พระราชกรณียกิจ

ตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า ๖๐ ปีที่พระองค์ทรงเป็นเสมือนพ่อของแผ่นดิน และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลก พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรของพระองค์ถึงพร้อมด้วยประโยชน์สุข ดังที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้เมื่อครั้งเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ และได้มีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยมีช่วงใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงว่างเว้นจากการทรงงาน พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินทุกพื้นที่เพื่อทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง และทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละปีเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อทรงหาโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงอยู่เสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีพื้นที่แห่งใดในประเทศไทยที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินถึง”

ย้อนไปเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๒ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในทั่วทุกภาคของประเทศ เมื่อทรงรับทราบปัญหาของราษฎร ก็ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะหาทางแก้ปัญหาตลอดมาด้วยพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกล ทั้งสองพระองค์ทรงขจัดความทุกข์ยากเพื่อนำความผาสุกมาสู่ราษฎร โดยมิทรงเคยคำนึงประโยชน์สุขของพระองค์เองเลย

โครงการพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานเป็นแนวทางให้กับทุกหน่วยงาน ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม ตลอดจนการเศรษฐกิจนั้น ยังคงมุ่งเน้นไปที่การสร้างประโยชน์สุขให้แก่พสกนิกรในชนบทแทบทั้งสิ้น รวมไปถึงทรงแก้ไขปัญหาการจราจร อุทกภัยและปัญหาน้ำเน่าเสียของพสกนิกรในชุมชนเมือง

แม้ในยามประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจ พระองค์ก็ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ให้ราษฎรได้พึ่งตนเอง ใช้ผืนแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบอาชีพอยู่กินตามอัตภาพ ซึ่งราษฎรได้ยึดถือปฏิบัติเป็นผลดีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านการเกษตร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนใจด้านนี้ จนเกิดเป็นโครงการตามพระราชดำริหลากหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการชลประทาน การพัฒนาดิน การวิจัยพันธุ์พืชและปศุสัตว์

ด้านทรัพยากรน้ำ

ซึ่งจัดเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร โครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสีย ผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่จังหวัดลพบุรี จนถึงโครงการขนาดกลางและเล็กจำพวกฝาย อ่างเก็บน้ำ อีกทั้งได้ทรงวิจัยและริเริ่มโครงการฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน

ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และน้ำเน่าเสียในคูคลอง ทรงมีพระราชดำริเรื่องแก้มลิง ควบคุมการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ลำคลองต่างๆ ลงสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล ทั้งยังเป็นการใช้น้ำดีไล่น้ำเสียออกจากคลองได้อีกด้วย เครื่องกลเติมอากาศ กังหันชัยพัฒนา ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจน กังหันชัยพัฒนาจึงเป็นสิ่งประดิษฐ์หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยประชาชนชาวไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทุกพื้นที่ พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ ไปในขบวนอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รักษาผู้ป่วยไข้ได้ทันที

นอกเหนือจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์

กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดมั่นที่จะสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย และสมเด็จพระบรมราชชนนี พระมารดาของการแพทย์ชนบท ในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์

ด้านการศึกษา

พระองค์ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา อย่างเช่นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้การอุปถัมภ์ในด้านต่างๆ เช่น ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียน และพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนของโรงเรียน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์มีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนราชประชาสมาสัย โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท โรงเรียนร่มเกล้า โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน

ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาพระราชทาน ซึ่งเป็นทุนการศึกษาหลายขั้นหลายทุน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา และทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ เพื่อพระราชทานทุน แก่นิสิตนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นในด้านต่างๆ มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้วิชาการชั้นสูงในต่างประเทศ และนำความรู้นั้นกลับมาใช้พัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

นอกจากนี้ในทุกๆ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสร็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา แม้พระราชกรณียกิจนี้จะเป็นภาระแก่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์มาก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้คงพิธีพระราชทานปริญญาบัตรไว้ ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชภารกิจมากมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชทานแทนพระองค์

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวม ๒๗ ประเทศ เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีก เพราะทรงเห็นว่าพระราชภารกิจภายในประเทศนั้นมีมากมาย

อย่างไรก็ตาม หากประมุขหรือรัฐบาลของประเทศใดกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชโอรส หรือพระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์

พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น รวมไปถึงการเสด็จพระราชดำเนินออกให้การต้อนรับราชอาคันตุกะจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้บรรดาทูตานุทูตเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสาส์นตราตั้งในการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย และถวายบังคมทูลลาเมื่อครบวาระอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งปวงด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยถึงทุกข์สุขของประชาชนเสมอมา พระมหากรุณาธิคุณนี้ก่อให้เกิดความจงรักภักดีที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าและตระหนักในความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนจนยากจะลบเลือน