ด้วยความนิยมในกีฬาฟุตบอลที่เป็นเทรนด์มาแรงต่อเนื่อง ไม่ใช่ผู้ชายเท่านั้นที่นิยม แต่ผู้หญิงก็หันมาดูบอลมากขึ้น ได้เวลาที่ “เชียงราย ยูไนเต็ด” ต้องลงมือปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ หลังจากที่ก่อตั้งสโมสรมา 8 ปี
มิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด เปิดเผยว่า องค์ประกอบในการทำสโมสรฟุตบอลมีทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน 1.ทีมนักเตะชุดใหญ่ 2.โครงสร้างการบริหารบัญชี 3.Academy ในการปั้นนักฟุตบอลรุ่นใหม่ และ 4.การตลาด ทางสโมสรมีทั้ง 3 อย่างแรกครบแล้ว แต่ยังขาดเรื่องการตลาด
จึงเป็นที่มาของการให้ บริษัท จาร์เค็น ซึ่งทำงานดีไซน์และออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอก ขยับสู่ธุรกิจเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาด 3-4 ปี ในหลายธุรกิจทั้งแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ รีเทล การปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ให้กับสโมสร “เชียงราย ยูไนเต็ด” ธุรกิจ “กีฬา” จึงเป็นการให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจกีฬาเป็นครั้งแรก โดยเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี
ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จาร์เค็น จำกัด มองว่าไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ เพราะอยู่ที่การบริหารคอนเทนต์ ซึ่งจุดแข็งของสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด ก็คือมีคอนเทนต์ที่แข็งแรง ทั้งเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ มีสนามบิน เป็นเมืองท่องเที่ยวโดยที่ไม่ต้องปั้นอะไรมาก ขาดเพียงแต่การจัดการเท่านั้น
โจทย์ใหญ่สำคัญในการ “ยกเครื่อง” ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ให้ภาพลักษณ์ดูทันสมัยขึ้น แต่ต้องการปั้นให้เป็นอีกหนึ่ง Destination ของจังหวัดเชียงราย โดยเบื้องต้น 3 เฟส ภายใน 3 ปีได้วางไว้
เฟส 1 เริ่มจากการปรับ identity ชื่อแบรนด์ และโลโก้จาก CRUTD เป็น CR เพื่อให้ทันสมัย และเข้าใจง่าย
เฟสที่ 2 ปรับปรุงสินค้าเมอร์เชนไดร์ส ด้วยการให้ออกแบบสินค้าที่ระลึกใหม่ และเปิดช็อปที่สยามสแควร์ เพื่อสร้างการรับรู้กับคนรุ่นใหม่ และสร้างแฟนๆ ทั่วประเทศ โดยจะใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาท
เฟสที่ 3 รีโนเวทสนามยูไนเต็ด สเตเดี้ยมให้เป็นเดสติเนชั่น มีดีไซน์ใหม่ และระบบจัดการใหม่ เพิ่มพื้นที่ความจุเป็น 22,000 คน จากเดิม 15,000 คน รวมทั้งการสร้างโรงแรมเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนั้นยังได้เปิด Mega Store ร้านขายสินค้าของที่ระลึก ที่จะเปิดสาขาที่สยามสแควร์ ใช้งบลงทุน 10 ล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้
แผนการดำเนินงานทั้ง 3 เฟสนี้ เบื้องต้นใช้งบลงทุนทั้งโปรเจค 400-450 ล้านบาท แบ่งเป็น การจัดการ 70% และประชาสัมพันธ์ 30%
“ก่อนหน้านี้สโมสรไม่ได้มีการทำตลาดมาก่อน เราต้องการให้ยูไนเต็ด สเตเดี้ยมเป็นเดสติเนชั่นเหมือนอย่างสนามแอนฟิลด์ที่คนไม่ได้ชอบฟุตบอลก็สามารถไปเยือนได้ และสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมาให้มากกว่าสนามฟุตบอล “ ดร.กุลเดช บอกถึงเป้าหมาย
ที่ผ่านมา เชียงราย ยูไนเต็ดมีแฟนบอลผู้ติดตามราว 5 ล้านคน มาจากจำนวนประชากรจังหวัดเชียงรายราว 1.2 ล้านคน และประชากรจากภาคเหนือตอนบน มีอายุเฉลี่ย 15-40 ปี ซึ่งหลังจากที่รีแบรนด์ให้ทันสมัยแล้ว คาดว่าจะเพิ่มฐานแฟนบอลอีกเท่าตัว และเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น
นอกจากนี้ คาดว่าจะมีภายใน 3 ปี หลังจากรีแบรนด์ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว และมีสัดส่วนรายได้จากสินค้าของที่ระลึก และค่าตั๋วเพิ่มเป็น 40% จากปัจจุบันสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ดมีรายได้ 80 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น 80% รายได้จากสปอนเซอร์ และลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 15% จากสินค้าของที่ระลึก และ 5% จากค่าตั๋ว