ในระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจวัสดุก่อสร้างเติบโตมากขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของโครงการก่อสร้าง ทั้งโครงการของภาครัฐและเอกชน และจากการรวบรวมสถิติจำนวนร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศ (ทั้งร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งที่ยังดำเนินการอยู่) พบว่า มีประมาณ 14,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีทำเลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากที่สุดราวร้อยละ 34 ของทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ระยะหลังเริ่มเห็นภาพการขยายตัวของร้านค้า วัสดุก่อสร้างในส่วนภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เห็นได้ว่าในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการภาคธุรกิจจากส่วนกลางขยายการลงทุนไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จังหวัดที่เป็นหัวเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงจังหวัดที่เป็นหัวเมืองรองเช่นกัน อีกทั้งที่ผ่านมา จังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านก็ได้รับอานิสงส์จากกิจกรรมการค้าตามแนวชายแดนอีกด้วย
ทั้งนี้ การเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในต่างจังหวัดก่อให้เกิดการพัฒนาเมือง มีการลงทุนทางด้านสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย และแหล่งธุรกิจต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้างในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวในกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) จากส่วนกลาง ได้รุกลงทุนในส่วนภูมิภาคมากขึ้น และเจาะกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจทั้งในหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง โดยในปี 2556 ร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบสมัยใหม่รายใหญ่ 5 ราย มีแผนลงทุนขยายสาขาในต่างจังหวัดประมาณ 40 แห่ง มูลค่าลงทุนโดยรวมกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งโครงการลงทุนที่แล้วเสร็จและกำลังก่อสร้างอยู่
นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคในท้องถิ่น ได้ปรับเปลี่ยนมาซ่อมแซมและตกแต่งบ้านเรือนด้วยตนเอง ทำให้มีความต้องการใช้สินค้า DIY มากขึ้น จึงยิ่งตอบโจทย์รูปแบบร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ในการขยายสาขาไปต่างจังหวัด
อย่างไรก็ดี ผลของการขยายตัวของร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบสมัยใหม่ในต่างจังหวัด จะทำให้ธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้างท้องถิ่นทุกกลุ่มตื่นตัวและเร่งปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจรองรับกับภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น การขยายสาขาร้านค้าในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีฐานลูกค้าที่เข้มแข็งและมีศักยภาพทางการเงิน หรือการจับมือกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างหรือผู้รับเหมาโครงการก่อสร้าง เพื่อยกระดับคุณภาพบริการ
การเติบโตของวัสดุก่อสร้างในเขตภูธร…อานิสงส์จากภาคก่อสร้างและการค้าชายแดน
สำหรับทิศทางธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้างของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ตลาดยังคงมีแนวโน้มเติบโต ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของตลาดวัสดุก่อสร้างในต่างจังหวัดเป็นหลัก ทั้งนี้ การเติบโตของร้านค้าวัสดุก่อสร้างในส่วนภูมิภาคได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง และการเติบโตของการค้าชายแดน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
• การเติบโตของโครงการก่อสร้างภาครัฐและเอกชนในต่างจังหวัดที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้างในส่วนภูมิภาค
ปี 2556 นี้ นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ภาคก่อสร้างไทยยังคงขยายตัว โดยในช่วงครึ่งแรกของปี กิจกรรมก่อสร้างมีมูลค่า 475,870 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เติบโตร้อยละ 8.2 ซึ่งส่งผลให้ยอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน อาทิ ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ ในช่วง ม.ค. – ก.ค. ปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 11.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเติบโตร้อยละ 7.6 โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการลงทุนก่อสร้างโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนเหนือ – ใต้ (บางใหญ่ – บางซื่อ – ราษฎร์บูรณะ) และรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เป็นต้น และผลจากการเติบโตของโครงการก่อสร้างภาคเอกชน ที่ไม่เพียงแต่ขยายตัวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น แต่ยังกระจายกิจกรรมการลงทุนไปในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น
และสำหรับภาพรวมกิจกรรมก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างในต่างจังหวัด เห็นได้จากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงในหัวเมืองเศรษฐกิจส่วนภูมิภาคมากขึ้น เช่น ขอนแก่น อุดรธานี และประจวบคีรีขันธ์ (โดยเฉพาะในเขตหัวหินขยายตัวสูง) นอกจากนี้ การก่อสร้างในกลุ่มพาณิชยกรรมก็มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น อาทิ การลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ หรือการขยายห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในจังหวัดที่มีแรงดึงดูดของแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เห็นได้ว่าการขยายตัวของภาคก่อสร้างในต่างจังหวัด สะท้อนได้จากสัดส่วนมูลค่าก่อสร้างของแต่ละพื้นที่ในต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2555 พบว่าสัดส่วนมูลค่าก่อสร้างในกรุงเทพฯและปริมณฑลตามประมาณการของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อยู่ที่ร้อยละ 40 ของมูลค่าก่อสร้างทั่วประเทศ ลดลงจากร้อยละ 45 ในปี 2550 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของภาคก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลังอาจชะลอตัวลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า มูลค่าลงทุนด้านก่อสร้างของไทยในปี 2556 จะอยู่ที่ประมาณ 997,500 – 1,015,900 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 7.5 – 9.5 จากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.8
จากการขยายตัวของภาคก่อสร้างในภูธร ก่อให้เกิดความต้องการวัสดุก่อสร้างส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่อาจมีอุปสงค์วัสดุก่อสร้างไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเติบโตของโครงการก่อสร้างแต่ละประเภท และเม็ดเงินลงทุน
• กิจกรรมการค้าชายแดน ช่วยสนับสนุนร้านค้าวัสดุก่อสร้างในเขตภูธรขยายตัว
นอกจากนี้ ร้านค้าวัสดุก่อสร้างในจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และจังหวัดใกล้เคียงยังได้รับอานิสงส์จากการค้าชายแดน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศกลุ่ม CLM (สปป.ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา) ซึ่งกิจกรรมการค้าวัสดุก่อสร้างระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านสามารถวิเคราะห์ได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
– กลุ่มผู้บริโภคจากประเทศเพื่อนบ้าน : เนื่องจากกิจกรรมเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLM เติบโต ทำให้อำนาจการซื้อสินค้าของประชาชนในประเทศดีขึ้น ความสามารถในการซื้อสินค้าเพื่อซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้นตามมา อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของสินค้า และความหลากหลายของวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยนั้น นับว่าร้านค้าวัสดุก่อสร้างในประเทศไทย มีความหลากหลายและให้บริการครบวงจรกว่าร้านค้าในประเทศดังกล่าว ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้างในไทยยังสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้าน
– กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน : ปัจจุบันประเทศในกลุ่ม CLM กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งโครงการขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างส่วนหนึ่งจากประเทศไทย ด้วยเหตุที่วัสดุก่อสร้างในไทยมีคุณภาพหลากหลาย และราคาสมเหตุผล อาทิ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหลังคาเหล็กสำเร็จ เป็นต้น ซึ่งบางรายการอาจไม่มีการจำหน่ายและราคาสินค้าไทยถูกกว่าในประเทศตน จึงเป็นโอกาสที่ร้านค้าวัสดุก่อสร้างไทยจะขยายตลาดกลุ่มนี้
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าค้าชายแดนในกลุ่มวัสดุก่อสร้างไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่ม CLM (สปป.ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา) ช่วงครึ่งปีแรก พบว่ามีมูลค่า 18,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.8 ซึ่งจัดว่าเป็นอัตราเติบโตที่ค่อนข้างสูง เพราะโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2551 – 2555 อยู่ที่ร้อยละ 8
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างและการค้าชายแดนแต่ละภาค จะเป็นปัจจัยบวกที่หนุนให้มูลค่าตลาดวัสดุก่อสร้างภายในประเทศ ปี 2556 อยู่ที่ราว 590,000 – 601,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6.9 – 8.9 จากปีก่อนที่เติบโตร้อยละ 10 แบ่งเป็นมูลค่าวัสดุก่อสร้างภูธร (ไม่รวมกรุงเทพฯและปริมณฑล) 356,000 – 363,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นส่วนแบ่งตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด อาจเนื่องจากมีการลงทุนก่อสร้างสูง หลากหลายประเภท
สำหรับทิศทางของตลาดวัสดุก่อสร้างส่วนภูมิภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะการแข่งขันของธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้างในต่างจังหวัดจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ จากการรุกลงทุนของกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบสมัยใหม่ ซึ่งเป็นรูปแบบร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่ครบวงจร ทั้งนี้ ผลการขยายตลาดดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้างท้องถิ่น และที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้างท้องถิ่น ก็มีการปรับตัวทางธุรกิจ ด้วยการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ร้านค้าให้ดูทันสมัยมากขึ้น และอาจมีการขยายขนาดร้านค้าหรือเพิ่มสาขา เพื่อรองรับการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง กลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างท้องถิ่นรายใหญ่ที่ยังคงมีรูปแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) อาจได้รับผลกระทบจากการ แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของกลุ่มร้านค้าแบบสมัยใหม่ไม่มากนัก เนื่องจากไม่ได้เน้นเจาะตลาดเป้าหมายเดียวกัน
นอกจากนี้ ร้านค้าวัสดุก่อสร้างตามแนวชายแดนยังมีโอกาสเพิ่มเติมที่จะขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากความได้เปรียบจากความคุ้นเคยพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งร้านค้าวัสดุก่อสร้างกลุ่มนี้ อาจเข้าไปจับมือกับพันธมิตรในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมลงทุน ขณะเดียวกันตลาดวัสดุก่อสร้างประเทศเพื่อนบ้าน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับกลุ่มธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบสมัยใหม่รายใหญ่ ที่จะขยายการลงทุนร้านค้าวัสดุก่อสร้างครบวงจรในช่วงที่เป็นตลาดแข่งขันน้อยราย ณ ปัจจุบัน เพราะตลาดกลุ่มนี้กำลังจะเติบโตอีกในระยะข้างหน้า