให้ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” มีอนาคตสดใสคือ Augmented Reality (AR) ซึ่งเทคโนโลยีสามารถทำให้ผู้ซื้อผู้ขายได้เห็นสินค้าหรือบริการแบบเสมือนจริงมากขึ้น ปัจจุบัน iPhone X ได้ใส่ chip พลังสูง (บางตัวผลิตโดย Samsung) เพื่อรองรับแอป AR หนักๆ ได้ อีกหลายค่ายของแอนดรอนด์ก็ตามมาติดๆ อีกไม่นาน Instagram จะสามารถเซลฟี่ผ่าน AR กับเพื่อนหรือเซเลบแบบไม่ต้องอยู่ด้วยกันจริงได้ (ผ่านฟิลเตอร์ที่สร้างขึ้นมา) ลองคิดดูเล่นๆ ว่าตลาด product endorsement จะโตขึ้นอีกขนาดไหน
ตอนนี้ Instagram stories ฟีเจอร์ตัวท็อปมาแรง ที่ถึงจะไปเลียนแบบค่ายอื่นมา แต่ก็ฮอตขึ้นทุกวัน (อย่างรวดเร็ว) เราสามารถถ่ายทอดสด ได้แชตได้คอนเมนต์ ได้โชว์กันทันที แถมมีฟีเจอร์ที่ทำให้วิดีโอหรือภาพสวยงามตามท้องเรื่องเหมือนกับการผลิตหนังแบบมืออาชีพ ขอบอกว่าเจ้านี้มาแรงมากครับ ไอจีในไทยตอนนี้อัตราการใช้งานรายเดือนสูงสุดก็แซงหน้าหลายแพลตฟอร์มไปไกลแล้ว คนเดี๋ยวนี้ชอบอะไรที่สั้น ง่าย แล้วตัดสินใจเองครับ
ปีหน้าจะเป็นปีที่บรรดาเน็ตไอดอลหรืออินฟลูเอนเซอร์จะเหนื่อยนิด เพราะเทคโนโลยีจะใช้ยากขึ้น (ถ้าจะให้ตรงกลุ่ม) บรรดาเอเจนซี่เก่งๆ จะไม่ได้มองแค่มูลค่าของการโพสต์ แต่จะต้องให้ความสำคัญกับความสามารถและรูปแบบในการใช้งานหลากรูปแบบของเจ้าตัวให้ถูกต้องด้วย แปลง่ายๆ คือ ถ้าเน็ตไอดอลหรืออินฟลูเอนเซอร์อยากได้รายได้มากขึ้น (ซึ่งมูลค่าตลาดมากขึ้นแน่นอน) ก็ต้องมีการแข่งขันกันสูง ทั้งตัวเอง (เลเวลอัพตัวเองให้แตกต่าง) และกับคนอื่น (ซึ่งแต่ละคนก็ขยันสร้างตัวเองเป็นไอดอลกันทั้งนั้น)
ทิศทางอนาคตของโซเชียลคอมเมิร์ซ หนีไม่พ้นที่จะกลับมาแรงขึ้นชัดเจนขึ้นในเรื่อง Live streaming จากทุกค่าย เพราะคนเชื่อว่าคอนเทนต์ที่สดคือคอนเทนต์ที่น่าเสพ เมื่อมีการเสพ นักการตลาดก็เชื่อว่าโอกาสจะซื้อมีสูงขึ้น ท่านไหนที่ยังไม่เคยลองฟีเจอร์นี้ทั้งตัวเดิมๆ บน YouTube หรือ FB live ตอนนี้ของใหม่ดีกว่ามาแล้วนะครับทั้ง FB Space และ Instagram LIVE อย่างที่เล่าให้ฟัง ก็ลองลงมาดูและพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดเรื่องการเตรียมคอนเทนต์แบบไลฟ์สดที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นชินกัน (ซึ่งแตกต่างจากการทำคอนเทนต์การตลาดต่างประเทศมาก)
สุดท้าย ไม่ว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร โซเชียลคอมเมิร์ซ ก็คงไม่สามารถขาดหลักการดำเนินเรื่องที่สำคัญเหมือนเดิมได้ ซึ่งก็คือการเชื่อมต่อทั่วทั้งระบบ ซึ่งทำให้เข้าถึง ดูซ้ำ เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นไม่ว่าเวลาของคอนเทนต์จะผ่านไปแค่ไหนครับ
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ.