ธุรกิจโรงสีข้าว : ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

จากกรณีธุรกิจโรงสีใหญ่ในจังหวัดพิจิตรปิดกิจการโรงสีข้าว 2 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา และข่าวเกี่ยวกับการลักลอบนำข้าวที่เป็นสต็อกข้าวในโครงการรับจำนำข้าวออกไปจำหน่าย นับว่าเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมาก และส่งผลให้หลายฝ่ายหันมาจับตามองธุรกิจโรงสี เนื่องจากธุรกิจโรงสีมีปัญหาสะสมนานัปการ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาการแบกรับภาระสต็อกข้าวของรัฐบาลอันเกิดจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำหรับในปี 2550 นี้ธุรกิจโรงสีต้องได้รับผลกระทบจากการปรับนโยบายการรับจำนำข้าว ส่งผลให้โรงสีหลายแห่งขาดรายได้จากการรับจำนำข้าวตามโครงการรับจำนำจากการรับจ้างสีข้าวที่อยู่ในโครงการรับจำนำ และมีความต้องการเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเพื่อรับซื้อข้าวเปลือกในตลาด นอกจากนี้โรงสีที่เป็นผู้ส่งออกข้าวด้วยเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทยิ่งส่งผลให้กำไรของโรงสีนั้นลดลง ในขณะที่ต้องเผชิญกับราคาข้าวที่อยู่ในเกณฑ์สูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว

ปัญหาธุรกิจโรงสี…หลากปัญหาถาโถม
การปิดกิจการโรงสีและการลักลอบนำข้าวในโครงการรับจำนำไปจำหน่ายนั้นนับว่าเป็นผลลัพธ์จากหลากหลายปัญหาที่สะสมของธุรกิจโรงสี ซึ่งแยกพิจารณาปัญหาของธุรกิจโรงสีได้ดังนี้

1.ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน เนื่องจากโรงสีซื้อข้าวจากเกษตรกรด้วยเงินสด แต่จำหน่ายข้าวให้กับผู้ส่งออกด้วยการให้เครดิตหรือเงินเชื่อ ปัจจุบันเมื่อผู้ส่งออกข้าวเผชิญกับปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ผู้ส่งออกข้าวบางรายเริ่มชะลอการชำระเงินค่าข้าวสาร ยิ่งส่งผลทำให้ธุรกิจขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ธุรกิจโรงสีบางแห่งโดยเฉพาะโรงสีในภาคกลางต้องมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากในภาคกลางมีจำนวนโรงสีมากกว่าปริมาณข้าวที่ผลิตได้ ทำให้โรงสีบางแห่งต้องไปรับซื้อข้าวเปลือกนอกพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อให้มีข้าวเพียงพอกับกำลังการผลิต

2.ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานนั้นเคยเป็นข่าวใหญ่ในปี 2541 โดยปัญหาในเรื่องการขอผ่อนผันในการจ้างแรงงานต่างด้าวในธุรกิจโรงสีข้าวที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2541 และลุกลามบานปลายจนกระทั่งในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมธุรกิจโรงสีประมาณ 300-400 แห่งหยุดรับซื้อข้าวทั้งที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง สร้างความปั่นป่วนให้กับชาวนา และธุรกิจต่อเนื่องที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบอย่างมาก เมื่อมีการประท้วงด้วยการหยุดรับซื้อข้าวทางคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวจึงมีการทบทวนมติการผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าว และมีมติในวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 ให้ผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวในกิจการ 5 ประเภทออกไปก่อน ซึ่งธุรกิจโรงสีข้าวเป็นกิจการหนึ่งที่ได้รับการผ่อนผัน ตัวเลขแรงงานต่างด้าวในธุรกิจโรงสียังไม่มีการรวบรวมที่ชัดเจน ปัจจุบันปริมาณโรงสีข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีจำนวน 39,834 แห่ง แต่ที่ทำการสีข้าวจริงมีเพียง 2,000 แห่งทั่วประเทศ มีการจ้างพนักงานและแรงงานทั้งสิ้น 80,000 คน ทั้งนี้แยกเป็นพนักงานในสำนักงานและช่างเทคนิคประมาณ 60,000 คน และกรรมกรแบกหาม 20,000 คน ซึ่งในจำนวนกรรมกรแบกหามนี้คาดว่ามีแรงงานต่างด้าวในธุรกิจโรงสีประมาณ 23,000 คน

3.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล กลไกการค้าข้าวเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อนโยบายรัฐบาลชุดที่ผ่านมามีโครงการยกระดับราคาข้าวด้วยมาตรการรับจำนำในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดมาก และจ้างโรงสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร หลังจากนั้นรัฐบาลนำข้าวสารมาประมูลขายให้กับผู้ส่งออก กลไกดังกล่าวทำให้เกิดการตัดตอนธุรกิจค้าข้าวพ่อค้าคนกลางข้าวเปลือก และเจ้าของตลาดกลางข้าวเปลือก ทำให้ธุรกิจโรงสีข้าวกลายเป็นการรับจ้างรัฐแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และเป็นผู้เก็บรักษาข้าวของรัฐเพื่อรอชาวนามาไถ่ถอนหรือรอการประมูลของเอกชนเพื่อการส่งออก เมื่อรัฐบาลในอดีตไม่สามารถระบายข้าวที่รับจำนำออกจากไปสู่ต่างประเทศได้ เนื่องจากราคาข้าวของไทยอยู่ในเกณฑ์สูง ปริมาณสต็อกข้าวของรัฐจึงมีปริมาณสูงขึ้น นับว่าเป็นภาระอย่างมากในการเก็บรักษาข้าวของบรรดาโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว กอปรกับในระยะที่ผ่านมาบรรดาโรงสีประสบปัญหาการค้างชำระเงินค่าบริหารจัดการสต็อกข้าว เช่น ค่าเช่าโกดัง ค่ารมยา ค่าเซอร์เวเยอร์ เป็นต้น อีกทั้งยังส่งผลให้โรงสีบางแห่งมีที่เพื่อเก็บข้าวในช่วงฤดูการผลิตใหม่ลดลง ซึ่งทำให้โรงสีต้องเสียโอกาสในการรับซื้อข้าว ส่งผลให้บรรดาโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวมีปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องทางการเงิน

แต่ในปี 2550 รัฐบาลมีการปรับลดราคารับจำนำข้าวลงเพื่อให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด ทำให้ชาวนาหันมาขายข้าวให้กับโรงสีโดยตรง ดังนั้นบรรดาโรงสีต้องปรับตัวโดยการเพิ่มเงินหมุนเวียนเพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนา อีกทั้งในปีนี้ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวในประเทศคู่แข่งสำคัญคือ เวียดนามลดลงจากปัญหาภาวะน้ำท่วมและโรคแมลงศัตรูระบาด ทำให้เวียดนามส่งออกข้าวได้ลดลง ดังนั้นจากการที่ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้บรรดาธุรกิจโรงสีข้าวมีความต้องการเงินหมุนเวียนเพื่อที่จะรับซื้อข้าวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่กำหนดโอกาสในการเพิ่มรายได้ของธุรกิจโรงสีก็คือ ความสามารถในการรับซื้อข้าวที่มีแนวโน้มการส่งออกดี โดยในปี 2550 ประเภทข้าวที่มีแนวโน้มส่งออกดีคือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวนึ่ง ดังนั้นโรงสีที่มีสัดส่วนของการสีข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวมากกว่าข้าวขาวก็จะมีรายได้มากกว่าโรงสีที่มีสัดส่วนการสีข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาไปด้วยกัน คือ ที่ตั้งของโรงสี เนื่องจากจะเป็นปัจจัยกำหนดค่าขนส่ง กล่าวคือ โรงสีที่ตั้งอยู่ในแหล่งผลิตจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เช่น กรณีข้าวเหนียว แหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนข้าวหอมมะลิ แหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เป็นต้น

สำหรับกรณีของข้าวนึ่งนั้นเป็นโรงสีเฉพาะที่ต้องมีลักษณะการผลิตและเครื่องจักรเฉพาะ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่กำหนดรายได้ของโรงสีข้าวนึ่ง คือ ภาวะตลาดส่งออกข้าวนึ่ง เนื่องจากการผลิตทั้งหมดเพื่อตลาดส่งออก อย่างไรก็ตามปัจจัยเอื้อของธุรกิจโรงสีข้าวนึ่ง คือ การผลิตของข้าวนึ่งค่อนข้างยาก ทำให้มีผู้ประกอบการน้อยราย การแข่งขันจึงไม่สูงมากเมื่อเทียบกับโรงสีข้าวอื่นๆ นอกจากนี้ การหันปรับคุณลักษณะของข้าวนึ่งเพื่อเจาะขยายตลาดในประเทศในฐานะที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการของข้าวนึ่งได้รับยอมรับทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรป

อนาคตของธุรกิจโรงสี…ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด
ท่ามกลางหลากหลายปัญหาที่รุมเร้าธุรกิจโรงสีข้าว ทำให้บรรดาธุรกิจโรงสีข้าวต้องเร่งปรับตัวเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด ซึ่งปัจจัยกำหนดความอยู่รอดของธุรกิจโรงสี มีดังนี้

1.ปัจจัยภายในธุรกิจ ต้องเร่งปรับประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในของธุรกิจโรงสี นับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ โรงสีบางแห่งยังจำเป็นต้องพัฒนาผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวให้มีความหลากหลาย เช่น ข้าวผสมสมุนไพร ข้าวกล้อง ข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่น เป็นต้น ทั้งนี้นับว่าเป็นการเพิ่มรายได้ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ

2.ปัจจัยภายนอก สำหรับปัจจัยภายนอกที่กำหนดอนาคตของธุรกิจโรงสี ได้แก่

-ตลาดในประเทศ ในประเด็นนี้บรรดาผู้ประกอบการโรงสีจะต้องเพิ่มการบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ข้าวเจ้าและข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมเส้นหมี่เส้นก๋วยเตี๋ยว อุตสาหกรรมเบเกอรี่ อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว เป็นต้น เนื่องจากธุรกิจโรงสีและผู้ค้าข้าวเป็นธุรกิจที่มีตลาดในประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของตลาดทั้งหมด โดยตลาดในประเทศมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยคนไทยส่วนใหญ่ยังบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของตลาดนับว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเป็นไปตามการขยายตัวของประชากร โดยในปี 2550 คาดว่าอัตราการบริโภคข้าวของไทยประมาณ 156 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แนวทางการเพิ่มปริมาณการบริโภคข้าวของคนไทย

-ตลาดส่งออก ภาวะการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงสีข้าว โดยเป็นปัจจัยกำหนดราคาข้าวในประเทศ ซึ่งภาวะการส่งออกข้าวในแต่ละปีค่อนข้างผันผวน โดยปัจจัยกำหนดสำคัญที่ต้องพิจารณาร่วมกัน คือ ปริมาณการผลิตข้าวของไทย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ปริมาณน้ำ และการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรู ปริมาณความต้องการข้าวของประเทศคู่ค้า ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับปริมาณการผลิตข้าวของประเทศคู่แข่ง เนื่องจากจะเป็นปัจจัยกำหนดว่าในปีนั้นไทยต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงหรือไม่ ซึ่งทุกปัจจัยเหล่านี้จะมีผลสะท้อนอยู่ในรูปของราคาข้าวส่งออกของไทย และส่งผลต่อเนื่องถึงราคาข้าวในประเทศ ดังนั้นการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับตลาดส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์นับว่าเป็นแนวทางในการกำหนดและปรับธุรกิจโรงสีข้าวได้ทันเหตุการณ์

-การปรับนโยบายข้าวของรัฐบาล นโยบายข้าวของรัฐบาลที่สำคัญและมีการกล่าวถึงค่อนข้างมากคือ มาตรการจำนำข้าว โดยหลักการของมาตรการรับจำนำข้าวเป็นการกำหนดราคาเป้าหมายเพื่อให้ชาวนาตัดสินใจว่าจะจำนำข้าวกับรัฐบาลหรือขายให้กับโรงสีโดยตรง ดังนั้นมาตรการจำนำข้าวส่งผลกระทบราคาข้าวในประเทศ และปริมาณข้าวที่เข้าสู่โรงสี นอกจากนี้ผลต่อเนื่องของมาตรการจำนำข้าวคือ ปริมาณสต็อกข้าวเมื่อสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวในแต่ละปีในกรณีที่ชาวนาไม่มาไถ่ถอนข้าว ซึ่งปริมาณสต็อกข้าวที่อยู่ในเกณฑ์สูงมีผลทำให้ประเทศคู่ค้าข้าวของไทยกดราคารับซื้อข้าว และชะลอการซื้อเพื่อรอดูนโยบายการระบายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล ในขณะที่การระบายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นการประมูลโดยผู้ส่งออก แต่ก็ส่งผลทางอ้อมกับราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2550 นี้ บรรดาธุรกิจโรงสีจะต้องติดตามการปรับนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่ต้องเร่งระบายข้าวที่อยู่ในสต็อกจากมาตรการรับจำนำข้าวในปีที่ผ่านๆ โดยรัฐบาลพิจารณาจะทยอยระบายข้าวภายใน 4 เดือน(เดือนกันยายน-ธันวาคม 2550) และอาจจะพิจารณาเลื่อนการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปีในปีเพาะปลูก 2550/51 ที่จะเปิดรับจำนำในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งคาดว่าจะส่งกระทบทำให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง จากที่ในปีปกติราคาข้าวในช่วงนี้มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากเป็นช่วงต้นฤดูการผลิตข้าวนาปี

บทสรุป
ข่าวการปิดกิจการของธุรกิจโรงสีและการนำข้าวในโครงการรับจำนำข้าวออกไปจำหน่ายเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว นับเป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญของธุรกิจโรงสีที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาใหญ่ของธุรกิจโรงสีนั้นมาจากมาตรการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การระบายสต็อกข้าวของรัฐที่กระจายเก็บอยู่ในโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว และการจ่ายเงินค่าบริหารจัดการสต็อกข้าวของรัฐ ทั้งนี้เพื่อทำให้บรรดาโรงสีทั้งหลายมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องเร่งพิจารณาปรับมาตรการรับจำนำข้าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดโลก โดยเฉพาะการกำหนดราคารับจำนำข้าว ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณสต็อกข้าวของรัฐบาลไม่อยู่ในเกณฑ์สูงเช่นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม บรรดาธุรกิจโรงสีเองก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน โดยการปรับประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเป็นการปรับภายในธุรกิจ รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆทั้งตลาดในประเทศ ตลาดต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงมาตรการของรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเตรียมรับมือและปรับตัวได้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันเหตุการณ์