ชฏาทิพ จูตระกูล “สี่แยกปทุมวันทรงพลังที่สุด”

ชฏาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ POSITIONING ในฐานะผู้ทำธุรกิจศูนย์การค้าและมีความผูกพันทั้งในฐานะลูกค้าและเพื่อนบ้านของสยามสแควร์มากว่าครึ่งชีวิตด้วยมุมมองที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เธอบอกว่าพื้นที่ของสยามสแควร์ไม่อาจทรงพลังได้แบบเดี่ยว ไม่อาจมองแยกเป็นส่วนๆ ได้ เพราะบริเวณ “สี่แยกปทุมวัน” ถือเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ประกอบไปด้วยศูนย์การค้าหลากรูปแบบซึ่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน อันประกอบด้วย สยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ มาบุญครอง และสยามพารากอน แต่ความแตกต่างนั้นหาได้เป็นอุปสรรคไม่ เพราะเธอเชื่อว่ากลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องทำคือ “รวมกันเราอยู่” อีกทั้งต้อง “อยู่อย่างโดดเด่นและแข็งแกร่ง” ให้ได้ แต่ทั้งนี้ปัญหาที่ผ่านมาคือ การขาดการสื่อสารที่ดีพอ โดยเฉพาะกับสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ เจ้าของพื้นที่สยามสแควร์

เธอทำงานอยู่กับวัยรุ่นมานานมากกว่า 21 ปีแล้ว และก่อนหน้านั้นก็ใช้ชีวิตในย่านสยามสแควร์มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อด้วยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์ แต่หากนับย้อนไปตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ของเธอเมื่อ 78 ปีก่อนนั้น พบว่าคุณแม่ของชฏาทิพได้เปิดคลินิกทันตกรรมแถบสยามกลการในปัจจุบัน จึงแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชฎาทิพมีเรื่องราวผูกพันกับพื้นที่นี้มากเพียงใด ทั้งในเรื่องของไลฟ์สไตล์และชีวิตการทำงาน

“นิวไลท์ เอ็มเค สีฟ้า ลูกชิ้นน้ำใสร้านหลุยส์ เป็นร้านที่มาทานประจำที่สยามสแควร์ตั้งแต่นุ่งกระโปรงนักเรียน”

ทุกวันนี้ ชฏาทิพเชื่อมั่นว่า ไม่มีใครรู้จักสยามดีเท่ากับสยามพิวรรธ์ ซึ่งมีเธอเป็นหัวเรือใหญ่ “เดินดูทุกอาทิตย์ เป็นการสำรวจและเรียนรู้ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาโดยตลอด”

ช้อปกลางแจ้ง เสน่ห์สุดยวนใจ

ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปในสยามสแควร์ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง คือความเป็น Open Mall ตึกแถวจึงครีเอตรูปแบบเฉพาะตัวได้ เป็น Walking Street Retail ที่ไม่เหมือนใคร ไม่ควรจะสร้างเป็นตึกอะไรขึ้นมา เพราะจะขาดเสน่ห์และความเป็นเอกลักษณ์ สิ่งที่ควรจะทำคือปรับให้มีระบบ ระเบียบ สะอาด สวยงาม

เหมาะกับชาวต่างชาติ เขามีเวลาช้อปปิ้งไม่นาน มีเวลาแป๊บๆ ไปที่ไหนถึงจะได้ของครบ ก็ต้องมาที่นี่ ทุกวันนี้ภาพของการเป็นแหล่งช้อปปิ้งของที่นี่ก็ชัดเจนดี แต่เราจะผนึกกำลังกันได้อย่างไร ไม่ควรต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำเหนื่อยกว่าอีก

ผลวิจัยไม่ทำไม่ได้

“วัยรุ่นเป็นวัยที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าวัยอื่นๆ” เธอตระหนักถึงความจริงข้อนี้ดี ดังนั้นการจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่างของเธอไม่ใช่แค่อาศัยสัญชาตญาณ ชฏาทิพทำวิจัยกับผู้บริโภคทุกปี ทั้งลูกค้าและคนที่ไม่ใช่ลูกค้า ทั้งเชิงกว้าง 5,000 คน และเชิงลึกแบบ Group Interview 500 คน เป็นการทำผลวิจัยมาต่อเนื่องนานนับสิบปี

“ต้องมี Information back-up ตลอด แต่สัญชาตญาณก็ใช้ประมาณ 10% เพราะสัญชาตญาณช่วยกำหนดขอบเขตโอกาสทางธุรกิจได้ แต่ไม่ใช้เป็นตัวตัดสินทั้งหมด”

เธออธิบายด้วยประสบการณ์อันเคี่ยวกรำว่า รูปแบบกิจกรรมเพื่อเข้าถึงวัยรุ่นไม่เคยเปลี่ยนแปลงจากกีฬา บันเทิง วิชาการ แฟชั่นและเทคโนโลยี แต่วิธีการเข้าถึงรายละเอียดต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันเธอบอกว่า สื่ออินเทอร์เน็ตมีผลต่อวัยรุ่นมากทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ขณะที่เธอเองก็เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของวัยรุ่นผ่านเว็บไซต์ต่างๆ เช่น kapook.com อยู่เช่นกัน

“เข้าไปอยู่ในแชตรูม อ่านกระทู้ แต่ไม่ตอบ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นกิจกรรมของเราก็โพสต์ตลอด”

ชฏาทิพ อธิบายถึงพฤติกรรมของลูกค้าย่านนี้ว่า คนเดินกับคนซื้อไม่เหมือนกัน เพราะคนเดินจะไปได้ทุกศูนย์ขณะที่คนซื้อจะเลือกเพียงบางแห่งเท่านั้น โดยแบรนด์เนมในสยามเซ็นเตอร์จะเป็นลูกค้ากลุ่มคนทำงานรุ่นๆ มากกว่า ขณะที่เด็กนักเรียน นักศึกษาเลือกที่จะรับประทานอาหารแทน และไปช้อปที่มาบุญครอง เป็นต้น

สยามสแควร์ Never Die

ชฏาทิพ วิเคราะห์ถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้สยามสแควร์อยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “ลักษณะทางประชากรศาสตร์” ของพื้นที่ใกล้เคียงที่ประกอบไปด้วยสถานศึกษาหลายแห่ง คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนสาธิต มศว.ปทุมวัน เป็นต้น ซึ่งแต่ละแห่งล้วนเป็นสถานศึกษาที่ “คัดเกรด” มาแล้ว และปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นลูกคนมีตังค์ มีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ยังมีคนทำงานจากออฟฟิศ บิลดิ้งแถบนี้เป็นอีกกลุ่มลูกค้าหลัก หรืออาจกล่าวสรุปได้ว่า ลูกค้าของที่นี่มีโพรไฟล์ที่ชัดเจน

โลเกชั่นที่นี่เป็นตำนาน ทุกวันนี้ศูนย์การค้าที่เริ่มเปิดดำเนินการในยุคเดียวกันโดนทุบทิ้งไปหมดแล้ว ชฏาทิพบอกว่า เพราะการทำศูนย์จะมี Cycle หากไม่รู้จักปรับตัวหรือวิเคราะห์สภาพตลาดให้ดี ก็ต้องเผชิญสภาพเหมือนกับหลายรายที่ปิดกิจการไป

นอกจากนี้ต้องเรียกว่าบุญพาวาสนาส่ง เมื่อ BTS พาดผ่านสยามฯ และเป็นถึง Interchanged Station แต่กว่าจะได้รับอานิสงส์ศูนย์การค้าย่านนี้ก็รับเคราะห์ไปก่อนนานกว่า 3 ปี ระหว่างการก่อสร้าง

ขณะที่โรงเรียนกวดวิชานับร้อยแห่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สยามสแควร์ดูวัยรุ่นอยู่เสมอแม้กาลเวลาจะผ่านมาเกินครึ่งอายุคนแล้ว

อยากเด่น อยากดัง ต้องมาที่นี่

อะไรที่เป็นของสดใหม่ ใหญ่ อลังการ ต้องประเดิมที่ย่านสี่แยกปทุมวันนี้ การปักธงที่นี่ได้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ด้วยทราฟฟิกมหาศาลกว่า 500,000 คนต่อวัน ไม่นับรวมผู้โดยสารที่อยู่บน BTS อีกประมาณ 200,000-300,000 คนต่อวัน

“อะไรที่มาใหม่ แปลก ไม่ซ้ำใคร ก็ต้องไม่พ้นสี่แยกนี้ ใครจะเปิด Flagship Store ก็มาที่สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ ใครอยากวัดกระแสสินค้าฮอตก็ต้องไปที่สยามสแควร์ คนมาทำธุรกิจที่นี่ไม่กลัวเจ๊ง เจ๊งลำบาก เพราะโลเกชั่นเด่นมาก แต่เรื่องของฝีมือ ตัวใครตัวมัน เพราะการแข่งขันสูงมาก”

ดังนั้นเมื่อฝีมือไม่ถึง ส่วนหนึ่งเราจึงเห็นผู้เช่าหน้าตาใหม่ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาลิ้มลองโอกาสอันหอมหวานนี้อยู่เสมอ

เซ็นเตอร์พ้อยท์ ในสายตาชฏาทิพ

“มีที่ใหญ่ขนาดนี้ ทำไมจะต้องทำให้เหมือนคนอื่น” เธอหยิบยกจุดแข็งในเรื่องขนาดของพื้นที่สยามสแควร์ที่ติดกับถนนใหญ่ถึง 3 ด้าน คือ พระราม 1 วิภาวดี และอังรีดูนังต์

ณ วันที่สัมภาษณ์ 28 กันยายน 2550 ผลของการประมูลเซ็นเตอร์พ้อยท์ ยังไม่ประกาศว่าชัยชนะตกเป็นของรายใด ชฏาทิพบอกว่าบอกเพียงว่า “ขึ้นอยู่กับจุฬาฯ ว่าต้องการอะไร ถ้าต้องการตึกเหมือนศูนย์การค้าอื่นๆ เราก็คงไม่ได้ และรู้สึกว่าคงจะไม่ได้จริงๆ ถ้าไม่ได้ ก็ทำใจ ”

“ถ้าอยู่ดีๆ ให้เราไปทำให้เขาฟรี ถ้าไม่มีคนทำ เราก็ทำให้ได้ เราเข้าไปประมูลในเซ็นเตอร์พ้อยท์ เพราะคิดว่าเรารู้จักซึ่งกันเป็นอย่างดี ถ้าได้ทำก็รู้สึกเป็นเกียรติ แต่ลึกๆ แล้วเธอบอกว่าถึงเวลาแล้วที่จุฬาฯ ควรจะทำเอง

9 ปีของเซ็นเตอร์พ้อยท์ เธอมองว่าทำไว้ได้ดี โดยเฉพาะแนวคิดของการเป็นลานกิจกรรม โมเดลที่เธอนำเสนอจึงไม่ละทิ้งรากสำคัญนี้

“เรานำจุดนั้นมาปรับให้สามารถใช้งานได้ตลอดทั้งปีไม่ต้องกลัวฝน ทำโครงสร้างใหม่เป็น Open Space หลังคากระจก อาศัย Skylight ฝนตกไม่เปียก เป็นแนวคิดที่เธอปรับใช้จากประสบการณ์ที่พบเจอที่ดูไบ ข้างใต้เป็นรีเทลเหมือนสะพานครอสกันไปมาเหมือนเดินกลางอากาศ โปร่งโล่งสบาย โดยเสนอไป 4 ชั้น เป็นผลงานร่วมออกแบบกับ Urban Architect”

ชฏาทิพ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ทำให้สยามสแควร์คงมนตร์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย แม้จะต้องเผชิญทุกข์ร้อนมาแล้วก็คือ “จิตวิญญาณที่ไม่เปลี่ยนแปลง” ตึกแถวกว่า 600 คูหา ที่แต่ละร้านมีรูปแบบเฉพาะเป็นของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสยามสแควร์ก็คือ การทำการตลาดแบบเข้มข้น ไม่เพียงแค่ต่างคนต่างทำ เพราะทุกวันนี้สยามสแควร์ยังขาดการส่งเสริมด้านนี้อยู่มาก

แม้วันนี้จะทราบผลเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าสยามพิวรรธน์ไม่สามารถชนะประมูลการบริหารพื้นที่สยามสแควร์ได้ แต่ความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะแสดงพลังแห่ง Synergy ของศูนย์การค้าแถบสี่แยกปทุมวันของเธอจะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ ยังต้องรอการพิสูจน์ อีกทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอย่างเจริญ สิริวัฒนภักดี จะปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของเซ็นเตอร์พ้อยท์ ไปในทิศทางใด และพร้อมที่จะผนึกกำลังให้สี่แยกปทุมวันเกรียงไกรได้กว่านี้หรือไม่

วันนี้สปอตไลต์ไม่ได้สาดส่องมาที่สยามพิวรรธน์ แต่การประมูลพื้นที่อื่นๆ ของสยามสแควร์ก็จะเกิดขึ้นตามมาในอีกไม่นานเกินรอ