เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทรงศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในพุทธศักราช ๒๔๙๔ มีพระราชดำริริเริ่มที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรของพระองค์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงมีพระราชปรารถนาที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรให้ทั่วทุกหนแห่ง ซึ่งนอกเหนือจากที่ทรงต้องการสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรแล้ว พระราชประสงค์หลักของพระองค์คือ ทรงต้องการทราบความเดือดร้อนและความต้องการของราษฎรด้วยพระองค์เอง โดยแนวทางการแก้ปัญหาของราษฎรนั้น ได้ดำเนินการผ่านโครงการตามแนวพระราชดำริ โดยมีหลักการในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุผล ๖ ประการ ดังนี้
๑. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ลดปัญหาและให้ความช่วยเหลือราษฎรที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนั้น
๒. การพัฒนาต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามลำดับความจำเป็นและประหยัด ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ในลักษณะการพึ่งตนเองทรงใช้คำว่า “ระเบิดจากข้างใน” นั่นคือทำให้ชุมชน หมู่บ้านมีความเข้มแข็งก่อนแล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก
๓. การพึ่งตนเอง เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากขั้นตอนทั้ง ๒ ข้อ คือ การพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพ และสามารถ “พึ่งตนเองได้”
๔. การส่งเสริมความรู้และเทคนิควิชาการสมัยใหม่ พระองค์ทรงเน้น “ตัวอย่างของความสำเร็จ” จึงพระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาทดลองวิจัย และแสวงหาความรู้ เทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่ราษฎร “รับได้” นำไป “ดำเนินการเองได้” และเป็นวิธีการที่ “ประหยัด”
๕. การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ได้เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจะมีผลต่อการพัฒนาการเกษตร จึงทรงมุ่งเน้นที่จะให้มีการพัฒนา และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว
๖. การส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงและรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีภาคอุตสาหกรรม และบริการเป็นหลัก มีผลทำให้สังคมไทยเปลี่ยนเป็นสังคมเมือง และเกิดปัญหาทางด้านความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม
โครงการตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีดังนี้
โครงการพระราชดำริด้านป่าไม้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ดังที่ประเทศไทยประสบอยู่ในขณะนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการทำลายป่า ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาป่าไม้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาและบำรุงป่าไม้จำนวนมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เช่นเดิม เพื่อป้องกันอุทกภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันช่วยถนอมน้ำไว้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธารด้วย สำหรับวิธีการปลูกป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีหลายวิธี ได้แก่
การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ที่ได้ดำเนินการในโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี เป็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฏจักรธรรมชาติ โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งมี ๓ วิธีตามกระแสพระราชดำรัส คือ
“…ถ้าเลือกได้ที่ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้นไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว…”
“…ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้ เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น…”
“…ในสภาพป่าเต็งรัง ป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ก็จะแตกกิ่งออกมาอีก ถึงแม้ต้นไม้ไม่สวยแต่ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ได้…”
ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ที่ได้ดำเนินการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
การปลูกป่า ๓ อย่าง คือ ป่าสำหรับไม้ใช้สอยป่าสำหรับเป็นไม้ผล และป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิงซึ่งราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างเกื้อกูล นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์อย่างที่ ๔ อันเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำอีกด้วย
ป่าชายเลน เป็นแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทยซึ่งถูกบุกรุกทำลาย โดยการปลูกป่าไม้ชายเลน โดยอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโต อันเป็นแนวป้องกันลมและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่สำคัญและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำซึ่งเป็นการช่วยสร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับทรัพยากรดิน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมให้ใช้ประโยชน์ เช่น โครงการแกล้งดิน ที่ได้ดำเนินการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำรัสไว้ว่า
“…ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด ๒ ปี และพืชทำการทดลองควรเป็นข้าว…”
นอกจากนี้ยังมีโครงการเกี่ยวกับการนำ “หญ้าแฝก” มาใช้ป้องกันการพังทลายของดิน และโครงการ “ห่มดิน” เพื่อการฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพ
โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ
การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่พืชต้องการ อีกทั้งความผันแปรเนื่องจากฝนตกไม่พอเหมาะกับความต้องการ เป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ “น้ำคือชีวิต” ดังพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ความตอนหนึ่งว่า
“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”
ทั้งนี้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาจแบ่งออกได้เป็น ๕ ประเภท คือ
๑) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภคได้แก่ อ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำ
๒) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร
๓) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
๔) โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม
๕) โครงการบรรเทาอุทกภัย
การพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักและวิธีการสำคัญๆ คือ
๑) การพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปแบบใดต้องเหมาะสมกับรายละเอียดสภาพภูมิประเทศเสมอ
๒) การพัฒนาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ต้องเหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีแต่ละท้องถิ่นเสมอ
๓) พิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนนั้น จะมีความเหมาะสมเพียงใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้การทำงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกแห่งจึงพระราชทานพระราชดำริไว้ว่าราษฎรในหมู่บ้านซึ่งได้รับประโยชน์จะดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน โดยจัดการช่วยเหลือผู้ที่เสียประโยชน์ตามความเหมาะสมที่จะตกลงกันเอง เพื่อให้ทางราชการสามารถเข้าไปใช้ที่ดินทำการก่อสร้างได้โดยไม่ต้องจัดซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายที่มุ่งหวังให้ราษฎรสังคมของตนเอง และมีความหวงแหนที่จะต้องดูแลบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างนั้นต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ แต่มีการพัฒนาแหล่งน้ำหลายๆ โครงการที่มีวัตถุประสงค์หลายๆ อย่างพร้อมกันไป อาทิ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการพัฒนาที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการแก้มลิง เป็นต้น
-โครงการแก้มลิง
“…เมื่ออายุ ๕ ขวบ มีลิงเอากล้วยไปให้มันเคี้ยว เคี้ยว แล้วใส่ในแก้มลิง ตกลง “โครงการแก้มลิง” นี้มีที่เกิด เมื่อเราอายุ ๕ ขวบ ก็นี่เป็นเวลา ๖๓ ปี มาแล้ว ลิงสมัยโน้นลิงโบราณเขาก็มีแก้มลิงแล้ว เขาเคี้ยว แล้วเอาเข้าไปเก็บในแก้ม น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ “โครงการแก้มลิง” เพื่อที่จะเอาน้ำนี้ไปเก็บไว้…” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
โครงการแก้มลิงเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยการขุดลอกคลองชายฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นคลองพักน้ำขนาดใหญ่หรือ “แก้มลิง” แล้วระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก หรือน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันโครงการแก้มลิงยังได้ขยายการดำเนินงานไปที่โครงการบรรเทาอุทกภัยตามพระราชดำริ (แก้มลิงหนองใหญ่) จังหวัดชุมพร และโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย
-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สร้างขึ้นเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ในการเกษตรในฤดูแล้ง และเป็นการป้องกันบรรเทาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูน้ำหลากและบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ในภาคกลาง อีกทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย
-เขื่อนคลองท่าด่าน โครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภคโดยไม่ขาดแคลน ที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเพาะปลูกอีกด้วย
โครงการทางด้านวิศวกรรม เช่น โครงการทางยกระดับลอยฟ้าบรมราชชนนี โครงการสะพานพระราม ๘ ไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์จากพืชของไทย กังหันชัยพัฒนา ฝายแม้ว หรือการจัดทำฝายชะลอน้ำ เพื่อฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม
แนวพระราชดำริอื่นๆ เช่น แนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
ทฤษฎีใหม่ เป็นการพัฒนาพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ด้วยการจัดสรรที่ดินเท่าที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล ทฤษฎีใหม่เป็นการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วนคือ
– ร้อยละ ๓๐ ที่หนึ่งสำหรับปลูกข้าว
– ร้อยละ ๓๐ ที่สองสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน
– ร้อยละ ๓๐ ที่สามสำหรับขุดสระน้ำไว้ใช้ในการเกษตร รวมถึงเลี้ยงปลาไว้บริโภค
– ร้อยละ ๑๐ สุดท้ายเป็นที่อยู่อาศัย พร้อมกับปลูกพืชสวนครัวในลักษณะแบบครบวงจร
การทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่นี้ จะเป็นหนทางที่ทำให้เกษตรกรมีกินมีใช้ไปตลอดทั้งปี
เศรษฐกิจพอเพียง
จากการที่คนไทยประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจโดยการที่ผู้นำประเทศในบางยุคบางสมัยมุ่งหวังว่าประเทศไทยจะได้เป็น “เสือเศรษฐกิจ” หรือ “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” แต่ผลที่ได้มากลับปรากฏให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้ได้สร้างปัญหาต่างๆ ให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับปวงชนชาวไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้เป็นแนวทางนำไปสู่การก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล เราจำเป็นต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตนเองให้มากพอที่จะต้านผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน
ทั้งนี้ ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันก็จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิชาการและนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีความสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอก
หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทุ่มเทพระวรกายตรากตรำและมุ่งมั่นในการทรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกร โดยหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ทรงยึดการดำเนินการทางสายกลางเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และสามารถปฏิบัติได้จริงอีกด้วย ทรงมีความละเอียดรอบคอบและทรงคิดค้นหาแนวทางพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด มีคุณค่าและควรยึดเป็นแบบอย่างในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทเพื่อนำมาปฏิบัติให้บังเกิดผลแก่ตนเอง สังคมและประเทศชาติตลอดไป โดยมีแนวทางการทรงงาน ดังต่อไปนี้
พระองค์ทรงตรัสว่า การมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคนนั้น “ต้องระเบิดจากข้างใน” ซึ่งมีความหมายว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนา เพื่อให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหรือหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสตั้งตัว
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวม หรือการมองอย่างครบวงจร ในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้นจะทรงมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแนวทางการแก้ไขอย่างเชื่อมโยง ดังเช่นกรณีของ “ทฤษฎีใหม่” ที่พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยเพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงอาชีพ แนวพระราชดำรินี้เริ่มตั้งแต่การถือครองที่ดินการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพ และเกษตรกรจะต้องรู้จักวิธีการจัดการและการตลาดเมื่อมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการรวมกลุ่มรวมพลังชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพร้อมที่จะออกสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกได้อย่างครบวงจร
หลักการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรไทยนั้น พระองค์มักจะทรงเน้นไปที่เรื่องของ “การให้” และ “การเสียสละ” อันเป็นการกระทำให้ผลเป็นกำไร ซึ่งก็คือความอยู่ดีมีสุขของราษฎรนั่นเอง
การพัฒนาเพื่อให้พสกนิกรทั้งหลายประสบความสุขสมบูรณ์ในชีวิตได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนทุกหมู่เหล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ ได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง จึงทรงเข้าพระราชหฤทัยในสภาพปัญหาได้อย่างลึกซึ้งว่าเหตุใดราษฎรต้องตกอยู่กับความยากเข็น จากนั้นได้พระราชทานความช่วยเหลือให้แก่พสกนิกร เพื่อให้เกิดความอยู่ดีกินดี ให้ได้มีชีวิตอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อน แล้วจึงขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป
นอกจากนี้ จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “ความเจริญของประเทศ ต้องอาศัยความเจริญของภาคเกษตรเป็นสำคัญ” โดยทรงมีแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ คือ ทรงเน้นเรื่องของการค้นคว้าและวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและพืชสมุนไพร ทั้งนี้รวมพันธุ์สัตว์ต่างๆ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ พันธุ์ปลา ฯลฯ แมลงศัตรูพืชและสัตว์ปีก โดยแต่ละชนิดต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรสามารถรับกลับไปดำเนินการได้เอง ทั้งนี้ทรงมีพระราชประสงค์ประการแรก คือการทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะในด้านอาหารก่อนเป็นอันดับแรก