ยาหลายขนานคุมอาการบาทผันผวน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ดูแลบริหารค่าเงิน โดยกำหนดกรอบการดูแลค่าเงินที่เรียกกว่า “อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ” โดย ธปท.ไม่กำหนดระดับอัตราแลกเปลี่ยน ณ ค่าใดค่าหนึ่ง ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยใช้นโยบายทางการเงินกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting)

เมื่อเกิดปัญหา “เงินบาทแข็งค่า แบงก์ชาติ ได้แทรกแซงค่าเงิน โดยผ่านเครื่องมือต่างๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผันผวนของค่าเงิน บางมาตรการ เป็นเพียงยาอ่อนๆ อย่างเช่น การขายพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง ไม่ได้ผลชัดเจนนัก

บางมาตรการ หลายคนบอกว่าแรงเกินไป หรือถึงขั้นบอกว่าคือยาโง่ หรือยาผิดรักษาไม่ถูกอาการด้วยซ้ำ แต่สำหรับผู้ได้ประโยชน์บอกว่าได้ผล เช่น มาตรการกันสำรอง 30% ที่บังคับเงินทุนระยะยาว ขณะที่เงินทุนไหลเข้าระยะสั้นอย่างในตลาดหุ้นไม่ได้บังคับ

ขณะที่ต้นเหตุหนึ่งของการทำให้บาทผันผวนคือการเก็งกำไรค่าเงินระหว่างตลาดซื้อขายเงินบาทในประเทศ หรือออนชอร์ กับการซื้อขายเงินบาทในตลาดต่างประเทศ หรือออฟชอร์ ที่แบงก์ชาติไม่ได้จัดการหรือมีมาตรการอย่างจริงจัง จนเห็นชัดว่าการมีสัดส่วนความห่างต่างกันกว้างมาก บางจังหวะออฟชอร์แข็งค่ากว่าออนชอร์ถึง 4 บาท และอีกหลายมาตรการเป็นเพียงยาที่แค่เลี้ยงไข้ไม่ให้หนัก แต่ก็ไม่หายเท่านั้น

ยา 5 ขนานรักษาค่าเงิน

1. ยาอ่อน
เป็นวิธีการที่แบงก์ชาติแทรกแซงผ่านตลาดเงินตราต่างประเทศ เช่น การขายพันธบัตร และการทำ Swap เพื่อดูดซับสภาพคล่องเงินบาท ซึ่งถือเป็นยาอ่อนๆ ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2003 แบงก์ชาติได้ออกพันธบัตรรวมถึงปัจจุบันนับแสนล้านบาท โดยล่าสุดในปี 2007 เปิดจำหน่ายให้ประชาชนซื้ออีก 40,000 ล้านบาท

ผล – วิธีการนี้ทำให้ประชาชนนำเงินบาทออกมามากขึ้น เพื่อให้มีเงินบาทเพียงพอในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และค่าเงินบาทไม่ผันผวนมากนัก
แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือ ผลการขาดทุนทางบัญชีบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ซึ่งในปี 2549 ขาดทุนถึง 170,000 ล้านบาท การซื้อดอลลาร์เข้ามามากขึ้น ยังทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ ธปท. เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันอยู่ที่ 84,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง กว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในไม่ถึง 2 ปี โดย ณ 30 ธันวาคม 2548 ธปท.รายงานทุนสำรองไว้ว่ามีมูลค่าประมาณ 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. ยาแรง หรือยาโง่
แบงก์ชาติตั้งเป้าหมายสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นๆ อย่างมาตรการดำรงเงินสำรองนำเข้าระยะสั้น ระยะต่ำกว่า 1 ปี หรือกันสำรองเงินทุนต่างชาติ 30% ที่ประกาศเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2006 ซึ่งแบงก์ชาติระบุว่าก่อนประกาศใช้มาตรการนี้เงินบาทแข็งค่าเร็วที่สุดในภูมิภาค จาก 15 ธันวาคม 2006 เทียบกับ 30 ธันวาคม 2005 แข็งค่า 16.6% ขณะที่จีนแข็งค่าเพียง 3.1% แต่หลังใช้มาตรการกันสำรอง 30% ค่าเงินบาท 25 กรกฎาคม 2007 แข็งค่าจาก 19 ธันวาคม 2006 เพียง 4.9% ส่วนจีนอยู่ที่ 3.4%

ผล – วิธีการนี้ทำให้พวกเก็งกำไรค่าเงินบาทชะงัก แต่เมื่อแบงก์ชาติประกาศเมื่อเย็นวันที่ 18 ธันวาคม 2006 ทำให้เช้ารุ่งขึ้นวันที่ 19 ธันวาคม 2006 ต่างชาติเทขายหุ้น จนดัชนีวูบไป 108.41 จุด มาร์เก็ตแค็ปของตลาดหุ้นไปกว่า 8 แสนล้านบาท มูลค่าการซื้อขายกว่า 7.2 หมื่นล้านบาท ต่างชาติเทขายสุทธิประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่ต่อมาทางการยกเลิกการกันสำรอง 30% เฉพาะเงินลงทุนที่ไหลเข้าตลาดหุ้น ทำให้เงินทุนบางส่วนกลับคืนมา และยังคงเป็นส่วนหนึ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อต่างชาติซื้อหุ้นในตลาดมากขึ้น

3. ยาสามัญ
แบงก์ชาติเพิ่มทางเลือกจากการทำ Fully Hedge ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2007 สำหรับเงินกู้ยืมจากต่างประเทศ และเงินตราที่ได้รับจากการออกตราสารหนี้ และตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2007 สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ และหน่วยลงทุน ซึ่งถือเป็นยาสามัญที่ผู้ประกอบการต้องทำอยู่แล้ว

ผล – ป้องกันความเสี่ยงและลดความเสียหายจากความผันผวนของค่าเงิน

4. ยาเลี้ยงไข้
การใช้มาตรการป้องปรามการเก็งกำไร ลดแรงจูงใจการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินระยะสั้น และมาตรการผ่อนคลายให้เงินทุนไหลออกมาขึ้น อย่างเช่นที่ประกาศมาตรการผ่อนคลาย 6 มาตรการ ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2007 ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าเงินบาทแข็ง ยังมองไม่เห็นผลที่ได้ชัดเจนจาก 6 มาตรการนี้ เห็นเป็นเพียงยาเลี้ยงไข้ไว้เท่านั้น

1. เงินลงทุนโดยตรงไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์
ให้ธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นในปีที่ผ่านมาเป็นบวก และไม่อยู่ในกลุ่มบริษัทที่เข้าข่ายถูกเพิกถอนการจดทะเบียน (Rehabilitation) สามารถซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

2. การให้เปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit Account หรือ FCD) ในประเทศ เพื่อให้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาไทย มีความคล่องตัวในการฝากเงินกับสถาบันการเงินในประเทศ

3. เงินโอนต่างๆ
ปรับวงเงินที่บุคคลในประเทศต้องการโอนไปต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าเกณฑ์ตามที่ระบุ เช่น เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ แต่ละวัตถุประสงค์ได้ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าต่อรายต่อปี

4 . การนำเงินค่าสินค้าเข้าประเทศ
ผู้มีรายรับเป็นเงินตราต่างประเทศต้องนำเงินเข้าประเทศภายใน 360 วัน โดยไม่ต้องขออนุญาต จากกำหนดเดิมที่ 120 วัน

5. การขายหรือฝากเงินตราต่างประเทศ
ให้ยกเลิกข้อกำหนดการขายหรือฝากเงินตราต่างประเทศภายใน 15 วัน

6. การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของผู้ลงทุนประเภทสถาบัน
อนุญาตให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน สามารถลงทุนในรูปของเงินฝากกับสถาบันการเงินต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และให้เงินฝากนั้น นับรวมในวงเงินที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ตามวงเงินที่กำหนด

5.ยาเสริม

มาตรการส่งเสริมการนำเงินออกนอกประเทศ เพื่อช่วยให้ 6 มาตรการยาเลี้ยงไข้ ได้ผลมากยิ่งขึ้น มีดังนี้
1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พอร์ตการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไปลงทุนต่างประเทศ

2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศ อนุญาตให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันสามารถลงทุนได้ วงเงินรายละไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลงทุนผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือซื้อจากบริษัทค้าหลักทรัพย์

นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้ลงทุนทั่วไป ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ รายละไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้ลงทุนผ่านผู้ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลเท่านั้น เว้นแต่เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ สามารถลงทุนผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ต้องผ่านผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลได้ คาดส่วนนี้มีมูลค่า 120,000 ล้านบาท หรือประมาณ 5% ของเงินฝากในธนาคารพาณิชย์

ผลทางตรง – ทำให้มีการนำบาทออกมาในตลาด เพื่อแลกดอลลาร์ไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เมื่อบาทมีมากพอในตลาด ก็จะไม่แข็งค่าจนเกินไป

ผลทางอ้อม – ทำให้ธุรกิจ บลจ. บล. มีฐานธุรกิจกว้างขึ้น ส่วนบุคคลทั่วไปมีทางเลือกลงทุนมากขึ้น

ยาเหล่านี้ที่ ธปท. สั่งจ่ายเพื่อรักษาอาการค่าเงินบาทแข็ง แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และมีเสียงเรียกร้องให้จ่ายยาที่แรงขึ้น เพื่อรักษาให้บาทหยุดแข็งค่าอย่างชะงักงัน

ยาแรงที่ถูกเรียกร้อง
1. การให้แบงก์ชาติกำหนดค่าเงินบาทเป็นเป้าหมาย หรือการกำหนดค่าเงินบาทอยู่ที่อัตราใดอัตราหนึ่ง เช่น ให้อยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้วยวิธีการที่ ธปท. แทรกแซงโดยซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาแบบไม่อั้น
2. ลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรง เพื่อลดต้นทุนในการออกพันธบัตรเพื่อดูดสภาพคล่อง

ผลกระทบ – ทั้ง 2 วิธีทำให้ธปท.มีเงินดอลลาร์มาก และการลดดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนในการดูดสภาพคล่องลดลง ทำให้ ธปท. สามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ และภาพส่งออกไม่ได้ผลกระทบ เพราะสามารถรู้ชัดเจนว่าค่าเงินบาทอยู่ที่อัตราใด สามารถกำหนดต้นทุนได้

ผลทางลบ – ภายใต้กระแสทุนโลกที่เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว ทำให้ธปท.ไม่สามารถประเมินได้ว่าต้องใช้เงินแทรกแซงจำนวนเท่าไหร่จึงจะทำให้เงินบาทอ่อนอยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้ หากเงินทุนไหลบ่ารุนแรง และธปท.ไม่สามารถแทรกแซง และปล่อยให้บาทแข็งค่าขึ้น ธปท.จะขาดทุนอย่างมหาศาล เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต