คนไทยตื่นโลกร้อนติดอันดับสูงสุดของโลก

เอซี นีลเส็น เปิดเผยถึงผลการสำรวจความตระหนักถึงภาวะโลกร้อนทางออนไลน์หรือทางอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคจาก 46 ประเทศทั่วโลก เมื่อประมาณต้นปี 2550 พบว่า คนทั่วโลกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์กำลังให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ตื่นตัวกับกระแสโลกร้อนมากที่สุดในทวีปเอเชียแปซิฟิก

ไทยแชมป์ในเอเชีย

จากผลการสำรวจพบว่า สาธารณรัฐเช็ก 99% ถูกจัดอยู่ในลำดับแรกของโลกที่ได้ยิน หรือเคยอ่านเรื่องภาวะโลกร้อน โดยมีประเทศไทย จีน โปรตุเกส และรัสเซีย ติดอันดับรองลงมาด้วยเปอร์เซ็นต์ที่ใกล้เคียงกันมาก (98%)

หากเปรียบเทียบในแถบเอเชียแปซิฟิก พบว่า ประเทศไทยมีการรับรู้ถึงเรื่องโลกร้อนถึงร้อยละ 98% มีสถิติเท่ากันกับจีน รองลงมาเป็นเกาหลี 96% ถูกจัดอยู่ในลำดับแรกๆ ที่ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนมากที่สุดในภูมิภาค

นอกจากนี้ผลสำรวจของทั่วโลก หากแบ่งตามทวีปพบว่า กลุ่มประเทศละตินอเมริกา (LATAM) ซึ่งประกอบไปด้วยบราซิล ชิลี เม็กซิโก อาร์เจนตินา จัดอยู่ในกลุ่มที่มีผู้คนรู้จักภาวะโลกร้อนมากที่สุด 96% ในขณะที่ผู้คนในแถบอเมริกาเหนือ 84% รู้จักภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี ทุกทวีปจัดว่ามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหานี้สูง ด้วยค่าเฉลี่ยของโลกที่ระดับ 91

ส่วนประเทศที่มีความรู้ และความเข้าใจน้อยที่สุด 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีผู้ตอบคำถามจำนวน 16 เปอร์เซ็นต์ เปิดเผยว่า ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา 13% และมาเลเซีย11%

โลกร้อนเป็นปัญหาที่รุนแรงมากสุด

จากการผลการสำรวจในแถบประเทศเอเชียแปซิฟิก พบว่า ผู้บริโภคชาวไทย 73% คิดว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่รุนแรงมากที่สุด เป็นอันดับสองรองจากชาวฟิลิปปินส์ 76% และหากเปรียบเทียบทั่วโลกแล้วประเทศที่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ บราซิล 81% ฝรั่งเศส 80% และโปรตุเกส 78%

จากการสำรวจพบว่า 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก รู้สึกว่าภาวะโลกร้อนคือปัญหาที่รุนแรงมาก นอกจากนั้นยังพบว่า 34% ของคนทั่วโลก เห็นว่าเป็นเรื่อง “ค่อนข้างรุนแรง”

ผู้คนในละตินอเมริกามีความวิตกกังวลกับเหตุการณ์นี้อย่างมาก ส่งผลให้ทวีปนี้ติดอันดับแรกของโลกที่เห็นว่าภาวะโลกร้อนคือปัญหาที่รุนแรงมาก ขณะเดียวกันผู้คนในทวีปอเมริกาเหนือมีการรับรู้เกี่ยวกับปัญหานี้ค่อนข้างต่ำโดยมีเพียง 43% ที่มีความคิดเห็นดังกล่าว

ภาวะโลกร้อนเกิดจากฝีมือมนุษย์

คนทั่วโลกมีความคิดเห็นตรงกันว่า ภาวะโลกร้อนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล และการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยานพาหนะ โดยผู้คนทั่วโลกจำนวน 50% เห็นว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์เพียงอย่างเดียวและอีก 43% คิดว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโดยธรรมชาติ

สำหรับประเทศไทย ชาวไทย 48% มีความเห็นว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ และอีกครึ่งหนึ่ง (50%) คิดว่าเกิดจากการผสมผสานของการกระทำของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโดยธรรมชาติ

ผู้คนในแถบละตินอเมริกา 62% ติดลำดับแรกของโลกอีกครั้งที่คิดว่าการกระทำของมนุษย์เท่านั้นที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน ในขณะที่ชาวอเมริกาเหนือมีความคิดเห็นดังกล่าวน้อยกว่าทวีปอื่นๆ ของโลก ดูเสมือนว่าผู้ตอบแบบสอบถามในทวีปอเมริกาเหนือ (66%) จะเห็นว่า ภาวะโลกร้อนส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโดยธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวจีนมากถึง 73% และชาวบราซิล 70% เชื่อว่าปัญหาภาวะโลกร้อนเกิดจากการกระทำของมนุษย์เพียงอย่างเดียว

หากเปรียบเทียบในทวีปเอเชียแปซิฟิก ผู้ตอบแบบสอบถาม 58 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าปัญหาภาวะโลกร้อนเกิดจากการกระทำของมนุษย์เพียงอย่างเดียว และอีก 38 เปอร์เซ็นต์คิดว่าเกิดจากกระทำของมนุษย์และสาเหตุตามธรรมชาติ

ประเทศที่มีความเห็นว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากการกระทำของมนุษย์เพียงอย่างเดียวในเอเชียแปซิฟิก นำโดยจีน 73% เกาหลี 63% และฮ่องกง 59% ตามลำดับ

10 อันดับประเทศที่ตระหนักเรื่องโลกร้อน

สาธารณรัฐเช็ก 99%
จีน 98 %
โปรตุเกส 98 %
รัสเซีย 98 %
ไทย 98 %
บราซิล 97 %
ชิลี 97 %
ฟินแลนด์ 97 %
ฝรั่งเศส 97 %
โปแลนด์ 97 %