10 เหตุผลดี ๆ จากค่าบาทแข็ง

เมื่อเจอเรื่องแย่ๆ ถ้าเราปล่อยให้ความรู้สึกด้านลบมาครอบงำก็จะยิ่งแย่กันไปใหญ่ ในเมื่อเหรียญยังมี 2 ด้าน โลกก็มีขั้วบวกขั้วลบ การมองหาด้านดีๆ นอกจากจะส่งผลด้านจิตใจแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้อย่างมีความหวังอีกด้วย ฉะนั้นเจอมุมมองลบๆ จากสถานการณ์เงินบาทแข็งกันมามาก ลองมาศึกษาหามุมดีๆ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกันดูบ้างดีกว่า

1. เป็นโอกาสเรียนรู้ของผู้ประกอบการ
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ส่วนใหญ่มักจะเน้นเรียนรู้ด้านการทำตลาด และการแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเงินบาทกับใคร เรียกง่ายๆ ว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีหรือกำไรเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อน

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายระหว่างประเทศ ต้องหันมาเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อแก้ปัญหาให้กับรายได้ที่ลดลงจากการขายสินค้าเมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง เพราะจากรายได้ที่เคยคาดว่าจะได้ในระดับหนึ่งก็หายวูบไปอย่างน่าตกใจ แถมค่าใช้จ่ายในการขาย การบริหาร ภาษี และดอกเบี้ย ยังคงต้องจ่ายเป็นเงินบาท ขณะที่ต้องพึงพาเงินรายได้จากสกุลดอลลาร์เป็นหลักเช่นเดิม

ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ หากผู้ประกอบการรู้จักลดความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงินอย่างเหมาะสม ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีในการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งข้อดีจากการเรียนรู้จากโจทย์ที่เกิดขึ้นจริงครั้งนี้ จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ประกอบการและมีความสามารถในการแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์บาทอ่อนหรือแข็งในอนาคต

การเรียนรู้ของผู้ประกอบการส่งออก ไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์ต่อตัวเอง แต่จะส่งผลประโยชน์ต่อประเทศซึ่งต้องพึ่งพาภาคส่งออกเป็นหลักในระยะยาวด้วย เพราะการรู้วิธีลดความเสี่ยง หาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ประกอบการทำการค้า จะทำให้ผู้ประกอบการหลุดพ้นจากการพึ่งพาค่าเงินมากเกินไป แต่สามารถคำนวณต้นทุน กำไร จากเนื้องานของการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ดีให้กับตัวผู้ประกอบการได้ด้วย

2. ทำให้คนไทยตื่นตัวเพื่อหาแนวทางสร้างจุดยืนของตัวเอง
เพื่อลดผลกระทบและการพึ่งพาจากภายนอก เพราะไม่ว่าสถานการณ์เงินบาทจะอ่อนหรือแข็ง เศรษฐกิจไทยก็มักจะต้องแกว่งตัวไปตามผลกระทบจากภายนอกทั้งสิ้น ทำให้คนไทยเริ่มตระหนักว่าเป็นเพราะอะไร ในเมื่อสถานการณ์ค่าเงินบาทก็ตรงกันข้ามกับวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งก่อน แต่ทำไมเศรษฐกิจไทยไม่ไปในทางตรงข้ามกับครั้งก่อน

ทั้งนี้เพราะการแข็งค่าของเงินบาทไม่ได้สะท้อนจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่มาจากปัจจัยภายนอกล้วนๆ ดังที่หลายฝ่ายวิเคราะห์กันมานั่นเอง

ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อปี 2540 คนไทยเราต่างควานหากูรูระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น พอล ครุกแมน ฟิลิป คอตเลอร์ มาช่วยโพสิชันนิ่งกันว่า ประเทศไทยควรจะกำหนดบทบาทตัวเองอย่างไรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง ครั้งนั้นธุรกิจดาวรุ่นถูกพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจท่องเที่ยวและภาคบริการอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรมให้มีฝีมือเพิ่มขึ้นจากระดับแรงงานทั่วไปไปสู่การเพิ่มมูลค่าด้านการออกแบบและดีไซน์เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าในการแข่งขันกับประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่าง จีน เวียดนาม ที่ไล่จี้เรื่องฐานการผลิตมาติดๆ

เมื่อสถานการณ์กลับตาลปัตร โพสิชันนิ่งที่เคยถูกวางไว้และบางส่วนก็ไม่สามารถพัฒนาได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ทำให้ภาคธุรกิจต้องเริ่มทบทวนเพื่อหาจุดยืนของตัวเองกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งการทบทวนโพสิชันนิ่งของภาคธุรกิจของประเทศในสถานการณ์ที่ต่างไป ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ภาคธุรกิจไทยเดินต่อไปอย่างมั่นคงได้อีกครั้ง (อ่านเพิ่มเติมโพสิชันนิ่งประเทศไทย, กรณีศึกษาตัวอย่างการพัฒนาโพสิชันนิ่งของลอนดอน)

3. เป็นจังหวะของการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด
บางคนอาจจะเริ่มแย้งว่าจะเอาตลาดที่ไหนมาช่วงชิงในช่วงที่ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย แต่ในอีกมุมหนึ่งของตลาดก็มีสินค้าบางแบรนด์ โดยเฉพาะอินเตอร์แบรนด์ที่มีต้นทุนในการทำตลาดถูกลง จึงใช้โอกาสนี้เป็นจังหวะในการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดกลับมาเช่นกัน (อ่านเพิ่มเติมโอลิมปัส) โดยอาศัยข้อดีจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้กำหนดราคาขายสินค้าในไทยได้ถูกลงมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการช่วงชิงลูกค้า
ยิ่งกรณีที่บริษัทมีสินค้าใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งในกรณีนี้เจ้าของสินค้าจะต้องมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในระยะยาวว่าจะมีโอกาสกลับมาดีดังเดิม หรืออย่างน้อยก็มีความเชื่อว่าเศรษฐกิจมีขึ้นมีลงเป็นธรรมชาติ

ในอีกมุมหนึ่ง บางบริษัทก็ถือโอกาสสร้างแบรนด์ หรือใช้โอกาสนี้ใช้งบการตลาดเต็มที่ (อ่านเพิ่มเติมโอลิมปัส กรณีแคนนอน) เพราะยิ่งทำกิจกรรมมากขึ้นในช่วงที่คู่แข่งในตลาดไม่มีกิจกรรมด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเห็นกิจกรรมของบริษัทได้ชัดขึ้น

หากพิจารณาจากตัวเลขบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 20 อันดับแรกของปีนี้ จะยิ่งเห็นภาพชัด เพราะ 12 ใน 20 บริษัทที่ใช้งบสูงสุด ล้วนเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่ง วิชัย สุภาสมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาราท มีเดีย จำกัด ยืนยันว่า บริษัทข้ามชาติเป็นกลุ่มที่ยังใช้งบโฆษณาอย่างต่อเนื่องแม้คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี เพราะหนึ่งธุรกิจต้องมองระยะยาว สองการทำกิจกรรมช่วงที่คนอื่นไม่ทำผู้บริโภคยิ่งเห็นชัดนั่นเอง

อีกตัวอย่างบริษัทใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ ปฐมา จันทรักษ์ ก็บอกว่า ช่วงเงินบาทแข็งเป็นโอกาสดีที่ทำให้บริษัทในไทยขออนุมัติงบสำหรับการตลาดประเทศไทยได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์รูปแบบเดียวกับการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ เพียงแต่ไมโครซอฟท์ใช้เป็นวิธีการของบการตลาดจากบริษัทแม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการอิมพอร์ตเงินทุนนั่นเอง

12 ใน 20 ของบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดเป็นบริษัทต่างชาติ เป็นกลุ่มที่ไม่หยุดใช้งบโฆษณา ในช่วงครึ่งปีแรก 2550

20 อันดับบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดทางสื่อโทรทัศน์ (ล้านบาท)
(ม.ค.-มิ.ย.2550)
ยูนิลีเวอร์ 2,452
พีแอนด์จี 689
ไบเออร์สดอร์ฟ 492
คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ 478
ลอรีอัล 450
เนสท์เล่ 446
สำนักนายกรัฐมนตรี 429
คาโอ 376
เอไอเอส 353
จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 344
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ 325
ไลอ้อน 316
โอสถสภา 315
อะยิโนะโมะโต๊ะ 281
ดีแทค 272
ตรีเพชรอีซูซุ 271
โตโยต้ามอเตอร์ 269
ปตท. 235
ธ.ไทยพาณิชย์ 194
ยูนิชาร์ม 193
ที่มา : บริษัทนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช์ (ประเทศไทย), ก.ค. 2550.

4. ธนาคารได้โอกาสสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าธุรกิจเพิ่มขึ้น
สาเหตุหนึ่งเพราะต้องดูแลลูกค้าธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SME ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด ธนาคารจึงต้องหาเครื่องมือทางการเงินเข้าช่วยป้องกันหรือแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องจากรายได้ที่ลดลงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะหากลูกค้าขาดสภาพคล่อง และปรับตัวตั้งรับไม่ทัน หรือไม่รู้วิธีลดความเสี่ยงหรือแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ธนาคารย่อมได้รับผลกระทบตามมาเช่นกัน แล้วไม่ว่าธนาคารไหนก็ไม่อยากได้ลูกหนี้มาแทนลูกค้า

ธนาคารส่วนใหญ่จึงเร่งปรับตัว ให้บริการเร่งด่วน ที่คิดว่าเหมาะกับสถานการณ์ของลูกค้ามากขึ้น จากเดิมบริการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งเริ่มและมีประสบการณ์ไม่มาก หรือยังไม่เคยเจอภาวะค่าเงินบาทแข็งขึ้นเหมือนครั้งนี้ ส่วนใหญ่บริการที่ลูกค้าธุรกิจกลุ่มนี้ต้องการจะเป็นเรื่องการหาตลาด การช่วยหาคู่ค้า หรือการสร้างหลักประกันในการเก็บเงินจากคู่ค้า

หลายธนาคารจากเดิมที่ฝ่ายบริการให้คำปรึกษาลูกค้าธุรกิจอยู่แล้ว แต่เป็นแบบ Passive ต้องรอให้ลูกค้าที่มีปัญหาเป็นฝ่ายเดินเข้ามาปรึกษา ก็ต้องปรับการให้บริการเป็นแนวรุก นำหน่วยบริการออกไปจัดกิจกรรม หรือไปให้คำปรึกษาช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้ากันถึงที่ แม้กระทั่งการจัดสัมมนาให้ความรู้ก็เป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันปัญหาได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดบริการ FX Clinic ให้คำปรึกษาเรื่องการเลือกบริการลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และสอนลูกค้าให้ศึกษาข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ไปพร้อมกับการจัดสัมมนาให้ความรู้ โดยธนาคารต้องเปิดบริการคลินิกนี้นอกสถานที่กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจของธนาคารครั้งแรก เมื่อช่วงต้นปี 2550 เมื่อเห็นว่าปัญหาค่าเงินบาทแข็งยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลาย และครั้งที่ 2 ในกลางปีนี้ แต่ละครั้งมีลูกค้าธุรกิจให้ความสนใจใช้บริการประมาณ 300-400 ราย

การมีบริการใหม่ๆ จากธนาคารให้ลูกค้าพิจารณาเลือกใช้ในการลดความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับธนาคารไปพร้อมกัน แม้ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นเป้าหมายหลักของธนาคารก็ตาม เช่น การคิดค่าธรรมเนียมจากบริการการซื้อสิทธิซื้อ/ขายเงินตราต่างประเทศ (Option) ซึ่งมีค่าธรรมเนียมที่ 0.09 สตางค์/ดอลลาร์ หรือค่าธรรมเนียมจากการใช้บริการบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (FCD : Foreign Currency Deposit) ซึ่งธนาคารหลายแห่งมีให้บริการมานานก็ถือโอกานำมาเปิดบริการให้รู้จักมากขึ้นอีกครั้งในช่วงนี้จากการปรับระเบียบใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย

รวมแล้วในปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ทั้งธนาคารไทยและธนาคารต่างชาติ จำนวน 12 แห่ง ที่เปิดให้บริการเอฟซีดี ทั้งในรูปแบบบัญชีออมทรัพย์ กระแสรายวัน และเงินฝากประจำ ได้แก่ ธ.กรุงไทย ธ.กสิกรไทย ธ.นครหลวงไทย ธ.เอชเอสบีซี ธ.ซิตตี้แบงก์ ธ.คาลิยง สาขากรุงเทพฯ ธ.แห่งอเมริกา เนชั่นแนลแอสโซซิเอชี่น ธ.แห่งประเทศจีน ธ.เอบีเอ็น แอมโร เอ็น.วี. ธ.อินเดียนโอเวอร์ซีส์ ธ.มิซูโฮ และธ.เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

อัตราต่างๆ โดยเฉลี่ยแต่ละธนาคาร โดยทั่วไปให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าสกุลเงินบาทส่วนใหญ่เฉลี่ยที่ 3-4% ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยเงินฝากในสหรัฐซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5% และกำหนดเงินฝากขั้นต่ำเฉลี่ยตั้งแต่ 2,000-10,000 ดอลลาร์ คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินจากต่างประเทศเข้ามายังบัญชีเฉลี่ย 0.25% ของวงเงิน กรณีถอนเพื่อโอนเข้าบัญชีในต่างประเทศคิดค่าธรรมเนียมประมาณ 0.25-0.5% และคิดค่าโอนอีกครั้งละ 400-500 บาท

ทั้งนี้ในช่วงต้น ธนาคารบางแห่ง ได้มีการจัดโปรโมชั่นลดค่าโอนในช่วง 1-2 เดือนแรก เพื่อจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้บริการเปิดบัญชี FCD มากขึ้นด้วย บัญชี FCD ไม่ได้มีเฉพาะสกุลเหรียญสหรัฐ แต่ยังเปิดรับฝากในสกุลอื่นด้วย ขึ้นกับแต่ละธนาคารจะกำหนด หากเป็นบัญชีเงินฝากประจำจะกำหนดสกุลเงินรับฝากไว้น้อยกว่าเงินฝากออมทรัพย์ โดยหลัก ๆ สกุลเงินที่รับฝากประจำ ได้แก่ เหรียญสหรัฐ เยนญี่ปุ่น ปอนด์อังกฤษ และยูโร และไม่ใช่ทุกสาขาของทุกธนาคารจะเปิดให้บริการ ส่วนใหญ่จะเน้นสาขาที่อยู่ในเมืองและหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น

นอกจากธนาคารเสนอบริการมากขึ้น ลูกค้า ผู้ประกอบการก็มีโอกาสเรียนรู้และมีประสบการณ์มากขึ้นจากการใช้บริการเช่นกัน

การปรับระเบียบการฝากเงินในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ
ระเบียบเดิม
-ฝากได้เฉพาะเงินที่มีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ
1. แบบมีภาระ 6 เดือน บุคคล 5 แสนUS นิติบุคคล 50 ล้านUS
2.แบบไม่มีภาระ บุคคล 5 แสนUS นิติบุคคล 2 ล้านUS
-เงินที่มีแหล่งที่มาจากในประเทศไม่อนุญาตให้ฝาก -แหล่งเงินมาจากต่างประเทศ
ระเบียบใหม่ ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2007
1.มีภาระ 12 เดือน บุคคล 1 ล้านUS นิติบุคคล 100 ล้านUS
2.ไม่มีภาระ บุคคล 1 แสนUS นิติบุคคล 5 ล้านUS
-แหล่งเงินในประเทศ
1.มีภาระ 12 เดือน บุคคล 5 แสนUS นิติบุคคล 50 ล้านUS
2.ไม่มีภาระ บุคคล 5 หมื่นUS นิติบุคคล 2 แสนUS

5. เป็นส่วนเติมเต็มในการตัดสินใจสำหรับผู้ต้องการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ
ในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึงการลงทุนขนาดใหญ่เท่านั้น แม้ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การขยายการลงทุนในต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ที่อยู่ระหว่างลงทุนก่อสร้างโรงงานและขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านในแทบเอเชียก็ถือเป็นจังหวะที่ทำให้มีต้นทุนถูกลง ทั้งต้นทุนวัตถุดิบและเครื่องจักรที่ต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ

ในส่วนของนักลงทุนรายย่อยทั่วไปที่เห็นได้ชัดที่สุด คือข้อดีจากการเป็นส่วนเติมเต็มของการตัดสินใจให้กับผู้สนใจซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF : Foreign Investment Fund) ซึ่งมีการเปิดตัวกันอย่างคึกคักในปีนี้

ทั้งนี้ในส่วนของการลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศ แม้ไม่ใช่ผลดีจากค่าเงินบาท 100% แต่ผู้ลงทุนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ภาวะค่าเงินบาทแข็งไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ตลอดกาล ถึงจุดหนึ่งก็จะคลี่คลาย ซึ่งถ้าบวกกับผลประกอบการของกองทุนที่เติบโตขึ้น กับค่าเงินบาทที่อ่อนลงในอนาคต ก็เท่ากับได้ผลประโยชน์สองต่อสำหรับผู้ลงทุนเลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติมFIF)

6. เป็นโอกาสของธนาคารต่างชาติในการสร้างฐานลูกค้ารายย่อย
จากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์เปิดรับบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ เป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่งนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วมาทำให้ลูกค้ารู้จักและเลือกใช้บริการมากขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารต่างประเทศก็ใช้โอกาสนี้รุกเข้าหาลูกค้าเป้าหมาย พร้อมกับเสนอสิทธิประโยชน์เพื่อให้ลูกค้าขยายไปใช้บริการด้านอื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งได้ทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์ธนาคารของลูกค้าที่หลากหลายขึ้น และได้ขยายฐานลูกค้ารายย่อยของธนาคารให้กว้างขึ้น

ที่สำคัญลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงที่สามารถต่อยอดการใช้บริการด้านอื่นๆ ของธนาคารได้อีกมาก

ตัวอย่างเช่น ธ.เอชเอสบีซี ก็ยอมรับว่า บริการ FCD เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ธนาคารขยายฐานลูกค้ารายย่อยได้กว้างขึ้น โดยธนาคารเล็งกลุ่มเป้าหมายหลักไปที่นักธุรกิจที่ต้องการส่งเงินชำระค่าสินค้าในต่างประเทศ และผู้ที่ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งธนาคารมีการจูงใจผู้ใช้บริการเพิ่มเติมว่า หากมีเป็นลูกค้าที่ใช้บริการต่างๆ ของธนาคารในวงเงินรวมกันเกิน 3 ล้านบาท จะได้รับการจัดกลุ่มเป็นลูกค้าชั้นดี (Premium) และได้รับบริการธนาคารแบบครบวงจร เช่น มีบริการเปิดบัญชี FCD ในต่างประเทศให้โดยอัตโนมัติ โดยลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาและค่าธรรมเนียมในการดำเนินการเอง เป็นต้น

7. เกิดอำนาจซื้อทำให้ราคาที่ดินทำเลดีดีดตัวสูงขึ้น
เมื่อค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลให้เงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งหอบเงินดอลลาร์หรือสกุลอื่นเข้ามา แลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง ถือบาทไว้ก็ไม่ได้กำไร ทำให้เงินก้อนนี้ถูกเปลี่ยนเป้าหมายไปยังที่ดินทำเลดีๆ ซึ่งการันตีได้ว่า แม้ในภาวะปกติ ราคาไม่ตกอยู่แล้ว แต่ถ้าเศรษฐกิจยิ่งดีที่ดินทำเลดีราคาจะยิ่งถีบตัวไปอีก ที่ดินจึงเป็นเป้าหมายแรกๆ ของการลงทุน หรือการนำเงินที่ยังไม่รู้ค่าแน่นอนว่าจะขึ้นหรือลดค่าอย่างไรมาพักไว้ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่การันตีได้ว่าจะเพิ่มค่าขึ้นแน่นอนในอนาคต เพราะเป็นสินทรัพย์ประเภทที่ไม่สามารถงอกเงยเพิ่มขึ้นได้

เมื่อฝรั่งคิดได้ ไทยคิดได้ เศรษฐีที่ดินจึงไม่รีรอที่จะตัดสินใจซื้อที่ดินทำเลดีๆ สักแปลก เพื่อเก็บไว้ขายต่อในวันข้างหน้า ดีมานด์ที่เกิดขึ้นทำให้ราคาที่ดินทำเลดีเหล่านี้เพิ่มมูลค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผลวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ของบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ประเทศไทย ฉบับล่าสุด ก็ยืนยันว่า โครงการคอนโดมิเนียมระดับบนและระดับหรู ซึ่งส่วนใหญ่มีทำเลอยู่ในย่านใจกลางเมืองได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดจะประสบกับภาวะซบเซาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง

เพราะนักลงทุนที่ได้กำไรจากการขายต่อและได้รับผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมายังคงเข้าซื้อโครงการคอนโดมิเนียมในทำเลที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความเข้าใจและเชื่อมั่นในตลาด และจากประสบการณ์ของนักลงทุนระยะยาวที่เข้ามาลงทุนในตลาดคอนโดมิเนียมของกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาพอใจกับผลตอบแทนทั้งในด้านมูลค่าของห้องชุดที่เพิ่มขึ้น และผลตอบแทนในรูปของค่าเช่าซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 5-7% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน

ขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมเกิดใหม่ก็มีการปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะต้นทุนราคาที่ดินและต้นทุนด้านการก่อสร้างสูงขึ้น เฉลี่ยราคาคอนโดมิเนียมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้น 30-50% เช่น ราคาคอนโดมิเนียมย่านสาทรจากเดิมอยู่ที่ตารางเมตรละ 5.8 หมื่นบาทในปี 2545 ปัจจุบันเพิ่มเป็น 8 หมื่นบาทต่อตารางเมตร ย่านลุมพินี จาก7.7 หมื่นบาทต่อตารางเมตร เพิ่มเป็น 1.08 แสนบาทต่อตารางเมตร และย่านสุขุมวิท จาก 4.9 หมื่นบาท เป็น 8.8 หมื่นบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่การวิจัยเกี่ยวกับที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียมของบริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) ล่าสุดก็มีผลไปในทิศทางเดียวกันว่า คอนโดมิเนียมระดับบนและระดับพรีเมียมในเมืองไทยยังคงมีความต้องการสูงทั้งจากคนไทย คนต่างชาติ และนักลงทุน ซึ่งนอกจากเป็นประเภทโครงการที่ขายได้เร็วแล้วยังสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นจนกลายเป็นสถิติใหม่ด้วย ทั้งคอนโดมิเนียมย่านสาทรและสุขุมวิท ซึ่งในจำนวนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จในครึ่งปีแรกมูลค่าเกือบ 6 พันล้านบาท มีสัดส่วนการซื้อโดยชาวต่างชาติถึง 17%

ผู้ซื้อต่างชาติ รวมถึงกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ต่างมองเห็นประโยชน์ตรงกันว่า ในสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งเช่นนี้ การจะสร้างกำไรจากทรัพย์สินที่มีอยู่ให้ได้มากสุด น่าจะมาจากการแปรรูปเงินเป็นทรัพย์สินอื่นที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นอย่างที่ โดยเฉพาะการเลือกทำเลที่มีที่ดินจำกัดและหาซื้อไม่ได้อีกแล้วก็จะยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะซัพพลายที่มีอยู่จำกัด ราคาอสังหาริมทรัพย์ทำเลดีๆ จึงแหล่งพักเงินที่ช่วยสร้างมูลค่าได้ดีกว่าถือเงินสดเป็นไหนๆ เพราะมีแต่จะปรับตัวสูงขึ้น

8. สินค้าไอทีถูกลงอย่างเห็นได้ชัด
ทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็น เช่น นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน หรือแม้แต่บริษัทที่มีแผนจะลงทุนด้านไอที ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทั่วไปสัมผัสได้ง่ายที่สุด เพราะฉะนั้นใครที่มีแผนซื้อสินค้าอะไรในใจ เก็บเงินไว้ให้พร้อม ปลายปีนี้คงมีรายการลดกระหน่ำทำยอดให้เห็นกันทุกแบรนด์

9. จังหวะดี ๆ ของคนรายได้สูง
โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่นิยมลงทุนกับของหรู สินค้าแบรนด์เนม เพราะจังหวะนี้เป็นช่วงเวลาที่ซื้อสินค้าเหล่านี้ได้ถูกลง ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า นาฬิกา ถ้าสังเกตจะเห็นว่ากิจกรรมการตลาดช่วงนี้ ถ้าจะหาบีโลว์เดอะไลน์ หรือโรดโชว์ ของสินค้าสำหรับคนทำงานทั่วไปให้เห็นกันหนาตาเมื่อปีก่อนๆ ก็ยากเต็มที่ ที่ยังเห็นกันอยู่ก็มีแต่งานโชว์นาฬิกาหรูระดับโลกของสองห้างสรรพสินค้าดัง ที่ยังจัดประชันกันเช่นทุกปี รวมทั้งแบรนด์เนมอย่างหลุยส์ วิตตอง ก็จัดโชว์การจัดกระเป๋าเดินทาง ยั่วยวนให้ซื้อทั้งกระเป๋าและออกเดินทาง ซึ่งเป็นจังหวะดีๆ ของเงินบาทแข็งสำหรับผู้มีรายได้สูงอย่างยิ่ง (อ่านเพิ่มเติมเวลาเงินเวลาทองของนาฬิกาหรู)

ในปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ สยาม พารากอน เซ็นสัญญากับผู้จัดงาน Millionaires Expo งานใหม่ของไฮโซที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ให้รู้กันไปเลยว่าอำนาจบาทแข็งในมือผู้มีรายได้สูงมีศักยภาพในการจับจ่ายสมกับที่กำบาทแข็งไว้ในมือจริงๆ

รูปแบบของงานจะรวมเอาสินค้าและบริการ 12 แคทิกอรี่สำหรับเศรษฐีมาให้เลือกซื้อบนพื้นที่กว่า 7,000 ตารางเมตรของรอยัลพารากอนฮอลล์ เช่น รถยนต์หรู อสังหาริมทรัพย์ อัญมณี และสินค้าค้าแฟชั่นแบรนด์ดัง เป็นต้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ประสบการณ์ไลฟ์สไตล์สุดหรู” โดยมิลเลียนแนร์เอ็กซ์โปครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้จัดแสดงเมื่อปลายปี 2549 ที่ Crocus Expo กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย มีผู้ชมงานหลายหมื่นคน

10. คนไทยเลิกกังวลปัญหาราคาน้ำมัน
จะฟันธงว่าราคาน้ำมันถูกลงเสียทีเดียวก็ไม่เชิง แต่เพราะเงินบาทแข็งค่า ผลกระทบราคาน้ำมันที่ประเทศไทยต้องใช้ดอลลาร์ซื้อนำเข้ามาก็น้อยลง จนหลายคนคงลืมกันไปแล้วว่า ช่วงปลายปีที่แล้ว บ่นเรื่องน้ำมันแพงกันขนาดไหน เพราะพอเงินบาทแข็ง ข่าว “น้ำมันจะขึ้นราคาอีกลิตรละ 40 สตางค์ในวันพรุ่งนี้” ก็หายไปเลย

เห็นหรือยังว่า ทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนมีของคู่กัน ถ้าเราจะร่วมกันมองปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่บวก แล้วหยิบจุดอ่อนมาพัฒนาตัวเอง อนาคตไม่ว่าบาทจะอ่อนหรือแข็ง ประเทศก็คงไม่ต้องเป็นฝ่ายรับผลกระทบแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอย่างน้อยเราก็เจอมาครบแล้วทั้งสองรูปแบบภายในช่วงเวลาเพียง 10 เท่านั้น