Sale out สิของจริง

บริษัทส่วนใหญ่รายงานยอดขายสินค้าเมื่อกระจายสินค้าสู่ช่องทางจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว และคิดว่าเป็นการจบหน้าที่ของฝ่ายขาย หรือที่เรียกกันว่า Sale in แต่สำหรับซัมซุงมองว่า นั่นเป็นเพียงแค่การย้ายสินค้าจากสต๊อกของบริษัทไปยังสต๊อกของร้านค้า ไม่ถือว่าเป็นยอดขายที่แท้จริงเพราะยังไม่ถูก Sale out ไปยังผู้บริโภค

กว่าที่บริษัทจะรู้ผล Sale out ก็ต้องรอร้านค้าส่งรายงานยอดขาย และกว่าจะรวบรวมวิเคราะห์ว่ารุ่นไหนขายดี ขายไม่ดี จะสั่งผลิตอีกทีก็ช้าไปเสียแล้ว ยิ่งเป็นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตกลงรุ่นเร็วเสียกว่าแฟชั่นเสื้อผ้าแบบยุคนี้ด้วยแล้ว ก็อาจจะทำให้การวางแผนของแบรนด์นั้นผิดพลาดไปเลย

บริษัทไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จึงพยายามเปลี่ยนระบบการขายตั้งแต่พนักงานขายของบริษัทไปจนถึงระดับพีซีหน้าร้าน โดยพัฒนาเครื่องมือเข้ามาช่วยในกระบวนการต่างๆ

เริ่มจากทำให้พนักงานหน้าร้าน หรือพีซี ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Sambassador (Samsung + Ambassador) รู้สึกว่าตัวเองคือทูตของแบรนด์ที่ต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินค้าอื่นๆ ของแบรนด์ได้ด้วย เพื่อจูงใจผู้บริโภคจนเกิดการตัดสินใจซื้อในที่สุด

“ส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะถามข้อมูลต่างๆ จากพนักงาน นอกจากข้อมูลสินค้าที่ต้องการซื้อ บางครั้งก็จะถามถึงสินค้าอื่นในแบรนด์เดียวกันด้วย ซึ่งสินค้าเทคโนโลยีปัจจุบันมีนวัตกรรมและความซับซ้อนมากขึ้น ถ้าพนักงานสามารถแนะนำหรือให้ข้อมูลเบื้องต้นได้ ลูกค้าก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีกับแบรนด์นั้นๆ” อาณัติ จ่างตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด พูดถึงบทบาทของ Sambassador อาณัติบอกว่า 50% ของลูกค้า เปลี่ยนใจได้ ณ จุดขาย และนั่นเป็นเหตุผลว่า เพราะอะไรซัมซุงจึงต้องให้ความสำคัญกับตัวแทนขายอย่างมาก ทั้งการอบรมเทคนิคการขาย การเข้าถึงความต้องการของลูกค้า รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวางแผนตลาด ด้วยการส่งข้อมูลสินค้าที่ขายกลับมายังบริษัทให้เร็วที่สุด เพราะยุคนี้แค่เสี้ยววินาทีก็หมายถึงการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน

จากการรายงานผลการขายแบบเดิมที่ต้องใช้เวลาสรุปยอดขายเป็นเดือน หรือเร็วสุด 1 (ก๋ำเติมด้วย) สำหรับการขายในห้าง ซัมซุงจึงหันมาพัฒนาเรียลไทม์ซิม ให้พนักงานขายที่มีอยู่จำนวน 1,200 คนจาก 500 กว่าร้านค้าทั่วประเทศ ส่งรายงานผลการขายผ่าน SMS จากมือถือเข้าไปยังระบบของบริษัททันทีหลัง Sale out

ข้อดีของการที่ข้อมูลต่างๆ ได้รับการประมวลผลเร็วขึ้น มีผลดีทั้งต่อร้านค้าก็ไม่ต้องสต๊อกสินค้า และรู้ว่าสินค้ารุ่นไหนเหมาะกับกลุ่มลูกค้าของตัวเอง ส่วนบริษัทก็สามารถกระจายสินค้าได้เหมาะสมกับแต่ละช่องทาง และสรุปข้อมูลเพื่อใช้วางแผนการผลิตสินค้าได้พอดีกับความต้องการในตลาด รวมไปถึงการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การจัดกระจายสินค้า และการวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซัมซุงคาดหวังเพียงว่า ผลจากการวางระบบ SCSI จะช่วยให้บริษัททำยอดขายจากการวิเคราะห์ข้อมูลได้เร็วขึ้นจากช่องทางต่างๆ ได้อย่างน้อย 20-30% เลยทีเดียว ซึ่งเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของแบรนด์ซัมซุงที่พูดถึงเสมอว่า การจะเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งได้นั้น จะต้องมีความพร้อมในทุกๆ ด้านอย่างแท้จริง