“ธารทิพย์ 10” …ทราบแล้วเปลี่ยน…

พระสุรเสียงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านเครื่องวิทยุสื่อสารมาถึง “ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ที่มีรหัสว.ประจำตัวว่า “ธารทิพย์ 10” คือสัญญาณหนึ่งในการเริ่มต้นอีกครั้ง ในการตามเสด็จพระราชดำเนิน กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำวัน เพื่อลงพื้นที่ตรวจสภาพภูมิประเทศ เยี่ยมเยียนราษฎร เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

แม้เวลาผ่านมานานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2520 ที่ “ปราโมทย์” หรือ “นายช่างปราโมทย์” มีโอกาสเฝ้ารับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งที่ “ปราโมทย์” เป็นข้าราชการชั้นโท ในกรมชลประทาน จนกระทั่งบัดนี้ในวัย 67 ปี “ปราโมทย์” ยังคงบอกเล่ารายละเอียดเสมือนเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน

พระบรมฉายาลักษณ์ที่ปรากฏแก่สายตาประชาชน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในทุกที่ทั่วประเทศ แม้ว่าจะเป็นถิ่นทุรกันดาร และห่างไกลเพียงใด ก็ไม่อาจอยู่นอกสายพระเนตรของพระองค์ เพราะทุกที่ที่รอยพระบาทของพระองค์ไปถึง หมายถึงความทุกข์ของราษฎรที่จางหายไป

“ปราโมทย์” เล่าว่านับตั้งแต่พระองค์ทรงครองราชย์ การเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญของพระองค์มาโดยตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม และความแห้งแล้ง การเสด็จเยี่ยมราษฎรทำให้พระองค์ท่านทรงทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้านด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะการที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับชาวบ้านทุกกลุ่ม ทุกระดับ

ส่วนการเสด็จฯไปในพื้นที่ใดบ้างนั้น “ปราโมทย์” บอกว่า พระองค์ท่านทรงมีพระราชวินิฉัยจากฐานข้อมูล ๒ ส่วนหลัก คือ ฎีกา เรื่องร้องเรียนที่ชาวบ้านถวายแด่พระองค์ และข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรจากแผนที่

“ในแต่ละปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปรพระราชฐาน เพื่อประทับในพระราชตำหนักประจำภาคต่างๆ เพื่อสะดวกต่อการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนชาวบ้าน แต่ละแห่งพระองค์ทรงประทับอยู่ประมาณ ๑-๒ เดือน

ระหว่างการเสด็จแต่ละพื้นที่ หลายต่อหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน บางครั้งพระองค์ทรงรับสั่งล่วงหน้าเพียง ๑ วัน หรือตอนบ่าย และมีพระราชประสงค์เสด็จทันทีในไม่กี่ชั่วโมงต่อไป เพื่อไม่ต้องการให้ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ตระเตรียมถวายการต้อนรับให้ยุ่งยาก หรือบางพื้นที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารอย่างหนัก เช่น มีน้ำท่วมขัง ไม่สะดวกต่อการเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าหน้าที่จะต้องพยายามถวายความสะดวกแด่พระองค์ท่าน หลายครั้งที่ผมต้องเร่งไปล่วงหน้าก่อน เพื่อต่อสะพานไม้ เพราะทราบดีว่าพระองค์ท่านทรงมีน้ำพระทัยต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเสด็จฯไปยังพื้นที่ที่แม้จะยากเข้าถึง”

หรือในบางครั้งที่เสด็จไปในพื้นที่สีชมพู หรือพื้นที่ที่อาจมีอันตรายจากผู้ก่อการร้าย แต่พระองค์ท่านทรงไม่หวั่นเกรง ยังคงทรงงานอย่างหนัก ล่วงเลยเวลาถึงดึก หรือแม้แต่บางแห่งมี “ทาก” พระองค์ท่านก็ยังคงทรงเสด็จพระราชดำเนิน และที่เห็นจนคุ้นตาของเหล่าข้าราชบริพารคือพระองค์ทรงขับรถยนต์เข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ด้วยพระองค์เองเสมอ

จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ปราโมทย์” บอกว่า “การได้เห็นการทรงงานอย่างหนักของพระองค์มาโดยตลอด ทรงเป็นตัวอย่างและหลักยึดให้ผมดำเนินชีวิตตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะพระสมเด็จจิตรลดา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้ ผมได้ใส่ติดตัวตลอดเวลา เสมือนเครื่องเตือนใจ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสไว้ขณะที่พระราชทานให้ว่า การเป็นทำงานเป็นนักพัฒนาเปรียบเสมือนการปิดทองหลังพระ เพราะฉะนั้นก่อนนำพระไปเลี่ยม ให้นำแผ่นทองมาปิดที่หลังพระเสียก่อน ผมก็ดำเนินการเช่นนั้น”