ความคิดใหม่

ถ้าเปรียบระยะเวลาในการวางยุทธศาสตร์ “Convergence” ของทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นบันได 10 ขั้น ศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกว่า เวลานี้ทรูอยู่บันไดขั้นที่ 3 ยังเหลืออีก 7 ขั้นที่ต้องไต่ขึ้นไป

แม้จะเดินไม่ถึงครึ่งทาง แต่ไม่มีสักครั้งที่ ศุภชัย ไม่มั่นใจกับเส้นทางสาย Convergence ยิ่งมาเห็นผลที่ได้รับจากรายการเรียลลิตี้ อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย หรือ AF ที่ใช้กลยุทธ์ Convergence เต็มสูตร ให้ผู้ชม ดู โทร โหลด โหวต แชท ผ่านบริการของทรู ก็ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจของเขายิ่งขึ้นไปอีก

ศุภชัย เป็นลูกชายคนกลางจากลูกชายหญิงทั้งหมด 5 คน ของธนินท์ เจียรวนนท์ ซีอีโอกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ที่เข้ามาร่วมงานในกลุ่มทรูสมัยยังใช้ชื่อเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ทีเอ

หลังฝากผลงานนำทีเอฝ่าคลื่นลมมรสุมวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สามารถเจรจาประนอมหนี้หลายหมื่นล้านบาทสำเร็จ เขาได้ก้าวขึ้นเป็นซีอีโอเต็มตัว และลงมือปรับองค์กรจากทีเอมาเป็นทรู เปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจใหม่ จากองค์กรที่มองเรื่องเทคโนโลยี หรือโครงสร้างพื้นฐาน ก็เปลี่ยนไปเป็นองค์กรที่มองเรื่องไลฟ์สไตล์ลูกค้าเป็นสำคัญ

พูดง่ายๆ แทนที่จะคิดว่าจะขายแค่โทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์มือถือ หรือขายอินเทอร์เน็ต ก็เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า มองไปที่ไลฟ์สไตล์ลูกค้า และนำเสนอบริการให้ตรงกับความต้องการและการใช้ชีวิต โดยที่ลูกค้าไม่ต้องรู้ว่าบริโภคเทคโนโลยีหรือบริการอะไร

เขาเชื่อว่า นี่คือจุดแตกต่างที่จะทำให้ทรูเหนือกว่าคู่แข่ง และ Convergence ก็คือคำตอบที่จะตอบสนองไลฟ์สไตล์เหล่านี้ได้
ผลก็คือ ทรูไม่ต้องวิ่งแข่งบนเส้นทางเดิมๆ ที่มีคู่แข่งอย่างเอไอเอส หรือดีแทค เป็นผู้เล่นหลักในสนามอยู่แล้ว ถ้าเป็นภาษาการตลาด ก็เป็นเรียกว่าการแข่งในทะเลสีเลือด หรือ Red Ocean เปลี่ยนมาสร้างตลาดใหม่ โดยทรูเป็นผู้กำหนดเกมเอง เล่นเอง แบบไร้คู่แข่ง ในน่านน้ำสีคราม Blue Ocean

ยิ่งไปกว่านั้น การจะทำคอนเวอร์เจนซ์ให้ได้ผล ต้องมีบริการครบเครื่อง มีโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ หรืออินเทอร์เน็ต รวมทั้ง Content หรือเนื้อหา มาเติมเต็มความต้องการในเรื่องการบริโภคความบันเทิง ข้อมูล ข่าวสาร และขยายผลไปถึงการสร้างชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำตลาดยุคนี้ที่ต้องมีแฟนคลับ เหมือนอย่างที่ AF ทำสำเร็จมาแล้ว

นี่คือ สาเหตุที่ทำไมทรูจึงต้องมีธุรกิจเคเบิลทีวีเป็นของตัวเอง และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ทรูตัดสินใจควักเงินซื้อหุ้นของยูบีซีทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นต่างชาติ

ใครก็ตามที่สนใจเรื่องราวของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม และกลยุทธ์การ Convergence ที่กำลังเป็นคัมภีร์บทใหม่ทางธุรกิจ และยังขยายผลไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่ใช้กลยุทธ์ Convergence ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ จึงไม่ควรพลาด กับการค้นหาความหมายที่แท้จริงธุรกิจ ทรูวิชั่นส์ กับการเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของกลยุทธ์ Convergence ที่ทรู คอร์ปอเรชั่นเป็นผู้กำหนดเอง เชื่อว่านี่คืออีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าติดตาม