การปรับตัวครั้งใหญ่ของเจ้าพ่อวงการโซเชียลมีเดีย อย่าง “เฟซบุ๊ก” (Facebook) เกิดขึ้นอีกครั้งแล้ว โดยในครั้งนี้เป็นการปรับรูปแบบการแสดงผลบน News Feed ภายใต้แนวคิด “Feed Quality Program” ซึ่งผลของมันอาจทำให้เฟซบุ๊กครองใจผู้ใช้ทั่วโลกได้อย่างงดงามเสียด้วย
หากก่อนหน้านี้ โฆษณาบนโลกออนไลน์ที่ขาดการจัดการที่ดี และมักโผล่ออกมาโดยไม่ทันตั้งตัวคือ ตัวการที่ทำให้ผู้ใช้เกิดความรำคาญแล้วล่ะก็ ขอบอกได้เลยว่า การขาดวิสัยทัศน์ในการจัดการกับโฆษณาของโลกออนไลน์ยุคก่อนเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากขึ้นต่อ “เฟซบุ๊ก” ในยุคนี้
โดยเฉพาะในการปรับโฉม News Feed ครั้งล่าสุด ที่เฟซบุ๊กมีการทำแบบสอบถามผู้ใช้งานหลายพันคน “ทุกวัน” เพื่อค้นหาว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชอบให้มีข้อมูลลักษณะใดปรากฏอยู่บน News Feed ของพวกเขาบ้าง และจากการทำแบบสอบถามนั้น เฟซบุ๊ก เผยว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้ก็คือ การคลิกไลก์ การคอมเมนต์ การแชร์บทความไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าโพสต์นั้นๆ มีความสำคัญต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กแต่อย่างใด
ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ใช้รายหนึ่งอาจมีการคลิกไลก์ให้แก่โพสต์ของญาติเสมอๆ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเรื่องเศร้า หรือเรื่องราวซีเรียสในชีวิตของญาติ แต่การคลิกไลค์นี้ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่า ผู้ใช้รายนั้น “รู้สึก” พอใจหรือไม่พอใจที่ได้เห็นโพสต์จากญาติของเธอ
การปรับที่ใหญ่ที่สุดครั้งนี้ของเฟซบุ๊กคือ การตระหนักได้ว่า ระยะเวลาที่ผู้ใช้บริการเสียเวลาอ่าน หรือรับชมนั้นเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุดว่า จริงๆ แล้ว คนเหล่านี้ชอบคอนเทนต์แบบไหนต่างหาก นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่คุณคลิกบนลิงก์ของบทความ หรือตามไปอ่านเรื่องราวที่สนใจในเพจต่างๆ จะมีเฟซบุ๊กคอยติดตามทุกย่างก้าวอย่างใกล้ชิด และคอยคำนวณเวลาที่คุณใช้ไปบนคอนเทนต์เหล่านั้น
โดยบทความ เพจ หรือเว็บไซต์ที่ผู้ใช้รายนี้ใช้เวลาในการติดตามมากจะได้รับสิทธิในการแสดงผลบน News Feed ของผู้ใช้รายนั้นบ่อยขึ้น ส่วนโพสต์ใดๆ ก็ตามที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ใช้รายนั้นก็จะถูกลดความถี่ในการแสดงผลให้น้อยลง
การปรับโฉมครั้งนี้จึงเท่ากับช่วยคัดคอนเทนต์ที่ผู้ใช้สนใจ และกำจัดคอนเทนต์ที่พวกเขาไม่ต้องการออกจาก News Feed ได้เป็นอย่างดี และทำให้เกิดความพึงพอใจในการใช้เฟซบุ๊กมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี ในเรื่องเพจที่ได้รับการสนับสนุนนั้น เฟซบุ๊กก็ยังคงส่งมาบน News Feed อย่างต่อเนื่อง แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไป แทนที่จะส่งมาเต็มหน้า News Feed แถมยังเป็นเรื่องราวจากผู้เขียนคนเดียวกัน เฟซบุ๊กจะกระจายให้มาจากหลายๆ เพจแทน ซึ่งการกระจายนี้จะทำให้เฟซบุ๊กเข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้นว่า ชอบบทความแบบไหน และจะได้นำเสนอบทความ หรือเรื่องราวให้ตรงใจผู้ใช้บริการมากขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้ความพึงพอใจในการใช้งานเฟซบุ๊กยิ่งพุ่งสูง และครองใจคนได้มากขึ้นนั่นเอง
ที่มา: http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000041642