ก๊วนสร้างฝัน จุดคุ้มทุนไม่ใช่แค่เงิน

วรเศรษฐ์ นิพัทย์กุศล…วิภาศิริ ฮวบเจริญ และ อัญรา เอกมั่น คนรุ่นใหม่ที่กลายเป็นตัวอย่างของการร่วมกันทำธุรกิจ ในนาม “คาแรคสตา กรุ๊ป” คนกลุ่มเล็กๆ ทว่าบรรจุใจใหญ่ๆ ที่ใส่ความมุ่งมั่นเพื่อจรรโลงสังคม กระทั่งเกิดเป็นธุรกิจภายใต้แก่นแห่งความรักใน “ดนตรีและศิลปะ” ที่ถึงพร้อมด้วย “อุดมการณ์” ในความหมายแห่งความตั้งใจจริง บางคนอาจไม่แน่ใจว่า “ความต่าง” ของทั้งสาม คือความเสี่ยงหรือโอกาสทางธุรกิจ ทว่าสำหรับพวกเขา ทั้งมวลคือ “ความรัก” ที่จะทำความ “ฝัน” ให้เป็นจริง โดยอาศัยความปรารถนาดีต่อสังคมเป็นแรงขับเคลื่อน “จุดคุ้มทุน” จึงไม่ได้ถูกประเมินในแง่ของรายได้เฉกเช่นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หากแต่มันเกิดขึ้นในใจของพวกเขาเอง

คาแร็กเตอร์ดีไซน์…ธุรกิจเริ่มต้น

ความเป็นพี่น้องร่วมคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้ธุรกิจของพวกเขาเริ่มต้นจากความสัมพันธ์แบบ “คนกันเอง” นอกเหนือจากธุรกิจส่วนตัว “วิภาศิริ” และ ”วรเศรษฐ์” ต่างรับงานอิสระที่ตนเองรักควบคู่กันไป วิภาศิริถนัดงาน “กราฟฟิก” วรเศรษฐ์เป็น “นักแต่งเพลงประกอบ” ในขณะที่ “อัญรา” โลดแล่นอยู่ในแวดวงอีเวนต์-ออร์แกไนเซอร์

การไปมาหาสู่กันอยู่เนืองๆ ก่อให้เกิดกราฟิกเฮาส์ในชื่อ “Charaxta” อันบ่งจำเพาะถึงความ “สันทัด”ทางด้านงาน “คาแร็กเตอร์ดีไซน์”

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน “การ์ตูนคาแร็กเตอร์” นับเป็นของใหม่ที่ใครๆ ต่างให้ความสนใจในความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เฉกเช่นเดียวกับทั้งสาม ทว่า เพียงหนึ่งปีให้หลัง พวกเขาจึงได้เรียนรู้ว่า มันยังไม่ใช่ “เวลา” ที่เหมาะสม “จากที่มองว่ามันมีโอกาสทาง Medium สูง เอาเข้าจริง Perception ของนักการตลาดไทยก็ยังมองว่าการ์ตูนก็คือการ์ตูน รองรับแค่ฟังก์ชันของ Mascot จึงมีแค่ Appreciation ในแง่ที่มันเป็นแฟชั่นใหม่”

นับว่าห่างไกลกับความมุ่งหมายของทั้งสามที่มองการพัฒนาของคาแร็กเตอร์ไปถึงขั้น “Presenter หรือ Brand Ambassador”
“เรา Push ไม่ได้เต็มที่เพราะ Core Idea จริงๆ มาจากเอเยนซี่ ” ที่แย่ไปกว่านั้น พวกเขาได้รับ “ใบสั่ง”ให้ “ก๊อปปี้” สิ่งลูกค้าต้องการ “มันไม่คุ้มใจ…มันออกห่างจากที่เราตั้งใจไว้ในตอนแรก” อัญราตัดพ้อ

การใช้คาแร็กเตอร์ในงานลดจำนวนลงตาม Impact ของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ทว่า คาแรคสตาปฏิเสธทางออกของการ “อยู่ได้” ด้วยการสร้างคาแร็กเตอร์ในฐานะ Merchandise ด้วยความที่พวกเขารักในความเป็น “ Artistic Value” ของคาแร็กเตอร์มากกว่า “Commercial Value”

นำมาสู่การทบทวนถึง “ต้นทุนความถนัด” ของสมาชิกแต่ละคน…

ดนตรีในความต่าง

ส่วนของงานกราฟิกยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัท ทว่าสายงานดนตรีคือสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาเมื่อหนึ่งปีก่อน

“Charaxta Music” สำหรับรับงาน “แต่งเพลงประกอบ”, บริการ“Music Stock” และ “Asean Records”ค่ายเพลงที่ใช้การสะกดคำเพื่อสื่อถึงความเป็น “ประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ต้นขั้วไอเดียค่ายเพลงเกิดจากความหลงใหลใน “ดนตรีไทย” ของวรเศรษฐ์ หน้าที่ของสร้างความเปลี่ยนแปลงทาง “สังคม” ถูกนำมาเป็นโจทย์สำหรับการสร้าง “ค่ายเพลงใหม่” ในจิตสำนึกของพวกเขา “ผมมองว่านอกจากดนตรีไทย ก็ยังมีดนตรีภูมิภาคเอเชียที่มีความเจ๋งอยู่มาก”

คอนเซ็ปต์การสร้างเพลงจึงเกิดขึ้นโดยเงื่อนไขของการผลิต “ดนตรีไทย” และ ”ดนตรีภูมิภาค” ในรูปแบบ ”ดั้งเดิม” ที่สุด ขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์ ”ดนตรีแลกเปลี่ยน” ระหว่างความเป็นเอเชียกับรูปแบบของดนตรีในปัจจุบันกาล เช่น แจ๊ซ แดนส์ แร็พ เทคโนฯลฯ ดนตรีของพวกเขาจึงมีตั้งแต่ ”เทคโนบีท” ซึ่งใช้เสียงของ ”ปี่ไฉน” บทสวดของ ”ลามะทิเบต” ในดนตรีไทย หรือเพลง ”แร็พ” ในทำนองเขมร

“เป็นโอกาสให้เราได้เจอกับนักดนตรีซึ่งอยู่คนละยุคกับเรา อย่างดนตรีเขมร ซึ่งจวนเจียนจะหมดไปแล้ว เราขนอุปกรณ์ไปอัดเสียงนักดนตรีถึงที่นั่นเพื่อไม่ให้มันสูญ แกเล่นมาตั้งแต่สมัยเจ้ามหาชีวิตสีหนุ พอกลับไปเยี่ยมอีกทีปรากฏว่าแกเสียชีวิตแล้ว หรือดนตรีประเภทอยู่ในป่าเขา ไม่มีไฟฟ้าใช้เราก็ทำ”

กระบวนการคิดในการผลิตชิ้นงานเป็นไปด้วยความประณีตที่สุด “เราต้องเช่าศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นห้องอัดขนาดใหญ่ เพราะการอัดแยกทีละคนจะทำให้นักดนตรีเกร็ง ความเป็น Teamwork ของดนตรีไทยหายหมด”

ทั้งสามมองว่าผลิตผลของพวกเขาจะมี “Life cycle” ที่ยาว ฟังวันนี้เพราะอย่างไร อีก 20 ปีข้างหน้าก็เพราะอย่างนั้น “ไม่ใช่เฉพาะให้คนไทยฟัง แต่มันเป็นสากลได้”

เมื่ออัลบั้มเสร็จ พวกเขาจึงลงทุนไปออกบูธใน ”เทศกาลดนตรี” ที่เมืองคานส์ ทันที “เป็นครั้งแรกที่มีธงชาติไทยขึ้นในงานนี้” …ราคาหฤโหดเหยียบล้านไม่สามารถลูกบ้าของพวกเขาได้

แกลเลอรี่กับพื้นที่ทดลองความฝัน

“ไม่ใช่คิดว่าจะทำแต่ธุรกิจอย่างเดียว เราอยากให้คนทั่วไปได้อานิสงส์ด้วย” เป็นที่มาแห่งแกลเลอรี่บนพื้นที่แปลกๆ อย่าง ”สยามสแควร์” ภายใต้ชื่อ “ArtGorillas” ด้วยพวกเขาเชื่อว่า ”ศิลปะ” เป็นประโยชน์ต่อสังคม “จริงๆ ศิลปะน่าจะเป็นทรัพยากรที่คนไทยเก่ง เราคงไม่ใช่นักประดิษฐ์ นักอุตสาหกรรม” วรเศรษฐ์ว่า

ทั้งมวลคือความ ”ปรารถนาดี” ที่อยากให้ ”เยาวชน” ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับศิลปะ “มันคงไม่เป็นการเข็นครกขึ้นภูเขาเกินไป ถ้าเราจะชวนวัยรุ่นซึ่งเดินเล่น กิน เที่ยวกันอยู่แถวนี้อยู่แล้ว ให้มาดูศิลปะ”

“เราไม่สามารถทำแกลเลอรี่ให้ดีได้ตั้งแต่วันแรก แต่เราพยายามตั้งแต่วันแรก” ช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาพวกเขายกให้เป็นช่วง Trial Error ของแกลลอรี่ “เด็กไทยเก่งศิลปะเยอะ แต่โอกาสแสดงงานน้อย ในขณะที่คนดูก็ไม่ค่อยมีโอกาส แกลเลอรี่เราจึงทำหน้าที่พาคนสองฝั่งให้มาเจอกัน”

ศิลปะที่มาจัดแสดงใน ArtGorillas มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์ ประติมากรรม ภาพถ่าย สตรีทอาร์ต ดนตรี วิดีโอ กระทั่งศิลปินต่างชาติก็ให้ความสนใจแวะเวียนมาร่วมแจม “อาจจะไม่ใช่งานในรูปแบบที่เราชอบ แต่เป็นงานที่เราปะทะกับมันแล้วเกิดจุดพิเศษในการสื่อสารระหว่างตัวศิลปินกับคนดู”

พวกเขาไม่เห็นความจำเป็นที่ศิลปะต้องรีบสร้างรายได้ “หน้าที่ของแกลเลอรี่ต้องมาก่อน” ผลตอบแทนของทั้งสามจึงมิใช่รายได้ในแง่ของตัวเลข ทว่าอยู่ที่ความรู้สึกเป็นสุขที่ได้รับ

“ในระบบเศรษฐศาสตร์ ยุดแรก ใครใคร่ทำอะไร ทำเลย ทำให้ดี ยุดต่อมา ผลิตได้เท่าไหร่ ขายเท่านั้น ยุคนี้ ทำอะไรก็ได้ให้ทำเงิน …แต่เรา กำลังย้อนไปสู่ยุคแรก” …มันวิถีที่พวกเขาเลือกเดิน

“ความงามของดนตรีและศิลปะเป็นสิ่งสากลที่ทุกคนสัมผัสได้ เรามีหน้าที่เพียงค่อยๆ แนะนำให้เขาได้รู้จักมากขึ้น” ทั้งสามอิ่มใจกับธุรกิจของบริษัท อันมีส่วนผสมเป็น ”พันธกิจต่อสังคม” มากกว่าครึ่ง

Profile

Name วรเศรษฐ์ นิพัทย์กุศล
Age 32
Education
– Bachelor Degree
นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
– Master Degree
บริหารธุรกิจ มหิดล

Name วิภาศิริ ฮวบเจริญ
Age 32
Education
– Bachelor Degree
นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
– Master Degree
บริหารธุรกิจ ศศินทร์

Name อัญรา เอกมั่น
Age 29
Education
– Bachelor Degree
นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
– Master Degree
เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ