FIF : เอาเงินไทยไปลุยต่างประเทศ

“ช่วงนี้ที่กองทุนเอฟไอเอฟ (FIF : Foreign Investment Fund) ค่อนข้างบูม เติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีที่แล้ว เพราะนอกจากภาครัฐส่งเสริม นักลงทุนมีความเข้าใจมากขึ้น เรื่องของค่าเงินที่แข็งขึ้นก็เป็นส่วนเติมเต็มในการตัดสินใจที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น”

จุมพล สายมาลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด พูดถึงการขยายตัวของกองทุนเอฟไอเอฟ

FIF เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 80%ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เริ่มมีมา 5 ปีก่อนหน้านี้ ปัจจุบันกองทุน FIF ทั้งตลาดประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท เป็นกองทุนที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่น (ดูตารางประกอบ)

จุมพล กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้กองทุนเอฟไอเอฟขยายตัว เพราะได้รับแรงหนุนจากการผ่อนคลายวงเงินลงทุนต่างประเทศจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อลดแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมา กองทุน FIF เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้ลงทุนมากขึ้น ทั้งจากการที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ต่างๆ มีการประชาสัมพันธ์จากการเสนอขายกองทุนเอฟไอเอฟอย่างต่อเนื่อง

ส่วนผลตอบแทนที่จูงใจผู้ลงทุนหลักๆ ก็คือ ความเชื่อที่ว่าการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ นอกจากมีโอกาสจะทำให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนตามหลักการที่ว่าไม่ควรใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว หากมีโอกาสลงทุนในกองทุนที่กระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลกนอกเหนือจากกองทุนที่ลงทุนเฉพาะในตลาดหุ้นไทย ก็เป็นการลดความเสี่ยง เพราะโอกาสที่ตลาดต่างๆ ทั่วโลกจะตกพร้อมกันทีเดียว ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย

กรณีเงินบาทแข็งก็มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟด้วยเช่นกัน

“ส่วนของค่าเงินเป็นการนำมาคิดอยู่ในผลตอบแทนอยู่แล้ว ค่าเงินมีทั้งขึ้นและลง เมื่อค่าเงินบาทแข็งมากแล้วเริ่มลงทุนตอนนี้ ต่อมาค่าเงินบาทอ่อน ผู้ลงทุนก็จะได้ประโยชน์สองต่อ ถ้าผลประกอบการกองทุนได้กำไรและกำไรจากการแปลงเป็นมูลค่าบาท แต่ถ้าบาทแข็งมาถึงตรงนี้แล้วแข็งต่อ มันก็เป็นผลเชิงลบเหมือนกัน แต่การที่เงินบาทแข็งค่า ก็เป็นจังหวะที่ช่วยเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจง่ายขึ้น”

อย่างไรก็ตาม จุมพลแนะนำว่า การเลือกลงทุนในเอฟไอเอฟ ควรพิจารณาว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้แค่ไหน แล้วเลือกกองทุนให้เหมาะกับตัวเอง เพราะเอฟไอเอฟ มีให้เลือกหลายประเภท จากนั้นส่วนใหญ่จะพิจารณาจากผลประกอบการ และแบรนด์หรือดูว่าเป็นของบริษัทจัดการกองทุนรวมรายไหน

ส่วนกลุ่มที่ลงทุนในเอฟไอเอฟ มักเป็นกลุ่มคนที่มีเงินฝากในธนาคารแล้วพอสมควร เป็นกลุ่มที่มีรายได้กลางถึงสูง และรับความเสี่ยงได้ เฉลี่ยการลงทุนของลูกค้าไอเอ็นจี อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาทต่อคน

“เมื่อก่อนอัตราการลงทุนต่อคนสูง เดี๋ยวนี้ 2,000 บาท ก็ซื้อได้ เพราะเราอยากจะกระจายไปให้กลุ่มคน จำนวนมากขึ้น คนมีรายได้ไม่มากอยากจะลองซื้อบ้าง ก็ได้ลอง หรือเข้ามาศึกษาจากประสบการณ์จริงก็ได้ เมื่อรู้จักความเสี่ยงและผลตอบแทนแล้ว อนาคตเขาจะมีความรู้ในการเลือกลงทุนมากขึ้นด้วย”

กระแสฮิตเปิด FIF ในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 50

กองทุน FIF ที่เปิดตัวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ทำให้ยอดกองทุน FIF เติบโตสูงสุดในกลุ่มกองทุน แต่กองทุนที่เสนอขายออกมายังมีการแบ่งกลุ่มธุรกิจเฉพาะเจาะจงไปในบางธุรกิจ ตามที่ บลจ.แต่ละแห่งมองว่าเป็นธุรกิจที่ศักยภาพในการเติบโตต่างกันไปด้วย ลองดูจากตัวอย่างการเปิดตัวกองทุนของบลจ.แต่ละรายดังนี้

– 23 ก.ค. 50 เปิดกองทุนเปิด อเบอร์ดีน อีเมอร์จิ้ง ออพพอร์ทูนิตี้ส์ บอนด์ ฟันด์
– 23 ก.ค. 50 บลจ.ทหารไทย เปิดขายกองทุนเปิดทหารไทย World Equity Index ลงทุนในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว และกองทุนเปิดทหารไทย Emerging Markets Equity Index ลงทุนในตลาดเกิดใหม่
– 25 ก.ค. 50 ธนชาต เปิดกองทุนธนชาตพรีเมียมแบรนดส์ฟันด์ ลงทุนในหน่วยลงทุน PICTET FUNDS (LUX – PREMIUM) เพียงกองทุนเดียว
– 31 ก.ค. 50 บลจ.ยูโอบี เปิดกองทุน FIF 6 กองทุน ในช่วงเดือน ก.ค. 2550 มียอดจองเต็มมูลค่าทุกโครงการ พร้อมเตรียมแผนออกกองทุนใหม่ต่อเนื่องอีก 3 กองทุน
– 8 ส.ค. 50 บลจ.บัวหลวง เปิด 2 กองทุน บัวหลวงออลสตาร์ (BSTAR) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม Citigroup S Global STAR เน้นคุ้มครองเงินลงทุนในระดับ 80% ของมูลค่าทรัยพ์สินสุทธิในสกุลดอลลาร์ และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Wellington s Global Health Care Equity Portfolio (Class A) กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ทั่วโลก
– 10 ส.ค. 50 ‘ไอเอ็นจี’ เปิดตัวกองทุน FIF ลงทุนหุ้นน้ำทั่วโลกผ่าน Claymore S&P Global Water Index ETF
– 14 ส.ค. 50 แอสเซท พลัส เปิดขายกองทุนเปิดเอฟไอเอฟตราสารหนี้ 3M8 และกองทุนเปิดเอฟไอเอฟตราสารหนี้ 6M8
– 15 ส.ค. 50 บลจ.เอ็มเอฟซี เปิดขายกองทุน FIF I-AGRI กองทุนแรกที่เน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมทั้งระบบ
(*ช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม กระแสซับไพร์มมีผลต่อการตัดสินใจซื้อกองทุน FIF และทำให้กองทุน FIF ชะลอการเปิดตัว)

อัตราการเติบโตของกองทุนแต่ละประเภทในช่วงครึ่งปีแรก 2550
กองทุนเอฟไอเอฟ 65.62%
กองทุนรวมตราสารหนี้ 35.6%
กองทุนรวมตราสารทุน 29.13%
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 19%

สถิติการเติบโตของธุรกิจการจัดการกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF)
รายการ/ปี 2545 2546 2547 2548 2549 ก.ค.2550
บริษัทจัดการ 5 5 6 13 17 21
จำนวนกองทุน 5 5 12 25 33 43
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(พันล้านบาท) 2.19 3.69 14.19 28.40 28.88 44.30*
*จากมูลค่ากองทุนรวมทุกประเภทในตลาดรวม 1,309,244 ล้านบาท
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สิงหาคม 2550.