แซ่บถึงอาเซียน!!! เมื่อแบรนด์ “ตำมั่ว” ของไทย ขยายแฟรนไชส์สู่เออีซี

เอกลักษณ์ของอาหารไทย-อีสาน ก็คือรสชาติอันจัดจ้านถึงสรรพรส หลากหลายวัตถุดิบที่หาได้ในแต่ละท้องถิ่น ถูกนำมาปรุงประกอบกันแบบเรียบง่าย กลายเป็นสารพัดเมนูทั้ง ส้มตำ ลาบ ก้อย ฯลฯ “ตำมั่ว” ผู้นำด้านอาหารรสแซ่บตามแบบอีสานต้นตำรับ ที่ถ่ายทอดรสชาติจากดินแดนที่ราบสูงสู่ทุกเมนูอาหารได้อย่างครบรส ทำให้นอกจากจะได้รับความนิยมในหมู่นักกินชาวไทยแล้ว ในวันนี้ยังส่งต่อรสชาติความแซ่บไปยังประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงให้ได้ลิ้มลองรสชาติกันอีกด้วย

กำเนิดแบรนด์ตำมั่ว

เบสท์-ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ เจ้าของแบรนด์ตำมั่ว เริ่มต้นพลิกโฉมร้านส้มตำของคุณแม่ จากที่เปิดขายอยู่ห้องแถวริมทางย่านปทุมธานี สู่ร้านส้มตำโมเดิร์นในห้าง สวย สะอาด น่านั่ง แต่ยังคงรสชาติอันจัดจ้านแบบอีสานแท้ๆ ที่เขาเคยกินมาตั้งแต่เด็กไว้ได้อย่างครบถ้วน จนกลายเป็นเจ้าดัง ลูกค้าแน่นร้านต้องเข้าคิวรอ

20150525-tamm-02

ประสบการณ์ในการทำงานอาชีพครีเอทีฟโฆษณากว่า 10 ปี ของเขา ช่วยให้ลูกค้าหลายรายประสบความสำเร็จในธุรกิจใหญ่ๆ เมื่อต้องมาทำธุรกิจในสเกลเล็กอย่างร้านส้มตำของแม่ เลยค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

จุดแรกที่เขาเข้ามาปรับเปลี่ยนคือการรีโนเวทร้านให้ดูทันสมัย สะอาด ติดแอร์เย็นฉ่ำ น่านั่ง ยกระดับร้านให้ดูดี โดยที่ยังขายราคาเดิม

“ผลตอบรับในช่วงแรกถือว่าค่อนข้างแย่ครับ เพราะว่าการตกแต่งร้านที่ดูดีขึ้นจากเดิม ทำให้คนคิดว่าเราขายแพง ไม่กล้าเข้ามากิน จากที่เคยขายได้วันละสี่ห้าหมื่น บางวันเหลือแค่สองพัน แต่เราก็ไม่ท้อ เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ก็ค่อยๆ ทำสื่อ ใบปลิว แผ่นพับ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มลูกค้า ว่าอาหารของเราไม่ได้แพงนะ อย่าคิดไปเอง หลังจากสื่อสารเมสเสจนี้ออกไปก็ทำให้ยอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนมีรายได้แตะหลัก 10 ล้านบาทต่อปี” คุณศิรุวัฒน์กล่าว

ทำธุรกิจสไตล์ครีเอทีฟ

ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการทำงานในบริษัทโฆษณาทำให้ เบสท์-ศิรุวัฒน์ เข้าใจทั้งศาสตร์และศิลป์ในการสร้างแบรนด์ “ตำมั่ว” ให้ติดตลาด จนกลายเป็นร้านที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ความใส่ใจในรายละเอียด และเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าถูกสะท้อนออกมาผ่านงานต่างๆ ดังตัวอย่างเหล่านี้

20150525-tamm-03

“กระดาษรองจาน” นอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องของความสะอาดแล้ว ยังทำหน้าที่สื่อสาร “เรื่องราว” ของแบรนด์ไปยังลูกค้า ในระหว่างนั่งรอทานอาหารได้อีกด้วย

“ครัวแบบเปิดโล่ง” เพื่อให้ลูกค้าที่ไปใช้บริการเห็นถึงขั้นตอนการปรุงที่ถูกสุขลักษณะ มีการใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงที่สะอาด และสั่งรสชาติอาหารในแบบที่ต้องการผ่านกุ๊กได้โดยตรง

คัดให้เหลือเฉพาะเมนูที่ขายดี จากหลายร้อยเมนู เพื่อลดต้นทุนในการ stock วัตถุดิบ

“เม็ดพริกสีแดง” ถูกนำมาใช้เป็นโลโก้ที่แสดงถึงความเผ็ดร้อนของรสชาติอาหารที่จัดจ้านในแบบฉบับของตำมั่ว เมื่อรวมกับโทนสีดำ กลายเป็นคู่สีที่ไม่เคยมีในธุรกิจร้านอาหารมาก่อน

20150525-tamm-04

แฟรนไชส์เนื้อหอม ลงทุน 5-6 ล้าน คืนทุนใน 18 เดือน

หลังจากเปิดร้านเองมา 3 ปี จนพร้อมด้านระบบบริหารจัดการ ก็มีผู้สนใจติดต่อมาขอร่วมลงทุนจำนวนมาก จึงต่อยอดธุรกิจขายแฟรนไชส์ ทำให้ตอนนี้มีร้านตำมั่วในประเทศไทยกว่า 70 สาขา และภายในปี 2559 นี้ น่าจะขยายถึง 100 สาขา แม้ว่าจำนวนเงินในการลงทุนจะค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับแฟรนไชส์อื่น แต่เมื่อมองถึงความคุ้มค่า ผลตอบแทนจากการลงทุน แฟรนไชส์ตำมั่วถือว่าเป็นธุรกิจร้านอาหารที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

กลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการที่ร้านนั้น จะเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง พนักงานออฟฟิศ ที่อาศัยหรือทำงานในทำเลที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งของร้าน ด้วยความที่ร้านมีมาตรฐานในการให้บริการ รสชาติอาหารที่จัดจ้าน บวกกับการเดินหน้าสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เมื่อนึกถึงการกินส้มตำในบรรยากาศเย็นสบายแบบในห้าง ผู้คนก็จะนึกถึง ตำมั่ว มาเป็นอันดับแรกๆ

ตัวอย่างสาขาของตำมั่วที่ประสบความสำเร็จ เช่น สาขาโลตัส พลัสมอล ศรีนครินทร์, เดอะมอลล์ บางกะปิ เพราะมีทำเลที่ตั้งที่ดี สะดวกต่อการเดินทาง มีกลุ่มเป้าหมายที่ชอบทานอาหารอีสานอยู่เยอะ หลังจากที่เดินห้างหรือทำธุระอื่นเสร็จแล้วก็จะนิยมมาทานอาหารพบปะสังสรรค์กันที่นี่ หรือแม้แต่สาขาที่อยู่ห่างไกลอย่างอรัญประเทศและแม่สอด ที่ตั้งอยู่ในเมือง สะดวกต่อการเดินทาง มีที่จอดรถที่รองรับจำนวนคนมาใช้บริการได้เพียงพอ ก็สามารถทำให้แฟรนไชส์ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งตัวเลขโดยเฉลี่ย ร้านตำมั่วมีผลประกอบการที่น่าสนใจดังนี้

20150525-tamm-08

จากตัวเลขดังกล่าว ตำมั่วถือเป็นแฟรนไชส์ที่น่าลงทุนมาก หากมีการบริหารจัดการที่ดี ย่อมประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ได้ไม่ยาก ปัจจุบัน ตำมั่วเองก็มีการเปิดตลาดขยายสาขาไปยังต่างประเทศ อาทิ สปป.ลาว, เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 สาขา และกำลังจะเปิดอีกสาขา ที่เวียงจันทน์โดยยังคงมาตรฐานเดียวกันไม่ว่าจะทานเมืองนอกหรือเมืองไทย

“ตำมั่ว ขายที่บ้านเราแบบไหน ผมก็ขายที่ประเทศอื่นแบบนั้น เราต้องไปสอนเขาทาน ไม่ใช่ว่าไปเปลี่ยนรสชาติตามใจเขา ผมจะไปยอมเปลี่ยนตัวเองเพื่อเขาทำไม ทุกคนที่มาซื้อต้องยอมรับเราในแบบที่เราเป็นสิ” ศิรุวัฒน์ย้ำชัด

การรุกตลาดต่างประเทศนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ที่ สปป.ลาวสามารถคืนทุนได้ในเวลาเพียง 11 เดือน ส่วนที่พม่าก็คืนทุนในปีกว่า แม้ว่าจะมีแนวโน้มในการเติบโตที่ดีในตลาดอาเซียน แต่เรื่องแผนการขยายสาขา ศิรุวัฒน์บอกว่า ต้องมีการวางแผนและวิจัยตลาดในแต่ละพื้นที่อย่างรอบคอบ เพื่อให้แบรนด์ตำมั่วเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้

20150525-tamm-06

นอกจากตำมั่วแล้ว ศิรุวัฒน์ยังมีธุรกิจแบรนด์อาหารอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น เฝอ ข้าวมันไก่คุณย่า และลาวญวณ โดยตั้งเป้ารายได้จากการขยายแฟรนไชส์ทุกแบรนด์รวมกันที่ 1,000 ล้านบาท และยังมีการวางแผนต่อยอดทางธุรกิจจัดส่งน้ำปลาร้าแบบดีลิเวอรี่ และการสั่งซื้อสินค้าต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย

20150525-tamm-07