"พลเอกเปรม ติณสูลานนท์" เสาหลักการเมืองไทย

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ผู้ซึ่งเคยนำนายทหารเข้าเฝ้าในหลวงหลังเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่แตะต้องไม่ได้ และอย่าบังอาจท้าทาย ซึ่งรสชาตินี้ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “จักรภพ เพ็ญแข” ต่างได้ลิ้มรสมาแล้วด้วยตัวเอง และแม้เวลาจะผ่านไป เปลี่ยนไปแล้วรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า แต่อำนาจและบารมีของ “ป๋า” ก็ยังคงเหลือล้น

29 พฤษภาคม 2551 สายตาของ ”ป๋าเปรม” ที่ถ่ายทอดผ่านเลนส์กล้องทีวีเพียงไม่กี่นาที และภาพนิ่งบนหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉบับในวันรุ่งขึ้น ยังคงสะท้อนถึงแววตาที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ ระหว่างที่ ”ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เข้าไปไหว้และพูดอะไรบางอย่างไม่กี่นาที

ไม่ว่า ”ทักษิณ” จะพูดกับ ”ป๋า” ว่า ”ขอโทษ” อย่างที่ร่ำลือกันจริงหรือไม่ แต่ความตั้งใจและพฤติกรรมของ ”ทักษิณ” ในวันนั้น ไม่ต่างอะไรกับเมื่อครั้งที่ยังเป็นเพียงนักธุรกิจที่ต้องวิ่งเต้นไปดักรอผู้หลักผู้ใหญ่ตามงานต่างๆ เพื่อให้ได้งาน ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าต้องเข้าถึงบารมีของ ”ป๋า” เท่านั้น

การปรากฏตัวของ ”พลเอกเปรม” เพียงไม่กี่นาทีวันนั้น ยังช่วยยุติกระแสข่าวลือที่สะพัดในทางลบต่อประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษแห่งบ้านสี่เสาเทเวศร์อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอำนาจ สุขภาพ และยังจุดประกายใหม่ให้น่าติดตามอีกว่า Positioning ของ ”ป๋า” นับจากนี้จะเป็นอย่างไร ท่ามกลางม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยลั่นกลองรบกับ”ขั้วของทักษิณ” อีกครั้ง

พลเอกเปรมอยู่ในสถานะประธานองคมนตรี ผู้รับใช้อย่างใกล้ชิดในเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏเป็นข่าวคราวมากนักหลังรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยภาพเป็นข่าวสุดท้ายที่เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง คือการนำนายทหารคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้าเฝ้าในหลวง

เป็นภาพที่ทำให้เข้าใจว่าพลเอกเปรมเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อค่ำวันที่ 19 กันยายน 2549 อย่างปฏิเสธไม่ได้

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2551 พลเอกเปรมเดินทางไปเป็นประธานเปิดโครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้” รุ่นที่ 8 ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต และให้สัมภาษณ์กับนักข่าวเป็นครั้งแรก…

…นักข่าวสายทหาร ถามประธานองคมนตรีว่า : ที่ผ่านมา ป๋าหายไปไหน ?

พลเอกเปรม ตอบว่า…”ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ทุกวัน แต่อยู่เงียบๆ ตามปกติ”

และคำถามที่ยิงเข้าเป้าคือ จริงหรือเปล่าที่ ป๋า ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร ?

พลเอกเปรม กล่าวว่า “พวกคุณคิดกันไปเอง ผมไม่ได้ไปทำอะไร” นักข่าวถามย้ำว่า ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหารใช่หรือไม่

ในสไตล์ของผู้ใหญ่ที่พูดน้อย จนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เคยได้รับฉายาว่า”เตมีย์ใบ้” พลเอกเปรมก็บอกกับผู้สื่อข่าวเพียงว่า “น่าจะรู้ดีว่าผมไม่เกี่ยวข้อง ทุกคนต้องรู้อย่างนั้น ผมไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง หรือเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง”

แต่ดูเหมือนคำปฏิเสธของพลเอกเปรมไม่อาจลบความเชื่อของ “ทักษิณและพวก”ได้ หนึ่งในนั้นก็คือ “จักรภพ เพ็ญแข” ที่นำม็อบไปชุมนุมด่าทอพลเอกเปรมถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์ อย่างหยาบคายและดุเดือด

หลังการรัฐประหาร 1 ปี มีการนำภาพและเสียงของ “จักรภพ” เมื่อครั้งไปพูดในที่ประชุมสมาคมผู้สื่อข่าวประเทศ (FCCT) ปลายปี 2550 ในช่วงซักถาม นักข่าวต่างชาติถาม ”จักรภพ” ว่า ตอนที่คุณถูกจับ คุณชูนิ้วเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ คนก็สงสัยและลือกันเยอะแยะว่า คุณชนะอะไร คุณช่วยชี้แจงชัดๆ หน่อยครับ

“จักรภพ” ตอบว่า ”เราชนะเพราะว่า เราได้ไปที่บ้านของเปรม เขาเป็นบุคคลที่แตะต้องไม่ได้ …เขาคือพระเจ้า”

ในคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพและเสียงของ ”ทักษิณ” ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่น ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ยังมีคำพูดที่หลุดจากปากอดีตนายกฯ คือ”คุณเปรมอยู่เบื้องหลังกระบวนการยุติธรรม และบอกให้สื่อตีผม”

ย้อนไปดูบทบาทของป๋าเปรม ก่อนรัฐประหาร 19 กันยาฯ ซึ่งพลเอกเปรมใส่เครื่องแบบทหารเดินสายปาฐกถาโจมตีคนที่ไม่รู้คุณแผ่นดิน คนไม่ซื่อสัตย์สุจริต โกงชาติโกงแผ่นดิน และปาฐกถาที่ลือลั่นก็คือ “การเปรียบทหารเหมือนม้า ที่เจ้าของคือพระราชา… ไม่ใช่ของจ๊อกกี้ “

ประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่งถูกบันทึกไว้ใน หนังสือ ลับ ลวง พราง หน้า189 ที่สะท้อนให้เห็นบทบาทสำคัญของพลเอกเปรม

“ในคืนรัฐประหาร ฝ่ายพลเอกเรืองโรจน์ที่ถือเป็น “ลูกป๋า” คนหนึ่ง และทำงานในสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบให้พลเอกเปรมมาตลอด ก็ยังหวังที่จะชิงพลเอกเปรมมาจากฝ่าย คมช. มาอยู่ฝ่ายตน

แม้ว่า “ทักษิณ” ที่อยู่นิวยอร์กได้สั่งด้วยอารมณ์ให้โต้ตอบ ต่อสู้ โดยมีเป้าหมายจับตัวพลเอกเปรม เป็น “ตัวประกันสำคัญ” ต่อรองกับ คมช.

“ผมจะประกาศภาวะฉุกเฉินปลด ผบ.ทบ. แล้วให้พี่เป็นผู้ดูแล พี่จัดการมันเต็มที่เลย พวกมันทำอย่างนี้ได้ยังไง” น้ำเสียงยัวะสุดขีดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สั่งต่อ พลเอกเรืองโรจน์

“ไปจับตัวป๋าเปรม สั่งวินัย ทองสอง (ผู้การกองปราบฯ) ให้ไปจับมาเดี๋ยวนี้” เสียงสั่งการจากแดนไกลของ ”ทักษิณ”

แต่คงสายไปเพราะ ณ เวลานั้น ทหารเสือราชินีจาก ร.21 รอ.ชลบุรี เข้าดูแลอารักขาพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะประมุขของฝ่ายรัฐประหารที่บ้านสี่เสาเทเวศร์พรึ่บเต็มหมด พร้อมด้วยรถถังจากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พันสี่ รอ.) ตรึงไว้อีกแรงหนึ่ง…”

นี่คือ ภาพลักษณ์ของพลเอกเปรมที่ปรากฏผ่านสื่อ และอีกสถานะหนึ่งของพลเอกเปรมที่ถูกตีความไปได้มากมายในตำแหน่งประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ตำแหน่งนี้ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ได้รับเงินเดือนละ 114,000 บาท แต่ในยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ. 2551 บังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 ให้เงินประจำตำแหน่งสำหรับประธานองคมนตรี เพิ่มเป็น 121,990 บาท ไม่นับเงินประจำตำแหน่งรัฐบุรุษ อีก 121,990 บาท รวมแล้ว 243,980 บาท

เงินจำนวนนี้ไม่มากเมื่อเทียบกับซีอีโอของบริษัทชั้นนำ แต่ทว่าการเพิ่มเงินประจำตำแหน่งให้ป๋าเปรมในยุครัฐบาลขิงแก่ ถูกนำไปเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวโจมตีป๋าเปรมอย่างคึกคะนอง แต่ป๋าเปรมก็เงียบเฉย

ถามกันว่า วันนี้ บรรดาลูกป๋าที่เคยได้ดิบได้ดีเพราะป๋าเคยอุปถัมภ์มาในอดีต เป็นอย่างไรกันบ้าง คำตอบก็คือ หลายคนยังเหมือนเดิม แต่หลายก็เปลี่ยนไปเป็นพวกทักษิณ จนมีเรื่องเล่ากันกันว่า วันหนึ่งป๋าเคยถามลูกรักของป๋า อดีตรัฐมนตรีคนดังในยุคของรัฐบาลป๋าว่า ตกลงคุณเป็นพวกผมหรือพวกทักษิณกันแน่ ?

คำตอบคือ ผมเป็นลูกป๋าเหมือนเดิม (ครับ)

แต่เอาเข้าจริง พฤติกรรมของอดีตรัฐมนตรีผู้นั้น เอาใจออกห่างป๋า ไปหลงใหลได้ปลื้มกับทักษิณและพวก (นานแล้ว)

แล้วใครกันที่เป็นมิตรแท้ของป๋า หนึ่งในเครือข่ายของป๋าก็คือ นายชวน หลีกภัย และพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งที่มีเอกสารและซีดีลับโจมตีป๋าเปรมไปทั่วภาคเหนือและอีสาน นายชวนคือหัวหมู่ทะลวงฟันที่ออกรบแทนป๋าเปรม

ชีวิตของพลเอกเปรมที่พูดไว้ว่า”ผมพอแล้ว” เมื่อปี 2531 หลังตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระ ดูเหมือนว่าหลายคนอาจยังต้องการให้พลเอกเปรมอยู่ในบทบาท เพราะเวลาที่ผ่านไปแล้วกว่า 20 ปี พลเอกเปรมยังคงเป็นบุคคลสำคัญ เป็นเงื่อนไข และชนวนจุดเปลี่ยนในเหตุการณ์บ้านเมืองต่อเนื่องมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง จน ณ ปัจจุบันที่สถานการณ์เดินเข้าสู่เงื่อนไขทางการเมืองสำคัญอีกครั้ง

Profile

Name :พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
Age : 87 ปี
Family : บุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)
Education :
– โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา
– โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
– โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)
– หลักสูตรพิเศษโรงเรียนเทคนิคทหารบก
– โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ มลรัฐเคนตักกี
Career Highlights :
– ร่วมรบสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต กัมพูชา
– ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2485-2488 ที่เชียงตุง
– รองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี
– ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า (ยศพลตรี เมื่อ พ.ศ. 2511 ช่วงนี้เองเป็นที่มาของชื่อเรียกแทนว่า “ป๋าเปรม” เนื่องจากท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ลูก”)
– รองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ในปี พ.ศ. 2516
– แม่ทัพภาคทึ่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2517
– ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ยศพลเอก เมื่อ พ.ศ. 2520
– ผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ. 2521
– สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
– สมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วง พ.ศ. 2511 – 2516 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร
– รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก สมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
– นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 ถึง 3 สิงหาคม 2531 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย