สินค้าเทคโนโลยีไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็มักจะมีความซับซ้อนของระบบที่ต้องอาศัยการอธิบายเพื่อการใช้งานที่ถูกต้องและคุ้มค่า ซึ่งมีเทคนิคที่ใช้ได้ผลดีเสมอ คือการขายพร้อมกับการให้ความรู้หรือไอเดียในการใช้งาน
บริษัท แซส (SAS) ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้พัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และระบบคลังข้อมูล ตระหนักในความคิดนี้ดี ฉะนั้นทุกครั้งเมื่อบริษัทมีสินค้าเวอร์ชั่นใหม่ๆ สู่ตลาด นอกจากจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละผลิตภัณฑ์ของบริษัทเองมาบรรยายให้กับกลุ่มลูกค้า ก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดมาบรรยายเสริมเพื่อให้เห็นภาพการใช้งานที่ชัดเจนขึ้น
การสัมมนาจึงกลายเป็นเทคนิคที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการทำตลาดของแซส เรียกว่ามีกันทุกเดือนเพราะเทคโนโลยีของระบบต่างๆ มีการอัพเกรดเวอร์ชั่นใหม่ๆ อยู่เสมอ
ล่าสุดเมื่อบริษัทต้องการนำเสนอระบบการจัดการข้อมูลสำหรับธุรกิจค้าปลีก ก็ได้ที่ปรึกษาการวางกลยุทธ์การตลาด ทั้งด้าน Advertising และการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) อย่าง จินตนา เลิศล้ำยิ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัท One Roof จำกัด มาช่วยเติมไอเดียให้กับการใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างน่าสนใจ
‘Advertising is dead’ น่าจะเป็นคำที่จุดประกายให้จินตนาหันมาสนใจเรียนรู้การใช้เครื่องมือไอที เป็นตัวช่วยในการทำงานด้านการวางกลยุทธ์มากขึ้น เพราะอย่างน้อยยุคนี้ใครวางแผนการตลาดได้ไวก็ยิ่งได้เปรียบ
“แนวโน้มการใช้เงินของลูกค้าในการโฆษณาลดลงมาก นั่นเป็นผลให้บริษัทโฆษณาใหญ่ ๆ ต้องปิดตัวหรือไม่ก็ต้อง Merge กิจการ สิ่งที่บริษัทโฆษณาต้องรู้เพิ่มขึ้นคือเทรนด์ ต้องคุยกับฝ่ายไอทีรู้เรื่อง เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้เลือกเครื่องมือในการวิเคราะห์ตลาดผิดพลาด”
ในฐานะนักวางกลยุทธ์ เธอบอกว่า ข้อดีของระบบไอที คือการทำให้เรารู้จักลูกค้านับล้านคนได้โดยไม่ต้องเห็นหน้า แต่สามารถศึกษาจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าที่ระบบบันทึกไว้ โดยข้อสำคัญอยู่ที่นักการตลาดต้องเลือกเป็นว่า จะหยิบข้อมูลที่ถูกป้อนไว้ในระบบตรงไหน มาวิเคราะห์ออกมาเป็นแผนงานเพื่อใช้วางแผนให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า
เรียกว่ามีไอทีเป็นแขนขา มีนักการตลาดเป็นมันสมอง จึงจะทำให้คนและไอทีทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งระบบไอทีไม่ว่าจะดีแค่ไหน ก็จะไม่ใช่สินค้าที่สามารถเติมเต็มความต้องการของลูกค้าผู้ใช้งานได้เลย
Did you know?
เทสโก้ โลตัส เคยใช้ระบบไอทีช่วยสร้างทำคูปองโปรโมชั่นให้กับลูกค้าตามพฤติกรรมจากการซื้อสินค้า ผลปรากฏว่าอัตราการใช้คูปองดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 50%