หลายปีก่อนหน้านี้ หากเอ่ยชื่อของยูทูบ (YouTube) ภาพของบริการคลิปวิดีโอออนไลน์ยักษ์ใหญ่ก็คงปรากฏขึ้นมาในใจของผู้ใช้งานในโลกออนไลน์ แต่ในอนาคตอันใกล้ การเติบโตของสื่อแบบใหม่อย่างการ Live หรือถ่ายทอดสดกำลังเข้ามามีบทบาท และอาจสั่นคลอนบัลลังค์ของ YouTube ได้อย่างน่าสนใจ
หากจะเอ่ยถึงแพลตฟอร์มที่กำลังโดดเด่นในด้านการให้บริการ Live แล้ว ต้องยกให้กับ เฟซบุ๊ก (Facebook), เพอริสโคป (Periscope) ทวิตเตอร์ (Twitter) สแนปแชท (Snapchat) หรืออย่าง Tumblr จากยาฮู (Yahoo) ก็มีการประกาศตัวว่าจะให้บริการ Live เช่นกัน แต่จะเป็นการจับมือกับพันธมิตรอีก 4 ค่าย เพื่อให้ช่วยถ่ายทอดแทน ซึ่งความคึกคักของตลาดนี้ก็ทำให้พี่ใหญ่อย่างยูทูบอดรนทนไม่ได้ ต้องประกาศตัวว่าจะเริ่มให้บริการ Live ในที่สุด
แต่การก้าวเข้ามาของยูทูบนั้นเป็นก้าวที่มีนัยสำคัญ เพราะที่ผ่านมา การรับชมคลิปบนยูทูบนั้นเกิดขึ้นบนคอมพิวเตอร์พีซีหรือแลปท็อปเป็นหลัก และยังพบว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชม YouTube เท่านั้นที่ดูผ่านอุปกรณ์สื่อสาร ในขณะที่การรับชมการถ่ายทอด Live ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่นั้นเกิดขึ้นบนอุปกรณ์โมบายล์ เช่น สมาร์ทโฟน – แท็บเล็ตเป็นหลัก โดยข้อมูลจาก Ooyala ระบุว่า การรับชมวิดีโอออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตนั้นครองส่วนแบ่งสูงสุด 46 เปอร์เซ็นต์
การประกาศตัวในตลาด Live ของยูทูบจึงอาจเพิ่มตัวเลขการใช้งานบนอุปกรณ์โมบายล์ได้ แถมยังเปิดประตูสู่โอกาสทำเงินจากค่าโฆษณาอีกมากมาย
อย่างไรก็ดี โลกที่เต็มไปด้วยการ Live นั้น ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ จะทำอย่างไรให้การ Live ของตนเป็นที่น่าสนใจ หรือในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์ม จะทำอย่างไรให้การ Live บนแพลตฟอร์มตนเองกลายเป็นปลาผู้แข็งแกร่งในทะเลสีเลือด ในฐานะนักการตลาด จะทำอย่างไรให้สามารถแทรกโฆษณาลงไปในคลิปถ่ายทอดสดได้มากที่สุด ความต้องการที่แตกต่างกันจากจุดยืนที่แตกต่างกันนี้เอง จะนำไปสู่ 5 สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในวันที่บริการ Live ครองโลก ได้แก่
1. เรื่องที่เคยเป็นความลับก็จะถูกเปิดเผยมากขึ้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีคลิป ๆ หนึ่งเกี่ยวกับการประชุมกองบรรณาธิการของนิตยสารแฟชั่น “Grazia” ได้รับการเผยแพร่ผ่าน Facebook Live โดยการ Live ดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างสูงมีผู้รับชมกว่า 90,000 ครั้ง ซึ่งทางนิตยสารเผยว่า โดยทั่วไปแล้ว ทางกองบรรณาธิการจะนัดประชุมทีมงาน และหัวหน้าบรรณาธิการหมวดต่าง ๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ แต่ในครั้งนั้น ทีมงานได้ยกกองไปถ่ายทอดสดผ่านบริการ Live กันถึงที่สำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊ก ซึ่งใช้กล้องถึง 3 ตัวในการเก็บบรรยากาศทั้งหมดให้ครบถ้วน
สาเหตุที่ทำให้ยอดการรับชมสูงมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันเคยเป็น “ความลับ” โอกาสที่บุคคลภายนอกจะได้เข้าร่วมการประชุมกองบรรณาธิการนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ การนำมันออกมาวางแผ่ให้ทุกคนได้เห็นกันจะ ๆ ว่าบรรณาธิการแต่ละคนมีความคิดเห็นอย่างไร มีประเด็นอะไรมานำเสนอ มีจุดเด็ดจุดตายอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่กระตุ้นความอยากรู้ของผู้ชมได้เป็นอย่างดี แถมยังทำให้บุคคลภายนอกรู้สึกว่า บริษัทมีความโปร่งใสในการทำงานอีกด้วย
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ การได้เห็นว่ามนุษย์อาจต้องค้นหาความลับต่าง ๆ มาเปิดเผยกันมากขึ้น เพื่อดึงความสนใจจากโลกออนไลน์ ซึ่งในจุดนี้ อาจมีทั้งสิ่งที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสมในการเผยแพร่นั่นเอง
2. แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะเหลือน้อยลง
ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ Live เกิดขึ้นมากมาย ทั้งรายใหญ่อย่าง Facebook, Snapchat, Periscope, Twitter, กระทั่ง YouTube ที่ประกาศตัวเข้าแข่งขัน ซึ่งยังไม่นับรวมแอปตัวเล็กโนเนมอีกมากมาย ทำให้เพียงไม่นาน บริการ Live ก็กลายเป็นทะเลเลือดไปแล้ว
จากสถานการณ์นี้ ดูแล้ว น่าจะเป็นว่า เรามีแพลตฟอร์มให้เลือก Live ได้เยอะขึ้น แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะโลกนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “นักการตลาด – นักโฆษณา” คอยเลือกแพลตฟอร์มอยู่เบื้องหลังอีกที ที่สำคัญคือคนเหล่านี้มี “งบประมาณ” ที่พร้อมจะเทให้กับแพลตฟอร์มที่ตนคิดว่าแข็งแกร่ง และสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคต ดังนั้นเขาจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ชี้ชะตาว่า แพลตฟอร์มไหนคือผู้ที่แข็งแกร่ง และควรอยู่รอด ส่วนแพลตฟอร์มไหนควรจะม้วนเสื่อกลับบ้าน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว เราอาจได้เห็นการทยอยล้มตายของแอปที่ไม่แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนี้ไป
3. บริการแปลภาษาเตรียมลงจอ Live
เมื่อบริการ Live กลายเป็นพื้นที่เล่นหลักของโซเชียลมีเดียในอนาคตอันใกล้นี้ การจะเอาใจให้ผู้ใช้งานเข้ามาเยี่ยมชม “มาก ๆ” ต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้บริการเสริมเช่น แปลภาษา มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะสามารถช่วยให้การถ่ายทอดสดนั้น เป็นที่เข้าใจของคนที่อยู่ในต่างประเทศต่างภาษา และช่วยเพิ่มการเข้าถึงคลิปได้มากขึ้นนั่นเอง
4. โปรแกรมบล็อกโฆษณาจะได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น
เห็นเป็นบริการ Live หลายคนอาจคิดว่ารอดแล้ว คงไม่เจอโฆษณามาคั่นแน่ ๆ แต่ผู้ใช้งานอาจคิดผิด ยิ่งบริการ Live ได้รับความนิยมมากขึ้นเท่าไร นักโฆษณาก็จะยิ่งหาทางแทรกโฆษณาลงมาในคลิปให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ซึ่งอาจมีทั้งให้ดูโฆษณาตั้งแต่ต้น หรือแทรกกันดื้อ ๆ ขณะกำลัง Live รวมถึงการแทรกในส่วนของโพสต์ ป๊อปอัป ฯลฯ ในจุดนี้ จะทำให้โปรแกรมบล็อกโฆษณาเป็นที่ต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น
5. เกิดนวัตกรรมด้านการนำเสนอ
เพื่อดึงความสนใจจากผู้ชม เราอาจได้เห็นการใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาเป็นส่วนประกอบของการ Live มากขึ้น เช่น กล้อง 360 องศา โดรน ไปจนถึงเทคโนโลยีเวอร์ชวลเรียลิตี้ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งหลังจากนี้ไป เชื่อแน่ว่า การแข่งขันเพื่อให้บริการ Live จะนำความน่าสนใจในหลาย ๆ ด้านมาสู่วงการไอทีอย่างแน่นอน
ที่มา: http://www.manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000063449