วิกฤตหนี้เสียสินเชื่อบ้านสหรัฐฯ เมื่อ “ความเสี่ยง” กลับมาชำระแค้น

หลายต่อหลายปีที่ทุกคนดูเหมือนพร้อมใจกันละเลยอันตรายในตลาดสินเชื่อบ้านสหรัฐฯ บัดนี้อันตรายนั้นได้รุกมาถึงตัวแล้ว และยังไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

5 ปีที่ผ่านมา วาณิชธนกิจใน Wall Street กองทุนเก็งกำไร และสถาบันให้กู้ยืมเงิน ต่างทำราวกับความเสี่ยงเป็นมนุษย์ล่องหน ราวกับราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา และผู้กู้จะไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งบริษัทจะไม่มีวันล้มละลาย

แต่ขณะนี้วิกฤตความเชื่อมั่นกำลังเกิดขึ้นโดยมีชนวนจากวิกฤตหนี้เสียในตลาดสินเชื่อบ้านลูกค้าที่มีประวัติชำระหนี้ต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพของสหรัฐฯ (Subprime Mortgage) ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทุกชนิด ที่ไม่ใช่พันธบัตรและตั๋วเงินคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasuries) ตลาดหุ้นซึ่งตื่นตระหนกกับวิกฤตหนี้เสียและการที่บริษัทอาจล้มละลาย ร่วงลง 8% นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางแห่งยุโรป (European Central Bank) ต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงิน 62,000 ล้านดอลลาร์ และ 300,000 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ เพื่อช่วยรักษาสภาพคล่องตลาดสินเชื่อ หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งกำลังส่งผลให้ผู้กู้มีค่าใช้จ่ายในการกู้เงินซื้อบ้านเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งผู้กู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี อีกทั้งยังยังกดดันราคาบ้านให้ร่วงลง

แต่สิ่งที่น่ากลัวอย่างแท้จริงที่อาจรออยู่ข้างหน้าคือ กองทุนเก็งกำไรอาจล่ม พาให้ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อหลายพันล้านดอลลาร์แก่กองทุนเหล่านั้น อาจต้องขาดทุนอย่างมโหฬาร และสุดท้ายสถาบันการเงินอื่นๆ อาจหยุดปล่อยสินเชื่อทุกชนิด ไม้เว้นแม้กระทั่งลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี

เมื่อนั้นวิกฤตที่เริ่มขึ้นที่ตลาดการเงินครั้งนี้ ก็อาจจะลุกลามต่อไปยังเศรษฐกิจโดยรวม เมื่อธุรกิจต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น ในการขอสินเชื่อเพื่อสร้างโรงงานใหม่หรือซื้อกิจการ ก็จะทำให้ธุรกิจลดการลงทุนและผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอย การว่างงานก็จะตามมา และตลาดหุ้นก็จะร่วงลงมากขึ้น รวมทั้งทำให้มูลค่าบ้านตกต่ำลงมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานั้นเป็นกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายถึงที่สุด แต่ยังไม่ใช่สิ่งอาจเป็นไปได้มากที่สุด เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด หรือที่ใด

แต่ที่แน่นอนคือ ต่อจากนี้ไปเราจะได้เห็นการกลับมา “แก้แค้น” ของ “ความเสี่ยง” ซึ่งหมายถึงการที่ค่าหรือราคาของความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในสินทรัพย์ทุกประเภท ตั้งแต่สินเชื่อบ้าน (Mortgage) พันธบัตรหรือหุ้นกู้ความเสี่ยงสูงและมีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (Junk Bond) ไปจนถึงหุ้นกู้คุณภาพสูงที่ออกโดยบริษัท ตลอดจนอาคารสำนักงาน และหุ้น

หลังจากที่ความเสี่ยงถูกตีค่าหรือตีราคาอย่างผิดๆ ไปทั่วโลกมานานหลายปี ขณะนี้นักลงทุนเริ่มกลับมาเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น สำหรับการถือครองหลักทรัพย์ความเสี่ยงสูงอันได้แก่ หนี้ที่มีหลักทรัพย์จำนองที่มีคุณภาพน่าสงสัยเป็นหลักประกัน และตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ รวมทั้งเรียกร้องผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุนในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ด้วย การกลับมาเรียกร้องผลตอบแทนการลงทุนที่มากขึ้นของนักลงทุนนี้ จะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ตกลงอย่างหนัก

โชคดีที่วิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ภาพรวมพื้นฐานเศรษฐกิจยังมั่นคง ภาวะเงินเฟ้อต่ำ และเศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้มองในแง่ดีว่า ในที่สุดแล้วมูลค่าสินทรัพย์อาจจะไม่ตกลงไปต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ตั้งแต่หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร อาคารสำนักงาน และอื่นๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างเช่นราคาหุ้นซึ่งสูงเกินจริงอย่างน้อย 10% ทำให้มีโอกาสที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ จะรูดลงอย่างหนักได้นับจากนี้

สาเหตุของวิกฤตในตลาดสินเชื่อบ้านของสหรัฐฯ ครั้งนี้ มีรากฐานจากการที่เงินสดท่วมโลก หลังตลาดหุ้นร่วงอย่างหนักในปี 2543 Alan Greenspan ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะนั้น ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น จนอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคและป้องกันภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

นโยบายของ Greenspan ได้ผลดีเกินไป แม้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และบริษัทมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม แต่การลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดสภาพคล่องท่วมท้นโลก เมื่อธนาคารกลางทั่วโลกตั้งแต่อังกฤษจนถึงญี่ปุ่นต่างดำเนินรอยตาม ซึ่งเท่ากับอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินอย่างมหาศาล บริษัทประกันภัย กองทุนรวม และกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลก ต่างเพลิดเพลินกับการใช้จ่ายเงินที่มีต้นทุนดอกเบี้ยถูกในการกว้านซื้อซื้อสินทรัพย์ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เงินเฟ้อต่ำ กำไรของธุรกิจพุ่ง เศรษฐกิจเติบโตทั่วโลก นอกจากนี้ จีนซึ่งการส่งออกบูมสุดขีด ยังนำเงินดอลลาร์ที่ได้จากการส่งออกกลับเข้าสู่สหรัฐฯ ด้วยการทุ่มลงทุนกว้านซื้อพันธบัตรคลังสหรัฐฯ

ส่วนการที่เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างมั่นคงเป็นเวลานาน กลับกลายเป็นดาบสองคม เมื่อทำให้ทุกคนหลงคิดไปว่าความเสี่ยงไม่มีอยู่ในโลก และเริ่มมีพฤติกรรมที่เหมือนกับว่า พวกเขาจะไม่มีวันขาดทุน อย่างเช่นการที่นักลงทุนเรียกร้อง Risk Premium น้อยลง โดยที่ Risk Premium คือส่วนเพิ่มที่นักลงทุนต้องการเพื่อชดเชยความเสี่ยง กรณีถือครองหลักทรัพย์ที่มีบ้านจำนองเป็นประกัน หรือถือครองตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ

โดยอัตราผลตอบแทนการถือครอง Junk Bond ซึ่งเคยสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรคลังสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ประมาณ 9.3 จุดโดยเฉลี่ย เมื่อปี 2001 กลับลดลงเหลือเพียง 4 จุดในปี 2005 ใช่แต่เท่านั้น Risk Premium ในสินทรัพย์แทบทุกประเภท ยังลดลงสู่ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกทำให้ไม่มีใครกลัวการเป็นหนี้ และทำให้ธุรกิจซื้อกิจการด้วยเงินกู้ (Leveraged Buy Out : LBO) เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ราคาหุ้นยังคงซบเซา บริษัทลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) ต่างกอบโกยกำไรจากการซื้อบริษัทด้วยเงินกู้ เพื่อนำมาขัดสีฉวีวรรณก่อนที่จะนำกลับไปขายต่อในตลาด ความสำเร็จในช่วงแรกๆ สร้างความมั่นใจแก่บรรดา Private Equity จนยอมจ่ายเงินสูงขึ้นเรื่อยๆ และกู้เงินมากขึ้นเพื่อนำมาซื้อกิจการ

ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกยังทำให้ชาวอเมริกันพากันซื้อบ้าน ตลาดอสังหาริมทรัพย์เจริญรุ่งเรืองและราคาบ้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกคนทำราวกับว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนที่ไม่มีวันขาดทุน และกู้ยืมหนักขึ้นเพื่อซื้อบ้านหลังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะสามารถขายต่อได้ทุกเมื่อโดยมีกำไร

แต่ยังมีอีกผู้หนึ่งที่ได้รับผลกำไรอย่างมหาศาลจากการบูมของ LBO และตลาดอสังหาริมทรัพย์ นั่นคือวาณิชธนกิจอย่าง Goldman Sachs, Morgan Stanley, Merril Lynch ซึ่งร่ำรวยไปตามๆ กันจากรายได้ค่าธรรมเนียมรับประกันการขายหลักทรัพย์ครั้งละมากๆ ทั้งหลักทรัพย์ซึ่งมีบ้านจำนองเป็นประกัน และหลักทรัพย์ทั้งที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงและต่ำ ที่ออกโดย Private Equity ซึ่งระดมทุนผ่านตราสารหนี้ดังกล่าว เพื่อนำไปทำ LBO

เป็นที่แน่นอนที่วาณิชธนกิจเหล่านี้ คงไม่กล้ารับประกันการขายตราสารหนี้ทั้งหมด หากไม่มั่นใจว่าจะสามารถขายได้หมดในเวลาอันรวดเร็ว เหตุใดพวกเขาจึงมั่นใจ

ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของวาณิชธนกิจคือ กองทุนที่เรียกกันว่า CDO (Collateralized Debt Obligations) และ CLO (Collateralized Loan Obligations) ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดการโดยกองทุนเก็งกำไร หรือธนาคาร CDO จะซื้อพันธบัตรเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง และหลักทรัพย์ที่มีอสังหาริมทรัพย์จำนองเป็นประกัน ส่วน CLO จะซื้อหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์ที่ใช้ในการระดมทุนเพื่อทำ LBO

กองทุนทั้งสองจะนำหลักทรัพย์ที่ซื้อไว้มาขายต่อในรูปของหลักทรัพย์หลากหลายประเภท ที่มีการจ่ายชำระคืนหนี้เป็นรายงวดของลูกหนี้เป็นหลักประกัน หรือมีสินทรัพย์ค้ำประกัน เช่นบ้าน โรงงาน เครื่องจักรและสินค้าคงคลัง เป็นหลักทรัพย์ซึ่งเป็นที่นิยมซื้ออย่างมากของนักลงทุนต่างประเทศ ตั้งแต่ธนาคารจีนไปจนถึงบริษัทประกันภัยดัตช์ ซึ่งนิยมซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด กล่าวคือ หลักทรัพย์ที่สามารถอ้างสิทธิ์แรกในกระแสเงินสดและในสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้

แต่ยังมีลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งของวาณิชธนกิจ ที่เต็มใจจะซื้อตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า แต่ให้ผลตอบแทนมากกว่า นั่นคือกองทุนเก็งกำไร ซึ่งจะเพิ่มผลตอบแทนในหนี้ที่ซื้อมา ด้วยวิธีซื้อโดยใช้เงินกู้ (Buying on Margin) ซึ่งทำให้กองทุนเก็งกำไรเหล่านี้ สามารถให้ผลตอบแทนการลงทุนแก่ลูกค้า คือมูลนิธิ กองทุนบำเหน็จบำนาญ และนักลงทุนรายย่อยที่ร่ำรวย ได้มากถึง 20% หรือมากกว่า ส่วนผู้ที่ปล่อยกู้ให้แก่กองทุนเก็งกำไรเหล่านั้น ใช้ซื้อหนี้แบบ Buying on Margin ได้ ก็หาใช่ใครที่ไหน ก็คือบริษัทโบรกเกอร์ที่เป็นของวาณิชธนกิจ ซึ่งรับประกันการขายหลักทรัพย์ที่ขายให้แก่กองทุนเก็งกำไรนั่นเอง เข้าทำนองอัฐยายซื้อขนมยาย

Fed พยายามจะใส่เบรกโดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น จากระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์คือ 1% ในปี 2003 เป็น 5.25% เมื่อกลางปี 2006 โดยธนาคารกลางแห่งยุโรปจนถึงออสเตรเลียดำเนินรอยตาม

ผลของดอกเบี้ยสูงอาจทำให้ผลกำไรของวาณิชธนกิจตกต่ำ เนื่องจากเมื่อดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านสูงขึ้น ยอดขายบ้านก็จะลดลง ซึ่งจะทำให้หนี้ที่มีบ้านจำนองเป็นประกัน ซึ่งเป็นสินค้าที่วาณิชธนกิจรับประกันการขาย ก็จะมีจำนวนลดลงตามไปด้วย เช่นเดียวกับการที่อัตราดอกเบี้ยสูงอาจทำให้การทำ LBO ยากลำบากขึ้น ทำให้หลักทรัพย์ที่ออกโดย Private Equity เพื่อนำไปทำ LBO อันเป็นสินค้าที่วาณิชธนกิจนำไปขาย ก็ย่อมลดน้อยลงด้วย

เพื่อรักษาธุรกิจของตน วาณิชธนกิจจึงลดมาตรฐานความน่าเชื่อถือ โดยยอมซื้อหนี้คุณภาพต่ำกว่าปกติมากๆ ผลก็คือ สถาบันให้กู้ยืมเงินเริ่มกล้าที่จะปล่อยกู้ซื้อบ้านให้แก่ลูกค้า Subprime หรือลูกค้าที่มีมีประวัติชำระหนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งแทบไม่มีความสามารถในการชำระคืนหนี้ เนื่องจากรู้ว่า ตลาดจะรับซื้อหนี้อสังหาริมทรัพย์แทบทุกประเภทรวมทั้งที่มีคุณภาพต่ำ ส่งผลให้ตลาด Subprime Mortgage บูมอย่างมากในปี 2005-2006 ลูกค้ากลุ่มนี้ยังได้รับการเสนอวิธีคิดดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขการชำระคืนหนี้ที่จูงใจอย่างมาก เช่น ดอกเบี้ยต่ำในปีแรกก่อนที่จะพุ่งเป็น 2 เท่าหรือ 3 เท่าในปีหรืออีก 2 ปีถัดไป หรือจ่ายค่างวดต่อเดือนต่ำกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายรายเดือน ทำให้ดอกเบี้ยกลับไปทบต้น และยังยอมให้กู้เงินจากเงินดาวน์ ที่เรียกว่า Piggyback Loan

นอกจากนี้ ยังยอมผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการปล่อยกู้แก่บริษัท Private Equity เพื่อนำไปทำ LBO โดยยอมให้บริษัทเหล่านี้ไม่ต้องคงอัตราส่วนกระแสเงินสดต่อการชำระดอกเบี้ย อันเป็นมาตรการปลอดภัยที่ลดความเสี่ยงกรณีธุรกิจตกต่ำหรือเศรษฐกิจถดถอย ทั้งยังยอมให้สามารถชำระดอกเบี้ยในรูปของหุ้นกู้ ซึ่งเท่ากับก่อหนี้เพิ่มขึ้น แทนที่จะชำระดอกเบี้ยจริงๆ ทั้งๆ ที่การทำ LBO เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นทุกที เนื่องจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการที่บริษัทที่ทำ LBO ต้องกู้เงินหนักขึ้นเพื่อซื้อกิจการที่มีราคาสูงขึ้น จนบางครั้งแทบจะต้องนำกระแสเงินสดของกิจการที่ซื้อมาทั้งหมดไปจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้มาซื้อกิจการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การลดมาตรฐานได้ผลดี ในปี 2006 วาณิชธนกิจมีรายได้เกือบ 6 พันล้านดอลลาร์ จากการรับประกันการขายหนี้อสังหาริมทรัพย์และหนี้อื่นๆ ซึ่งเป็นรายได้ที่สูงกว่าปี 2003 ถึง 60% ขณะที่ Risk Premium หรือช่วงห่างระหว่างผลตอบแทนของ Junk Bond กับพันธบัตรคลังสหรัฐฯ กลับหดแคบลงอีก จาก 3.8 จุดเหลือ 2.6 จุด หรือต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทั้งๆ ที่การลงทุนกำลังมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลาทั่วโลก

ในที่สุดวิกฤตหนี้เสียในตลาด Subprime Mortgage ของสหรัฐฯ ก็เริ่มแผลงฤทธิ์ในช่วงกลางปี 2006 สถาบันที่ปล่อยกู้ให้แก่ตลาดนี้เริ่มขาดทุนโดยเฉพาะรายเล็ก เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ธนาคาร HSBC รายงานผลขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์ในตลาด Subprime เดือนมิถุนายน Bear Stearns รายงานปัญหาในกองทุนเก็งกำไรของตน ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนขาดทุน 1.4 พันล้านดอลลาร์

แต่ในช่วงแรกตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจยังไม่สังเกตเห็นลางร้าย หรืออาจยังปลอบใจตัวเองว่าวิกฤตจะผ่านพ้นไปเอง ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones กลับพุ่งสูงสุดเหนือ 14,000 จุดเป็นครั้งแรกในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม แต่ข่าวร้ายยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย รัฐบาลเยอรมนีต้องกอบกู้ธนาคารแห่งหนึ่งจากการล้มละลาย BNP Paribas ระงับการเคลื่อนไหวของกองทุน 3 กอง ที่ถือหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์เป็นประกัน American Home Mortgage ปิดตัวลง และ Dow Jones ร่วงลงต่ำกว่า 13,000 จุดในวันที่ 15 สิงหาคม ความเสี่ยงกลับมาแล้ว และเริ่มการแก้แค้นต่อตลาดต่างๆ

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ช่วงห่างของผลตอบแทนระหว่าง Junk Bond กับพันธบัตรคลังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ 2.6 จุดเป็น 4.6 จุด ภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นแทบจะกัดกินกระแสเงินสดทั้งหมดของบริษัท ส่งผลทำให้มูลค่าของบริษัทลดลง ผลก็คือ นักลงทุนควรเตรียมตัวที่จะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำลงจาก Private Equity ตลอดช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งได้แก่อาคารสำนักงาน โรงแรม และอาคารที่พักอาศัย อันมีราคาพุ่งสูงลิ่วในช่วงก่อนหน้านี้ แต่เมื่อดอกเบี้ยขึ้นสูง เงินสดที่จะไหลกลับคืนสู่นักลงทุนก็จะลดลง ซึ่งจะกดดันให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกรูดลงในช่วงต่อจากนี้

ส่วนตลาดบ้านเผชิญกับดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เงินกู้ซื้อบ้านที่เรียกว่า Jumbo Loan คือเงินกู้ที่สูงกว่า 417,000 ดอลลาร์ พุ่งขึ้น ? จุด ในขณะที่ลูกค้า Subprime ซึ่งมีประวัติชำระหนี้ต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพ จะไม่สามารถกู้เงินซื้อบ้านได้อีกต่อไป นักวิเคราะห์ปรับการคาดการณ์ราคาบ้านว่าจะตกลงมากขึ้นอีก จากเดิมที่คาดไว้ว่า ราคาบ้านจะตกลง 5% ในช่วง 3-5 ปีต่อจากนี้ เปลี่ยนเป็นจะตกลงถึง 10% และอาจจะตกลงอีก 20% หรือมากกว่าในบางแห่ง เช่นไมอามี่และลาสเวกัส ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ดอกเบี้ยจะขึ้น ราคาบ้านก็ตกลงไปแล้ว 5%

สำหรับหุ้น จะพบกับภาวะที่ Risk Premium ซึ่งหมายถึงส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรคลัง กับคาดการณ์ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้น เพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจาก Risk Premium ของหุ้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป คือ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าระดับเฉลี่ยถึง 1 จุด เมื่อ Risk Premium เพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็จะตกลงอีก 10% หรือมากกว่า

ฟองสบู่ตลาดการเงินครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก และทุกครั้งก็มักจะเริ่มต้นด้วยการที่เงินท่วมโลก บวกกับการที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ทำให้ทุกคนต่างก็ต้องการมีส่วนในความรุ่งเรืองนั้น แต่สุดท้ายก็ต้องจบด้วยน้ำตา

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ฟอร์จูน กันยายน 2550