ตำนานฮีโร่ของสาวยาคูลท์

ในที่สุดเจ้าตลาดนมเปรี้ยวเพื่อสุขภาพ “ยาคูลท์” ก็อยู่ไม่ติด หลังจากแบรนด์นมเปรี้ยวรุ่นใหม่ ดัชมิลล์ ที่ส่งตัวแมสคอตเพื่อสุขภาพออกมาสร้างความจดจำให้ผู้บริโภค หรือแม้แต่สินค้าใกล้เคียง อย่างโยเกิร์ต ก็นำเอาสรรพคุณ จุลินทรีย์ ที่มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร ที่มีคุณค่ามากกว่าความอร่อยอย่างแอคทีเวียของดานอน

ยาคูลท์ ที่เคยมีเส้นทางธุรกิจเป็นของตัวเอง ไม่พึ่งสื่อทีวี หรือสื่อไหน ใช้ทีมสาวยาคูลท์เป็นช่องทางขายเดียว สร้างระบบขายตรงนมเปรี้ยวที่แข็งแกร่ง จนเข้าขั้นตำนาน ก็ต้องลุกมาทำการตลาดอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

แทนที่จะใช้กลยุทธ์การตลาดเหมือนกับคู่แข่ง แต่ยาคูลท์เลือกใช้ “การ์ตูนเล่มละ 5 บาท” เป็นสื่อในการสร้างแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย

การ์ตูนเล่มนี้ บรรจุเรื่องราวตำนานฮีโร่ ด้วยลายเส้นและเรื่องราวแบบญี่ปุ่น พูดถึงต้นกำเนิดของยาคูลท์ ที่มีตำนานมายาวนานตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลก ที่ช่วยให้คนรอดตายจากโรคท้องเสีย จนกลายมาเป็นนมเปรี้ยวพร้อมดื่มเพื่อสุขภาพที่เข้ากับเทรนด์ของคนยุคปัจจุบัน โดยใช้เครือข่ายทีมสาวยาคูลท์เป็นจุดกระจาย

งานนี้ยาคูลท์ ตั้งใจยิงปืนนัดเดียวให้ได้นก 2-3 ตัว

หนึ่ง-สาวยาคูลท์สามารถเข้าหากลุ่มลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ จากการแจกการ์ตูนที่กลายเป็นหัวข้อสนทนา จัดเป็นการบริหารความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าอย่างแนบเนียน สอง-เป็นการรีมายด์กลุ่มผู้บริโภคเดิมถึงประโยชน์ของยาคูลท์ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการเพิ่มความถี่ในการกลับมาบริโภคเป็นประจำมากขึ้น เพราะสาวยาคูลท์จะไปหาลูกค้าตามบ้านพร้อมข้อเสนอว่า “ให้ยาคูลท์มาส่งที่บ้านทุกวันได้นะคะ” และสาม-เป็นการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่สู่รุ่นเด็กที่เป็นสมาชิกของแต่ละบ้าน ซึ่งมีโอกาสหยิบการ์ตูนที่ได้รับแจกมาอ่านด้วยความสนุก และทำให้รู้จักกับยาคูลท์ไปด้วยในตัว

เพียงเท่านี้นอกจากจะรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ได้ ยังมีโอกาสได้ฐานลูกค้ารุ่นใหม่ ทั้งยังเพิ่มความถี่ในการบริโภคขึ้นอีกจากกระแสการรักษาสุขภาพที่มีคู่แข่งหลายแบรนด์ช่วยกันเอ็ดดูเคทตลาด

การตลาดเรียบง่าย แต่เข้าถึงด้วยไอเดียที่แตกต่าง คงจะทำให้ยาคูลท์รักษาแชมป์ในตลาดนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม และเพื่อสุขภาพไปอีกนาน

คู่แข่ง

-โฟรโมสต์ จุดขายผสมโอเมก้า 3 กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ช่วยพัฒนาระบบประสาทและความจำ แชร์ 10% สาวโฟร์โมสต์ 1 พันคน 2

-ดัชมิลล์ ดีไลท์ เพิ่มน้ำผลไม้ แชร์ 27-28% สาวดัชมิลล์ 1.5 พันคน 3-บีทาเก้น มีขนาด 180 ซีซี แชร์ 50% สาวยาคูลท์ 3.5-4 พันคน

*ส่วนแบ่งตลาดนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม มูลค่า 5-6 พันล้านบาท
*รวบรวมจากข้อมูลของแต่ละบริษัท ยกเว้นยาคูลท์ประมาณการโดยคู่แข่งแต่ละราย

– ยาคูลท์ 1 ขวด 80 ซีซี มีจุลินทรีย์ “แอล.คาเซอิ ชิโรต้า” ดื่มเพียงวันละ 1 ขวด ก็ถือว่าได้รับประโยชน์ที่เพียงพอกับร่างกาย ทำให้ยาคูลท์ไม่เคยเพิ่มหรือคิดจะทำขนาดอื่นเพิ่มเติม

– ขวดพลาสติกทรงนี้ออกแบบมาใช้แทนขวดพลาสติกตั้งแต่ปี 2512 และไม่เคยเปลี่ยนแบบมาถึงปัจจุบัน

– ดีไซน์ให้ขวดคอด เพื่อให้ถือสะดวกและผู้ดื่มจะได้ค่อยๆ ลิ้มรสโดยไม่ดื่มทีเดียวหมด

– ชื่อยาคูลท์ มาจากภาษาเอสเปอแรนโต (Esperanto) ภาษาสากลที่คิดขึ้นสำหรับสื่อสาร หมายถึงโยเกิร์ต ซึ่งแปลว่ามีอายุยืนยาว

– สาวยาคูลท์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2506 ในญี่ปุ่น

– การตั้งราคาต้องใกล้เคียงสินค้าที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินซื้อโดยไม่ลังเล